ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | ร่วมกันสร้างประเทศโดยออกไปวิ่งไล่ลุง

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

นักวิเคราะห์การเมืองทุกคนเห็นตรงกันว่าปี 2563 เป็นปีที่การเมืองไทยร้อนแรงที่สุดในรอบหลายปี และถึงแม้จะยังไม่มีใครคิดว่ารัฐบาลประยุทธ์ 2 จะเผชิญมรสุมจนถึงขั้นมีอันเป็นไป คนจำนวนไม่น้อยก็เห็นตรงกันว่าปีนี้สถานการณ์รัฐบาลทรุดหนักแน่ๆ ส่วนจะปิดฉากหรือไม่ และด้วยวิธีไหน ก็สุดแท้แต่กรณี

เฉพาะในสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ความเห็นคุณชวน หลีกภัย เรื่องโละผู้บัญชาการเหล่าทัพจากวุฒิสภาได้รับการขานรับอย่างกว้างขวาง โพลที่ได้ชื่อว่าอวยรัฐบาลอย่าง “ซูเปอร์โพล” ระบุว่าคะแนนนิยมพลเอกประยุทธ์ในหมู่พลังเงียบต่ำกว่าต้นปีเกือบหนึ่งเท่า ส่วนคนไม่สนับสนุนรัฐบาลก็สูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

นิด้าโพลไม่ได้สำรวจความเห็นเรื่องความนิยมต่อพลเอกประยุทธ์เหมือนซูเปอร์โพล แต่ผลสำรวจที่ค้นพบว่าคนเห็นด้วยกับกิจกรรมวิ่งไล่ลุงถึง 40.86% ก็สะท้อนว่าคนส่วนใหญ่ไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ต่อไปแล้ว ยิ่งกว่านั้นคือผลสำรวจนี้ตรงกับ “ซูเปอร์โพล” เรื่องคนสนใจงานวิ่งไล่ลุงยิ่งกว่างานเดินเชียร์ลุง

ผู้จัดยืนยันว่า #วิ่งไล่ลุง ไม่ใช่การชุมนุมต่อต้านรัฐบาล แต่ด้วยคำสัมภาษณ์ของผู้จัดว่าวิ่งไล่ลุงคือวิ่งไล่คนถ่วงความเจริญ ใครได้ยินก็นึกถึงพลเอกประยุทธ์ทั้งหมด #วิ่งไล่ลุง จึงเป็นการเมืองเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงความไม่พอใจประยุทธ์ ขณะเดียวกันก็เป็นการเมืองมวลชนที่คนมหาศาลแสดงความรู้สึกร่วมนี้ออกมา

แม้ผู้จัดงานวิ่งไล่ลุงจะหลีกเลี่ยงพูดพาดพิงรัฐบาล แต่การที่รัฐบาลขัดขวางงานนี้โดยกดดันไม่ให้แถลงข่าว , ใช้ตำรวจขมขู่, ให้รองโฆษกพลังประชารัฐแถลงบ้าๆ บอๆ ว่าคนจัดงานโกยเงินหกล้าน ฯลฯ ทำให้งานเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านรัฐบาล และคนไม่น้อยก็ไปงานนี้เพื่อแสดงความไม่พอใจรัฐบาลออกมา

วิ่งไล่ลุงในปี 2563 เป็นการต่อสู้ทางการเมืองวัฒนธรรมแบบเดียวกับเพลงประเทศกูมีในปี 2561 และรัฐบาลปี 2563 กำลังตอบโต้ด้วยวิธีเดียวกับที่รัฐบาล คสช.ปี 2561 แต่งเพลง Thailand 4.0 ซึ่งจบด้วย “โซเชียล” เมินจนฝ่ายรัฐบาลแพ้ย่อยยับ งานเดินเชียร์ลุงจึงมีคนสนใจไม่มาก ต่อให้จะลงทุนแจกเสื้อฟรีก็ตาม

ถ้าความแพร่หลายของประเทศกูมีคือคำประกาศว่าด้วยการปฏิเสธระบอบการปกครองที่ปลายกระบอกจ่อปลายกระเดือก กระแสสังคมที่ตอบรับงานวิ่งไล่ลุงอย่างล้นหลามก็คือการแสดงเจตนารมณ์ว่าคนส่วนใหญ่พร้อมจะ “ลงถนน” ถึงขั้นที่พร้อมจะร่วมตัวอย่างเปิดเผยว่าไม่พอใจรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ตรงๆ

รัฐบาลขัดขวางกิจกรรมวิ่งไล่ลุงโดยกฎหมายและวาทกรรมว่าการวิ่งคือการสร้างความวุ่นวาย แต่ด้วยการมีส่วนร่วมที่คนมีต่องานนี้อย่างกว้างขวาง วิ่งไล่ลุงแสดงให้เห็นว่าประชาชนพร้อมจะออกทางการเมืองแบบที่เทียบเท่า “การดื้อแพ่ง” ต่ออำนาจรัฐ รวมทั้งไม่สนใจข้อกล่าวหาเรื่องสร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย

