จาก 1 ถึง 7 กับสกิล “ฮาวทูทิ้ง” จากชีวิตจริง ‘เต๋อ นวพล’

นับจาก “36” ภาพยนตร์เรื่องแรกที่เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ กำกับฯ เมื่อปี พ.ศ.2555 มาถึงตอนนี้ ปี พ.ศ.2562 เขามีผลงานกำกับการแสดงภาพยนตร์รวมแล้วถึง 7 เรื่อง

เรียกว่าได้แทบจะเรื่องละปีเลยละ

นั่นคือ “Marry Is Happy, MarryIs Happy” ในปี 2556, “เดอะมาสเตอร์” 2557, “ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วยห้ามพัก ห้ามรักหมอ” 2558, “Die Tomorrow” 2560, “BNK 48 : GirlDon”t Cry” 2561 และล่าสุดปีนี้กับ “ฮาวทูทิ้ง…ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ” ที่จะเข้าฉายในวันที่ 26 ธันวาคมที่จะถึง

ถามใจคนทำว่า รักแต่ละเรื่องเท่ากันไหม หรือชื่นใจกับเรื่องใดมากที่สุด

“สำหรับผม แต่ละเรื่องมันมีโกลของมันเอง” เขาว่า

“ในการทำแต่ละเรื่อง จะมีในใจประมาณหนึ่งว่า เรื่องนี้เราอยากได้อะไร และผมจะเช็กในแต่ละครั้งว่าเราได้ถึงโกลนั้นหรือยัง เพราะฉะนั้น แต่ละเรื่องก็ค่อนข้างจะแตกต่างกัน เทียบกันยาก”

งั้นเปลี่ยนคำถามใหม่ ว่าแต่ละเรื่องไปถึงโกล หรือเป้าที่ตั้งไว้ไหม คราวนี้เขาให้คำตอบได้ทันที “ได้หมดทุกครั้งเลยครับ”

“เพราะก่อนทำเราค่อนข้างชัดเจนว่ามีอะไรบ้างที่เราอยากได้”

ซึ่งต่อให้ไม่ได้เป๊ะๆ อย่างที่คิด เต๋อก็ว่า สำหรับเขา นับว่าได้อยู่ดี

“คือสมมุติตั้งไว้ 5 ข้อ อยากให้หนังเรื่องนี้เป็น 1, 2, 3, 4, 5 เราอาจจะได้สัก 3 หรือ 4 อีก 1 หรือ 2 ข้อ ต่อให้ไม่ได้ เราก็ได้เรียนรู้ว่าผิดพลาดตรงไหน หรือเราทำอะไรไม่ได้ ไม่มีความสามารถทางนั้นจริงๆ ก็เป็นความรู้หรือเป็นอะไรที่ทำให้เราทำเรื่องหน้าได้ดีขึ้น”

ส่วนโกลที่ตั้งไว้ให้ “ฮาวทูทิ้ง…ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ” นอกจากการที่ “ถ้าคนดูดูแล้วกลับไปคิดถึงสิ่งต่างๆ ที่ตัวเองเคยทำของที่ตัวเองเคยมี หรือความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองและคนอื่นๆ แค่นี้ผมก็ดีใจมาก” แล้วเขายังหวังให้เป็นงานที่คนทั่วไปให้ความสนใจ และชักชวนกันมาดู

“ผมรู้สึกว่าคนไทยดูหนังได้หลายๆ แบบ เพียงแต่เราต้องสื่อสาร หรือชวนเขาให้ถูก เท่านั้นเอง”

“บางทีเราจะมีความรู้สึกว่า แบบนี้คนไม่ดูหรอก โน่น นี่ แต่เขาดูได้ เชื่อเถอะ เพียงแต่เราต้องสื่อสารกับเขาให้ถูก ชวนเขาให้ถูก”

“คือเราก็คิดด้วยว่า ถ้าเกิดเราอยากทำเรื่องนี้ แสดงว่ามันต้องมีอะไรน่าสนใจพอ และคนที่เขาดูแล้วต้องได้อะไรกลับไปบ้าง ไม่ปล่อยให้เขามาฟรีอยู่แล้ว ก็อยากให้เป็นอย่างนั้น ให้คนดูหนังในรสชาติใหม่ๆ แล้วเอ็นจอยกับมันได้”

“มันก็จะเปิดกว้างให้หนังไทยเรื่องอื่นๆ”

กับบรรดาสรรพสิ่งในชีวิต เต๋อบอกว่า ถ้าเป็นสิ่งของ สำหรับเขาไม่เป็นเรื่องลำบากนักหากจะต้องทิ้ง หากที่ผ่านที่หนักหนากว่ามากๆ ในความรู้สึก “เป็นเรื่องคนรอบๆ ความคิดรอบๆ มากกว่า”

