บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ / ‘สภาอเมริกา’ ก็มี ‘งูเห่า’

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

‘สภาอเมริกา’ ก็มี ‘งูเห่า’

 

ถ้าพูดแบบขำๆ เหตุการณ์ในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเมื่อกลางเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งมีการลงมติเพื่อถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ น่าจะมีการเลียนแบบสภาไทย

เพราะว่ามี “งูเห่า” เกิดขึ้นแบบเดียวกันเลย

เมื่อ ส.ส.เดโมแครตบางคนดันไปยกมือคัดค้านการถอดถอน ทั้งที่พรรคเดโมแครตในฐานะฝ่ายค้านเป็นผู้เสนอเรื่องนี้

พรรคเดโมแครตถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ด้วย 2 ข้อหา คือ 1.ใช้อำนาจมิชอบ 2.ขัดขวางกระบวนการไต่สวนของสภาคองเกรส

ผลการลงมติปรากฏว่าเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบให้ถอดถอนตามข้อกล่าวหา โดยข้อหาแรกเห็นชอบ 230 คัดค้าน 197 ส่วนข้อหาที่ 2 เห็นชอบ 229 คัดค้าน 198

เหตุที่เดโมแครตชนะก็เพราะครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร

ส่วนรีพับลิกันของทรัมป์ครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ต้องส่งเรื่องไปยังวุฒิสภาเพื่อพิจารณาว่าจะถอดถอนตามข้อเสนอของสภาล่างหรือไม่

แต่มีความเป็นไปได้น้อยมากที่วุฒิสภาจะถอดถอน

 

ความน่าสนใจของการโหวตครั้งนี้อยู่ที่มี ส.ส.เดโมแครต 5 คนทำตัวเป็น “งูเห่า” ซึ่งพฤติการณ์ของแต่ละคนก็ปล่อยพิษมากน้อยแตกต่างกันไป โดยมี 2 คนที่ปล่อยพิษร้ายแรงสุด คือ คอลลิน ปีเตอร์สัน และเจฟฟ์ แวน ดรูว์ เพราะยกมือคัดค้านทั้งสองข้อกล่าวหา ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการถอดถอน

พูดให้ชัดก็คือไปเข้าเป็นพวกของฝ่ายรัฐบาลเต็มตัว

ส่วนอีกคนหนึ่งคือ จาเร็ด โกลเดน คัดค้านข้อกล่าวหาที่ 2 แต่เห็นชอบข้อหาที่ 1 ขณะที่ ส.ส.หญิง ทุลซี แกบบาร์ด งดออกเสียง ซึ่งในรายของทุลซี แกบบาร์ด นี้ เธอเป็นคนหนึ่งที่ประกาศจะลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในนามพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งปลายปีนี้

ส.ส.แกบบาร์ดอ้างเหตุผลว่า ทั้งการเห็นชอบและคัดค้านการถอดถอนทรัมป์ ล้วนขัดกับมโนธรรมของเธอ จึงใช้วิธีงดออกเสียง เนื่องจากเห็นว่าไม่จำเป็นต้องถอดถอนเพราะทรัมป์นั้นได้ละเมิดความไว้วางใจของสาธารณชนไปแล้ว ดังนั้น ประชาชนจะลงโทษเขาเองในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ส่วนเจฟฟ์ แวน ดรูว์ นั้นแสบที่สุด เพราะอีก 1 วันต่อมาเขาก็ไปโผล่ที่ห้องทำงานรูปไข่ของทรัมป์ที่ทำเนียบขาว จากนั้นทรัมป์ได้ประกาศต่อสาธารณชนว่า “มีประกาศใหญ่มากๆ จะแจ้งให้ทราบ เจฟฟ์จะมาอยู่กับพรรคเรา” โดยมีเจฟฟ์ยืนอยู่ข้างๆ

เรียกได้ว่าต้อนรับงูเห่าอย่างเปิดเผยโดยคนระดับประธานาธิบดี (เอิกเกริก ชัดเจนกว่าไทยอีก)

 

แหล่งข่าวในทำเนียบขาวและพรรครีพับลิกัน บอกว่า ทรัมป์และพันธมิตรได้ชักชวนเกลี้ยกล่อมเจฟฟ์เป็นเวลาหลายสัปดาห์ให้ย้ายพรรคมาอยู่กับรีพับลิกัน โดยยื่นข้อเสนอว่าทรัมป์และพรรครีพับลิกันจะสนับสนุนเขาในการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งหน้า

ในที่สุดวันที่ 13 ธันวาคม หรือ 5 วันก่อนจะมีการลงมติถอดถอนทรัมป์ เจฟฟ์ก็ตอบตกลงที่จะย้ายพรรค นั่นคือที่มาของการทำตัวเป็นงูเห่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวหากจะเรียกตามวลีฮิตของการเมืองไทยในปัจจุบันก็คือ “แจกกล้วย”

แหล่งข่าวบอกว่าในวันนั้น เจฟฟ์เดินทางมาถึงทำเนียบขาวอย่างเงียบๆ โดยมีเคลลีแอนน์ คอนเวย์ ที่ปรึกษาทำเนียบขาวมาต้อนรับและนำไปพบทรัมป์ โดยระหว่างนั้นเขาเดินผ่านนักข่าวโทรทัศน์ 2 คน แต่ไม่มีใครรู้จักเขาเนื่องจากไม่ใช่ ส.ส.คนดัง ดังนั้น เขาจึงผ่านนักข่าวไปโดยไม่มีใครสังเกตเห็น

