จิตต์สุภา ฉิน : Surveillance Tech สอดส่องทุกความเคลื่อนไหว ใน CES 2020

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ช่วงต้นปีแบบนี้ก็ได้เวลาของ CES แล้วค่ะ

CES หรือ Consumer Electronics Show เป็นงานจัดแสดงเทคโนโลยียิ่งใหญ่ของปี ทุกๆ ปีจะจัดขึ้นที่ลาส เวกัสสหรัฐอเมริกา และแต่ละปีก็จะมีไฮไลต์เทคโนโลยีที่แตกต่างกันออกไป ปีนี้ซู่ชิงก็บินมาร่วมงานอีกเช่นเคยค่ะ

ความน่าสนใจก็คือเทรนด์เทคโนโลยีของปี 2020 ดูเหมือนจะตรงกันกับเนื้อหาที่เคยได้พูดคุยไปแล้วหลายต่อหลายครั้งผ่านทางคอลัมน์ Cool Tech แห่งนี้

นั่นก็คือ Surveillance tech หรือเทคโนโลยีที่ใช้เพื่อสอดส่องตรวจตรานั่นเอง

เทคโนโลยีเหล่านี้หมายรวมหลักๆ ถึงบรรดากล้องต่างๆ อย่างเช่นกล้องวงจรปิดที่ติดไว้ตามบ้าน โดรน เทคโนโลยีรู้จำใบหน้า หรือ Facial recognition

 

เริ่มตั้งแต่การเข้างาน ในปีนี้มีออปชั่นให้คนที่มาร่วมงานเลือกได้ว่าจะรับบัตรเข้างานด้วยวิธีปกติ ซึ่งก็คือการโชว์บาร์โค้ดที่ได้รับตอนลงทะเบียนควบคู่กับหลักฐานยืนยันตัวตน หรือจะเลือกออปชั่นทันสมัยที่เพิ่งเปิดให้ทำครั้งแรก อย่างการใช้เทคโนโลยีรู้จำใบหน้า

เรียกได้ว่าพอจะได้เห็นแนวโน้มเทรนด์เทคโนโลยีปีนี้กันตั้งแต่ก่อนย่างเท้าเข้างานเลยทีเดียว

หนึ่งในรายใหญ่ที่เข้ามาจัดแสดงก็คือ Amazon ที่นำเทคโนโลยี Ring กล้องวงจรปิดที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงหลังๆ เข้ามาโชว์ไว้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งดูเหมือนกับว่าตอนนี้ Ring จะกลายเป็นอีกสิ่งประดิษฐ์ที่บ้านคนอเมริกันเริ่มขาดไม่ได้ไปแล้ว

และหนึ่งในคนที่ได้ประโยชน์จากกริ่งประตูที่ทำหน้าที่เป็นกล้องวงจรปิดไปด้วยก็คือตำรวจที่มักจะขอฟุตเทจจากบ้านคนในละแวกที่เกิดเหตุอาชญากรรม ทำให้ไขคดีได้ง่ายขึ้น

นอกจาก Ring แล้วก็ยังมีกล้องวงจรปิดจากแบรนด์อื่นๆ อย่างเช่น Arlo ที่เป็นกล้องที่มาพร้อมกับไนต์วิชั่น ไซเรน เซ็นเซอร์แสง และความสามารถในการสื่อสารด้วยเสียงทั้งสองทาง

หรือล้ำหน้าไปอีกขั้นกับ Sunflower Labs ที่จัดแสดงระบบโดรนความปลอดภัยที่ใช้กับบ้าน หากมีผู้บุกรุกเข้ามาในรั้วบ้าน โดรนที่ติดตั้งกล้องเอาไว้ตัวนี้จะโผบินออกมาเพื่อส่องกล้องไปที่ผู้บุกรุกและสตรีมวิดีโอสดๆ เข้าไปให้เจ้าของบ้านเห็น ซึ่งเจ้าของบริษัทยืนยันว่าไม่ไปก่อความเดือดร้อนและสอดส่องเพื่อนบ้านแน่ๆ เพราะโดรนจะมองลงไปแค่ภายในเขตรั้วบ้านของผู้ใช้เท่านั้น

เทคโนโลยีสมาร์ตโฮม และสมาร์ตซิตี้ หลายอย่างประกอบไปด้วยอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อการมองเห็น ได้ยิน และติดตามความเคลื่อนไหวของคน

อุปกรณ์บางอย่างสามารถทำได้แม้กระทั่งการวิเคราะห์หน้าตาและพฤติกรรมคน อย่างเช่น กล้องในรถยนต์ที่สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของลูกตาเพื่อป้องกันไม่ให้คนขับหลับใน

