เปลี่ยนผ่าน : ปิดฉากอำลา “ซีดี”!!! เมื่อ “เพลง” ไม่ใช่ “สินค้า” อีกต่อไป “อาร์เอส-แกรมมี่” เร่งต่อยอดธุรกิจอื่น

AFP PHOTO / OLI SCARFF

โดย บุญญฤทธิ์ บัวขำ

 

การเข้ามาของระบบดิจิตอลไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาคธุรกิจด้วย

ธุรกิจหลายประเภทต่างต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดและเข้ากับยุคสมัย บางธุรกิจต้องปิดตัวไป เนื่องจากประสบปัญหาต่างๆ เพราะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ไม่ทันท่วงที

เช่นเดียวกับธุรกิจเพลง

เดิมทีผู้บริโภคมักฟังเพลงจากวัสดุบันทึกเสียงต่างๆ ผ่านเครื่องเล่น การหารายได้ของค่ายเพลงต่างๆ จึงมาจากการจำหน่ายอัลบั้มผ่านเทปและซีดีเป็นหลัก

ต่อมา เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น พฤติกรรมการฟังเพลงก็เปลี่ยนไป ผู้คนสามารถเข้าถึงเพลงได้ง่ายขึ้น โดยเริ่มต้นจากเครื่องฟังเพลงแบบพกพา

แต่จุดเปลี่ยนสำคัญคือการเข้ามาของเทคโนโลยี mp3 ซึ่งเป็นไฟล์เพลงที่สามารถบรรจุไปยังเครื่องเล่นได้ทันที โดยไม่ต้องพึ่งพาวัสดุบันทึกเสียงเป็นตัวกลาง

ความเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลต่อพฤติกรรมการฟังเพลงของผู้บริโภคอย่างมาก


นายกริช ทอมมัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจจีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เชื่อว่า นี่เป็น “ยุคเปลี่ยนผ่าน” ถามว่ามันดีขึ้นหรือเลวลง บางอย่างมันดีขึ้น บางอย่างก็ลดลง แต่มันก็ทดแทนกันอยู่ มันกำลังปรับตัว แต่อย่าลืมว่าเพลงจริงๆ นั้น ไม่มีตัวตนอยู่แล้ว

“อย่างที่เราทำอยู่ เรามีความชำนาญเชี่ยวชาญก็คือเรื่องของการบริหารสิทธิ์ The Right Management เพลงหนึ่งเพลงเราสามารถเอาไปอยู่ใน CD ออกเป็น mp3 ออกเป็น karaoke ออกเป็นรูปแบบคอนเสิร์ต ออกเป็นรูปแบบของการจัดเก็บลิขสิทธิ์ ออกเป็นรูปแบบของการเอาเพลงไป publishing ขายตามประเทศต่างๆ หรืออะไรก็ตามแต่ ดังนั้น ก็ต้องปรับต่อไปเรื่อยๆ” นายกริช กล่าว

ขณะที่ นายศุภชัย นิลวรรณ รองกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มธุรกิจเพลง บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) มองว่า ปัจจุบันนี้ คนที่จ่ายเงินกับเพลงตรงๆ ไม่มีแล้ว รายได้ที่เข้ามาส่วนใหญ่จะเป็นรายได้ที่มาจากการต่อยอดที่เป็นองค์ประกอบแวดล้อม

“รายได้จากการทำเพลงในปัจจุบัน มาจากค่าลิขสิทธิ์ การทำอีเวนต์ งานโชว์ต่างๆ การมีส่วนแบ่ง Sharing จากแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่เอาเพลงของเราไปให้คนฟัง ส่วนแบ่งจากโฆษณาอย่างเช่น Youtube ที่เขาอาจจะมีโฆษณากับเพลง เขาก็ปันส่วนแบ่งมาให้ แต่รายได้ปัจจุบันนี้มันไม่เหมือนก่อน มันน้อยมาก ถ้าเทียบกับรายได้สมัยก่อน” นายศุภชัย กล่าว

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่เพียงส่งผลกระทบต่อค่ายเพลงเท่านั้น แต่ยังกระทบไปยังกลุ่มพ่อค้าคนกลางด้วย

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการขายแผ่น CD ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ ต่างทยอยปิดกิจการของตนเองลง เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น การเข้ามาของระบบ Streaming ได้ตอกย้ำให้เห็นชัดเจนว่าพฤติกรรมการฟังเพลงเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง โดยผู้ฟังสามารถรับฟังเพลงผ่านระบบออนไลน์ได้ทันที จนค่ายเพลงต่างๆ ต้องปรับตัว และงัดกลเม็ดใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อความอยู่รอด

 

นายศุภชัย ยอมรับว่าอาร์เอสเลิกผลิตแผ่น CD แล้วตั้งแต่ต้นปี เนื่องจากยอดขายแผ่น CD ตกลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ทางค่ายจึงต้องมองหาช่องทางการหารายได้อื่นๆ

หนึ่งในนั้นคือ “ขายเครื่องสำอาง” ซึ่งทำให้หลายคนสงสัยว่าธุรกิจเครื่องสำอางมาเกี่ยวข้องกับอาร์เอส ได้อย่างไร?

