การลงถนนของธนาธร : เสียงจากชายแดนใต้

ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกคน

จากการที่ (14 ธันวาคม 2562) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้จัดชุมนุมทางการเมืองที่กรุงเทพฯ นั้นมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยนานาทัศนะ

ซึ่งที่ชายแดนใต้นั้นก็ไม่ต่างกัน รวมทั้งมีการนำบทสัมภาษณ์ธนาธรที่ประท้วงมาเขียนเป็นภาษามลายูอักษรยาวีในสื่อออนไลน์

ผู้เขียนได้สำรวจลงพื้นที่ จึงขอนำเสนอดังนี้

นายอัมมาร เจ๊ะอูเซ็ง กลุ่มเยาวชนในพื้นที่อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส ได้ให้ทัศนะว่า

“การต่อสู้ทางการเมืองบนท้องถนน เป็นการแสดงถึงพลังอำนาจของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย หากแต่การต่อสู้แต่ละครั้งก็แสดงถึงความเป็นผู้นำของผู้นำกระแสการต่อสู้”

“ในอดีตการเมืองไทยมีการต่อสู้บนท้องถนนหลายครั้งแต่ละขบวนไม่ว่าจะเป็น พล.ต.จำลอง ศรีเมือง สนธิ ลิ้มทองกุล จตุพร พรหมพันธุ์ ลุงกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ ฯลฯ หรือปัจจุบัน ธนาธรที่เป็นตัวจุดกระแส จะติดหรือไม่ติด อยู่ที่ผู้นำเหล่านี้ ซึ่งโอกาสมีครั้งเดียว หากคิดจะนำไปสู่การต่อสู้ของประชาชน ที่มีเส้นชัย 2 ทาง ชัยชนะและพ่ายแพ้เท่านั้น ที่สำคัญโอกาสมีครั้งเดียว จะไม่มีโอกาสเรียกกระแสขบวนครั้งที่ 2 เลย ไม่ว่าคุณหรือใคร เก่งแค่ไหนก็ตาม กระแสที่สองพลังน้อยมาก ผมจะเรียกมันว่า กระแสมือสอง ความนิยมน้อยกว่ามาก ฉะนั้น รักษาโอกาสนี้ไว้ให้ดี”

…เขามองอีกว่า

“เรามีประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองไทยมาหลายครั้ง ยิ่งเยาวชน คนรุ่นใหม่ ควรที่จะศึกษาบทเรียนการต่อสู้การเมืองบนท้องถนนในอดีต และต่างประเทศอย่างฮ่องกง ทำความเข้าใจให้มาก เพื่อการปรับตัว เลือกวิธีการต่อสู้ เช่น รู้จักหลีกเลี่ยงการปะทะ ลดเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การนองเลือด เมื่อมีแรงกดดัน แรงบีบคั้นจากรัฐ กระแสยั่วยุของฝ่ายตรงข้าม”

“ในครั้งนี้ผมมองว่าการต่อสู้ครั้งนี้มีโอกาสครั้งเดียว หากจะต้องใช้โอกาสนี้ในการปรับเปลี่ยนให้ประเทศไปในทางที่มีประชาธิปไตยมากขึ้น ก็จงใช้ให้คุ้มค่าที่สุด และรักษาโอกาสนี้ไปเรื่อยๆ ด้วยความอดทน อดกลั้น และเลือกใช้สันติวิธีแบบอหิงสา”

ในขณะที่เวทีภาคประชาสังคมชายแดนใต้ที่นราธิวาส เมื่อ 14 ธันวาคม 2562 มองว่าการต่อสู้ของธนาธรนั้น สะท้อนถึงโครงสร้างอำนาจรัฐแบบอนุรักษนิยมรวมศูนย์ที่พยายามทำทุกวิถีทางที่จะคงอำนาจใว้ โดยใช้กฎหมายที่ฝ่ายตนเองร่างไว้ ขจัดศัตรูทางการเมืองให้หลุดวงจรรัฐสภาและบีบให้ฝ่ายตรงข้ามลงถนนเพื่อสร้างความชอบธรรมในการคงอำนาจฝ่ายตน โดยไม่สนใจจรรยาบรรณทางการเมือง

หรือใช้กระบวนการยุติธรรมเลือกข้างอย่างน่าเกลียด (ชายแดนใต้ก็เช่น มีการเลือกปฏิบัติของกระบวนการยุติธรรม) ซึ่งมันเป็นวงจรอุบาทว์ของการเมืองไทยบนถนนการต่อสู้ทางประชาธิปไตย ตั้งแต่ปี 2475 เพียงแต่เปลี่ยนผู้เล่นเท่านั้นเอง

ในเวทีนี้ยังสะท้อนอีกว่าการบีบให้จนมุม จนไม่มีพื้นที่ยืนทางการเมืองในระบบ ก็ไม่ต่างอะไรกับการบีบพื้นที่ของฝ่ายความมั่นคงต่อผู้เห็นต่างชายแดนใต้ให้จับอาวุธต่อสู้กับรัฐไทย

