จัตวา กลิ่นสุนทร : “หอศิลป์” ในซอกซอย “บ้านศิลปินแห่งชาติ”

ใครจะไปเชื่อว่าในหลายทศวรรษต่อมาบริเวณที่กำลังกล่าวถึงนี้จะกลับกลายเป็นพื้นที่สำหรับก่อตั้ง “หอศิลป์ร่วมสมัย”

แต่เดิมเป็นบ้านสวนร่มรื่น เป็นถิ่นกำเนิดของศิลปินในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เชื่อมต่อกับปลายยุคพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งมิได้ห่างไกลจากสถานที่ตั้งอนุสาวรีย์ของ “พระเจ้าตากสินมหาราช” บริเวณวงเวียนใหญ่

จากลูกชาวสวน ซึ่งเป็นพี่ชายคนโตของน้องๆ ผู้หญิงอีกหลายคน เขาเป็นคนขยันขันแข็ง เมื่อรู้จักตัวเองว่ามีอารมณ์ความรู้สึกชอบพอด้านศิลปะได้เดินเข้าไปสอบเพื่อเรียนในโรงเรียนเพาะช่าง พร้อมพยายามคลุกคลีศึกษากับคนรุ่นปู่รุ่นตาซึ่งมีเลือดศิลปินเต็มล้นในละแวกบ้านสวน

ไม่ได้เป็นเรื่องยากสำหรับคนที่มีลมหายใจเรื่องศิลปะตั้งแต่กำเนิดที่จะสามารถเรียนจบโรงเรียนเพาะช่างในเกรดที่ดี เป็นที่รักได้รับความไว้วางใจจากครูอาจารย์ที่เป็นศิลปินระดับชาติ ก่อนเขาจะเรียนต่อในสถาบันที่สูงขึ้นๆ พร้อมกับค้นคว้าศึกษาการทำงานศิลปะแบบมุมานะขยับชั้นขึ้นเรื่อยๆ เป็นการเขียนภาพเพื่อเผยแพร่ด้วยการจัดนิทรรศการ และสามารถขายผลงานของตนเองได้ในช่วงระยะเวลากว่า 5 ทศวรรษ

เมื่อได้รับทุนการศึกษาก็เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลสู่แผ่นดินฟากฝั่งตะวันตกอันกว้างใหญ่ไพศาล เข้าศึกษาศิลปะในสถาบันอันเป็นที่ยอมรับของนานาชาติจนสำเร็จออกมาสร้างชื่อเสียงจากการทำงานศิลปะแบบทุ่มเทชีวิตจิตใจในเวลาอันรวดเร็ว

เพราะเป็นคนไทยที่ยังยึดเหนี่ยวศิลปวัฒนธรรม ประเพณีแต่ดั้งเดิม ผลงานที่ออกมาบนผืนผ้าใบ และกับวัสดุต่างๆ จนกระทั่งบนผืนดินพื้นทรายกลับกลายเป็นศิลปะร่วมสมัยที่ไม่ได้ทอดทิ้งจิตวิญญาณของคนไทยจากผืนแผ่นดินซีกโลกตะวันออก

การคิดค้นอย่างชนิดไม่มีวันหยุดกับการใช้ชีวิตเพื่อสร้างงานศิลปะจนเป็นที่ยอมรับของบรรดาสถาบันการสอนศิลปะที่มีชื่อเสียงโด่งดังในแผ่นดินต่างชาติซึ่งมีอยู่ในทุกๆ รัฐของประเทศอันกว้างใหญ่ไพศาล ซึ่งเปิดรับนักศึกษาจากทั่วโลก ให้ได้เข้าไปบรรยาย ไปปลูกฝังถ่ายทอดประสบการณ์เรื่องราวต่างๆ ในฐานะอาจารย์ ผู้บรรยาย

การดำรงชีวิตในฐานะศิลปินนั้นมิได้หมายความว่าจะต้องแยกแตกออกจากสังคมของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนไทยที่อาศัยอยู่ยังแผ่นดินซีกโลกอื่นซึ่งส่วนใหญ่มักจะมีความสุขเมื่อได้คบค้าสมาคมระหว่างกัน ได้พึ่งพาอาศัยกัน

ซึ่งศิลปินไทยท่านนี้ไม่เคยปฏิเสธความต้องการของคนไทยด้วยกันในทุกๆ เรื่องที่สนองตอบได้ เขาสามารถนำพาครอบครัวขนาดใหญ่ไปลงหลักปักฐานในผืนแผ่นดินที่เปิดกว้างเรื่องเสรีภาพได้อย่างงดงาม

สืบทอดก่อเกิดลูกหลานเติบโตมากมายขยายเผ่าพันธุ์ในช่วงระยะเวลายาวนาน

 

