หลังเลนส์ในดงลึก : “ถอยห่าง”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

ผมเริ่มต้นเส้นทางสายนี้ด้วยการดูนก

ผมบอกเรื่องนี้กับใครๆ บ่อย

สิ่งหนึ่งที่ “คนดูนก” ตั้งใจคือ ตามหานกหายาก นกที่ใกล้สูญพันธุ์ และนกที่นานๆ จะพบได้สักครั้ง

ในระยะหลังๆ มานี้ดูเหมือนว่าธรรมชาติจะ “เป็นใจ” ให้คนดูนก

สาเหตุหนึ่งคือประเทศในเขตหนาวมีสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงมากขึ้นโดยเฉพาะความหนาวเย็น

ความหนาวเย็นเพิ่มมากขึ้นในระยะเวลาอันยาวนาน นั่นหมายถึงการขาดแคลนอาหารย่อมมากขึ้นด้วย ชีวิตในเขตหนาวจำนวนมหาศาลต้องอพยพสู่ความสมบูรณ์ทางตอนใต้

ชีวิตที่เดินทางหลบความขาดแคลนเป็นจำนวนมากที่สุดคงได้แก่บรรดานกชนิดต่างๆ

พื้นที่ตามเทือกเขา ป่าต่ำ รวมทั้งหนองบึง ทะเลสาบในบ้านเรา

เหล่านี้คือสถานที่รับรองผู้มาเยือน หลายชนิดเป็นแขกประจำ บางชนิดนานๆ มาสักครั้ง

แต่เมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง มีนกหลายชนิดที่ไม่เคยมาถึงเขตแดนนี้ แวะมาเยือน

นี่คือเรื่องน่ายินดีของคนดูนก “นกหายาก” เกือบทุกตัวถูกบันทึกภาพไว้ได้

ว่าไปแล้ว ผมรับรู้ข่าวการเดินทางของนกหายากแทบทุกครั้งแม้ว่าจะออกจากแวดวงซึ่งดูนกอย่างเอาจริงมานาน

ผมรับฟังข่าวด้วยใจสงบ ยินดีกับการปรากฏกายของนกเหล่านั้น นกบางตัวเป็นนกที่ผมเฝ้ารอ เคยตั้งความหวังไว้ อยากเห็น และบันทึกภาพ

ความรู้สึกที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่เพราะขาดความกระตือรือร้น

แต่ผมรู้แล้วว่าการได้เห็นจากรูปของคนดูนกที่บันทึกมาได้ก็พอเพียงและเป็นเรื่องน่ายินดีแล้ว

หลายครั้งผมได้รับข่าวพร้อมกับข้อความ “อย่าบอกใครมากๆ ล่ะ”

ผมเข้าใจข้อความนี้ดี หลายคนเป็นห่วง

คนจำนวนไม่น้อยอยากเห็นนกหายาก

เมื่อคนมุ่งหน้ามา นกซึ่งเพิ่งเดินทางมาถึงอาจหวาดระแวงและจากไปก่อนเวลา

ผมรับข่าวด้วยความยินดี ใจสงบนิ่ง

แต่เมื่อหลายปีก่อน ไม่ได้เป็นเช่นนี้

 

วันนั้น ฌอน โอชุลลิแวน อาสาสมัครชาวอเมริกัน ผู้ร่วมกับทีมสำรวจประชากรพะยูน ตามแนวชายฝั่งจังหวัดตรัง โทรศัพท์จากหาดเจ้าไหม แจ้งผมว่า ขณะกำลังสำรวจหาดเจ้าไหมทางเฮลิคอปเตอร์ เขาพบนกกระสาคอดำตัวหนึ่ง

หลังจากวางโทรศัพท์ตอนเกือบๆ เที่ยงคืน ผมขับรถในระยะทางกว่า 800 กิโลเมตร มุ่งสู่หาดเจ้าไหมทันที

ในเวลานั้น ปีที่มีการบันทึกว่าพบรังนกกระสาคอดำในบริเวณใกล้เคียงหาดเจ้าไหม ผ่านมาแล้วกว่า 70 ปี

นกซึ่งสาบสูญไปนานกว่าชั่วอายุคนรุ่นพ่อหวนกลับมาเป็นข่าวที่ผมไม่รั้งรอ

 

ผมใช้เวลา 3 วันเฝ้ารอแถวๆ หาดทราย บริเวณอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จึงพบนกกระสาคอดำตัวหนึ่ง

นัยน์ตาสีเหลือง ทำให้รู้ว่าเป็น “เธอ”

สองวันแรก หลังจากเดินสำรวจ และรออยู่กับหาดทรายว่างเปล่า มีเพียงระลอกคลื่น ผืนทราย และเงาสะท้อนแดดระยิบระยับ

