หนึ่งคำถามล้านคำตอบ กับ นิ้วกลม “อีริค ฟรอมม์” : หนีไปจากเสรีภาพ (2)

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

1″เสรีภาพ” ที่มนุษย์ได้มาจากการตั้งคำถามกับศาสนาหรือพระเจ้า ทำให้เขาเป็นอิสระ พึ่งพาตัวเอง รู้จักใช้วิจารณญาณมากขึ้น แต่สิ่งที่ได้มาพร้อมกันคือความรู้สึกโดดเดี่ยว อยู่ตัวคนเดียว และหวาดกลัวมากขึ้นด้วย

ในสังคมสมัยใหม่ เราให้คุณค่าว่าเสรีภาพในการพูดการแสดงออกเป็นชัยชนะที่สำคัญในการต่อสู้กับอำนาจแบบเก่าซึ่งรวบยอดความจริงไว้หนึ่งเดียว แต่คนในปัจจุบันก็ตกอยู่ในสภาพที่พูดและคิดออกมาในแบบที่คนส่วนใหญ่ก็คิดและพูดกันทั้งนั้น ซึ่งจะว่าไป คนปัจจุบันก็ขาดความสามารถในการเป็น “ต้นคิด” หรือคิดด้วยตนเอง มีความคิดเป็นของตัวเอง

เราอาจภูมิใจว่าชีวิตของคนในยุคเราเป็นอิสระ ไม่ถูกบังคับจากอำนาจภายนอก

แต่อันที่จริงแล้วยังมีอำนาจที่ไร้ตัวตนอย่างมติมหาชน วัฒนธรรมหลัก ค่านิยมหลัก และสามัญสำนึกซึ่งมีพลังอำนาจมหาศาลคอยคุมเราอยู่ ในส่วนลึกแล้วเราพร้อมที่จะคล้อยตามความคาดหวังของคนอื่นที่มีต่อตัวเรา และลึกๆ แล้วเราก็กลัวที่จะทำตัวแตกต่างไปจากคนอื่น ต่อให้ห้าวแค่ไหน เราก็ยังต้องมองซ้ายขวาเพื่อหาพวกที่คิดคล้ายกันให้อุ่นใจ

จึงไม่มีอิสระที่แท้จริง เพราะสิ่งที่กั้นขวางอิสระในการคิดและพูด ถึงที่สุดแล้วอาจไม่ใช่อำนาจภายนอก หากคือความกลัวภายในตัวเรา

เรากลัวที่จะต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว คิดอย่างโดดเดี่ยว เชื่ออย่างโดดเดี่ยว กระนั้น รูปแบบชีวิตในโลกสมัยใหม่ก็ค่อยๆ ทำให้เราต้อง “โดดเดี่ยว” มากขึ้นเรื่อยๆ

2การเกิดขึ้นของลัทธิโปรแตสแตนต์ในช่วงเรเนอซองส์ซึ่งลดทอนอำนาจจากคริสตจักรคาทอลิกในยุคกลาง ทำให้หน้าที่ของคริสตจักรที่มีไว้เพื่อเชื่อมบุคคลกับพระเจ้าสิ้นสุดลง
เมื่อผู้นับถือโปรแตสแตนต์สามารถเผชิญกับพระเจ้าได้ด้วยตนเอง ราวกับเป็นการเตรียมตัวให้ผู้คนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมซึ่งผู้คนต้องเผชิญกับอำนาจของคู่แข่งทางการค้า หรือความผันผวนทางเศรษฐกิจตามลำพัง ไม่ได้พึ่งพาระบบศักดินาเหมือนแต่ก่อน

ทุนนิยมเปิดโอกาสให้ผู้คนกำหนดชีวิตของตนเอง สามารถพัฒนาศักยภาพและมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ตามความสามารถและความมุ่งมั่นตั้งใจ แต่ฟรอมม์กลับชี้ให้เห็นด้านร้ายว่า โอกาสเช่นนี้ยิ่งทำให้ผู้คนคิดถึงประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง คือทำทุกอย่างเพื่อตัวเอง มีเป้าหมายเพื่อตัวเอง และมี “ทุน” เป็นเป้าหมาย

