รัฐอิสระ + สารหนู = อิเหนาเมาหมัด / ฉบับประจำวันที่ 27 ธ.ค. 2562 – 2 ม.ค. 2563

เมื่อผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลประกาศฉายารัฐบาล 10 รัฐมนตรี และวาทะแห่งปี ประจำปี 2562 ออกมา
ปรากฏว่า ได้รับคำชม ว่า เฉียบคม บาดลึก เหนือความคาดหมาย
โดยเฉพาะฉายารัฐบาล
“รัฐเซียงกง”
เหตุผล : รัฐเซียงกง สะท้อนภาพรัฐบาลคล้ายแหล่งค้าขายอะไหล่มือสอง ประกอบกันขึ้นจากข้าราชการยุคก่อน และนักการเมืองหน้าเก่า แม้ใช้ประโยชน์ได้แต่ยังขาดความน่าเชื่อถือ สะท้อนความไม่มีเสถียรภาพ
ฉายา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ
อิเหนาเมาหมัด
เหตุผล : ยกคำสุภาษิตไทย ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง เปรียบแนวทางปฏิบัติ และนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่เห็นได้ชัดหลายเรื่อง มักจะตำหนิหรือไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต และสุดท้ายก็กลับมาทำเอง เช่น โครงการลักษณะประชานิยม บอกไม่เป็นนายกฯ สุดท้ายก็กลับมา, ไม่อยากเล่นการเมือง ก็หนีไม่พ้น, หนีการตอบกระทู้ในสภา, มองข้ามข้อครหาเรื่องงูเห่าการเมือง การซื้อตัว ส.ส. ตั้งคนมีคดีความที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองเป็นรัฐมนตรี, แต่งตั้งญาติพี่น้องเข้าสภา, ยอมให้พรรคที่สนับสนุนใช้นโยบายค่าแรงหาเสียง ทั้งที่เคยตำหนิว่า การขึ้นค่าแรงเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน ช
อีกทั้งไม่สามารถควบคุมให้รัฐบาลมีความเป็นเอกภาพ เกิดปัญหาติดขัดการทำงานกับพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงงบประมาณที่ยังไม่ผ่านความเห็นชอบ และฝ่ายตรงข้ามรุมเร้าคล้ายโดนระดมหมัดเข้าถาโถม แม้พยายามสวนหมัดสู้ แต่หลายครั้งถึงกับมึนชกโดนตนเองก็มี
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ-รมว.พาณิชย์
ฉายา รัฐอิสระ
เหตุผล : เมื่อฝ่ายค้านมีฝ่ายค้านอิสระ รัฐบาลนี้ก็มีฝ่ายรัฐบาลอิสระเช่นกัน ให้ความสำคัญและเดินหน้าเฉพาะนโยบายของพรรคตนเองเป็นหลัก ไม่สนใจภาพรวมของรัฐบาล ไม่สามารถควบคุม ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ได้ สร้างความหวาดระแวงภายในรัฐบาลตลอดเวลา ส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ-รมว.สาธารณสุข
ฉายา : สารหนู
เหตุผล : แม้มีชื่อเล่นว่าหนู แต่ก็ไม่หนูอย่างที่คิด พิษสงรอบตัว ด้วยจำนวน ส.ส.ในมือ มีผลต่อความเป็นไปของรัฐบาล จนสามารถต่อรองคุมกระทรวงใหญ่ไว้ในมือได้ อีกทั้งนโยบายแบนสามสารพิษ ก็โดดเด่นและถูกจับตามอง ถึงกับเป็นชนวนความขัดแย้งเกิดขึ้นในรัฐบาล ก่อนจะสยบรอยร้าวได้ในที่สุด

ที่เน้นโฟกัสไปที่ 1 นายกฯ 2 หัวหน้าพรรคการเมือง คือประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย
เนื่องจากที่ผ่านมาเราเห็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โฟกัสไปยังพรรคร่วมหลัก 2 พรรค คือ ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย ซึ่งจะเป็นพรรคชี้เป็นชี้ตายรัฐบาล อย่างไม่วางตา
ในงานเลี้ยงพรรคร่วมรัฐบาล มีการชูไม้ชูมือแสดงความเป็นหนึ่ง ร่วมร้องเพลง แสดงสัญญาใจที่มีต่อกัน
ภาพดูดี แต่เมื่อหันไปดูฉายาที่สื่อตั้งให้แล้วประกอบเป็นสมการการเมืองง่ายๆ
รัฐอิสระ + สารหนู = อิเหนาเมาหมัด
ก็จะกลายเป็นนิยามการเมืองที่ไม่น่าไว้วางใจ
ด้วยถ้าย้อนกลับไปอ่านนิยามที่มาของฉายา จะพบ “ปัจจัยลบ” เป็นองค์ประกอบใน “ฉายา” ที่สื่อตั้งให้ สูงมาก
ดังนั้น จะให้มั่นใจสมการการเมืองนี้ ก็ดูกระไรอยู่
เพราะนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ดูยากยิ่งที่จะควบคุมสมาชิกพรรค ซึ่งพร้อมจะปะทุเป็นปัญหาได้ตลอด
ขณะที่พรรคภูมิใจ “สารหนู” ก็พร้อมจะเป็นพิษได้ตลอดเช่นกัน ด้วยความหวาดระแวงพรรคหลักอย่างพลังประชารัฐ ที่พร้อมดึงเอากระทรวงเกรดเอกลับไปดูแลตลอด
ต่างฝ่ายจึงต่างคุมเชิงกันตลอด

ซึ่งนี่จึงเป็นคำตอบแบบง่ายๆ ว่า ทำไมสมการการเมือง รัฐอิสระ + สารหนู = อิเหนาเมาหมัด
จึงถอดออกมาเป็น “วิกฤต” ได้ตลอดเวลา
——————-