เปลี่ยนผ่าน : ปัญหาหมากัดคน-คนทำร้ายหมา หนังเรื่องเดิมๆ ที่วนอยู่ในอ่าง ขว้างไม่พ้นคอ

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

โดย พิชญ์เดช แสงแก่นเพ็ชร์

 

ปัญหาสุนัข (จรจัด) กัดคน-คนทำร้ายและฆ่าสุนัข เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และเป็นประเด็นร้อนในสังคมอย่างต่อเนื่อง

แต่ละครั้ง มีผู้คนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง ถึงกระนั้น ยังไม่มีเจ้าภาพหรือการตกผลึกรูปแบบหรือแนวทางแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืนเสียที

นับตั้งแต่บังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 มาสักระยะหนึ่ง มีกรณีตัวอย่างและมีการพิพากษาลงโทษผู้ก่อเหตุทารุณกรรม-ฆ่าสัตว์แล้ว 4 ราย ซึ่งศาลตัดสินจำคุกมากน้อยแตกต่างกันออกไป

หลายกรณีเป็นผลมาจากกระแสของผู้คนในสังคมที่ส่งต่อข้อมูล รวมทั้งภาพถ่าย-คลิป-ภาพจากกล้องวงจรปิด

ที่ผ่านมา ผู้ลงมือก่อเหตุจะอ้างถึงเหตุผลเรื่องต้องป้องกันตัว ไม่ให้สุนัขเข้ามากัดหรือทำร้ายตนเองและคนในครอบครัว จึงจำเป็นต้องลงมือทำ

แต่ผู้คนที่รักสัตว์ก็จะย้อนถามถึงความจำเป็นว่าต้องทำให้มันถึงตายเลยหรือไม่? หรือ ทำไมต้องใช้วิธีโหดเหี้ยม? ทำไมไม่ไล่หรือถืออะไรไว้ในมือเพื่อไล่สุนัข?

ขณะเดียวกัน ผู้คนในสังคมอีกส่วนหนึ่งก็วิพากษ์วิจารณ์กลุ่มผู้รักสุนัข และยกกรณีตัวอย่างว่าพอมีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้น เมื่อมีคนถูกหมากัดได้รับบาดเจ็บทั้งเล็กน้อยไปจนถึงสาหัส จะเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลจากใครได้? องค์กรพิทักษ์สิทธิสัตว์ได้หยิบยื่นความช่วยเหลือด้วยหรือไม่?

ในเมื่อถามหาเจ้าของสุนัขเหล่านั้น ก็ไม่มี ส่วนคนที่ให้ข้าวให้น้ำมันกินก็บอกว่า “แค่ให้ทาน” ไม่ได้เป็น “เจ้าของ” แต่พอมีเจ้าหน้าที่จะมาจับสุนัขไป คนพวกนี้กลับห้ามปรามขัดขวาง

ที่น่าคิดไปกว่านั้น คือ ในสังคมมีการนำ พ.ร.บ.นี้ มาแซวในทำนองว่า “เตะหมา” ถูกดำเนินคดีอย่างเคร่งครัด ถูกปรับอย่างหนัก ถูกสังคมประณาม อย่างนี้ “เตะเมีย” แทนก็ได้ ประโยคดังกล่าวอาจจะฟังดูแล้วขำๆ แต่ที่จริง กลับแฝงหลายประเด็นที่น่านำไปคิดต่อ เพื่อแสวงหา “ทางออก”

 

“เปลี่ยนผ่าน” สัปดาห์นี้ ไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ นายชัยชาญ เลาหศิริปัญญา เลขาธิการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย และอนุกรรมาธิการแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัด สนช. ถึงความซับซ้อนของกรณีดังกล่าว

นายชัยชาญอธิบายว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ เขียนไว้ว่าการป้องกันตัวสามารถทำได้ ถ้าสัตว์จะเข้ามาทำร้าย ตามมาตรา 21 (6) ที่ระบุไว้ว่า การฆ่าสัตว์ในกรณีที่มีความจําเป็นเพื่อป้องกันอันตรายแก่ชีวิตหรือร่างกายของมนุษย์ หรือสัตว์อื่น หรือป้องกันความเสียหายที่จะเกิดแก่ทรัพย์สินนั้นไม่ถือเป็นความผิด

