วรศักดิ์ มหัทธโนบล : ยุทธศาสตร์ขยายดินแดนภาคตะวันตกของต้าถัง

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

มหาจักรวรรดิถัง (ต่อ)

หลังจากได้เมืองดังกล่าวแล้ว ถังไท่จงยังทรงคิดที่จะแผ่ขยายดินแดนให้กว้างไกลยิ่งขึ้นกว่านี้ แต่ถูกเว่ยเจิงและฉู่สุยเหลียง (ค.ศ.596-658) สองมหาอำมาตย์ทักท้วง

ทั้งสองให้เหตุผลว่า ดินแดนดังกล่าวอยู่ห่างไกล การยึดครองต้องใช้กองกำลังจำนวนมาก เช่นนี้ก็ต้องเกณฑ์ไพร่พลจำนวนมากไปด้วย โดยเฉพาะเว่ยเจิงนั้นคัดค้านอย่างหนัก ด้วยไม่เห็นว่าการขยายดินแดนดังกล่าวจะได้ประโยชน์อันใด

แต่ถังไท่จงทรงเพิกเฉยต่อการทักท้วงครั้งนี้ โดยหลังจากยึดครองคาราโกจาได้ไม่นาน เมืองนี้ก็กลายเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ดินแดนในอารักขาสันติตะวันตก (อันซีตูฮู่ฝู่, Pacify the West) เพื่อบริหารพื้นที่รอบๆ ภูมิภาคดังกล่าว

สำนักงานนี้จึงเป็นที่รวมของเหล่าพลเรือนและทหาร โดยมีหน้าที่กำกับดูแลราษฎรต่างชาติที่ยอมอยู่ใต้อาณัติของจีน

 

หลังจากนั้นสำนักงานนี้ก็ขยายการควบคุมให้กว้างออกไปอีก คือจากตุนฮว๋างที่อยู่ทางตะวันตกของมณฑลกันซู่ ไปจนถึงชายแดนคาราชาร์ในซินเจียงปัจจุบัน รัฐคาราชาร์นี้มีชนชาติอินโด-ยุโรปเป็นส่วนใหญ่ และเป็นรัฐบรรณาการของจีนตั้งแต่ ค.ศ.632 แต่ได้แข็งเมืองใน ค.ศ.644 แต่ถูกจีนปราบลงได้

ไม่เพียงคาราชาร์เท่านั้นที่ถูกจีนคุกคาม รัฐอื่นในแถบโอเอซิสนี้ก็ถูกคุกคามไม่แพ้กัน และเมื่อตกอยู่ใต้อำนาจของจีนก็ถูกทำให้เป็นจีน จะมีก็แต่รัฐคูชาเท่านั้นที่ยังคงวัฒนธรรมอินโด-ยุโรปเอาไว้ได้อย่างค่อนข้างเหนียวแน่น

ตราบจน ค.ศ.790 ทิเบตก็สามารถพิชิตดินแดนแถบนี้ได้ พอถึงศตวรรษที่ 9 ชาวอุยกูร์ก็เข้ายึดครองต่อ จนถึงศตวรรษที่ 13 ก็ตกเป็นของทัพมองโกล จากเหตุนี้ ความขัดแย้งระหว่างชนชาติในแถบนี้กับจีนจึงเกิดขึ้นอยู่เสมอ

เช่นเดียวกับที่ชนชาติเหล่านี้ก็ขัดแย้งกันเอง

 

ถู่อี้ว์หุนและทิเบต ชนชาติถู่อี้ว์หุนที่เคยพ่ายแพ้และถูกปราบอย่างโหดเหี้ยมในสมัยสุยนั้น มาถึงสมัยถังชนชาตินี้อาศัยอยู่รอบๆ ทะเลสาบโคโคนอร์ และแหล่งทรัพยากรธรรมชาติของแม่น้ำเหลือง ที่ซึ่งปัจจุบันคือมณฑลชิงไห่อันเป็นถิ่นกำเนิดของชนชาติเซียนเปยที่กลายเป็นทิเบต

แต่เวลานั้นถูกเรียกว่า ถู่อี้ว์หุน

แรกที่ถังตั้งราชวงศ์นั้น ถู่อี้ว์หุนเคยส่งกำลังไปช่วยถังปราบกบฏ แต่นั้นมาถู่อี้ว์หุนก็สัมพันธ์กับจีนด้วยน้ำใสใจจริงเรื่อยมาจนถึง ค.ศ.634 คณะทูตของถู่อี้ว์หุนที่ไปถวายบรรณาการแก่ถังไท่จงถูกปล้นระหว่างทางกลับ การปล้นเกิดขึ้นบริเวณแนวชายแดนจีน