บ้าน ครอบครัวของเขาในสหรัฐเปิดกว้างสำหรับวงการการศึกษาศิลปะ ศิลปะร่วมสมัย กระทั่งทุกวันนี้ได้กลายเป็นสถานที่พักพิงเพื่อการทัศนศึกษา การศึกษาต่อยอดของนักศึกษาศิลปะ ครู-อาจารย์ผู้สอนศิลปะจากบ้านเรา

แขกพิเศษจากเมืองไทยโดยเฉพาะในสังคมคนสร้างงานศิลปะในทุกสาขาอาชีพ

ศิลปินแห่งชาติรุ่นแรกๆ แทบไม่มีใครไม่เคยผ่านบ้านในสหรัฐหลังนี้

ศิลปินอาจารย์แทบทุกค่ายศิลปะจากประเทศเราต่างเคยได้ไปเยี่ยมเยือนบ้านศิลปินไทยในสหรัฐอเมริกา

ด้วยแรงปรารถนาเพื่อที่จะสร้างความฝันให้เป็นจริงสำหรับศิลปะร่วมสมัยของประเทศไทยให้ได้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในซีกโลกอื่น พร้อมประสานแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจระหว่างสองซีกโลก ศิลปินร่วมสมัยรุ่นแรกๆ ของไทยต่างได้รับการเชื้อเชิญให้เดินทางไปเผยแพร่ผลงานในสหรัฐ

สำหรับเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานล้วนเป็นเงินส่วนตัวของศิลปินไทยที่ได้ไปสร้างชื่อเสียงในสหรัฐแทบทั้งสิ้น ก่อนจะคลี่คลายได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนพ้องหน่วยงานต่างๆ กระทั่งงบประมาณจาก “กระทรวงวัฒนธรรม”

รางวัลของการทำงานอย่างหนักเพื่อวงการศิลปะร่วมสมัย การศึกษาศิลปะร่วมสมัย การเชื่อมต่อกันระหว่างศิลปินไทยกับซีกโลกอื่นรวมทั้งศิลปินจากอาเซียนเพื่อนบ้าน เป็นการปลุกเร้าทุ่มเทด้วยชีวิตจิตใจของ “กมล ทัศนาญชลี” ศิลปินแห่งชาติ (2540) สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม+สื่อผสม) กระทั่งเกิดความเคลื่อนไหวของศิลปินแห่งชาติเกือบทุกสาขาเพื่อเผยแพร่เพื่อการศึกษา

เป็นการเกิดขึ้นของโครงการ “ศิลปินแห่งชาติสัญจร” ไปเกือบทั่วประเทศ

 

“บ้านศิลปินแห่งชาติ” ที่ได้เริ่มก่อเกิดขึ้นเมื่อราว 3 ปีที่ผ่าน ตรงบริเวณบ้านเดิม เลขที่ 111/1 แขวงคลองต้นไทร เขตคลองสาน ถนนเจริญนคร (ซอมเทียมบุญยัง) กรุงเทพมหานคร 10600 ซึ่งสร้างความตื่นเต้นประหลาดใจแก่ชุมชนเป็นอย่างยิ่ง

อย่างที่กล่าวแล้วว่าบริเวณดังกล่าวเดิมเป็นบ้านสวน ฝั่งธนบุรี ซึ่งดูตามกายภาพแล้วจะเต็มไปด้วยตรอกซอกซอยเล็กๆ คดเคี้ยวไปตามสิทธิของเจ้าของที่ดิน ย่อมเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งกับการก่อสร้างถนนหนทางเพื่อการสัญจรไปมาด้วยยานพาหนะอย่างรถยนต์ แต่เมืองก็เติบโตมาได้แบบที่ค่อยๆ ดัดแปลงแก้ไขกันไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมือง “ประวัติศาสตร์” อย่าง “กรุงเทพฯ+กรุงธนบุรี”

ไม่มีใครคาดหมายว่าในแถบถิ่นเหล่านี้จะสามารถเกิด “หอศิลป์ร่วมสมัย” หรือเป็น “บ้านศิลปินแห่งชาติ” ได้ แต่หลังจากปี พ.ศ.2540 ที่เจ้าของบ้านเกิดได้รับการยกย่องเชิดชูเป็นศิลปินแห่งชาติ ได้ทุ่มเททำงานอย่างหนักก่อเกิดโครงการสำหรับการศึกษาเล่าเรียนศิลปะ ด้วยเจตนารมณ์อันมุ่งมั่นทั้งๆ ที่ตัวเองยังอาศัยอยู่ในสหรัฐ กระทั่งความฝันก็เป็นความจริง