ฟรอมม์เห็นว่า ในสังคมยุคกลางนั้นทุนเป็นข้าของมนุษย์ แต่ในสังคมปัจจุบันทุนกลับเป็นนายของมนุษย์

กิจกรรมทางเศรษฐกิจและแสวงกำไรซึ่งทำไปเพื่อสร้างความร่ำรวยเพียงสถานเดียวเป็นสิ่งไร้เหตุผลในสายตาของนักคิดในยุคกลาง ขณะนั้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหลายล้วนเป็นไปเพื่อรับใช้พระประสงค์ของพระเจ้า สิ่งต่างๆ จะมีเกียรติเมื่อส่งเสริมเป้าหมายของชีวิตและจิตวิญญาณเท่านั้น

เมื่อผู้คนกลายเป็นส่วนหนึ่งของตลาด ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนก็เปลี่ยนไป เราค่อยๆ ปฏิสัมพันธ์กันอย่างมีเล่ห์เหลี่ยมมากขึ้น การมองอีกฝ่ายเป็นเครื่องมือค่อยๆ เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว หากมีงานที่ต้องแข่งขันกัน การทำให้อีกฝ่ายต้องแพ้พ่ายย่อยยับดูเหมือนเป็นสิ่งจำเป็น

ลูกจ้างกับนายจ้าง ลูกค้ากับนักธุรกิจ ความสัมพันธ์เหล่านี้วางอยู่บนการใช้ประโยชน์จากกันและกันมากกว่าการสนใจในสิ่งที่จะผลิตออกมา

แน่ละ นักธุรกิจพยายามผลิตของดี แต่บรรทัดสุดท้ายของเจตนาคือหวังผลกำไรมากกว่าเจตนาที่จะทำของดีให้คนได้ใช้-ซึ่งเป็นโลกทัศน์ของช่างฝีมือในยุคกลาง

ไม่ใช่แค่สินค้า แต่ผู้คนยังขายตัวเองราวกับเป็นสินค้าอย่างหนึ่ง

เรามองตัวเองเป็นสินค้าที่จะแข่งขันกับผู้อื่นในตลาด และถ้าสู้ไม่ได้ก็จะรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า ไม่มีมูลค่า

ความรู้สึกมีตัวตนของเราถูกตัดสินจากการประเมินคุณค่าโดยสายตาคนอื่น จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คนยุคปัจจุบันให้ความสำคัญกับการถูกยกย่อง

เราต้องการเด่นดัง ไม่เพียงเพื่อจะมีโอกาสที่ดี แต่ยังเพื่อให้เรารู้สึกดีกับตัวเองอีกด้วย

เพราะเมื่อคุณค่าของชีวิตเราไม่ได้เชื่อมโยงกับสิ่งยิ่งใหญ่อื่นใด เราจึงจำเป็นต้องภาคภูมิใจในความยิ่งใหญ่ของตัวเอง

ความภูมิใจของคนในยุคปัจจุบันเกิดจากองค์ประกอบ 3-4 อย่าง

อย่างแรก คือทรัพย์สิน คนคนหนึ่งเชื่อมโยงทรัพย์สินที่เขาเป็นเจ้าของเข้ากับตัวตนของตัวเอง ยิ่งรู้สึกด้อยความสำคัญก็ยิ่งอยากมีทรัพย์สินมากขึ้น และยิ่งเสียทรัพย์สินไปก็คล้ายว่าได้ถูกเฉือนความสำคัญของตัวเองลงไปด้วย

อย่างที่สอง คืออำนาจ ซึ่งมักเป็นผลต่อเนื่องจากทรัพย์สิน คือสิ่งที่ได้มาจากการเอาชนะคู่แข่ง เราหิวกระหายความสำเร็จ และใช้ความสำเร็จหล่อเลี้ยงตัวตนอันน่าภาคภูมิใจของเรา