 

อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมาเรามักจะได้ยินข่าวเรื่องภัยอันตรายที่เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ อย่างเช่น ข่าวที่กล้องวงจรปิดถูกแฮก แฮกเกอร์สามารถเข้ามาควบคุมกล้องภายในบ้านของเราได้โดยที่เราไม่รู้ตัว

หรือภาพจากกล้องวงจรปิดของเราถูกสลับไปอยู่บนแอพพลิเคชั่นของคนอื่น

ไปจนถึงการที่ฐานข้อมูลของบริษัทเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังอุปกรณ์ต่างๆ ที่เราใช้ถูกแฮกเกอร์เจาะเข้าไปดูดเอาข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้อย่างเราไปจนหมด

ข่าวทั้งหมดที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาน่าจะทำให้ผู้บริโภคเริ่มหันมาสนใจกับคุณภาพและความปลอดภัยของอุปกรณ์เหล่านี้เพิ่มขึ้น แทนที่จะเลือกซื้อโดยดูจากราคาที่ถูกที่สุดเอาไว้ก่อน เทรนด์ของปีนี้ก็น่าจะเป็นไปในทางที่ผู้บริโภคคำนึงถึงความปลอดภัยจากการใช้งานมากขึ้น และน่าจะมีการออกกฎและมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่รัดกุมขึ้นกว่านี้

ก่อนหน้านี้ เทคโนโลยีอย่าง Facial recognition ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายว่าเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนตัวของประชาชน อย่างเช่น การใช้เพื่อระบุตัวตนของผู้โดยสารในสนามบิน หรือการที่ตำรวจใช้ในการหาตัวผู้ร้ายที่ทางการต้องการ

จนทำให้กลายเป็นเทคโนโลยีที่ดูน่ากลัวไปเลย

 

แต่ในงาน CES คราวนี้ บริษัทที่อยู่เบื้องหลังเทคโนโลยีรู้จำใบหน้าต่างก็พยายามทำให้เทคโนโลยีของตัวเองมีความเป็นมิตรมากขึ้น ด้วยการนำไปใช้ในรูปแบบต่างๆ ที่มีความเกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันของคนมากขึ้น

ที่น่ารักที่สุดก็คือการนำเทคโนโลยีรู้จำใบหน้ามาใช้กับแมวนี่แหละค่ะ

Lulupet เป็นห้องน้ำแมวที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ขนาด ปริมาณ เนื้ออุจจาระแมว และการเปลี่ยนแปลงในน้ำหนักของแมว เพื่อดูว่าแมวมีสุขภาพดีแค่ไหน หากมีปัญหาอะไรจะได้แจ้งเตือนเจ้าของได้ทันท่วงที

สาเหตุที่จะต้องใช้การรู้จำใบหน้าเข้ามาช่วยก็เพราะคนเลี้ยงแมวมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ มีแมวมากกว่า 1 ตัวนั่นเอง

ดังนั้น สำหรับแมวแล้วนี่น่าจะเป็นการรุกล้ำความเป็นส่วนตัวสุดๆ เพราะเข้าไปทำธุระในห้องน้ำที่คิดว่าน่าจะเป็นเวลาส่วนตัวแล้ว แต่เจ้าของก็ยังรู้อยู่ดีว่าอึก้อนไหนเป็นของใคร แถมยังรู้ด้วยว่าผอมลง หรืออ้วนขึ้นแค่ไหน!

 

ดูจากเทรนด์แล้วปี 2020 ตลอดทั้งปี เราน่าจะได้เห็นการเติบโตของเทคโนโลยี Surveillance tech มากขึ้น โดยผู้บริโภคอย่างเราเองก็น่าจะเริ่มรู้สึกถึงแรงกดดันที่จะต้องหันมาใช้เทคโนโลยีประเภทนี้บ้าง อย่างเช่นการติดตั้งกล้องภายในบ้านหรือหน้าบ้านเพื่อดูความเคลื่อนไหวนอกตัวบ้านได้ตลอดเวลา และหากไม่มีก็จะไม่รู้สึกสะดวกและปลอดภัย

แต่ขณะเดียวกันก็จะเกิดความรู้สึกที่ขัดแย้งกันไปในตัว คือรู้สึกสูญเสียความเป็นส่วนตัวไปพร้อมๆ กัน จากการที่รอบตัวเต็มไปด้วยเทคโนโลยีที่คอยสอดส่องทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้น

แล้วเราจะต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือจะสามารถมีทั้งสองอย่างไปพร้อมๆ กันได้ นี่คือคำถามที่เราจะต้องหาคำตอบกันในปีนี้ค่ะ