นายศุภชัย เล่าว่า ในขณะที่สถานการณ์ธุรกิจเพลงย่ำแย่ ตัวเลขผลประกอบการของแต่ละบริษัทขาดทุนหรือกำไรลดลง แต่ไตรมาสแรกของอาร์เอสปีนี้กลับมีกำไรสูงขึ้น

ทุกวันนี้ อาร์เอสไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็นธุรกิจเพลงแล้ว แต่มองตัวเองเป็นสื่อ เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่มาจากการทำสื่อ อย่างที่ได้ก่อตั้งช่อง 8 ขึ้นมา ดังนั้น การนำธุรกิจมาต่อยอดในด้านต่างๆ จึงทำให้ได้เปรียบ

“ธุรกิจเครื่องสำอาง ต้องยอมรับว่าค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่จะไปอยู่ที่การโฆษณาประชาสัมพันธ์ การสร้างแบรนด์ต่างๆ เพราะฉะนั้น มันเป็นรายจ่ายมหาศาลของธุรกิจเครื่องสำอาง

“แต่ในขณะที่เราเป็นเจ้าของสื่อเอง มีองค์ประกอบครบถ้วนที่จะโฆษณาประชาสัมพันธ์ มันทำให้ต้นทุนตรงนั้นมันน้อย เพราะมันเป็นสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว มันมีความได้เปรียบตรงนี้

“เพราะฉะนั้น ผมก็มองว่าที่อาร์เอสทำธุรกิจเครื่องสำอาง มันเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับสิ่งที่เรามี แล้วผลประกอบการที่ออกมา มันก็ตอบว่าสิ่งที่เราทำมันถูกต้อง” นายศุภชัย กล่าว

 

เช่นเดียวกันกับทางฝั่งจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ซึ่งมองเพลงเปลี่ยนไปด้วยเช่นเดียวกัน เดิมทีเพลงเปรียบเสมือนสินค้าของค่ายเพลง แต่ในปัจจุบัน 2 ค่ายใหญ่อย่างอาร์เอสและแกรมมี่ กลับมองว่าเพลงเป็นแค่ “สื่อ” เท่านั้น

แม้ธุรกิจเพลงของแกรมมี่จะยังไปได้ดีในขณะนี้ แต่ก็พยายามอาศัยการต่อยอดทางธุรกิจด้วยเช่นเดียวกัน ล่าสุด จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เปิดตัวรายการ GMM BRAVO! ซึ่งเป็นรายการที่นำ “เพลง” มาต่อยอดโดยการสร้างเป็น “ซีรี่ส์”

นายกริช เผยว่า GMM BRAVO ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยเพิ่มมูลค่า และเหมือนเป็นการต่อยอดความสำเร็จจากการทำเพลง

“คือมันเป็นการต่อยอดความสำเร็จมากขึ้นไปอีก ในอนาคตมันก็จะมีวิธีการคิดแบบอย่างคุณ … เค้าทำเชือกวิเศษ แต่ตอนเริ่มต้นทำ MV เกิดมาเป็นซีรี่ส์ มาเป็นดราม่า มันยาวกว่า MV ปกติ แต่ก็ไม่ยาวขนาดเป็นซีรี่ส์

“นั่นก็เป็นวิธีใหม่ที่ทำให้แยกระหว่างคนดูกับคนฟังออกจากกัน คนดูแล้วชอบก็ไปตามฟัง คือกลยุทธ์พวกนี้เป็นนวัตกรรม เรียกว่าการทำให้เพลงมีอรรถรสเพิ่มมากขึ้น นอกจากเอาหูฟังอย่างเดียว” นายกริช กล่าว

แม้สถานการณ์ธุรกิจเพลงจะย่ำแย่ ค่ายเพลงใหญ่ๆ ต่างทยอยลดปริมาณการผลิตแผ่น CD และพยายามหาช่องทางการสร้างรายได้อื่นเสริม

