“โอวาท” พระสังฆราช ต่างศาสนา…เป้าหมายเดียวกัน!!

ภายหลังสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง “สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร)” เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ขึ้นเป็น “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” องค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 โดยนายกรัฐมนตรีได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอให้ทรงสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะ ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2535 และฉบับที่ 3 พ.ศ.2560

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ เวลา 10.49 น. ได้มีพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ พระนามสมเด็จพระสังฆราช ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว ซึ่งพระสุพรรณบัฏเป็นแผ่นทองคำ ใช้จารึกพระนามสมเด็จพระสังฆราช

โดยพระนามเต็มของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก องค์ที่ 20 ที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ นามว่า

“สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมธรรมวิธานธํารง สกลมหาสงฆปริณายก ตรีปิฎกธราจารย อัมพราภิธานสังฆวิสุต ปาพจนุตตมสาสนโสภณ กิตตินิรมลคุรุฐานียบัณฑิต วชิราลงกรณนริศรปสันนาภิสิตประกาศ วิสารทนาถธรรมทูตาภิวุฒ ทศมินทรสมมุติปฐมสกลคณาธิเบศร ปวิธเนตโยภาสวาสนวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิบูลสีลสมาจารวัตรวิปัสสนสุนทร ชินวรมหามุนีวงศานุศิษฏ บวรธรรมบพิตร สมเด็จพระสังฆราช”

ต่อมาเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ได้เผยแพร่หมายกำหนดการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เพราะโดยที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นประธานของฝ่ายสงฆ์ มีความสำคัญยิ่งในบวรพระพุทธศาสนาแห่งราชอาณาจักรไทย

อีกทั้งทรงเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนทั่วไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบการพระราชพิธีสถาปนาในท่ามกลางสังฆมณฑล ซึ่งพร้อมด้วยกรรมการมหาเถรสมาคมเจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาค และเจ้าคณะจังหวัดต่างๆ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติในตำแหน่งที่มีความสำคัญ และเชิดชูพระพุทธศาสนาสืบไป

ซึ่งพิธีสถาปนามีขึ้นในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2560 โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระแก้ว ในเวลา 18.00 น. เสด็จเข้าพระอุโบสถ ทรงประเคนผ้าไตรแด่พระสงฆ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงศีล สมเด็จพระราชาคณะถวายศีล

จบแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์ กองอาลักษณ์ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี อ่านประกาศกระแสพระราชโองการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช

สมเด็จพระราชาคณะนำสวดคาถา “สงฆราชฏฺฐปนานุโมทนา” แล้วพระสงฆ์กรรมการมหาเถรสมาคมนำสวด “โส อตฺถลทโธ” แล้ว สมเด็จพระสังฆราช เสด็จไปประทับที่อาสน์สงฆ์ พร้อมด้วยกรรมการมหาเถรสมาคม ณ ท่ามกลางสังฆมณฑล สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จไปถวายน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏแด่สมเด็จพระสังฆราช และถวายพระสุพรรณบัฏ พระตราตำแหน่ง พัดยศ และเครื่องสมณศักดิ์

พระสงฆ์ในสังฆมณฑลเจริญชัยมงคลคาถา โหรหลวงลั่นฆ้องชัย พราหมณ์เป่าสังข์ ภูษามาลาแกว่งบัณเฑาะว์ เจ้าพนักงานประโคมสังข์ แตร ดุริยางค์ พระสงฆ์ตามพระอารามทั่วราชอาณาจักรซึ่งชุมนุมในพระอุโบสถ เจริญชัยมงคลคาถา และย่ำระฆัง เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายเครื่องสมณศักดิ์แด่สมเด็จพระสังฆราช และทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์ในสังฆมณฑลตามลำดับแล้ว ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก

จบแล้ว สมเด็จพระสังฆราช เสด็จไปประทับ ณ อาสน์สงฆ์กลางพระอุโบสถ พระมหาเถระฝ่ายคณะธรรมยุต และฝ่ายมหานิกาย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประธานองคมนตรี นายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประธานศาลฎีกา ถวายเครื่องสักการะ แด่สมเด็จพระสังฆราช แล้ว

สมเด็จพระสังฆราช เสด็จออกจากพระอุโบสถทางพระทวารกลาง ทรงรับเครื่องสักการะของบรรพชิตญวน และจีน ส่วนพระสงฆ์นอกนั้นออกจากพระอุโบสถ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกลับ

ภายหลังพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เสร็จสิ้นลง สมเด็จพระสังฆราช ได้ประทานวโรกาสให้พุทธศาสนิกชนเฝ้าถวายสักการะ และแสดงมุทิตาจิต ระหว่างวันที่ 13-15 กุมภาพันธ์ ทรงมีปฐมโอวาทตอนหนึ่งว่า