เพื่อจะไม่ให้ประชาชนแสดงออกว่ารังเกียจพลเอกประยุทธ์ในปี 2563 รัฐบาลพยายามส่งรัฐมนตรีและลิ่วล้อสร้าง “กระแส” ว่าการวิ่งคือการชุมนุมที่ทำให้เศรษฐกิจพังพินาศ แต่คำตอบรับที่สังคมมีต่อ “กระแส” นี้แทบเป็นศูนย์ เพราะทุกคนรู้อยู่แก่ใจว่าเศรษฐกิจไทยหายนะมาตลอดห้าปีที่ประเทศไม่มีการชุมนุมอะไร

ถ้าห้าปีของการปกครองแบบเผด็จการทหารคือการข่มขู่ให้คนทั้งประเทศยอมสยบภายใต้ความหวาดกลัว ประเทศไทยในปี 2563 ก้าวเข้าสู่ขั้นตอนใหม่ที่ประชาชนฝ่าข้ามความหวาดกลัวการข่มขู่ของผู้มีอำนาจถึงระดับที่รัฐไม่สามารถใช้การโฆษณาชวนเชื่อสกัดการแสดงออกของประชาชนได้อย่างที่ผ่านมา

วิ่งไล่ลุงเป็นกิจกรรมที่ไม่มีการจัดตั้งหรือผู้นำที่ชัดเจน หรือถ้าพูดด้วยภาษาการตลาดออนไลน์ วิ่งไล่ลุงคือกิจกรรมที่ประชาชนมีปฏิสัมพันธ์และดำเนินการด้วยตัวเองแท้ๆ โดยไม่มีการชักจูงด้วยวิธีอื่นๆ (Organic Engagement) การวิ่งจึงสะท้อนว่าประชาชนถึงจุดที่พร้อมแสดงออกว่าไม่พอใจประยุทธ์โดยไม่มีใครชี้นำ

ด้วยกมลสันดานของของรัฐบาลที่เหยียดหยามประชาชนว่าทำอะไรก็ต้องมีผู้นำที่เป็น “จอมบงการ” รัฐบาลพยายามโจมตีผู้จัดงานวิ่งไล่ลุงด้วยเรื่องส่วนตัว หรือไม่ก็สาดโคลนว่ามีอนาคตใหม่อยู่เบื้องหลัง แต่ในเมื่อด้านหลักของเรื่องทั้งหมดมีประชาชนดำเนินการด้วยตัวเอง การโจมตีจึงไม่มีผลแม้แต่นิดเดียว

หากนายกยุคประยุทธ์ 2 มีสติปัญญางอกงามเท่าอายุงานของการตั้งตัวเองเป็นนายกด้วยกระบอกปืนในปี 2557 สิ่งที่พลเอกประยุทธ์ควรเห็นคือระดับความไม่พอใจทางการเมืองของประชาชนในปี 2563 มีมากจนพร้อมจะแสดงออกทันทีที่ประตูแห่งโอกาสเปิดเพียงน้อยนิด นั่นคือเด็กสี่คนทำเพจชวนคนไปวิ่งด้วยกัน

สำหรับรัฐบาลในระบอบที่ต้องการควบคุมประชาชนไว้ใต้อำนาจทมิฬ วิ่งไล่ลุงคือปรากฎการณ์ที่แสดงวิวัฒนาการของการเมืองมวลชนที่ก่อตัวในสังคมอย่างเงียบเชียบแต่กึกก้องมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือมวลชนไม่ได้รวมตัวเป็นกลุ่มก้อนด้วยผู้นำ (Mass) แต่มวลชนคืออิสรชนที่แสดงออกอย่างเป็นไปเอง (Multitude)

หมอแพ้เลือกตั้งและพลเอกที่ชอบอวดภาษาอังกฤษเปิดเผยตลอดปี 2562 ถึงความหวั่นเกรงว่าสังคมจะเกิด “คนรุ่นใหม่” หรือ “มวลชนอิสระ” ที่ไม่ฟังชนชั้นนำเก่าเลย แต่ที่จริงสิ่งที่คนเหล่านี้ควรทำคือหาทางอยู่กับคนกลุ่มนี้ เพราะวิ่งไล่ลุงเป็นหลักฐานว่าคนแบบนี้มีมากจนทางเดียวที่จะปฏิเสธคือครอบหัวด้วยกะลา

การทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองโดยกำจัดผู้นำคือยุทธวิธีที่เครือข่ายระบอบประยุทธ์ทำมาอย่างต่อเนื่องหลังปี 2549 แต่วิธีนี้อาจไม่ได้ผลในการสยบประชาชนในปี 2563 ที่คนจำนวนมากตกผลึกทางการเมือง ประชาชนพร้อมทำอะไรบางอย่างด้วยตัวเองมากขึ้นจนผู้มีอำนาจยากจะปิดเกมโดย “เด็ดหัว” ใครคนเดียว

ที่จริงแล้วรัฐสภาคือกลไกเพื่อประคับประคองให้สังคมที่แตกร้าวกลับมาเดินหน้ากันตามครรลอง แต่โศกนาฎกรรมของสังคมไทยในเวลานี้คือชนชั้นนำตอนนี้อำมหิตจนไม่ยอมให้ประชาธิปไตยรัฐสภาแบบง่ายๆ บังเกิดขึ้น สภาถูกใช้เพื่อให้ความชอบธรรมกับผู้ปกครอง แต่ไม่ใช่เพื่อสร้างการปกครองของคนทุกคน

ด้วยทุกกระบวนท่าของการทำลายประชาธิปไตยรัฐสภาหลังปี 2549 ซึ่งพุ่งถึงจุดอัปยศที่สุดในรัฐธรรมนูญ 2560 สารที่ชนชั้นนำสื่อให้ประชาชนเห็นคือ “ระบบ” ไม่ใช่ทางออก เพราะระบบอยู่ใต้มือที่มองไม่เห็น คนกลุ่มนี้พร้อมบิดเบือนกติกาเพื่อตัวเองอย่างถึงราก ความเชื่อในระบบจึงถูกกัดกร่อนจากความเป็นจริง

หากเปรียบประเทศเป็นบุคคล ประเทศไทยในปี 2563 ก็คือประเทศที่กรรมจากบาปทางการเมืองของชนชั้นนำกำลังผลักดันประเทศสู่ทิศทางที่น่ากังวลที่สุด ผู้มีอำนาจไม่ฟังประชาชน ต้องการคุมประชาชนเป็นเบี้ยล่าง ส่วนประชาชนเองก็ตาสว่าง และมีเครื่องมือที่จะพัฒนาเป็นการปฏิเสธผู้มีอำนาจในระยะยาว

ไทยเป็นประเทศที่เครือข่ายออนไลน์โตเป็นอันดับต้นของโลกมานาน และโดยที่ไม่มีใครตั้งใจ “ออนไลน์” กลายเป็นป่าให้คนรุ่นใหม่หรือ “มวลชนอิสระ” พัฒนาศักยภาพในการเปลี่ยนประเทศด้วยตัวเองยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนรัฐที่เคยทำลายทักษิณ, ยิ่งลักษณ์, ธนาธร ฯลฯ อาจพบว่าไม่มีเป้าให้ทำลายอีกต่อไป

เพื่อที่จะไม่ให้ประเทศนี้มีการวิ่งไล่ลุงหรือแฟลชม็อบอื่นต่อไป สิ่งที่ผู้มีอำนาจพึงทำได้แก่การคืนประชาธิปไตยให้การปกครองแบบรัฐสภาเดินหน้าตามครรลองปกติ ประเทศไม่นิ่งเพราะคนส่วนน้อยทำจนคนส่วนใหญ่ทนไม่ได้ ทางแก้จึงได้แก่การทำให้คนส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่าระบบจะทำให้ทุกคนมีชีวิตที่ดี

ไม่เคยมียุคไหนที่สังคมไทยอยู่ที่หุบเหวแห่งความโกลาหลเท่าปัจจุบัน ศรัทธาของประชาชนต่อผู้มีอำนาจเสื่อมลง อำนาจดำรงอยู่ด้วยกำลังและกฎหมายกว่าความยอมรับ การสร้างระบบที่ผ่อนสั้นผ่อนยาวให้ทุกคนคุยกันจึงเป็นทางรอดเดียวของประเทศ ไม่ใช่ดันทุรังให้ชนชั้นนำคุณภาพต่ำยึดประเทศแบบที่ผ่านมา

วิ่งไล่ลุงคือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนประเทศ แต่จะเปลี่ยนไปทางไหนขึ้นอยู่กับความโง่และความฉลาดของผู้มีอำนาจเอง ผู้นำที่ฉลาดย่อมเห็นว่า หนองแห่งระบอบเผด็จการ คสช.ที่อักเสบมาห้าปีทำให้ประยุทธ์ 2 มีสภาพเหมือนฝีใกล้แตก ส่วนผู้นำหน้าโง่ก็จะคิดได้แค่ไล่จับและไล่ล่าจนประชาชนเห็นอำนาจรัฐเหมือนมะเร็งที่ต้องตัดทิ้งไป