ผมรู้สึกว่าบางทีข่าวการพบนกกระสาคอดำ ก็ดูจะคล้ายกับความฝัน

เพื่อตื่นมาพบกับความจริง

คือ ชายหาดอันว่างเปล่า

กระสาคอดำตัวนี้ คงเป็นนกที่อยู่ระหว่างการเดินทาง แวะพักเพียงระยะเวลาสั้นๆ และจากไปแล้ว

หรือไม่ก็เป็นนกที่อยากมาพบกับแหล่งอาศัยเดิม ซึ่งเป็นอดีต สภาพแวดล้อมอันเปลี่ยนแปลง บรรพบุรุษเคยถูกฆ่าเอาเนื้อมาทำอาหารเพราะตัวใหญ่ตกเป็นเป้าสังหารง่าย ต้นไม้ใหญ่ๆ ที่พอใช้เป็นที่สร้างรังได้เหลือน้อย

เหล่านี้คงทำให้นกไม่อยากอยู่แถวนี้นานนัก

อาจเป็นความรู้สึกเดียวกับเมื่อเวลาผมไปยืนอยู่ท่ามกลางไร่ข้าวโพดกว้างไกลสุดตา

และพยายามนึกถึงภาพบริเวณนี้ซึ่งเคยเป็นป่าแน่นทึบ

 

วันที่สาม การรอคอยของผมเป็นจริง

หลังจากขึ้นไปอยู่บนกิ่งสนต้นใหญ่ตั้งแต่เช้า ราวๆ 4 โมงเย็นมีเงาดำๆ บินข้ามหัวไป และลงยืนในน้ำตื้นๆ ห่างจากผมสัก 300 เมตร

ร่างโดดเดี่ยว มองซ้าย ขวา อย่างระมัดระวัง

หาดทรายโล่งๆ ไร้ที่กำบังทำให้ผมต้องใช้วิธีคลานศอก ค่อยๆ ขยับเข้าไปจนกระทั่งอยู่ในระยะพอจะบันทึกภาพได้

วินาทีแรกที่เห็น “เธอ” จากช่องมองภาพ

ผมยังคิดว่านี่คือความฝัน

แต่แผลแสบบริเวณท้องแขนซึ่งเกิดจากการครูดกับกิ่งสนและโดนน้ำทะเล ทำให้รู้ว่าคือความจริง

ผมเริ่มกดชัตเตอร์ ขยับเคลื่อนเข้ามาใกล้มากขึ้น

เลนส์ใสสะอาด ภาพนกกระจ่างชัด แต่ไม่ชัดพอที่ผมจะเห็นสายตาหวาดระแวง

ผมขยับเข้าใกล้อีกหลายเมตร นกหันมองก่อนย่อขาลงและโผบินขึ้น ปีกใหญ่ขยับช้าๆ มุ่งหน้าไปทางทิศที่บินมา

นานพอสมควรกว่าร่างของนกจะเล็กลงๆ

ผมลุกขึ้นยืน มอง “เธอ” จนกระทั่งลับสายตา

ตอนนั้นผมยังเฝ้ารออีกหลายวัน แต่นกไม่กลับมาอีกเลย

เดินทางกลับพร้อมกับรูปนกกระสาคอดำ ด้วยความปลื้มปีติ

ผมนำออกเผยแพร่ เขียนถึงเรื่องราวนี้หลายครั้ง

หลายครั้งผมหยิบสมุดบันทึกมาอ่าน และไม่ได้ข่าวนกชนิดนี้อีก

ครั้งล่าสุดที่ได้พบคือ ที่อุทยานแห่งชาติ คาซิลังก้า รัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย

ในถิ่นที่เคยมีนกชนิดนี้อยู่ ครั้งหนึ่งผมมีโอกาสได้พบและถ่ายรูป

หากได้ทำสิ่งซึ่งปรารถนาสักครั้งแล้ว

วันนี้ก็คล้ายจะมีความสุขได้

โดยไม่ต้องพะวงว่า วันพรุ่งนี้จะเป็นเช่นไร

 

เวลาผ่านมานาน รูปนกกระสาคอดำ ผ่านการใช้งาน และเต็มไปด้วยริ้วรอย

ผมดูรูป และเข้าใจแท้จริงถึงความหมายในแววตาสีเหลืองที่เห็นในวันนั้น

ผมรู้ว่า นกหวาดระแวง แต่เข้าใจแล้วว่า ผมเองทำให้นก “ตื่นหนี” ไป

หลายปีแล้วที่ผม “ฝังตัว” อยู่กับป่าผืนเดียว

การทำเช่นนี้ทำให้ “ห่างไกล” ออกไปจากหลายสิ่ง

แต่ “ใกล้ชิด” กับตัวเองมากขึ้น

ถึงวันนี้ ผมรับฟังข่าวคราวการพบเห็น “นกหายาก” และผู้คนจำนวนมากไปเฝ้าดู ถ่ายภาพ ด้วยใจสงบนิ่ง

“ถอยห่าง” ออกมา

“ภาพ” ที่เห็นชัดเจนกว่าเดิม