เมื่อถามว่าจะเรียกร้องค่าเสียหายจากใครได้หรือไม่ หากถูกสุนัขจรจัดทำร้าย

เลขาธิการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์ฯ ย้อนถึงกรณีศึกษาในอดีต ที่เคยมีผู้ฟ้องร้องกรุงเทพมหานคร เพื่อเรียกร้องขอเงินเยียวยาจากการถูกสุนัขจรจัดกัด

ปรากฏว่า กทม. ไม่มีอำนาจจ่ายค่าเสียหาย แต่สามารถช่วยเหลือในเรื่องการรักษาตัว เพราะมีสถานีอนามัยในสังกัดที่สามารถพาผู้ได้รับบาดเจ็บไปรักษาตัวโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังมีหน้าที่จับสุนัขที่ดุร้ายออกไปจากชุมชนหรือแหล่งที่เกิดปัญหาได้

สำหรับทางออกที่เป็นรูปธรรม ขณะนี้ภาครัฐนำโดย สนช. มีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมา 3 ชุด ในการศึกษาปัญหาที่เกิดจากการปล่อยสัตว์เลี้ยงในที่สาธารณะ ประมวลสถานการณ์และวางแผนแก้ปัญหา และยังมีคณะอนุกรรมาธิการมาศึกษาด้านกฎหมาย โดยมี พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร. ในฐานะ สนช. เป็นประธาน

ซึ่งคณะทำงานทั้งหมดจะศึกษารวบรวมปัญหาทุกด้าน และวางกรอบการแก้ไขให้เป็นรูปธรรมในอนาคต แต่เนื่องจากปัญหานี้สะสมมานาน อาจต้องใช้เวลาในการแก้ โดยนายชัยชาญเชื่อว่าไม่เกิน 10 ปี ปัญหาสุนัขจรจัดจะดีขึ้น


แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทางสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์ฯ มองว่า ณ เบื้องต้น คนไทยทุกคนสามารถช่วยป้องกันปัญหาการทอดทิ้งสุนัขไม่ให้ลุกลามได้ โดยเริ่มที่ตัวเองก่อน ซึ่งต้องมีความรับผิดชอบเมื่อนำสุนัขมาเลี้ยง คือ ควรเลี้ยงจนกว่ามันจะตาย

เพราะสถานการณ์ทุกวันนี้กลับกลายเป็นว่าพอสุนัขเริ่มแก่ลง เริ่มสร้างความรำคาญ เริ่มไม่น่ารัก เริ่มมีโรค มีค่าใช้จ่าย ผู้เลี้ยงก็นำมันไปปล่อยทิ้ง สร้างทั้งบาปและภาระให้แก่สังคมสังคม

จึงวิงวอนผู้ที่กำลังเลี้ยงและคิดจะเลี้ยงสุนัข ให้ต้องคำนึงว่า หนึ่งชีวิตที่รับมาเลี้ยงดูนั้น ต้องมีเงินรักษาอาการเจ็บป่วย ต้องให้อาหาร ฉีดวัคซีน มีเวลาให้ มีสถานที่พร้อม ที่สำคัญ ต้องมีความตั้งใจจะเลี้ยงมันจนตาย

จากข้อมูลการสำรวจล่าสุดเมื่อปี 2557 ของกรมปศุสัตว์ พบว่าจำนวนสุนัขในประเทศไทย มีมากกว่า 700,000 ตัว หรืออาจกล่าวได้ว่า ปัจจุบัน (ปี 2559) อาจมีสุนัขมากถึงหลักล้านตัว โดยในจำนวนนั้นมีสุนัขจรจัดอยู่นับแสนตัว

จึงจะหวังพึ่งแค่ภาครัฐ ให้มาทำหน้าที่แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสุนัขจรจัดไม่ได้ ประชาชนก็ดี ชุมชนก็ดี ต้องช่วยกันรับผิดชอบ ที่สำคัญคนที่ชอบระบายอารมณ์ใส่สัตว์ ควรพึงระลึกไว้เสมอว่าสัตว์ก็มีกฎหมายคุ้มครองอยู่

ส่วนกรณีมีกลุ่มบุคคลที่ออกมาต่อว่ากลุ่มคนรักสุนัข ว่าไม่คำนึงถึงผู้ที่โดนสุนัขจรจัดทำร้ายนั้น นายชัยชาญมองว่า เป็นธรรมชาติของยุคปัจจุบัน ที่มีการใช้สื่อค่อนข้างเสรี จึงย่อมมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อประเด็นถกเถียงต่างๆ เป็นเรื่องธรรมดา