สาม คือครอบครัว สำหรับคนที่มีทรัพย์และอำนาจน้อย เมื่ออยู่ในครอบครัวก็ยังรู้สึกถึงความสำคัญของตัวเอง เหมือนพ่อบางคนที่เสียงดังเมื่อเดินเข้าบ้าน ทั้งที่ในที่ทำงานเขาอาจเป็นบุคคลไร้ตัวตน บางบ้านก็อาจเป็นแม่ที่กระทำต่อลูก

และสุดท้าย อาจเป็นความภูมิใจในประเทศชาติ ในทางส่วนตัวเราอาจไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไร แต่เราพยายามยึดโยงตัวเองเข้ากับประเทศชาติและประวัติศาสตร์ (ที่ถูกสร้าง) อันยิ่งใหญ่ของประเทศเรา อย่างน้อยก็อบอุ่นใจที่มีสังกัด พอจะใช้ความยิ่งใหญ่เช่นนี้ข่มคนอื่นนอกสังกัดได้

ความรู้สึกเช่นนี้เหมือนคนที่ปล่อยมือจากสิ่งที่เคยยึดกุม สิ่งที่เชื่อมโยงตัวเองไว้ เช่น ธรรมชาติหรือความเชื่อต่างๆ เมื่อต้องเดินหน้าต่อไปด้วยตนเองจึงต้องแสวงหาความมั่นใจเพื่ออุดรูโหว่แห่งความกลัวของตัวเอง พยายามทำตัวให้สำคัญ

เพราะทนต่อความเบาหวิวของตัวเองไม่ไหว

3การหมกมุ่นในความสำคัญของตัวเอง (เนื่องจากกลัวว่าจะสาบสูญไปในเสรีภาพ) ส่งผลให้เรากลายเป็นคนหลงตัวเองและเห็นแก่ตัว

สำหรับฟรอมม์ ความเห็นแก่ตัวไม่ใช่สิ่งเดียวกับความรักตัวเอง แต่ความเห็นแก่ตัวเป็นความโลภประเภทหนึ่ง ความโลภเปรียบเสมือนภาชนะก้นกลวง ผู้คนเหน็ดเหนื่อยกับการดิ้นรนสนองความต้องการของตัวเองไม่มีหยุด เพราะไม่มีวันที่พวกเขาจะพอใจ

ความดิ้นรนนี้มีรากลึกคือความกลัว กลัวว่ายังได้มาไม่พอ กลัวจะไม่ได้สิ่งที่ต้องการ กลัวว่าสิ่งที่มีอยู่จะหมดไป

โลกทัศน์เช่นนี้ทำให้เขากลายเป็นคนที่อิจฉาผู้อื่นที่มีมากกว่า ทนเห็นคนอื่นได้ดีกว่าไม่ได้ และถึงที่สุดแล้ว เขาเป็นคนที่เกลียดตัวเองอย่างลึกซึ้ง

ฟรอมม์กล่าวว่า ความหลงตัวเองเกิดจากความไม่รักตัวเอง ความไม่รักตัวเองคือความรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับตัวเองอยู่ตลอดเวลา ไม่มีความมั่นคงภายใน คนเช่นนี้จะโหยหาคำสรรเสริญเยินยอ เพื่อชดเชยความรักที่ไม่มีให้ตัวเอง

เราพบเห็นบุคคลเช่นนี้ได้ทั่วไป บางทีก็ในกระจกเงาด้วยซ้ำ

4ฟรอมม์ชี้ว่า การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำลายการแสดงออกตามธรรมชาติของคนเรา แล้วนำเอาความรู้สึก ความคิด และความต้องการของผู้อื่นเข้ามาแทนที่ การศึกษาค่อยๆ ปราบ “กบฏ” ในตัวเด็กด้วยวิธีที่ทั้งข่มขู่ด้วยการลงโทษ และให้สินบนด้วยการให้คะแนนหรือรางวัลกับคนที่ทำตามระเบียบ