เมื่อไปถึงทำเนียบขาว ทรัมป์ได้คุยกับเจฟฟ์เกี่ยวกับอนาคตทางการเมือง โดยทรัมป์สัญญาว่ารีพับลิกันจะสนับสนุนเจฟฟ์ในการลงเลือกตั้งครั้งหน้า

รวมทั้งจะช่วยจัดกิจกรรมทางการเมืองในเขตเลือกตั้งของเจฟฟ์ในรัฐนิวเจอร์ซีย์

การต้อนรับเจฟฟ์ งูเห่าย้ายพรรค เป็นไปอย่างเอิกเกริก อาจจะมากกว่าเมืองไทยด้วยซ้ำ เพราะในวันนั้นมีทั้งทรัมป์ รองประธานาธิบดีไมก์ เพนซ์ และเควิน แม็กคาร์ธีย์ ส.ส.รีพับลิกัน ในฐานะผู้นำเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร ปรากฏตัวร่วมกับเจฟฟ์ในการประกาศต่อสาธารณชน

การย้ายพรรคของเจฟฟ์ ยังไม่เกิดดราม่าแบบเมืองไทย ยังไม่มีประชาชนที่เลือกเขาออกมาไล่ให้ลาออกฐานไม่เคารพเสียงประชาชนแล้วเลือกตั้งใหม่เหมือนที่คนเสื้อแดงเชียงใหม่ออกมาไล่ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ ของพรรคอนาคตใหม่ ที่โหวตสวนมติพรรคจนถูกขับออกจากพรรค

 

เหตุผลที่เจฟฟ์ย้ายพรรคนั้น ตรงไปตรงมา เพราะผลสำรวจความนิยมในเขตเลือกตั้งของเขาพบว่ามีโอกาสน้อยที่จะได้รับเลือกจากพรรคให้ลงเลือกตั้งอีก เพราะจากการสอบถามประชาชนพบว่ามีเพียง 24% ที่สนับสนุนเขา

เจฟฟ์ แวน ดรูว์ เป็นสมาชิกสภาคองเกรสรายที่ 10 ในรอบ 20 ปีที่ย้ายพรรค โดยในจำนวน 10 คนนี้เป็น ส.ว. 2 คน และ ส.ส. 8 คน และในจำนวนนี้ 6 คนเป็นนักการเมืองจากพรรคเดโมแครตย้ายไปอยู่กับรีพับลิกัน ขณะเดียวกันมีนักการเมืองจากรีพับลิกัน 3 คนย้ายไปอยู่กับเดโมแครต มีเพียง 1 คน คือ จัสติน อแมช ที่ออกจากพรรครีพับลิกัน แต่ไม่ย้ายไปอยู่กับพรรคใดเลย

ส่วนปฏิกิริยาของคนในพรรคเดโมแครต รวมทั้งประชาชนที่เลือกเดโมแครต ยังไม่มีใครออกมาด่าเจฟฟ์ว่าเนรคุณ ต่างจากพรรคการเมืองไทยที่มีการข่มขู่ด่าว่านักการเมืองที่โหวตสวนทางมติพรรค หรือลาออกจากพรรคไปอยู่ที่อื่น

ในขณะที่พรรคฝ่ายค้านในเมืองไทยโวยวายซีกรัฐบาลว่า เลี้ยงงูเห่า ซื้องูเห่า ทำลายประชาธิปไตย แต่จะเห็นว่ารัฐบาลสหรัฐซึ่งถือตนเป็นตำรวจโลก คอยทำตัวเป็นผู้คุมให้ประเทศอื่นๆ เป็นประชาธิปไตย ก็มีพฤติกรรมไม่ต่างจากรัฐบาลไทยที่ถูกหาว่าเป็นเผด็จการ แถมยังโจ๋งครึ่มกว่าด้วยเพราะมีการดูดฝ่ายค้านด้วยการเสนอผลประโยชน์แลกเปลี่ยนแบบโต้งๆ

ชัดเจนกว่าไทยอีก

 

ที่สำคัญกว่านั้น ก่อนที่เดโมแครตจะลงมติถอดถอนเพียง 1 วัน ทรัมป์ได้ส่งจดหมายความยาว 6 หน้า ไปถึงนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร (พรรคเดโมแครต) จะเรียกว่าเป็นจดหมายด่าก็ได้ เพราะเต็มไปด้วยอารมณ์โกรธ โดยกล่าวหาว่าเดโมแครตกำลังทำผิดกฎหมาย พยายามรัฐประหารทางการเมือง และ “เปิดสงครามกับระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐ”

ทรัมป์คงไม่รู้ตัวจริงๆ ว่า ทั้งหมดที่เขาทำมาจนนำมาสู่การถอดถอนนั้นคือการละเมิดประชาธิปไตยมาโดยตลอด รวมทั้งการที่เขาเขียนจดหมายไปด่าฝ่ายค้าน ก็คือพฤติกรรมทำลายประชาธิปไตยโดยตัวมันเอง

ในทางปฏิบัติเชื่อว่ารีพับลิกันน่าจะมีการไปเกลี้ยกล่อม ส.ส.พรรคเดโมแครตมากกว่านี้ เพียงแต่ไม่ประสบความสำเร็จถึงขั้นจะเปลี่ยนแปลงมติถอดถอน

พฤติกรรมดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า แม้แต่ในประเทศประชาธิปไตยหลักของโลก การดูด ดึงฝ่ายค้าน เพื่อผลทางการเมืองก็ยังเกิดขึ้น ไม่ได้มีแค่ในประเทศไทย