ส่วนหนึ่งจากภาคประชาสังคมได้สะท้อนอีกว่า “หากวัยรุ่นคนหนุ่มสาวชายแดนใต้คิดจะลงถนนร่วมต่อสู้กับธนาธร อาจถูก IO เครือข่ายรัฐยัดข้อหา อนาคตใหม่ร่วมมือกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนชายแดนใต้ล้มรัฐบาลไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยโปรยวาทกรรมเช่นนี้ตอนธนาธรหาเสียงที่ชายแดนใต้ และล่าสุดตอนที่พรรคอนาคตใหม่ลงเข้ามาช่วยเหลือคดีการตายของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ว่า เข้าไปช่วยเหลือโจรแบ่งแยกดินแดนทำไม?”

“ซึ่งมีโอกาสเข้าทางฝ่ายรัฐที่กำลังเดินเกมตัดแข้งตัดขาธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ ด้วยวาทกรรมลัทธิชังชาติ”

สําหรับการชุมนุมครั้งนี้นักวิชาการและภาคประชาสังคมชายแดนใต้มองว่า “การลงถนนของธนาธรครั้งนี้เป็นสิทธิการชุมนุมอันเป็นสิทธิทางประชาธิปไตย ดั่งที่นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ได้ให้ทัศนะว่า

“”การลงถนน” เพราะรัฐดื้อด้านและเผด็จการหูตึงที่คุมอำนาจเบ็ดเสร็จแล้ว การลงถนนคือพลังที่มีความหมาย เป็นพลังเชิงประจักษ์แก่คนทุกรุ่นทุก generation ในสังคม สงครามออนไลน์นั้นมีความหมายมากในการสร้างการรับรู้ให้เห็นถึงความบิดเบี้ยวอันฉ้อฉลของฝ่ายผู้กุมอำนาจ สามารถลดความชอบธรรมและสร้างฉันทามติเบื้องต้นในโลกออนไลน์ได้ แต่ air-war ต้องผสมผสานด้วย ground-war นั่นคือการชุมนุมลงถนน จึงจะมีพลังในการกดและดันให้เผด็จการที่หูตึง ตาฝ้าฟางสั่นคลอน และยิ่งเมื่อผนวกกับพลังของพรรคการเมืองในรัฐสภาที่พรรครัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำ โอกาสที่จะมีการเปลี่ยนขั้วการเมืองโดยระบอบรัฐสภาก็เป็นไปได้สูงมาก”

“แต่ถ้าเป็นเช่นนี้ ทางรอดของ คสช.ก็คือ ยิ่งต้องยุบพรรคอนาคตใหม่ให้เร็ว ทำลายตัดไฟแต่ต้นลม ใช้กฎหมายปิดกั้นผู้คนไม่ให้ลงถนนอีก ยุบแล้วดูด แจกกล้วย เลี้ยงหูฉลาม เพื่อเพิ่มเสียงของพรรครัฐบาลให้เป็นเสียงข้างมาก ดิ้นทุกทางให้อยู่ในอำนาจเพราะผลประโยชน์ส่วนตนที่อยู่ใต้พรมจะหายหมด รวมถึงอาจต้องลี้ภัยไปไกลด้วยซ้ำ…”

“ผมดีใจที่เมื่อวาน (14 ธันวาคม 2562) ชนชั้นกลางในกรุงได้ลงถนน ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐนั้นลงถนนมาตลอด แต่ด้วยความเป็นชาวบ้านก็ถูกกระทำอย่างหนักจากอำนาจรัฐ ทั้งการกดดัน การส่งคนมีสีไปเยี่ยมที่บ้าน การใช้สารพัดกฎหมายมาปิดกั้น จนถึงการจับกุมดำเนินคดี แต่การลงถนนก็ยังจำเป็นและมีพลังเสมอ”

“อยากให้คนกรุงเทพฯ รู้สึกดีกับการลงถนน รู้สึกดีกับชาวบ้านที่ลงถนน ร่วมกันสร้างนิยามใหม่ของการลงถนนว่า “การลงถนนคือวิถีประชาธิปไตย” เป็นหนึ่งในหนทางการต่อสู้ที่สำคัญเพื่อให้ได้มาซึ่งความถูกต้องและเป็นธรรม”

แต่สำหรับภาคประชาชนชายแดนใต้ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะคนที่เคยเป็น กปปส. ประท้วงยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็อดกังวลใจไม่ได้ว่าการต่อสู้ลงถนนท้ายสุดแล้วตาอยู่ก็จะคว้าพุงปลาไปกิน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายพลต่างๆ ที่ออกมาปฏิวัติรัฐประหารโดยอ้างความมั่นคงของรัฐ

ดังนั้น ประชาชนอย่างเราๆ ท่านๆ ก็ควรจดจำบทเรียนที่เคยตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองไว้ให้ดี