รายงานพิเศษ : คุยกับทูต ทุกสบิลกูน ทูมูร์คูเลก จากดินแดนแห่งทุ่งราบสูงกว้างใหญ่และท้องฟ้าสีคราม มองโกเลีย (จบ)

แม้จะไม่มีทางออกทางทะเล การขนส่งและโลจิสติกส์ที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ประชากรที่มีจำนวนน้อยส่งผลให้ตลาดภายในมีขนาดเล็ก การเกษตรกรรมที่มุ่งเน้นการปศุสัตว์มากกว่าการเพาะปลูก เนื่องจากอุปสรรคด้านอากาศและความสมบูรณ์ของพื้นดิน จึงต้องมีการนำเข้าสินค้าเกษตร

แต่มองโกเลียก็มีข้อได้เปรียบที่สำคัญหลายประการ ได้แก่

มีพื้นที่ที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุและทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Resource Advantage) ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สำคัญของภาคอุตสาหกรรมอย่างมากมาย เช่น ทองแดง ถ่านหิน โมลิบดีนัม (Molybdenum) ดีบุก ทังสเตน และทองคำ และยังมีอีกหลายแหล่งที่ยังไม่ได้สำรวจ

มีที่ตั้งซึ่งอยู่ระหว่างมหาอำนาจทางด้านเศรษฐกิจ 2 ประเทศ คือ จีนและรัสเซีย ซึ่งมีความต้องการสินค้าแร่ธาตุที่เป็นวัตถุดิบอย่างสูง

สองประเทศนี้จึงเป็นคู่ค้าใหญ่ที่สุดของมองโกเลีย

มีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวอย่างครบถ้วน ทั้งด้านความสวยงามและการผจญภัย เช่น ทะเลทรายโกบี (Gobi Desert) ทะเลสาบฮุฟสกุล (khuvsgul lake) ทุ่งหญ้าสเตปป์ (Steppe) ซึ่งเป็นทุ่งหญ้ากว้างที่ไม่มีต้นไม้ เขตทุนดร้า (tundra ) ติดกับไซบีเรียเป็นเขตหนาวเย็น มีหิมะปกคลุมเกือบตลอดปีแม้ในช่วงฤดูร้อนสั้นๆ ใต้พื้นดินก็ยังเป็นน้ำแข็ง

วัฒนธรรมประเพณีของชนเผ่ามองโกลและคาซัคที่น่าสนใจ

เอกอัครราชทูตมองโกเลีย นายทุกสบิลกูน ทูมูร์คูเลก เล่าต่อจากคราวก่อน

“ในปีที่ผ่านมารัฐบาลมองโกเลียได้เสนอมาตรการในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมการท่องเที่ยว การกำหนดแผนงานทั้งในระยะสั้นและระยะกลางได้ช่วยกระตุ้นให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาถึง 600,000 คนในปี ค.ศ.2015 และ 1 ล้านคนในปี ค.ศ.2017”

“การท่องเที่ยวเป็นภาคที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง การส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจโรงแรม ค่ายพักแรม การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จึงกลายเป็นที่ต้องการอย่างมาก”

“ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศมองโกเลียได้ชื่อว่าเป็นแหล่งกีฬาและกิจกรรมผจญภัยกลางแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นการเดินป่า ปีนเขา ตกปลา ล่าสัตว์ ดูนก นอกเหนือจากความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติที่บริสุทธิ์ สวยงาม แปลกตา ตลอดจนประเพณีดั้งเดิมของ Nomad ชนเผ่าเร่ร่อนแห่งทุ่งหญ้ามองโกล”

“นอกจากนี้ ชาวมองโกลยังนิยมเล่นกีฬาเป็นชีวิตจิตใจ ประเภทของกีฬาประจำชาติที่ได้รับความนิยมค่อนข้างแตกต่างจากของประเทศอื่น ส่วนใหญ่เข้ากับวิถีชีวิตของผู้ชายมองโกล สืบทอดมาหลายชั่วอายุคนได้แก่ ยิงธนู ยิงปืน ยูโด ชกมวย มวยปล้ำ”

“และแน่นอนที่สุดคือ ขี่ม้า กล่าวขานกันว่าคนมองโกลเกิดและตายบนหลังม้า (Mongols are born in the saddle : A Mongolian is born on the horse and dies on the horse) … ชาวมองโกลเป็นชนเผ่าเร่ร่อนและเป็นผู้ที่ชำนาญในการขี่ม้า”

ช่วงฤดูร้อนระหว่างวันที่ 11-13 กรกฎาคม รัฐบาลมองโกเลียจะจัดงานเทศกาลประจำปีอันยิ่งใหญ่ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1921 ชื่อ นาดาม (Naadam) ซึ่งครอบคลุมถึงการแข่งขันกีฬายอดนิยมดังกล่าว นับเป็นเทศกาลที่หลอมรวมจิตวิญญาณของคนมองโกลเข้าไว้ด้วยกันและได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติเมื่อปี ค.ศ.2010

“โดยส่วนตัว นอกจากชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์และวรรณคดีแล้ว ผมชอบดูกีฬา ฟุตบอล มวยปล้ำ และซูโม่ แน่นอนที่สุด ผมชอบขี่ม้า และอยากจะหาสนามเพื่อลองขี่ม้าในประเทศไทยบ้าง”

“การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี ค.ศ.2008 ที่ปักกิ่ง (Beijing 2008 Olympic Games) เราได้รับรางวัลสองเหรียญทองจากยูโดและมวยสากลสมัครเล่น รวมอีกสองเหรียญเงินจากกีฬายิงปืนพกและมวยสากลสมัครเล่น ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ประเทศมองโกเลียได้รับรางวัลเหรียญทอง”

“ต่อมาเราได้รับรางวัลสองเหรียญเงินจากยูโดและมวยสากลสมัครเล่น และอีกสามเหรียญทองแดงจากยูโด มวยปล้ำ และมวยสากลสมัครเล่น จากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี ค.ศ.2012 ที่ลอนดอน (London 2012 Summer Olympics) ผมจึงคิดว่านี่คือผลงานที่น่าประทับใจสำหรับประเทศที่มีพลเมืองเพียงสามล้านคน”

“อย่างไรก็ตาม เรารู้สึกเป็นหนี้บุญคุณตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ เพราะทำให้มองโกเลียกลายเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ”

 

“สําหรับในด้านการติดต่อกันระหว่างประชาชนต่อประชาชนนั้น นับว่ามีความสำคัญมาก เราจึงทำข้อตกลงกัน เพื่อให้คนไทยสามารถอยู่ในมองโกเลียได้ 30 วันโดยไม่ต้องขอวีซ่าก่อนเข้าประเทศ และคนมองโกลสามารถอยู่ในประเทศไทยได้ 30 วันโดยไม่ต้องขอวีซ่าเช่นเดียวกัน”

“ประเทศไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางอันเป็นที่นิยมมากสำหรับประชาชนชาวมองโกล เพราะมีชาวมองโกล 8,000-10,000 คนมาเยือนประเทศไทยเป็นประจำทุกปี เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจและด้วยเหตุผลทางการแพทย์ แต่น่าเสียดายที่คนไทยไปเยือนมองโกเลียเพียงไม่กี่ร้อยคน”

“ถึงแม้ว่าที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของเราค่อนข้างจะห่างไกลกัน แต่ทั้งสองประเทศต่างนับถือศาสนาพุทธ และมีความคล้ายคลึงกันในวัฒนธรรมประเพณี ผมจึงขอเชิญชวนคนไทยและคนทุกชาติไปเยือนมองโกเลีย เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์และสัมผัสวิถีชนเผ่าเร่ร่อนชาวมองโกล (nomadic lifestyle) ได้ชื่นชมธรรมชาติอันบริสุทธิ์งดงามและชีวิตจริงกลางทุ่งกว้าง ซึ่งผมแน่ใจว่า นักท่องเที่ยวชาวไทยหลายคนจะหลงรักมองโกเลีย”

“สำหรับคนไทยที่ไปเยือนประเทศจีน สามารถเดินทางจากกรุงปักกิ่งไปอูลานบาตอร์ เมืองหลวงของประเทศมองโกเลียโดยรถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย (Trans-Siberian Railway) และต่อไปยังมอสโก เมืองหลวงของประเทศรัสเซียโดยรถไฟสายนี้ได้อีกเช่นกัน”

“ในอดีต มีเที่ยวบินเช่าเหมาลำซึ่งดำเนินการโดยบริษัทเอกชนมองโกเลีย บินตรงระหว่างกรุงเทพฯ และอูลานบาตอร์ แต่น่าเสียดายที่หยุดบริการไปแล้ว ในปีนี้ มิอัท สายการบินแห่งชาติมองโกเลีย (MIAT Mongolian Airlines) กำลังดำเนินการวางแผนต่อเที่ยวบินตรงระหว่างกรุงเทพฯ-อูลานบาตอร์ ในปัจจุบัน นักท่องเที่ยวบินไปอูลานบาตอร์โดยผ่านทางฮ่องกง ปักกิ่ง หรือโซล”

 

เอกอัครราชทูตมองโกเลียประจำประเทศไทย นายทุกสบิลกูน ทูมูร์คูเลก ได้กล่าวสดุดีถวายความอาลัยในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่า

“ผมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งราชอาณาจักรไทย เราชาวมองโกลมีความชื่นชมที่พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนา ทรงเป็นนักคิดที่มีวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกล ตลอดระยะเวลาแห่งการครองสิริราชย์สมบัติ พระองค์ทรงเป็นที่รักของประชาชน ทรงอุทิศพระวรกายและพระราชหฤทัยเพื่อการพัฒนาประเทศชาติ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วประเทศอย่างไม่ทรงเหน็ดเหนื่อยย่อท้อ นับเป็นการสูญเสียอันยิ่งใหญ่ของประเทศไทย พสกนิกรไทย และมิตรของไทยทั่วโลก”

“ในฐานะเอกอัครราชทูตมองโกเลีย ผมมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่อย่างสุดความสามารถ เพื่อรักษามิตรภาพอันดีต่อกัน ด้วยความปรารถนาในการเพิ่มพูนความสัมพันธ์ระหว่างสาธารณรัฐมองโกเลียและราชอาณาจักรไทย ให้มีความผูกพันแนบแน่นยิ่งขึ้นสืบต่อไป”