ในสังคมมีการบั่นทอนและเหนี่ยวรั้งไม่ให้คนแสดงอารมณ์ความรู้สึกออกมาตลอดเวลา มักมีการเชิดชูการคิดด้วยเหตุผลโดยตัดอารมณ์ความรู้สึกออกไป การทำเช่นนี้ทำให้ผู้คนแห้งแล้งและแข็งกระด้าง

นอกจากนั้น เรายังอยู่ในระบบที่ทำให้เราเข้าใจอะไรอย่างแยกส่วน เราจะเข้าใจโลกตามแต่วิชาการที่เราเรียนมา ขาดการเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นๆ เมื่อพยายามทำความเข้าใจก็จะพบว่ามันเป็นเรื่องที่ซับซ้อนเกินกว่าที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ ต้องอาศัย “ผู้เชี่ยวชาญ” เท่านั้นที่จะเข้าใจปัญหาเหล่านี้ได้ เราจึงกลายเป็นประชาชนที่ขาดความมั่นใจในความคิดของตนเอง และขาดความสามารถในการวิพากษ์อย่างเป็นระบบ

ฟรอมม์ให้ตัวอย่างไว้อย่างน่าสนใจว่า “เวลาเขาประกาศว่ามีการทิ้งระเบิดเมืองเมืองหนึ่ง มีคนเสียชีวิตนับร้อย เขาก็จะคั่นหรือต่อท้ายด้วยการโฆษณาสบู่หรือเหล้า…” ทำให้เราไม่สามารถนำสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาโยงเป็นระบบได้ อารมณ์ในการคิดเชิงวิพากษ์ของเราถูกยับยั้ง และในที่สุดเราก็กลายเป็นคนวางเฉยไม่ยินดียินร้าย

ถึงที่สุดแล้ว จึงมีผู้คนจำนวนมากที่ไม่ได้เป็นเจ้าของความคิดตัวเอง เป้าหมาย รสนิยม ค่านิยมต่างๆ เราเพียงดำเนินไปตามสิ่งที่มีคนบรรจุใส่ลงไปในสมอง ดูคล้ายว่าเรามีเสรีภาพที่จะเลือก ดูคล้ายว่าเรารู้ว่าเราต้องการอะไร แต่เอาเข้าจริง เรากลับต้องการในสิ่งที่คนอื่นอยากให้เราต้องการ

เมื่อตัวตนของเราสูญหายไป การต้องทำตามคนอื่นก็ยิ่งกลายเป็นสิ่งจำเป็น แต่ไม่มีใครต้องการเป็นหุ่นยนต์ เราจึงรู้สึกดีกับ “ความแตกต่าง” ผ่านข้าวของเครื่องใช้ที่เราได้เป็นผู้เลือก เราแตกต่างจากคนอื่นด้วยการใช้ข้าวของที่สะท้อนความเป็นตัวเอง นาฬิกา กระเป๋า รองเท้า รุ่นที่ต่างไปจากเพื่อน สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงร่องรอยสุดท้ายของปัจเจกภาพที่ยังหลงเหลืออยู่

หากการเป็นหุ่นยนต์ไม่ใช่คำตอบ (เพราะมันไร้วิญญาณเกินไป) หากการหลอมตัวเองเป็นส่วนหนึ่งกับเผด็จการไม่ใช่คำตอบ (เพราะมันเสี่ยงต่อการเป็นส่วนหนึ่งของความเลวร้าย) หากการกลับไปสู่การเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ ของศาสนจักรไม่ใช่คำตอบ (เพราะน่าจะเป็นไปได้ยากในยุคนี้) แล้วคำตอบคืออะไร

เสรีภาพในทางบวกที่ผู้คนสามารถแสดงออกอย่างอิสระ แสดงศักยภาพของตัวเองออกมาได้เต็มที่ ในสังคมที่ให้ความสำคัญกับความเจริญเติบโตและความสุขของคนเป็นเป้าหมายหลัก ผู้คนไม่ต้องทอดร่างเป็นทาสหรือถูกโน้มน้าวชักจูงโดยอำนาจอื่นที่อยู่ภายนอกตัวเอง จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

สัปดาห์หน้าเรามา “หนีไปจากเสรีภาพ” กันอีกตอนครับ