ทรัมป์กับมุสลิม ตอนที่1 : โวหารการต่อต้านมุสลิมได้ก่อให้เกิดการตอบโต้

จรัญ มะลูลีม

คลิกอ่านตอนอื่นๆ

ชาวมุสลิมทั่วโลกได้แสดงความผิดหวังหลังการเลือกตั้งได้เพียงหนึ่งวัน เมื่อรู้ว่าทรัมป์ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐ โดยพวกเขาหวาดกลัวว่าความตึงเครียดระหว่างตะวันตกและอิสลามจะมีส่วนผลักดันให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกันยิ่งขึ้นไปอีก

เมื่อประธานาธิบดีอียิปต์ได้แสดงความยินดีกับทรัมป์มาแต่เนิ่นๆ นั้น คนมุสลิมทั่วไปก็มีความกังวลว่าทรัมป์จะกลายเป็นของขวัญให้กลุ่มนักสู้ที่ต่อต้านสหรัฐ คนอื่นๆ มีความเข้าใจว่าประธานาธิบดีที่ได้รับการเลือกตั้งจะปิดกั้นมิให้ชาวมุสลิมเข้ามาสหรัฐ

ซึ่งก็เป็นจริงในเวลาต่อมาสำหรับ 7 ประเทศ แม้ว่าจะได้รับการโต้กลับจากฝ่ายนิติบัญญัติก็ตาม

“ทรัมป์รับเอาโวหารที่ก่อไฟขึ้นมาต่อต้านชาวมุสลิมมาใช้ คนที่ลงคะแนนให้เขาก็คาดหวังว่าเขาจะทำตามสัญญา ซึ่งทำให้ผมกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่มีต่อชาวมุสลิมในสหรัฐและส่วนที่เหลือของโลก”

เยนนี วาฮิด (Yenny Wahid) นักวิชาการกระแสหลักผู้มีชื่อเสียงของอินโดนีเซียกล่าว

 

ชาวมุสลิม 1.6 พันล้านคนปฏิบัติตามนิกายและสำนักคิดที่แตกต่างกัน รวมกันเป็นประชากรส่วนใหญ่ในประเทศที่มีความหลากหลายนับจากอินโดนีเซีย ปากีสถาน ซาอุดีอาระเบีย เซเนกัล และแอลเบเนีย ทั้งนี้ ประเทศเหล่านี้มีทรรศนะทางการเมืองที่มีรูปแบบของตัวเอง

ถ้อยคำของทรัมป์ที่กล่าวถึงชาวมุสลิมก่อนการเลือกตั้งและกิจกรรมต่อต้านศาสนาอิสลามในหมู่ผู้สนับสนุนตัวเขาได้สร้างความตระหนกให้กับคนจำนวนมาก อย่างที่เขาพูดว่าชาวมุสลิมที่มาจากต่างประเทศควรได้รับการปิดกั้นไม่ให้เข้าประเทศ หรือไม่ก็ต้องมีการตรวจสอบล่วงหน้า

ในช่วงการรณรงค์อันขมขื่นของการเลือกตั้ง ทรัมป์ได้โจมตีคู่แข่งของเขาเกี่ยวกับการคุกคามที่มาจากผู้ที่เขาเรียกว่านักรบติดอาวุธอิสลาม (militant Islam) ซึ่งเขาบอกว่า “กำลังมาที่ชายฝั่งของเรา” และกล่าวเพิ่มเติมว่าเขาจะตั้งคณะกรรมการมาดูแลเรื่องนี้

ประธานาธิบดีอียิปต์ซึ่งยึดอำนาจมาจากรัฐบาลประชาธิปไตยของ มุฮัมมัด มุรซี (Muhammad Moorsi) อับเด็ล ฟัตตะห์ อัซ-ซิซี (Abdel Fattah al-Sisi) เป็นผู้นำคนแรกที่แสดงความยินดีกับทรัมป์ทางโทรศัพท์

คนอียิปต์จำนวนมากให้การต้อนรับชัยชนะของเขาโดยกล่าวว่า ฮิลลารี คลินตัน คู่ต่อสู้ของทรัมป์มีบันทึกว่าได้รับความนิยมไม่มากในประเทศอาหรับอย่างอียิปต์ซึ่งมีประชากรอยู่อย่างหนาแน่น

 

ฮิลลารี คลินตัน ซึ่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ (Secretary of State) ระหว่างการลุกฮือที่รู้จักกันในชื่ออาหรับสปริงของปี 2011 ไม่ได้รับความนิยมในหมู่ชาวอียิปต์ส่วนใหญ่ ทั้งนี้ บรรดาผู้สนับสนุนการลุกฮือของประชาชนมองว่าฮิลลารีเป็นผู้สนับสนุนเผด็จการ ฮุสนี มุบาร็อก ที่พวกเขาพยายามโค่นอำนาจมาโดยต่อเนื่อง

