คนของโลก : ‘เกอร์บันกูลี เบอร์ดีมุคฮาเมดอฟ’ หมอฟันสู่ผู้นำเผด็จการ เติร์กเมนิสถาน

“เกอร์บันกูลี เบอร์ดีมุคฮาเมดอฟ” ประธานาธิบดีเติร์กเมนิสถาน ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แบบสบายๆ สามารถเอาชนะคู่แข่ง 8 คนที่ลงแข่งเป็นพิธี ไปได้ด้วยสัดส่วนคะแนนเกือบ 98 เปอร์เซ็นต์

นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีต่อไปอีก 7 ปี

เบอร์ดีมุคฮาเมดอฟก้าวจากทันตแพทย์ส่วนตัวของผู้นำเติร์กเมนิสถาน ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็น “เกาหลีเหนือแห่งที่สองของเอเชีย” หลังการเสียชีวิตของอดีตประธานาธิบดี “ซาปาร์มูรัต นิยาซอฟ” ผู้ที่วางตัวเป็น “บิดาแห่งชาวเติร์กเมนิสถาน” เมื่อปี 2006

เวลานั้นทั่วโลกคาดหวังกันว่า เบอร์ดีมุคฮาเมดอฟจะเปิดประเทศอันโดดเดี่ยวแต่ร่ำรวยน้ำมันออก สู่โลกภายนอกมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น

หลังชัยชนะเลือกตั้งครั้งล่าสุด นักวิเคราะห์คาดว่า ผู้นำ “ชาวเติร์กเมน” ผู้นี้อาจเดินหน้าไปสู่การเป็นประธานาธิบดีที่ดำรงตำแหน่งตลอดชีวิตหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา

AFP PHOTO / Igor SASIN

เบอร์ดีมุคฮาเมดอฟ ผู้ที่ปัจจุบันในวัย 59 ปี เคยเป็นทันตแพทย์ส่วนตัวให้กับ”นิยาซอฟ” ผู้ซึ่งเป็นผู้นำประเทศตั้งแต่เติร์กเมนิสถานแยกตัวจากโซเวียต เมื่อปี 1991 ก่อนที่เบอร์ดีมุคฮาเมดอฟจะได้รับการแต่งตั้งเป็น “รัฐมนตรีสาธารณสุข” ในปี 1997

นิยาซอฟ นำพาเติร์กเมนิสถาน กลายเป็นประเทศที่โดดเดี่ยวมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ด้วยบุคลิก ความคิดอ่านแปลกๆ เช่น การเปลี่ยนชื่อ “เดือน” เดือนหนึ่งให้เป็นชื่อของแม่ รวมไปถึงการสร้างอนุสาวรีย์ขนาดใหญ่ที่หมุนหันหน้าเข้าหาดวงอาทิตย์ตลอดเวลาให้กับตัวเอง

หลังการเสียชีวิตอย่างกะทันหันของ “นิยาซอฟ” “เบอร์ดีมุคฮาเมดอฟ” ก็ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำในทันที ด้วยการสนับสนุนจากหน่วยงานความมั่นคงของประเทศ

ในช่วงแรกของการปกครอง เขาจัดการกำจัด “สัญลักษณ์” อันเป็นของผู้นำคนเก่าไปทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นป้ายบนท้องถนน ภาพถ่าย รวมไปถึงการย้ายอนุสาวรีย์นิยาซอฟออกไปชานเมือง

ก่อนก้าวเป็นผู้นำเผด็จการอีกคนของเติร์กเมนิสถานอย่างเต็มตัว

AFP PHOTO / Igor SASIN

ประเทศตอนกลางของเอเชียแห่งนี้ ไม่มีสื่อมวลชนอิสระ เบอร์ดีมุคฮาเมดอฟ ผู้ชื่นชอบการขี่ม้าเป็นชีวิตจิตใจ ชอบที่จะถูกนำเสนอผ่านสื่อของรัฐบาลอย่างไร้ที่ติ

บทกวีของเบอร์ดีมุคฮาเมดอฟ ถูกตีพิมพ์ลงหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ เด็กๆ ร้องเพลงที่เบอร์ดีมุคฮาเมดอฟแต่ง ขณะที่การทำหน้าที่เป็นดีเจในงานปาร์ตี้ของหลานชายก็ถูกรายงานผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ

รอยด่างพร้อยเล็กๆ เกิดขึ้นในปี 2013 เมื่อ “คลิปวิดีโอ” เหตุการณ์ที่ประธานาธิบดีเบอร์ดีมุคฮาเมดอฟตกจากหลังม้าตัวโปรดในสนามแข่งถูกแชร์ออกไปในโลกออนไลน์เป็นวงกว้าง ทว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้ถูกรายงานโดยสื่อเติร์กเมนิสถานแต่อย่างใด

หลังเหตุการณ์ดังกล่าว ในปี 2015 รัฐบาลเติร์กเมนิสถานก็ได้เปิดตัวอนุสาวรีย์เบอร์ดีมุคฮาเมดอฟขี่ม้าขนาดใหญ่ยักษ์ขึ้นกลางเมืองหลวง

AFP PHOTO / Igor SASIN

แม้ว่าประชากร 5.2 ล้านคนของประเทศส่วนใหญ่ยังคงยากจนข้นแค้น ทว่า รัฐบาลภายใต้ประธานาธิบดีเบอร์ดีมุคฮาเมดอฟ ยังคงใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย

อย่างการสร้างทำเนียบประธานาธิบดีหินอ่อนโดมทองคำ ใช้งบฯ สูงถึง 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 8,700 ล้านบาท เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กรุงอาชกาบัต เป็นเมืองที่ใช้หินอ่อนสร้างอาคารจำนวนมากที่สุดในโลก จนได้บันทึกลงในกินเนสส์บุ๊กออฟเวิลด์เร็กคอร์ด เมื่อปี 2013

ขณะที่เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา ประเทศที่ไม่มีชายฝั่งติดทะเลแห่งนี้สร้างสนามบินแห่งใหม่ด้วยงบฯ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 70,000 ล้านบาท ขณะที่นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศมีเพียงหยิบมือ

AFP PHOTO / MUSTAFA OZER

เวลานี้ เบอร์ดีมุคฮาเมดอฟต้องเผชิญกับความท้าทายในขณะที่ราคาน้ำมันโลกลดต่ำลง ทำให้ประเทศสูญเสียรายได้มหาศาล จนมีการพูดถึงการออกนโยบายให้ประชาชนต้องเสียเงินซื้อน้ำมัน ไฟฟ้า และน้ำประปา สาธารณูปโภคที่ก่อนหน้านี้ใช้ฟรีมาโดยตลอดกันแล้ว

เติร์กเมนิสถาน ประเทศที่พึ่งพาจีนที่นำเข้าไฮโดรคาร์บอน 2 ใน 3 ของปริมาณที่ประเทศผลิตได้ แม้จะเกิดปัญหาเศรษฐกิจจนต้องลดค่าเงินลงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ แต่เบอร์ดีมุคฮาเมดอฟก็ยังคงเตือนสติประชาชนอยู่เสมอว่า พวกเขาอาศัยอยู่ใน

“ยุคของประเทศอันมีเสถียรภาพที่มีความสุขมากที่สุด”