ถังไท่จงทรงเรียกให้คากานของถู่อี้ว์หุนมาเข้าเฝ้า แต่ผู้เป็นคากานไม่ใส่ใจที่จะไปเข้าเฝ้า จากเหตุนี้ พิธีอภิเษกระหว่างเจ้าชายของถู่อี้ว์หุนกับเจ้าหญิงของถังจึงถูกยกเลิก อันยังความไม่พอใจให้แก่คากานของถู่อี้ว์หุน คากานจึงกรีธาทัพบุกเข้าโจมตีจีนบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือเป็นการแก้แค้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ถังจึงกรีธาทัพเข้าตอบโต้ในปลายปีเดียวกัน ทัพถังแยกเป็นหลายทัพย่อยแล้วมุ่งไปทางตะวันตก ผ่านดินแดนทุรกันดารหลายร้อยกิโลเมตรจนถึงถิ่นฐานของถู่อี้ว์หุน

จากนั้นก็ทำศึกกับถู่อี้ว์หุนอยู่หลายครั้งจนสยบถู่อี้ว์หุนได้ในที่สุด

 

ทัพถังสามารถจับกุมเสนามาตย์ของชนชาตินี้ได้ไม่น้อย ทั้งยังยึดเอาสัตว์เลี้ยงได้อีกหลายพันตัว ส่วนผู้เป็นคากานหลบหนีการไล่ล่าของทัพถังไปได้แล้วข้ามทะเลทรายมุ่งไปยังรัฐโคตาน ไม่เป็นที่แน่ชัดว่า คากานทรงถูกคนใกล้ชิดลอบสังหารหรือทำอัตวินิบาตกรรมตนเอง

ส่วนโอรสของคากานถูกจับไปเป็นตัวประกันมายังราชสำนักจีน ณ ที่นั้นผู้เป็นโอรสทรงถูกเลี้ยงดูและอบรมสั่งสอนให้เป็นจีน จนถังไท่จงทรงเชื่อว่าโอรสผู้นี้จะอ่อนข้อลงจนไม่เป็นภัยแก่จีนอีก ด้วยความเชื่อนี้ถังไท่จงจึงทรงตั้งให้โอรสผู้นี้เป็นคากานองค์ใหม่ของถู่อี้ว์หุน

จากนั้นคากานองค์ใหม่ก็เสด็จกลับไปถิ่นฐานของตนด้วยบุคลิกภาพที่มีความเป็นจีนสูงยิ่ง

แต่บุคลิกภาพนี้กลับไม่เป็นที่ยอมรับของราษฎร ฐานะของคากานจึงขาดการสนับสนุน และทำให้คากานต้องการกองกำลังทหารของถังเข้ามาค้ำจุน แต่โดยไม่ไยดีว่าถังจะเข้าช่วยคากานหรือไม่ คากานองค์นี้ก็ถูกคนใกล้ชิดผู้หนึ่งสังหารจนสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ.635

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้จีนต้องส่งกองกำลังไปตรึงที่ชายแดนแถบนั้นตลอดรัชกาลถังไท่จง

แต่ความพยายามนี้กลับไร้ผล ด้วยไม่อาจทำให้สถานการณ์ภายในของถู่อี้ว์หุนดีขึ้นแต่อย่างไร เมื่อในอีกด้านหนึ่งของปัญหาที่ถู่อี้ว์หุนต้องเผชิญไปด้วยก็คือ การคุกคามจากชนชาติทิเบต

ในยุคโบราณคำเรียกขานชนชาติทิเบตที่เก่าแก่ที่สุดคือคำว่า ทู่ฟัน ในขณะที่ชนชาติอื่นอาจออกเสียงว่า ตูฟาน แต่กระนั้น คำเรียกดังกล่าวเป็นการเรียกด้วยความเข้าใจผิด ที่ถูกแล้วเรียกว่า ทู่ปอ

ที่ว่าเข้าใจผิดก็เพราะคำในพยางค์ที่สองในปัจจุบันมักอ่านว่า ฟัน แต่คำเดียวกันนี้ในอดีตอ่านว่า ปอ คำเรียกที่ถูกต้องจึงคือ ทู่ปอ ซึ่งใกล้เคียงกับที่ทิเบตเรียกชื่อเดิมของรัฐตนว่า ปอด (Bod) อันเป็นการออกเสียงตามระบบพินอิน แต่ถ้าอ่านตามอักขระอังกฤษแล้วย่อมต้องเสียงว่า บอด

อย่างหลังนี้ทำให้คล้องกับพยางค์ที่สองของคำว่า ทิเบต ในปัจจุบัน

เวลานั้นชนชาตินี้ขึ้นชื่อในเรื่องความดุร้ายและนิยมชมชอบในการรบราฆ่าฟัน โดยในราวศตวรรษที่ 6 ถึง 7 ทู่ปอที่อยู่รอบๆ กรุงลาซาในปัจจุบันอยู่ภายใต้อำนาจของผู้นำเดี่ยว จนในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 7 นั้นเอง บุตรที่สืบทอดอำนาจจากผู้นำเดี่ยวคนแรกก็สามารถรวบรวมดินแดนทิเบตเข้าด้วยกัน