ประมาณตัวเลขคร่าวๆ อาจกว่า 15 ล้านบาทที่ต้องใช้จ่ายไปสำหรับการก่อสร้างอาคาร การปรับภูมิทัศน์ สร้างถนน ขุดท่อระบายน้ำ แต่หอศิลป์+บ้านศิลปินแห่งชาติเสร็จเรียบร้อย บอกได้คำเดียวว่างดงามทรงคุณค่า และไม่ยากเลยสำหรับการค้นหาเพื่อเดินทางเข้ามาเยี่ยมชม แม้จะอยู่ในซอกซอยสำหรับกรุงเทพฯ+ธนบุรี ที่เมืองเติบโตเกินกว่าที่คาดคิดทุกวันนี้

กมล ทัศนาญชลี ได้ซื้อหาผืนดินเติมต่อกับบ้านพักของตัวเองและญาติพี่น้อง ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงใช้เป็นที่สำหรับจอดรถในซอยทั้งที่เป็นซอยตันได้ไม่น้อยกว่าราว 20 คัน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากคนในละแวกดังกล่าว รวมทั้งผู้ใหญ่ระดับประธานวัฒนธรรมจังหวัดที่มีวิสัยทัศน์ของเขตคลองสานให้การสนับสนุนด้วยความยินดี เพราะเป็นการทำให้กับบ้านเกิด

“หอศิลป์ บ้านศิลปินแห่งชาติ” ของกมล ทัศนาญชลี เปิดตัวอย่างไม่เป็นทางการให้หน่วยงาน นักศึกษาเป็นกลุ่มก้อน รวมทั้งเพื่อนศิลปินแห่งชาติ ต่างชาติ ศิลปินทั่วไปได้เข้าเยี่ยมชมหลายครั้งแล้ว

ล่าสุดเป็นคณะนักศึกษา ครู อาจารย์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี โดยตัวศิลปินได้เป็นผู้บรรยายให้ความรู้

 

ผมได้มีโอกาสปลีกตัวจากความสับสนของเรื่องการเมืองตอนต้นปี พ.ศ.2563 ตามคำบอกกล่าวของเจ้าของหอศิลป์บ้านศิลปินแห่งชาติ ให้ไปเยี่ยมเยือนบรรยากาศอันอบอวลไปด้วยเหล่า “ศิลปิน+ศิลปินแห่งชาติ” คนรักศิลปะ นักสะสมศิลปะฐานะมั่งคั่งมั่นคงระดับเศรษฐี

ก่อนจะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการพร้อมงานแสดงผลงานครั้งสำคัญของศิลปินเจ้าของบ้านราวปลายเดือนมกราคม 2563

กมล ทัศนาญชลี บอกว่า (ครูชาลี) “ชาลี อินทรวิจิตร” ศิลปินแห่งชาติ (2536) สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์+ละคร) จะมาพูดคุยเรื่องเพลงที่ท่านแต่งไว้จำนวนเฉียด 1,000 เพลง พร้อมขับร้องด้วย

นอกจากจะพอรู้จักคุ้นเคยมาบ้างแล้วยังอยากพบอยากฟังว่า ครูชาลี ซึ่งอยู่ในวัย 97 ปี ท่านเดินไม่ได้แล้ว ยังจะร้องเพลงได้อีกหรือ?

ซึ่งก็ได้พบแต่เรื่องราวอันอบอวลไปด้วยเรื่องศิลปะ เสียงเพลงของครูชาลี และผู้ร่วมร้อง เริ่มต้นด้วยเพลง สดุดีมหาราชา ตามมาด้วยป่าลั่น, ท่าฉลอม, อาลัยรัก, บ้านเรา, ทะเลไม่เคยหลับ, หยาดเพชร และ ฯลฯ

อาจารย์ “วนิดา พึ่งสุนทร” ศิลปินแห่งชาติ (2546) สาขาทัศนศิลป์ (ประยุกต์ศิลป์) ให้เกียรติมาร่วมงานด้วย ผู้มีคุณูปการในวงการศิลปะคือคุณ “เยาวณี นิรันดร” ซึ่งเพิ่งทุ่มเงินจำนวนถึง 26 ล้านบาท ประมูลงานชื่อ “เวสสันดรชาดก” ของท่าน (พี่) ถวัลย์ ดัชนี ได้ โดยจะนำมาไว้ยังบ้านทิวเขา ถนนธนะรัชต์ เขาใหญ่ นครราชสีมา ซึ่งท่านก่อสร้างไว้สำหรับเป็นที่สะสมงานศิลปะร่วมสมัยของศิลปินคนสำคัญๆ ของประเทศไทย

ถ้าหากตีราคาเป็นเงินย่อมต้องอยู่ในหลักหลายร้อยล้านบาท และดูเหมือนท่านจะสะสมงานของกมล ทัศนาญชลี ด้วยเช่นเดียวกัน

ได้สัมผัสบรรยากาศเรื่องศิลปะบ้างย่อมสบายใจไปอีกแบบหนึ่ง โดยไม่มีเรื่องการเมืองมาข้องเกี่ยวแม้แต่น้อย