จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 17-23 มกราคม 2563

จดหมาย

0 ไม้เรียว (1)

 

ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก

แล้วจะทำยังไงกันดีล่ะพระเดชพระคุณ

มนุษย์ลุง กำลังวิ่งข้ามถนนไปยังอีกฝั่งหนึ่ง

ส่วนมนุษย์ป้า กำลังเดินเอ้อระเ

หยลอยชายมายังถนนอีกฝั่งหนึ่ง

(ภาพในอดีต) ที่สุขุมวิท แยกเอกมัย หน้าสถานีขนส่งภาคตะวันออก (เมื่อครั้งรถไฟฟ้ายังไม่ได้สร้าง)

ทั้งๆ ที่สะพานลอยก็มีให้ข้าม

ป้ายตัวโตกว่าหม้อแกงหลายเท่า ก็มีเขียนเตือนให้เห็นเต็มตาทั้ง 2 ด้าน

บนแผงเหล็กคนข้าม บนเกาะกลางถนน หน้าเสาสัญญาณไฟจราจร

“อย่าเดินข้ามถนน โปรดข้ามสะพานลอย”

 

ส่วนอีกภาพหนึ่ง

ไอ้หนูตัวน้อยกำลังตั้งหน้าตั้งตาข้ามสะพานลอย

จากฝั่งด้านตลาดวโรรส ไปยังฝั่งตลาดต้นลำไย เมืองเชียงใหม่

ซึ่งถนนวิชยานนท์ ใต้สะพานลอยเป็นถนนสองเลนเล็กๆ และไม่ต้องมีป้ายบอกแบบถนนในกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร

ทำให้นึกถึงภาษิตเตือนใจของคนรุ่นโบราณของไทยเราอย่างจับใจ

“ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก”

ไม่ต้องดูอะไรมาก

ดูยอดลุงของเราก็แล้วกัน

พูดมานับสิบนับร้อยหน

ต่อไปจะเป็นลุงคนใหม่ จะกลับตัวใหม่ ไม่ฉุนเฉียว ไม่ชี้หน้าเอะอะโวยวายใส่นักข่าว ใส่ชาวบ้านเหมือนเดิมอีก

แต่พอมาเจอเหล่าพระเดชพระคุณ แมลงวันสายทำเนียบ ตั้งฉายาประจำปี

ประเภทแทงใจดำ อิเหนาเมาหมัด ให้เท่านั้น

เล่นเอาคุณลุงที่รัก ปรี๊ดขึ้น เชิดสิงโต ตะลุ้งตุ้งแช่ ก่อนตรุษจีนใส่ทันที

ขอบคุณภาษิตโบร่ำโบราณของไทยเราอีกครั้งครับ

ขอคารวะ 3 จอก (ฮ่า)

จากตากล้อง

อีตาปิยพงศ์ (เมืองหละปูน) เจ้าเก่า

 

ภาพในอดีต 2 ภาพ

กวาดเรียบ ตั้งแต่ “วันเด็ก” “วันครู” ไปจนถึง “วันตรุษจีน”

เด็กที่รู้จักหน้าที่ตัวเอง เคารพกฎหมาย ด้วยการเดินขึ้นสะพานลอย

ผู้ใหญ่ที่เปรียบเหมือนครู ที่คอยสั่งสอนและเป็นแบบอย่างให้เด็ก

กลับฝ่าฝืนกฎจราจร ไม่ยอมข้ามสะพานลอยเสียเอง

ส่วน “ลุงที่รัก”

คงเหน็ดเหนื่อย ต้องเชิดสิงโต ตะลุ้งตุ้งแช่ไปกระทั่งหลังตรุษจีนนั่นกระมัง

เพราะกระแสวิ่งไล่ลุง

ไม่ยอมหยุด และทำท่าขยายตัวไปเรื่อย

 

0 ไม้เรียว (2)

 

เห็นบ่นกันว่า โลกร้อนเพราะมือเรา

แต่พอถึงหน้าแล้ง (หนาว) ก็พากันตัดต้นไม้

เราก็ไม่เห็นดอกไม้

ไม่เห็นความร่มรื่นของไม้ใหญ่

ต้นไม้ใหญ่ให้ความร่มรื่น

ต้นไม้ดอกให้ความสดชื่น

ต้นไม้ผลให้ระบบขับถ่ายที่ดี

หญ้าเป็นพรมธรรมชาติ

คนโบราณบอกไม้เรียวสร้างคน

ไม่จริง

คนต่างหากที่สร้างไม้เรียว

ทำอย่างไรเราจะให้คนรู้จักรักต้นไม้ ไม่ใช่ดีแต่พูด

ควรสร้างจิตสำนึกให้เด็กไทยตั้งแต่ชั้นอนุบาล

เหมือนคนโบราณเขาสอนเด็ก

คนสมัยก่อนไปเที่ยวน้ำตก ดูทิวทัศน์ ป่าที่สวยงาม

เขาดูแล้ว ก็พูดว่าจะกลับมาดูใหม่

คนสมัยนี้ บุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองเสียเลย

คำว่าไม้เรียวสร้างคน ไม่ควรพูด

เพราะคนต่างหากที่สร้างไม้เรียว

ตะวันรอน

อ.ลอง จ.แพร่

 

ถ้าเรา (ครู-ผู้ใหญ่) ไม่สร้างไม้เรียว

แต่หันไปใช้วิธีปลูกฝัง “สิ่งดี-ดี” ตั้งแต่เด็ก

เด็กก็ย่อมได้รับแต่สิ่งที่ดี

เช่น รักต้นไม้ ไม่ทำลายป่าไม้

เราก็คงไม่ต้องมีไม้เรียวไว้ลงโทษใคร

เป็นอีกแนวคิดและวิธีการที่น่าสนใจ