รัฐกลับลำซื้อใจฝ่ายคัดค้าน เบรก”โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่”เพิ่มความเสี่ยงภาคใต้ไฟตก-ไฟดับ

นับเป็นการ “กลับลำ” อย่างกะทันหันอีกครั้งหนึ่งของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพิ่งมีมติในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว จังหวัดกระบี่ ต่อไปได้ หลังจากที่โครงการประสบความล่าช้ามาไม่ต่ำกว่า 2 ปี

โดยผู้เกี่ยวข้องในฟากฝั่งรัฐบาลต่างออกมายืนยันถึง “เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด (Ultra Super Critical หรือ USC)” ที่ กฟผ. นำมาใช้ เพื่อลดการปล่อยก๊าซ CO2 มีระบบกำจัดก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (SCR) ระบบดักจับฝุ่นด้วยไฟฟ้าสถิต (ESP) ระบบกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซต์ (FGD) และระบบดักจับสารปรอท (ACI)

ทั้งหมดนี้ทำตามมาตรฐานสากลตามคำนิยามของ Inter National Energy Agency หรือ IEA

ทว่า “เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด” ของ กฟผ. กลับไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้คนรอบๆ โรงไฟฟ้า-ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวในจังหวัดกระบี่ และนักวิชาการ-NGO ที่ “เคลือบแคลง” ในเทคโนโลยีนี้ ผสมกับ “ภาพหลอน” จากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ ความผิดพลาดในอดีตของ กฟผ.

โดยคนส่วนใหญ่กล่าวว่า กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของคนแค่ 3 ตำบลรอบๆ โรงไฟฟ้า แต่เป็นเรื่องของผู้มีส่วนได้เสียทั้งจังหวัดกระบี่ ทั้งภาคใต้ และทั้งประเทศ

หากยินยอมให้ กฟผ. “นับหนึ่ง” เพื่อทำการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงนี้ได้แล้ว โรงไฟฟ้าถ่านหินโรงอื่นๆ รวมถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินของภาคเอกชนก็จะ “พาเหรด” ตามมาสู่ประเทศไทย

จึงกลายมาเป็น “พลัง” ต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินจาก “แกนนำ” ไม่กี่คน แต่มี “แนวร่วม” ต้าน กฟผ. จากทั่วประเทศที่พร้อมให้การสนับสนุน

ดังนั้น การจับกุมแกนนำอย่าง นายประสิทธิชัย หนูนวล, นายอัครเดช ฉากจินดา, ม.ล.รุ่งคุณ กิติยากร อาจกลับกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว

จนทำให้ พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพภาค 1 ต้องออกมากล่าวว่า มีผู้ไม่ประสงค์ดีได้เข้ามาแทรกแซงในกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่หน้าทำเนียบรัฐบาลในช่วงระหว่างวันที่ 17-19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และตามมาด้วยการปล่อยตัวแกนนำออกมาจากสถานที่ควบคุมโดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาเพื่อดำเนินคดีแต่อย่างไร

แต่การ “ปล่อยตัว” แกนนำทั้ง 5 คน อาจจะยังไม่เพียงพอกับการบรรเทาสถานการณ์ต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ “อาจจะ” ลุกลามบานปลายในพื้นที่จังหวัดกระบี่

ตรงนี้เองที่เป็นเหตุผลสำคัญของการ “กลับลำ” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทั้งในฐานะประธาน กพช. และประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่ออกมาแถลงด้วยตนเองหลังการประชุม ครม. ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่าได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปดำเนินการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่ออนามัยสุขภาพประชาชน (EIA/EHIA) “ใหม่” ทั้งหมด

โดยให้ไปทำความเข้าใจกับประชาชนและให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง “EIA/EHIA ไม่ผ่าน ก็ไม่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ได้” พร้อมกับตั้งความหวังไว้ว่า หาก EIA/EHIA ฉบับที่จะต้องจัดทำใหม่ผ่าน “ก็จะสามารถใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้ากระบี่ได้ในปี 2565”