“เราทำงานภาพยนตร์ต้องเจอคนเยอะมากๆ ตั้งแต่กระบวนการสร้าง หรือตอนฉายก็ต้องเจอคนดู ในหัวก็จะมีความคิดมากมาย หรือมีความคิดที่จะมาชาเลนจ์เราตลอดเวลา เจออย่างนี้มาตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมาเพราะว่าผมมีหนังทุกปี มาถึงจุดนี้ ผมก็รู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องคัดออกมาบ้าง เพื่อที่เราจะสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุข แล้วก็เรียนรู้ เติบโต”

ที่ “อยากทิ้ง” ของเขาจึง “เป็นเรื่องผู้คน มากกว่าสิ่งของ”

นั่นแปลว่าจะเลือกทิ้งผู้คน หรือเสียงที่ไม่มีประโยชน์ ไม่โอเค ทำนองนั้นหรือ?

“ใช่ๆๆ” คือคำตอบที่ให้รัวๆ

“แต่ไม่ได้หมายถึงว่าจะเอาแต่เรื่องดีๆ ไว้นะ” เขาออกตัว

“สมมุติเป็นคอมเมนต์ไม่ชอบ หรือเป็นคอมเมนต์ตำหนิ ผมจะเลือกเก็บไว้แต่ตำหนิที่มีคุณภาพ คนนี้ไม่ชอบงานเรา แต่ความเห็นเขามีประโยชน์จริงๆ เหมือนเราเลือกฟิลเตอร์กรองแบบควอลิตี้ อะไรแบบนี้มากกว่า ไม่ได้จะเอาแต่คำชม”

“ควอลิตี้ คอมเมนต์ หรือควอลิตี้ พีเพิล มีผลมากนะฮะ การที่เราอยู่กับใคร หรืออยู่กับความคิดแบบไหนน่ะ” เขาบอก

แล้วว่า “ยิ่งโตขึ้นผมยิ่งรู้สึก ว่าเราอาจจะไม่จำเป็นต้องมีเพื่อนเยอะ เอาแต่ที่ซิงก์ๆ ดีกว่า สนุกกว่า”

ส่วน “ฮาวทูทิ้ง” หรือวิธีตั้งฟิลเตอร์เพื่อคัดกรอง เจ้าตัวบอกปนอาการหัวเราะว่า “สำหรับผมคือเจอจนเข้าใจ”

เพราะถ้าเป็นวัยรุ่นที่ไฟแรง ถ้าเจอคอมเมนต์ร้ายๆ เมนต์ในทางไม่ดี อาจจะรู้สึกโกรธ แต่ “ผมอาจจะโชคดี เจอทุกปี เจอบ่อยๆ ก็จะเริ่มทำความเข้าใจเขา ว่าทำไมเขาถึงว่าอย่างนั้น มีสติอยู่กับมัน คิดกับมันจริงๆ คิดกลางๆ ตรงไปตรงมา ทำไมวะ ทำไมถึงเป็นแบบนี้ เราทำอะไรผิดไปหรือเปล่า”

พอคิดได้ คิดตก คิดจนรู้ “แล้วเราก็จะทิ้งได้อย่างสมบูรณ์”

ครั้นถามว่า ในบรรดาที่เคยทิ้งไปนั้น อะไรเป็นสิ่งที่รู้สึกว่าน่าเสียดายที่สุด?

เต๋อบอกว่า ถ้าเป็นประเภทสิ่งของ เขาจะไม่เสียดาย เนื่องจากปกติเป็นคนที่ทิ้งยาก ดังนั้น อะไรที่ตัดสินใจทิ้ง แปลว่าผ่านการคิดอย่างรอบคอบแล้ว

“ถ้าเกิดจะเสียดายก็จะเป็นเหมือนเราต้องทิ้งในเวลาที่ไม่อยากทิ้งมากกว่า เหมือนกับเพื่อนกับอะไร ที่เกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้น ทำให้ต้องทิ้งกันและกัน”

คำถามสุดท้าย ในโหมดเกี่ยวกับการทิ้งที่เราถามเขาคือ ถ้าเป็นไปได้ เขาอยากให้เราๆๆๆๆ ช่วยกันทิ้งอะไรไปซะบ้าง

“การคิดไปก่อนน่ะครับ”

จากนั้นก็ยกตัวอย่าง “เหมือนถ้าเราเห็นคนนี้ แล้วคิดว่ามันต้องเป็นอย่างนี้แน่เลย”

“เพราะมันเป็นต้นเหตุของความยุ่งยากใดๆ ในยุคสมัยนี้ แล้วมันก็ทำให้ไม่เข้าใจกัน”

“ถ้าเกิดเราทิ้งๆ อันนี้ไป แล้วฟังคนที่คิดไม่เหมือนเรา หรือคนที่คิดต่างจากเรา มันก็ช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้นนะผมว่า”

ว่าแต่ใครมี “ฮาวทู” ดีๆ มาแนะนำเพื่อการนี้บ้างไหม?