โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/เหรียญหน้าไฟ 2521 หลวงปู่จันทร์ เขมิโย อดีตเจ้าคณะนครพนม

หลวงปู่จันทร์ เขมิโย

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

 

เหรียญหน้าไฟ 2521

หลวงปู่จันทร์ เขมิโย

อดีตเจ้าคณะนครพนม

 

 

“หลวงปู่จันทร์ เขมิโย” หรือ “พระเทพสิทธาจารย์” อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครพนม (ธรรมยุต) และอดีตเจ้าอาวาสวัดศรีเทพประดิษฐาราม อ.เมือง จ.นครพนม พระเถระชื่อดังที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธา

ละสังขารอย่างสงบด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2516 เวลา 08.00 น. ยังความเศร้าสลดแก่ผู้เลื่อมใสศรัทธา

คณะสงฆ์และคณะศิษยานุศิษย์เห็นพ้องให้นำสังขารเก็บรักษาไว้ในหีบศพ ตั้งบำเพ็ญกุศลภายในศาลาการเปรียญวัดศรีเทพประดิษฐาราม นานกว่า 6 ปี

ก่อนงานพระราชทานเพลิงศพ วัดศรีเทพประดิษฐาราม จัดสร้างเหรียญหลวงปู่จันทร์ รุ่น 4 พ.ศ.2521 เป็นที่ระลึกในงานพิธีพระราชทานเพลิง ประกอบด้วยเหรียญเงิน 99 เหรียญ และเหรียญทองแดง 10,000 เหรียญ

ลักษณะเป็นเหรียญรูปทรงกลีบดอกบัว มีหูห่วง

ด้านหน้า ขอบเหรียญเป็นกลีบดอกบัวซ้อนกัน นับได้ 12 กลีบ ตรงกลางมีรูปเหมือนหลวงปู่จันทร์ครึ่งองค์ หันหน้าตรง ด้านล่างสลักตัวหนังสือนูน เขียนคำว่า “หลวงปู่พระเทพสิทธาจารย์ (จันทร์ เขมิยเถระ)”

ด้านหลัง ขอบเหรียญเป็นกลีบดอกบัวซ้อนเช่นเดียวกับด้านหน้าเหรียญ ริมขอบเหรียญด้านบนสลักคำว่า “วัดศรีเทพ จ.นครพนม” กลางเหรียญเป็นยันต์ 8 ทิศ โครงสร้างยันต์ดังกล่าว มีคาถาพระเจ้า 5 พระองค์ นโมพุทธายะ กำกับไว้ มีความหมายปลอดภัยทั้ง 8 ทิศ ด้านล่างระบุพุทธศักราชที่สร้าง “พ.ศ.๒๕๒๑”

ในห้วงงานพระราชทานเพลิงศพ 7 วัน 7 คืน มีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลรุ่นดังกล่าว โดยมีสมเด็จพระสังฆราช และสมเด็จพระราชาคณะ 4 รูป ร่วมพิธี พร้อมด้วยพระเกจิอาจารย์ชื่อดังหลายรูป อาทิ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร, หลวงปู่ศรี มหาวีโร เป็นต้น นั่งภาวนาจิตปลุกเสก

เหรียญหลวงปู่จันทร์ พ.ศ.2521 เป็นเหรียญที่มีพุทธคุณโดดเด่นรอบด้าน เซียนพระเรียกชื่อรุ่นนี้ว่า “เหรียญรุ่นหน้าไฟ”

ในช่วงหนึ่ง เหรียญวัตถุมงคลรุ่นนี้ขาดหายจากตลาดพระเครื่องไปนาน

ถือเป็นเหรียญดีและได้รับการกล่าวขวัญถึง และได้รับความนิยมสูง

เหรียญหน้าไฟ-หลวงปู่จันทร์ (หน้า-หลัง)

 

มีนามเดิมว่า จันทร์ สุวรรณมาโจ ถือกำเนิดเมื่อวันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม 2424 ปีมะเส็ง ที่บ้านท่าอุเทน หมู่ 3 ต.ท่าอุเทน อ.เมือง จ.นครพนม บิดา-มารดาชื่อนายวงศ์เสนา และนางไข สุวรรณมาโจ

ช่วงวัยเยาว์ สุขภาพไม่ค่อยสมบูรณ์เป็นโรคหอบหืด บิดาจึงให้ไปอยู่กระท่อมปลายนา

ขณะอายุ 10 ขวบ บิดาล้มป่วยและเสียชีวิต จึงได้บวชเณรหน้าไฟ ที่วัดโพนแก้ว ต.ท่าอุเทน อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม มีพระขันธ์ ขันติโก เป็นพระอุปัชฌาย์