จริงอยู่ที่ว่า การกลับลำครั้งนี้เป็นการใช้เหตุผลทางการเมือง

แต่หน่วยงานที่ตกที่นั่งลำบากมากที่สุดเห็นจะไม่เกินไปกว่า กฟผ. ด้านหนึ่งต้อง “นับหนึ่ง” ใหม่กับการทำรายงาน EIA/EHIA ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะผ่านหรือเปล่า แต่จะไม่ทำก็ไม่ได้เพราะ กฟผ. ต้องการโรงไฟฟ้าขนาด 800-1,000 MW

อีกด้านหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ในฐานะ ผู้จัดหาความมั่นคงทางด้านพลังงาน ทำอย่างไรจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าตก-ดับในภาคใต้

เนื่องจากในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ฉบับล่าสุด (2558-2579) กำหนดไว้ว่า ในปี 2562 ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศในช่วงเวลานั้นจะอยู่ที่ 33,635 MW ซึ่งในจำนวนนี้ 800 MW จะต้องมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เครื่องที่ 1 ในขณะที่ปี 2564 หรืออีก 2 ปีถัดมา ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็น 35,775 MW ซึ่งในจำนวนนี้ 1,000 MW จะมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเครื่องที่ 1 เช่นกัน

เมื่อมาโฟกัสเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ก็จะพบว่า ปัจจุบันมีกำลังผลิตติดตั้งรวมทั้งหมด 3,089 MW และมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) อยู่ที่ 2,713 MW หรือห่างกันเพียงแค่ 376 MW เท่านั้น

เป็น 376 MW ที่ชี้ชะตาภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไป หากเกิดเหตุการณ์โรงไฟฟ้าใหญ่ๆ 2 แห่งในภาคใต้คือ โรงไฟฟ้าขนอม 930 MW กับโรงไฟฟ้าจะนะ 710 MW เกิดขัดข้องหรือต้องหยุดการผลิตในช่วงเวลาที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) เกิดขึ้น ภาคใต้อาจจะเกิดเหตุการณ์ไฟดับขึ้นมาได้ ยังไม่รวมกรณีสายส่งขัดข้องที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต

 

“ความเสี่ยง” ที่ว่านี้ กฟผ. ได้จัดทำสมมุติฐานที่เป็นไปได้ว่า ภาคใต้จะเกิดไฟดับรวม 5 กรณี คือ

กรณีที่ 1 โรงไฟฟ้าขนอมหยุดซ่อมตามแผน 1 โรง กำลังผลิต 465 MW เพื่อไม่ให้ภาคใต้ไฟดับ กฟผ. จะต้องมีกำลังผลิตสำรองเผื่อเอาไว้ 3,178 MW (2,713+465 MW) หรือคิดเป็นร้อยละ 17

กรณีที่ 2 โรงไฟฟ้าจะนะชุดที่ 1 เกิดเหตุขัดข้อง เพื่อไม่ให้ภาคใต้ไฟดับ กฟผ. จะต้องมีกำลังผลิตเผื่อเอาไว้ 3,423 MW (2,713+710 MW) หรือคิดเป็นร้อยละ 26

กรณีที่ 3 โรงไฟฟ้าขนอมหยุดซ่อม 1 โรง โรงไฟฟ้าจะนะก็เกิดเหตุขัดข้องไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ กฟผ. จะต้องมีกำลังผลิตเผื่อเอาไว้ 3,888 MW (2,713+465+710 MW) หรือคิดเป็นร้อยละ 43

กรณีที่ 4 ภาคใต้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรือเท่ากับ 150 MW กรณีนี้โรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะเข้าสู่ระบบในพื้นที่ภาคใต้ (ซึ่งหมายถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่) จะต้องใช้ระยะเวลาก่อสร้างระหว่าง 5-8 ปี ดังนั้น เพื่อไม่ให้ภาคใต้ไฟดับ กฟผ. จะต้องมีกำลังผลิตสำรองเผื่อไว้ในอีก 5 ปี (5X150 = 750 MW) เท่ากับ 3,463 MW (2,713+750 MW) หรือคิดเป็นร้อยละ 28 และกำลังผลิตสำรองเผื่อไว้ในกรณีก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่อีก 8 ปี (8X150 = 1,200 MW) เท่ากับ 3,913 MW (2,713+1,200 MW) หรือคิดเป็นร้อยละ 44