แต่สุดท้าย กลุ่มที่มีเหตุผลหรืออยู่บนฐานความจริงจึงจะอยู่รอด คนกล่าวเท็จจะแพ้ภัยตัวเองในที่สุด

 

จากการรวบรวมข้อมูลของสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์ฯ หลังมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ การแจ้งความกรณีสัตว์ถูกทำร้ายก็มีจำนวนน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

ส่วนหนึ่ง เป็นเพราะประชาชนทั่วไปต่างช่วยประชาสัมพันธ์ให้เกิดการรับรู้เรื่องนี้ในวงกว้าง เพียงแต่ความรู้สึกของคนจำนวนมากที่ติดตามข่าวสาร อาจรู้สึกว่าเหตุการณ์รุนแรงทำนองนี้ ซึ่งมีภาพหลักฐานชัดเจน ยังเกิดขึ้นบ่อยครั้งอยู่

อย่างไรก็ตาม นายชัยชาญมองว่าสุนัขจรจัดสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้ และถ้ามีเด็กๆ ก็ขอให้เด็ก “อย่าไปทำ 5 ย.” กับสุนัข คือ อย่าไปเหยียบ อย่าไปแหย่ อย่าไปยุ่ง อย่าไปหยิบ อย่าไปแยก (เวลาสุนัขกัดกัน)

ส่วนสุนัขที่เป็นปัญหาและนำความขัดแย้งมาสู่ชุมชนก็ควรแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาจัดการนำตัวออกไป หรือตัวไหนที่อยู่กับชุมชนได้ก็ต้องทำหมัน ฉีดวัคซีน ที่สำคัญคนที่ชอบให้อาหารสุนัข ขอให้กระทำในพื้นที่ที่ห่างจากชุมชนเพื่อลดความขัดแย้งและการทะเลาะเบาะแว้ง

ถ้าสมาชิกชุมชนไม่สามารถอธิบายให้คนเหล่านี้เข้าใจได้ ขอให้แจ้งหน่วยงาน อาทิ กรมปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ เอ็นจีโอ เช่น สมาคมเกี่ยวกับสัตว์ทั้งหลาย ให้ประสานเข้าช่วยพูดคุย เพื่อยุติความขัดแย้ง

เหนือสิ่งอื่นใด เมื่อบังคับใช้ พ.ร.บ. มาสักพัก ก็จะเห็นถึงสิ่งที่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องการบังคับให้มีการจดทะเบียนผู้เลี้ยงสัตว์ ซึ่งกรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำการฝังชิพลงในสุนัขทุกตัว

แต่ปัจจุบันยังไม่มีบทบังคับทางกฎหมายอย่างจริงจัง รวมทั้งยังไม่มีการลงโทษคนที่ปล่อยสุนัขออกสู่พื้นที่สาธารณะ

นายชัยชาญจึงมองว่า นับจากนี้น่าจะมีการบังคับให้มีการจดทะเบียนผู้ครอบครองสัตว์เลี้ยง เพื่อลดปัญหาและควบคุมปริมาณสุนัขจรจัด

 

สุดท้าย เรายังต้องจับตาดูกันว่าปัญหา “หมาๆ คนๆ คนๆ หมาๆ” จะยังเกิดขึ้นอีกหรือไม่ จะต้องมีหมาตายอีกกี่ตัว คนต้องรับโทษอีกกี่ราย

สนช. ตำรวจ กรุงเทพมหานคร กรมปศุสัตว์ เอ็นจีโอ และพลังชาวโซเชียล จะสามารถร่วมกัน “สร้างทางออก” ที่ชัดเจน และให้ทุกฝ่าย “ยอมรับ” ได้มากน้อยเพียงใด หรือไม่

หรือ “ปัญหาเหล่านี้” จะเป็นหนังเรื่องเดิม ม้วนเดิม วนอยู่ในอ่าง ขว้างไม่พ้นคอ ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางความคิด จนนำไปสู่ความยากลำบากที่จะแก้ไขเยียวยา

กลายเป็นวาระแห่งชาติ ที่แก้กี่ชาติก็แก้ไม่หมดหรือไม่ !!!??