ขณะอยู่ที่วัดโพนแก้ว ศึกษาอักษรขอมและอักษรธรรม ฝึกอ่านเขียนสวดมนต์น้อย มนต์กลาง และมนต์หลวง ตามลำดับ

อายุ 19 ปี ลาสิกขาไปประกอบอาชีพค้าขาย

ครั้นอายุ 20 ปี เมื่อ พ.ศ.2445 จึงตัดใจเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์อีกครั้ง ณ พัทธสีมาวัดโพนแก้ว โดยมีพระเหลา ปัญญาวโร เป็นพระอุปัชฌาย์, พระเคน อุตตโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระหนู เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า เขมิโย

พำนักอยู่วัดได้ 2 เดือน กราบลาพระอุปัชฌาย์ไปจำพรรษาที่วัดอินทร์แปลง อ.เมือง จ.นครพนม เพื่อติดตามพระเคน ครูผู้สอนคัมภีร์มูลกัจจายน์

พ.ศ.2445 พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล แห่งวัดเลียบ จ.อุบลราชธานี พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผู้เป็นอาจารย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต แม่ธรรมทัพพระป่า และพระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปัญโญ) วัดปทุมมาราม ผ่านมาพักปักกลด

พระปัญญาพิศาลเถร และพระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ ได้รับคำแนะนำจากพระอาจารย์เสาร์ ให้คัดพระภิกษุ 4 รูป ผู้เฉลียวฉลาด โดย 1 ในนั้นมีพระจันทร์ พระลา พระหอม และสามเณรจูม (ต่อมาดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมเจดีย์) วัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี ถวายเป็นศิษย์พระอาจารย์เสาร์ ออกธุดงค์ บำเพ็ญเพียรสมาธิภาวนา ก่อนมุ่งสู่ จ.อุบลราชธานี

ช่วงที่พำนักที่วัดนี้ 4 เดือนเต็มเพื่อฝึกซ้อมบทสวดมนต์ พระอาจารย์เสาร์นำประกอบพิธีญัตติเป็นพระธรรมยุต ณ อุโบสถวัดศรีอุบลรัตนราม (วัดศรีทองเดิม) จ.อุบลราชธานี มีพระปัญญาพิศาลเถร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูประจักษ์อุบลคุณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ มีฉายาเดิมว่า เขมิโย

พ.ศ.2449 กราบลาพระอาจารย์มาจำพรรษาที่วัดศรีเทพประดิษฐาราม ซึ่งเป็นวัดร้างเดิมชื่อวัดศรีคุณเมืองนาน 3 ปี ปรับปรุงพัฒนาวัดขณะพรรษาที่ 7

พ.ศ.2453 เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ฝากตัวเป็นศิษย์กับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระเทพกวี) วัดเทพศิรินทราวาส ศึกษาพระปริยัติจนสำเร็จเปรียญ 3 ประโยค นาน 6 ปี ก่อนเดินทางกลับบ้านเกิด

ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัด และเป็นเจ้าคณะอำเภอหนองบึก (อำเภอเมืองในปัจจุบัน) พ.ศ.2459 ได้นำแผนการศึกษาของรัชกาลที่ 5 จัดตั้งโรงเรียนสอนภาษาไทยแผนใหม่และนักธรรมบาลีขึ้นเป็นแห่งแรก มีพระเณรและคฤหัสถ์ชาย เรียนรวมกัน

ก่อนย้ายไปเรียนที่ศาลากลางจังหวัดหลังเก่า และโรงเรียนปิยะมหาราชาลัย ในปัจจุบัน

 

ลําดับงานปกครองคณะสงฆ์

พ.ศ.2459 เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีเทพประดิษฐาราม

พ.ศ.2460 เป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2502 เป็นเจ้าคณะจังหวัดนครพนม

ลำดับสมณศักดิ์

พ.ศ.2474 เป็นพระครูสัญญาบัตรที่พระครูสารภาณพนมเขต

พ.ศ.2480 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระสารภาณมุนี

พ.ศ.2496 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสารภาณมุนี

พ.ศ.2502 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพสิทธาจารย์

มรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2516 เวลา 08.00 น. สิริอายุ 92 ปี พรรษา 72