และกรณีที่ 5 โรงไฟฟ้าจะนะ (710 MW) เกิดเหตุขัดข้อง ภาคใต้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นปีละ 5% การก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ใช้เวลา 5-8 ปี เพื่อไม่ให้ภาคใต้ไฟดับ กฟผ. จะต้องมีกำลังผลิตสำรองเผื่อไว้ในอีก 5 ปี เท่ากับ 4,173 MW (2,713+710+750 MW) หรือร้อยละ 54 กับสำรองเผื่อในอีก 8 ปี เท่ากับ 4,623 MW (2,713+710+1,200 MW) หรือคิดเป็นร้อยละ 70

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ในระหว่างที่ต้องรอการจัดทำรายงาน EIA/EHIA ฉบับใหม่ ซึ่งน่าจะต้องใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปีครึ่ง เมื่อรวมกับระยะเวลาในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่อีกไม่น้อยกว่า 5 ปี ในกรณีที่ EIA/EHIA ผ่าน รวมเป็นเวลา 7-8 ปี

กฟผ. จะไปหาไฟฟ้ามาสำรอง “เผื่อ” ไว้ไม่ให้ภาคใต้เกิดความเสี่ยงที่ไฟฟ้าจะดับในช่วง Peak ซึ่งมักจะเกิดขึ้นทุกๆ หน้าร้อนในระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน-พฤษภาคมของทุกปีจากเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นทั้ง 5 กรณีข้างต้นได้อย่างไร ในเมื่อปริมาณสำรองที่จะต้องเผื่อไว้สูงถึง 3-4,000 MW

 

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวถึงแผนสำรองกรณีที่โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ไม่สามารถก่อสร้างและจ่ายไฟเข้าระบบได้ตามแผน PDP ในปี 2562 ว่า จะเหลือทางเลือกอยู่เพียง 2 ทางก็คือ ไทยจะต้องซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งเมียนมา และมาเลเซียเพิ่มขึ้น โดยจะต้องเป็นการซื้อทั้งจาก กฟผ. เอง และบริษัทไฟฟ้าเอกชน (RATCH-EGCO)

ส่วนอีกทางหนึ่งก็คือ ต้องส่งไฟฟ้าจากภาคกลางผ่านสายส่งลงไปช่วยภาคใต้

แต่แผนสำรองดังกล่าวเป็นที่น่าสังเกตว่า ภาคใต้จะต้องไม่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่อย่างโรงไฟฟ้าขนอม-จะนะ หยุดเดินเครื่องขึ้นมาพร้อมๆ กัน

เนื่องจากปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีในวงการพลังงานว่า กำลังผลิตไฟฟ้าจากภาคกลางที่จะส่งผ่านสายส่งยาวมากกว่า 600 กว่ากิโลเมตรลงไปช่วยภาคใต้นั้น รองรับได้ระหว่าง 500-650 MW เท่านั้น

ในขณะที่การรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีสัญญาแล้วมีเพียงประเทศมาเลเซีย จำนวน 300 MW แต่เป็นการใช้งานได้เต็ม 300 MW เฉพาะกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินไม่เกินครึ่งชั่วโมง

เมื่อบวกรวมกับโรงไฟฟ้าเก่าปลดระวาง แต่ยังถูกเก็บสำรองไว้ อย่างโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ กำลังผลิต 234 MW เท่ากับ กฟผ. มีกำลังผลิตเผื่อไว้แค่ 1,184 MW เท่านี้จริงๆ

ปฏิบัติการกลับลำเที่ยวล่าสุด ปลดชนวนร้อนแรงทางการเมืองจากกลุ่มผู้คัดค้านได้สำเร็จ

แต่ขณะเดียวกันก็เพิ่มความเสี่ยงให้กับภาคใต้ ที่จะต้องรับมือเหตุการณ์ไฟตกไฟดับที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วง 7-8 ปี

ตราบใดที่ “โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่” ยังไม่สามารถแจ้งเกิดได้นั่นเอง