แต่ในส่วนอื่นๆ ของโลกมุสลิมมองทรัมป์ว่าเป็นศัตรูของพวกเขา อะไรก็ตามที่เกิดในสหรัฐมีผลกระทบต่อทุกๆ คน

คำยืนยันของทรัมป์ที่มีต่อคนผิวสีนั้นล้วนแล้วแต่นำเอาความเลวร้ายมาให้ ชาวมุสลิมกลุ่มน้อยล้วนไม่มีความยินดี” Ganiu Olukanga ชาวมุสลิมที่อยู่ในกรุงลากอสของไนจีเรียกล่าวถึง ชาวมุสลิมรวมทั้งวาฮิดว่า พวกเขาหวาดกลัวการขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีและการเลือกตั้งอาจนำไปสู่การสนับสนุนความคิดที่ว่าสหรัฐเป็นศัตรูกับชาวมุสลิมและสิ่งนี้จะเป็นอุปสรรคต่อความพยายามในการใช้ศาสนาอิสลามต่อต้านความสุดโต่ง

ชัยชนะของทรัมป์จะเป็นของขวัญที่ใหญ่มากสำหรับขบวนการของนักต่อสู้ที่ต่อต้านสหรัฐ ซึ่งเวลานี้จะกลับมารวมกันต่อสู้อีกครั้ง อะห์มัด รอซีด นักวิชาการและสมาชิกของพรรคแรงงานอวามีของปากีสถาน (Pakistan”s Awami) กล่าว

เขากล่าวเพิ่มเติมว่าภาพลักษณ์ของสหรัฐคือปีศาจที่ต่อต้านนักต่อสู้มุสลิม

 

ในแวดวงโซเชียลมีเดียของนักต่อสู้ที่ตะวันตกเรียกว่านักญิฮาด (Jihadist) กล่าวว่า การเลือกตั้งของทรัมป์เป็นการเปิดเผยตำแหน่งแห่งที่ของสหรัฐที่มีต่อชาวมุสลิม “หน้ากากได้เริ่มเปิดออกมาแล้ว”

ในบรรดาเจ้าหน้าที่ขององค์การต่างๆ ได้แสดงความห่วงใยออกมาแต่องค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) โดยเบื้องต้นยังไม่ได้มีแถลงการณ์ใดๆ ออกมาให้เห็น

ในอินโดนีเซียประเทศที่มีมุสลิมอยู่อย่างหนาแน่นที่สุด เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นนักการศาสนาชั้นสูงที่นั่นกล่าวว่า การได้รับการเลือกตั้งของทรัมป์อาจนำไปสู่ความตึงเครียดใหม่ระหว่างสหรัฐกับโลกมุสลิม

ที่ผ่านมาทรัมป์ได้สร้าง “การเสียดเย้ยในทางลบ” ขึ้นมาด้วยการวิพากษ์ชาวมุสลิม ดีนซัมซุดดีน (Din Syamsuddin) เจ้าหน้าที่อาวุโสสภาอุลามาอ์ (Ulama Council) ซึ่งเป็นสภาศาสนาสูงสุดหรือที่มีชื่อย่อว่า MUI กล่าวกับนักข่าวในกรุงจาการ์ตา “เขาลืมไปแล้วว่าชาวอเมริกันจำนวนมากเป็นผู้อพยพ”

ซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นทั้งที่เกิดของศาสนาอิสลามและมาตุภูมิของสถานศักดิ์สิทธิ์และพันธมิตรของสหรัฐได้ออกแถลงการณ์แสดงความยินดีกับชัยชนะของทรัมป์โดยไม่ได้กล่าวอะไรมากไปกว่านี้

อย่างไรก็ตาม อาวาด อัล-กิมี (Awad al-Qimi) นักการศาสนาที่ได้รับความนิยมสูงสุดซึ่งทวิตเตอร์ของเขา มีคนติดตามถึงสองล้านคน กล่าวในโซเชียลมีเดียหลังการเลือกตั้งโดยไม่ได้กล่าวถึงทรัมป์โดยตรงว่า “สหรัฐได้ตกไปสู่การล่มสลาย” และ” วิกฤตภายในประเทศจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรง”

ในปากีสถาน ชีรรี เราะห์มาน (Sherry Rahman) วุฒิสภาและอดีตเอกอัครราชทูตประจำกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า ข้อเสนอของทรัมป์เมื่อปี 2015 ที่ห้ามชาวมุสลิมเข้าสหรัฐสร้างความรบกวนให้คนจำนวนมาก

ก่อนหน้านี้ปากีสถานยังไม่ได้ตัดสินใจที่จะเข้าใกล้คนที่สหรัฐเลือก แต่โวหารการต่อต้านมุสลิมได้ก่อให้เกิดการตอบโต้ นับเป็นความสัมพันธ์ในเวลาแห่งความไม่แน่นอน ทั้งนี้ เราจะได้เห็นสงครามมากขึ้น?