หลังจากนั้นทิเบตก็เริ่มมีปัญหากับจีนในฐานะที่เป็นอีกแรงกดดันหนึ่ง ซึ่งเวลานั้นตรงกับยุคของถังเกาจู่

 

แต่พอถึงยุคถังไท่จงใน ค.ศ.634 ทิเบตจึงเปิดความสัมพันธ์กับจีนโดยมีการส่งทูตมาประจำและถวายบรรณาการ หลังจากนั้นอีกไม่กี่ปีต่อมา ทิเบตทราบข่าวการอภิเษกระหว่างเจ้าหญิงถังกับผู้นำเติร์กตะวันออกและถู่อี้ว์หุน ผู้นำทิเบตก็ต้องการเช่นนั้นบ้าง จึงได้สู่ขอเจ้าหญิงจากถังไท่จง

แต่ถังไท่จงทรงปฏิเสธด้วยเห็นว่าการขอดังกล่าวเป็นการสบประมาทและหยาบคาย การปฏิเสธของถังไท่จงยังความไม่พอใจให้แก่ทิเบต และเป็นเหตุให้ทิเบตยกทัพเข้าตีเมืองในชายแดนจีนบริเวณมณฑลซื่อชวนปัจจุบัน

การถูกโจมตีครั้งนี้ทำให้จีนตระหนักว่า ตนกำลังมีเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งที่น่าเกรงขามเข้าแล้ว

แต่จะด้วยเหตุนี้หรือไม่ก็ตามที พอผู้นำทิเบตสู่ขอเจ้าหญิงถังอีกครั้งหนึ่ง ถังไท่จงก็ทรงตอบรับโดยไม่ลังเล การผูกพันด้วยการแต่งงานเช่นนี้ทำให้จีนกับทิเบตอยู่ร่วมกันอย่างสงบยาวนาน 20 ปี แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าอำนาจของทิเบตจะลดน้อยถอยลงไปด้วยไม่ การเป็นภัยคุกคามสำหรับจีนจึงยังคงอยู่

ภัยคุกคามที่ว่าได้แสดงผลให้เห็นในทศวรรษ 780 เมื่อทัพทิเบตได้บุกเข้ายึดไปถึงกันซู่และรัฐในอารักขาของจีน เห็นได้ชัดว่า ชาวทิเบตเป็นนักรบที่มากความสามารถที่แม้แต่จีนเองก็ยังยอมรับ

ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างเหตุการณ์ใน ค.ศ.755 เมื่อถังได้มีสารไปถึงทิเบตว่าจะให้ค่าตอบแทนอย่างถึงขนาดหากทิเบตช่วยจีนปราบกบฏ ซึ่งทิเบตก็ตอบรับด้วยดี แต่แล้วทิเบตก็เข้าตีฉังอันใน ค.ศ.763 อยู่สองสัปดาห์แล้วล่าถอยไป และพอถึง ค.ศ.777 ทิเบตก็ยกมาปล้นฉังอันอีก

โดยที่ถังซึ่งกำลังอ่อนแอมิอาจตอบโต้ได้

 

บันทึกฝ่ายจีนได้เล่าคุณลักษณะการเป็นนักรบของชาวทิเบตเอาไว้ว่า “เสื้อเกราะของพวกเขาเยี่ยมยอด พวกเขาห่อหุ้มร่างกายทั้งหมดไว้ในเสื้อเกราะ เว้นแต่เพียงลูกตาสองข้าง แม้แต่ธนูและมีดที่แหลมคมก็ไม่สามารถทำอันตรายได้มากนัก”

การเป็นนักรบของชาวทิเบตน่าจะเป็นแรงจูงใจที่สำคัญที่ทำให้จีนว่าจ้างให้ทิเบตช่วยปราบกบฏ แต่ความจริงที่ยากจะทราบก็คือว่า เหตุใดจีนจึงไม่ปฏิบัติตามสัญญา เช่นใน ค.ศ.786 เมื่อการปราบกบฏจบลง จีนมิได้จ่ายค่าตอบแทนให้ทิเบตเต็มจำนวนตามสัญญา

และเป็นเหตุให้ทิเบตบุกเข้ายึดเมืองตุนฮว๋าง ซึ่งในเวลานั้นเป็นศูนย์กลางการปกครองด้านตะวันตกเฉียงเหนือของจีน และอีกแปดอำเภอในเฉลียงกันซู่ที่เคยเป็นของจีน ทิเบตปกครองดินแดนในแถบนี้อย่างจริงจังและเป็นระบบ

ตราบจน ค.ศ.848 เมื่อราชวงศ์ของทิเบตอ่อนแอลงจากความขัดแย้งภายในจนแตกแยก ทัพถังจึงสามารถขับไล่ทิเบตออกจากดินแดนที่ว่านี้ไปได้ในที่สุด