แต่สำหรับกลุ่มศิลปินที่อยู่ในค่ายเพลงขนาดเล็กบางกลุ่ม ซึ่งถูกคนส่วนใหญ่นิยามว่าเป็น “วงอินดี้” กลับได้รับความนิยมมากขึ้น สวนทางกับธุรกิจเพลงที่เป็นอยู่

เช่น วง “Part Time Musicians” ศิลปินค่าย Rats Records เจ้าของเพลง “Vacation Time” หนึ่งในเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย..ห้ามพัก..ห้ามรักหมอ” ที่ผลิตแผ่น CD ออกมากี่ครั้งก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของแฟนเพลง

นายอนุชา โอเจริญ ผู้ร่วมก่อตั้ง Rats Records เผยว่า ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้ศิลปินเล็กๆ ในสมัยนี้ มีช่องทางนำเสนอผลงานสู่แฟนเพลงได้ง่ายขึ้น

“ช่องทางการนำเสนอของแต่ละวงมันมีเยอะขึ้น โดยที่ไม่ต้องแบบว่า ถ้าเป็นสมัยก่อนวงจะมี MV ก็จะต้องเอาไปให้ที่ช่องเคเบิล ช่องนี้ ช่องนั้น เปิดให้ ทุกวันนี้มีออนไลน์ให้ดู ทำ MV กันเองได้ เพื่อนบางคนเรียนจบภาพยนตร์กันมา คือโอกาสมันมากขึ้น

“แต่พอโอกาสมันมามากขึ้น ผมมองว่าการแข่งขันจะสูงขึ้น พอการแข่งขันมันสูงขึ้น งานจะต้องยิ่งทำให้ดีขึ้น วงไหนที่ทำออกมาแล้วงานมันไม่ดี ก็คงจะอยู่ไม่ได้นาน” นายอนุชา กล่าว

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านยุคสมัยของธุรกิจเพลง ไม่เพียงแต่ค่ายเพลงเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบและต้องปรับตัว ฝั่งศิลปินซึ่งเป็นหนึ่งผู้สร้างสรรค์งานเพลง และหวังรายได้จากยอดขาย CD ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย

เนม – ปราการ ไรวา นักร้องนำวง Getsunova ตอบถึงคำถามที่ว่า ในขณะที่ธุรกิจเพลงย่ำแย่ ค่ายเพลงไม่สามารถจำหน่ายแผ่น CD ซึ่งถือเป็นช่องทางการหารายได้หลักเหมือนในสมัยก่อน ศิลปินยุคนี้จะมีรายได้จากการทำเพลงหรือไม่? และมาจากช่องทางไหน?

เนม เล่าว่า การมีช่องทางดาวน์โหลดเพลงทั้งถูกและผิดกฎหมาย รวมทั้งการนิยมฟังเพลงฟรีผ่านอินเตอร์เน็ต ทำให้ศิลปินได้รับเงินจากการทำเพลงยากขึ้นและน้อยลง ดังนั้น ศิลปินในยุคนี้จึงต้องอาศัยงานโชว์ที่มีผู้ว่าจ้างเป็นหลัก

“วงไหนหรือคนไหนมีโชว์เยอะ คนนั้นก็จะได้เงินเยอะ แต่ถ้าไม่มีโชว์ จะเท่ากับไม่มีเงินเลยก็ว่าได้ โชว์น้อยก็เงินน้อย การที่เราเป็นศิลปินมันไม่ได้หมายความว่าเราถูกจ้างไปโชว์ราคานี้ แล้วจะได้รับทั้งหมด

แต่เราต้องมาแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้บริษัท แบ่งกับทีมงาน ทั้งแบ็กสเตจ, ขนเครื่องดนตรี, ซาวด์เอ็นจิเนียร์, คนขับรถของวง โดยเฉพาะวงไหนที่มีทีมงานเยอะก็ต้องแบ่งกันเยอะ เพราะฉะนั้น เงินที่ได้รับนั้น ก็โดนหักไปเยอะด้วยเช่นเดียวกัน” เนม กล่าว

เนม เล่าต่อว่า สำหรับขั้นตอนการจัดสรรรายได้จากการขาย CD ศิลปินมักจะได้รับเป็นรายสุดท้าย เนื่องจากต้องผ่านกระบวนการต่างๆ และต้องใช้เวลาพอสมควร

เขาเชื่อว่าที่ศิลปินในยุคนี้ยังทำอัลบั้มอยู่ ไม่ได้มองเรื่องเงินเป็นจุดสำคัญเหมือนในสมัยก่อนแล้ว แต่ทำเพื่อแฟนเพลงและตัวเอง เนื่องจากการมีผลงานที่สามารถจับต้องได้ ถือเป็นสิ่งที่ศิลปินทุกรายภาคภูมิใจ