มองบ้านมองเมือง “ผู้ว่าฯ 4.0” คล้ายผู้ว่าซีอีโอ จะเดินหน้าอย่าลืมชำเลืองมองหลัง

เมื่อเร็วๆ นี้ ท่านรองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้แถลงนโยบายเพิ่มประสิทธิภาพผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศและของโลก โดยการเพิ่มภาระความรับผิดชอบ และมอบอำนาจในการสั่งการ

แนวคิดดังกล่าว คงไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะไปคล้ายกับแนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอ ที่เคยได้ยินได้ฟังมานานแล้ว และก็มิได้เกิดขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด

บังเอิญไปอ่านตำราเรียนวิชาภูมิศาสตร์ ที่กรมตำรา กระทรวงศึกษาธิการ จัดพิมพ์ขึ้นในปี พ.ศ.2486 กล่าวถึงประเทศสยามในเวลานั้น ทำให้เห็นภาพการบริหารบ้านเมืองในอดีต ที่มีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 18 มณฑล และ 80 จังหวัด ดังนี้

1. มณฑลกรุงเทพพระมหานคร ประกอบด้วย จังหวัดพระนคร ธนบุรี นนทบุรี พระประแดง สมุทรปราการ และมีนบุรี

2. มณฑลอยุธยา ประกอบด้วย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลพบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี สระบุรี ประทุมธานี และธัญญบุรี

3. มณฑลนครชัยศรี ประกอบด้วย จังหวัดนครปฐม สุพรรณบุรี และสมุทรสาคร

4. มณฑลราชบุรี ประกอบด้วยจังหวัด ราชบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี สมุทรสงคราม และประจวบคิรีขันธ์

5. มณฑลปาจีนบุรี ประกอบด้วย จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปราจีนบุรี นครนายก และกบินทร์บุรี

6. มณฑลนครสวรรค์ ประกอบด้วย จังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี กำแพงเพชร และตาก

7. มณฑลจันทบุรี ประกอบด้วย จังหวัดจันทบุรี ระยอง และตราด

8. มณฑลพิษณุโลก ประกอบด้วย จังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย สวรรคโลก อุตตรดิตถ์ พิจิตร และเพชรบูรณ์

9. มณฑลมหาราษฎร์ ประกอบด้วย จังหวัดลำปาง แพร่ น่าน

10. มณฑลพายัพ ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และแม่ฮ่องสอน

11. มณฑลนครราชสีมา ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ และชัยภูมิ

12. มณฑลร้อยเอ็ด ประกอบด้วย จังหวัดร้อยเอ็ด มหาสารคาม และกาฬสินธุ์

13. มณฑลอุบลราชธานี ประกอบด้วย จังหวัดอุบลราชธานี ขุขันธ์ และสุรินทร์

14. มณฑลอุดร ประกอบด้วย จังหวัดอุดรธานี ขอนแก่น สกลนคร นครพนม มหาสารคาม และเลย

15. มณฑลสุราษฎร์ ประกอบด้วย จังหวัดสุราษฎร์ธานี หลังสวน และชุมพร

16. มณฑลนครศรีธรรมราช ประกอบด้วย จังหวัดสงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช

17. มณฑลปัตตานี ประกอบด้วย จังหวัดปัตตานี ยะลา สายบุรี และนราธิวาส

18.มณฑลภูเก็ต ประกอบด้วย จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง ตะกั่วป่า ระนอง และสตูล

 

มณฑลทั้งหมด นอกจากกรุงเทพพระมหานครจะมีสมุหเทศาภิบาล เป็นผู้สำเร็จราชการมณฑล ขึ้นตรงต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

แต่ละมณฑล แบ่งออกเป็นจังหวัด มีผู้ว่าราชการประจำทุกจังหวัด แต่ละจังหวัดยังแบ่งออกเป็นอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน มีนายอำเภอ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้ดูแลแต่ละพื้นที่

โดยมี อุปราช ทำหน้าที่เป็น สมุหเทศาภิบาล ตรวจตราการงานในมณฑลที่ทำอยู่ และมณฑลใกล้เคียงกัน ในแต่ละภูมิภาค ได้แก่ พายัพ อยุธยา ปักษNใต้ และอีสาน

สำหรับกรุงเทพพระมหานคร มีสมุหพระนครบาล เป็นหัวหน้า ขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทย แบ่งออกเป็น จังหวัดชั้นนอก คือนนทบุรี มีนบุรี พระประแดง และสมุทรปราการ ซึ่งมีการแบ่งเขตเป็น อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน เหมือนมณฑลอื่นๆ

ส่วนจังหวัดชั้นใน คือ พระนคร แบ่งเป็นอำเภอ บางซื่อ บางกะปิ และบางเขน และธนบุรีแบ่งเป็นตลิ่งชัน ภาษีเจริญ บางขุนเทียน ราษฎร์บูรณะ และหนองแขม

แต่ไม่มีการแบ่งเป็นตำบลหรือหมู่บ้าน จึงไม่มีกำนันและผู้ใหญ่บ้านเหมือนพื้นที่อื่นๆ

 

จะเห็นได้ว่า ช่วงเวลาแปดสิบปีที่ผ่านมา การบริหารบ้านเมืองมิได้เปลี่ยนแปลงมีแค่จำนวนจังหวัดเท่านั้นที่ลดลง ได้แก่ พระประแดง ธัญญบุรี กบินทร์บุรี ขุขันธ์ หลังสวน สายบุรี และตะกั่วป่า ลดสถานะลงเหลือแค่อำเภอ

ในขณะที่มีจังหวัดอำนาจเจริญ สระแก้ว พะเยา บึงกาฬ และหนองบัวลำภู ได้รับการยกฐานะเป็นจังหวัด

เนื่องจากเป็นตำราสำหรับนักเรียน จึงมิได้กล่าวถึงประสิทธิภาพหรือรายละเอียดการบริหาร การสั่งการ จึงไม่มีรายละเอียดอื่นมาเปรียบเทียบ

เอาเป็นว่า ใครอยากจะเดินหน้าอย่างไร อย่าลืมชำเลืองดูทางที่ผ่านมาบ้างนะครับ