“ท่านทั้งหลายมีธรรม ความดีความงามประจำใจอยู่ ขอให้รักษาความดีความงามที่มีให้คงอยู่ตลอดไป ขอให้รักษาจิตใจที่เลื่อมใสศรัทธาในพระรัตนตรัยให้คงที่ไว้ หลักธรรมสำคัญ 3 ข้อที่พระพุทธองค์ทรงสอน และขอให้ยึดถือเป็นประจำ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา คือ ทำกาย วาจา ใจ ให้เป็นปกติ นึกถึงสภาวะธรรมที่ว่างเป็นปกติ มีสมาธิ ปัญญาก็เกิดขึ้นตามลำดับ เพราะฉะนั้น ขอให้นึกถึงหลักธรรมที่พระพุทธองค์ได้สอนเราไว้ 3 ข้อง่ายๆ ทุกคนจะมีความสุขใจ อนึ่ง รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสร้างวัดราชบพิธฯ ในสมัยของพระองค์ มีธรรมภาษิตอยู่บทหนึ่ง คือ “สัพเพสัง สังฆะภูตานัง สามัคคี วุฑฒิสาธิกา” ความพร้อมเพรียงแห่งชนผู้อยู่ร่วมกันเป็นหมู่ยังความเจริญวัฒนาถาวรให้สำเร็จ ให้รักษาคำนี้ไว้ ความพร้อมเพรียงนำความเจริญรุ่งเรืองให้สำเร็จได้ ขณะนี้ประเทศเรากำลังต้องการการพัฒนา ขอให้ท่านนึกถึงธรรมภาษิตนี้ รวมถึงศีลทั้ง 3 ข้อ หวังว่าทุกท่านจะเข้าใจ และยึดถือศีล สมาธิ ปัญญา มีความสามัคคี เท่านี้ประเทศชาติของเราก็จะเจริญรุ่งเรือง”

ในกาลต่อมา ยังประทานโอวาทให้กับพุทธศาสนิกชนที่เฝ้าถวาย โดยทรงขอให้นำธรรมภาษิตที่รัชกาลที่ 5 อาราธนามาเป็นตราประจำพระองค์ และติดไว้ที่พระอุโบสถแห่งนี้ว่า “สัพเพสัง สังฆะภูตานัง สามัคคี วุฑฒิสาธิกา” ที่แปลว่า ความพร้อมเพรียงแห่งชนผู้อยู่ร่วมกันเป็นหมู่ ยังความเจริญรุ่งเรืองให้บังเกิดขึ้น

ประเทศของเราพัฒนาขึ้นตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ขอให้ทุกท่านจำคำนี้ไว้ และนำไปปฏิบัติด้วย กลุ่มน้อย กลุ่มใหญ่ ทั้งประเทศ นำภาษิตนี้ไปใช้ปฏิบัติ หากเราแตกแยกกันอะไรจะเกิดขึ้น ให้นำไปคิด ขอให้พวกเราทุกท่านยึดความสามัคคีไว้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่มีความแตกแยก ช่วยกันคิดพัฒนาตัวเอง ส่วนรวม ให้เกิดความรุ่งเรืองทางวัตถุ และจิตใจ

โดยเรื่องจิตใจต้องสอนใจตัวเองได้ ก็จะเจริญก้าวหน้า

 

สมเด็จพระสังฆราช ยังประทานวโรกาสให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เฝ้าถวายสักการะ ทรงให้กำลังใจรัฐบาล และ คสช. ในการทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติต่อไปด้วยความระมัดระวัง ไม่ตกอยู่ในความประมาท พร้อมมีพระดำรัสในหลายเรื่อง ทรงสอนเรื่องการมีสติสัมปชัญญะ รู้คิด รู้ตัว รู้ปฏิบัติ มีลาภก็เสื่อมลาภ มียศก็เสื่อมยศ ฉะนั้น อย่าไปผูกติดลุ่มหลงอยู่ตรงนั้น

นอกจากนี้ ยังประทานวโรกาสให้ “นายประสาน ศรีเจริญ” รองประธานผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี ในฐานะผู้แทนจุฬาราชมนตรี ถวายสาส์นพร้อมแจกันดอกไม้ ในโอกาสที่ทรงได้รับสถาปนา และทรงมีพระดำรัสว่า “เราเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน มีอะไรก็ต้องปรึกษาหารือกัน ที่ผ่านมาอาจมีผู้หวังดี ทำให้เราเข้าใจแตกต่างกัน หากเรายังยึดตามหลักคำสอนของแต่ละศาสนา ที่มีเป้าหมายเดียวกัน คือการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ก็จะไม่เกิดความแตกแยก ทั้งนี้ ตามหลักศาสนาอิสลาม มนุษย์ทุกคนคือครอบครัวเดียวกัน ประเทศไทยมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา ไม่มีการแบ่งแยก ดังนั้น จึงต้องมีความสามัคคีเป็นครอบครัวเดียวกัน”

นับเป็น “โอวาท” ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ที่นำไปปฏิบัติ และต่อประเทศชาติ!!