M.C. Escher ศิลปินผู้สร้างสรรค์โลกอันน่าพิศวง

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในตอนนี้ขอเปลี่ยนบรรยากาศจากเรื่องราวของนิทรรศการศิลปะ มานำเสนอเรื่องราวของศิลปินผู้ทรงอิทธิพลต่อวงการศิลปะโลกกันอีกคนกันบ้าง

ศิลปินคนที่เรากำลังจะพูดถึงมีชื่อว่า

เอ็ม. ซี. เอสเชอร์ (M.C. Escher)

หรือในชื่อเต็มว่า มัวริตส์ คอร์เนลิส เอสเชอร์ (Maurits Cornelis Escher) (17 มิถุนายน 1898 – 27 มีนาคม 1972)

ศิลปินภาพพิมพ์ชาวดัตช์ ผู้เปี่ยมเอกลักษณ์โดดเด่นในการสร้างภาพทิวทัศน์อันพิสดาร ภาพจินตนาการและความฝันอันผกผันลักลั่น, ภาพสถาปัตยกรรมแปลกประหลาด, ทัศนียภาพอันพิลึกพิลั่นต้านแรงโน้มถ่วง, รูปทรงหลายเหลี่ยม, รูปทรงสมมาตร, ภาพสะท้อน, แพตเทิร์นต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพแบบเทสเซลเลชั่น (Tessellation ภาพทางคณิตศาสตร์ที่นำรูปทรงเรขาคณิตหรือรูปทรงและสัญลักษณ์ต่างๆ มาเรียงต่อกันโดยไม่มีช่องว่างหรือทับซ้อนเกยกันเลยแม้แต่น้อย) ที่ผ่านการคิดคำนวณอย่างละเอียดซับซ้อน

Study of Regular Division of the Plane with Reptiles (1939) ภาพวาดแบบเทสเซลเลชัน, ดินสอดํา, อินเดียอิงค์และสีน้ํา, ภาพจากhttps://bit.ly/2OKPKfR

ในช่วงแรกของการทำงานศิลปะ เอสเชอร์ได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติรอบตัว จากการศึกษาภูมิทัศน์, แมลง สรรพสัตว์ และพืชพรรณนานามาใช้เป็นรายละเอียดในผลงาน เขาเดินทางท่องเที่ยวในอิตาลีและสเปน เพื่อสเกตช์ภาพอาคาร ภูมิทัศน์เมือง สถาปัตยกรรมอย่าง อาสนวิหาร ป้อมปราการและพระราชวังต่างๆ และเริ่มมีความสนใจในโครงสร้างทางคณิตศาสตร์มากขึ้นเรื่อยๆ

ถึงแม้จะไม่ได้ร่ำเรียนทางคณิตศาสตร์มาก่อน แต่เอสเชอร์ก็มีความรู้และความเข้าใจในศาสตร์แขนงนี้เป็นอย่างดี

และถึงแม้จะไม่มีหลักฐานว่าเขามีความเชี่ยวชาญทางคณิตศาสตร์ แต่เอสเชอร์ก็มีปฏิสัมพันธ์อันดีกับนักคณิตศาสตร์ชั้นนำหลายคนอย่าง จอร์จ โพลยา (George Pólya), โรเจอร์ เพนโรส (Roger Penrose), แฮโรลด์ ค็อกซีเตอร์ (Harold Coxeter) และนักผลิกศาสตร์ (Crystallography ศาสตร์ที่ศึกษาการเรียงตัวของอะตอมในของแข็ง) รวมถึงทำงานวิจัยในเชิงคณิตศาสตร์ของเขาเองด้วย

เอสเชอร์เป็นศิลปินคนแรกๆ ที่ทำลายขอบเขตพรมแดนระหว่างศิลปะและวิทยาศาสตร์ โดยหลอมรวมรูปทรงที่เกิดจากการคำนวณทางคณิตศาสตร์อันสลับซับซ้อนเข้ากับภาพวาดลายเส้นอันประณีตละเอียดอ่อนและมุมมองอันเหนือธรรมดาเข้าไว้ด้วยกัน

ผลงานของเขาเป็นการผสมผสานระหว่างความสมจริงสมจังและจินตนาการอันน่าพิศวง

เขาสร้างชื่ออย่างมากจากภาพวาดสิ่งก่อสร้างอันเป็นไปไม่ได้ที่สร้างขึ้นจากรูปทรงเชิงคณิตศาสตร์, สถาปัตยกรรม และมุมมองอันแปลกประหลาด จนกลายเป็นภาพลักษณ์เปี่ยมปริศนาอันยากจะอธิบายขึ้นมา

Waterfall (1961), ภาพพิมพ์หิน, ภาพจากhttps://bit.ly/2OKPKfR

เขายังวาดภาพลายเส้นอันละเอียดอ่อน อย่างเช่นภาพที่ได้แรงบันดาลใจจากภูมิทัศน์ในอิตาลีอีกด้วย

ผลงานส่วนใหญ่ของเอสเชอร์เป็นภาพพิมพ์แกะไม้ (Woodcut), ภาพพิมพ์หิน (Lithography) และภาพพิมพ์โลหะเมซโซทินต์ (Mezzotint) ที่สร้างสรรค์ขึ้นจากกระบวนการที่เต็มไปด้วยรายละเอียดและความแม่นยำ และต้องอาศัยเวลา ทักษะ และความชำนาญอย่างมาก

Relativity (1953), ภาพพิมพ์หิน, ภาพจากhttps://bit.ly/33FZvQ

ในระยะเวลากว่า 60 ปี ของอาชีพศิลปิน เขาสร้างผลงานภาพพิมพ์จำนวน 448 ชิ้น นับเฉลี่ยได้ราวเจ็ดถึงแปดชิ้นต่อปี

การสร้างภาพเปรียบเทียบระหว่างวัตถุสามมิติกับระนาบสองมิติเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นอีกประการในผลงานของเอสเชอร์ อาทิ ในผลงาน Drawing Hands (1948) ภาพวาดมือทั้งสองที่วาดภาพฝ่ายตรงข้ามเพื่อสร้างตัวตนของกันและกันขึ้นมาอย่างน่าพิศวง

Drawing Hands (1948), ภาพพิมพ์หิน,ภาพจากhttps://bit.ly/2OKPKfR

ผลงานของเอสเชอร์มักสร้างอุปมาอุปไมยถึงแนวคิดเชิงนามธรรมของความไม่มีที่สิ้นสุด

แต่ในขณะเดียวกัน ภาพวาดในเชิงรูปธรรมอันแปลกตาของเขาก็ค่อนข้างแปลกและแตกต่าง เมื่อเทียบกับยุคสมัยของเขาที่งานศิลปะนามธรรมเป็นที่นิยมอย่างสูง

ในฐานะศิลปิน เอสเซอร์ทำงานอย่างโดดเดี่ยวตามลำพังโดยไม่ข้องแวะกับกลุ่มหรือกระแสเคลื่อนไหวใดๆ แม้แต่กลุ่มเซอร์เรียลลิสต์ ที่มีบุคลิกการทำงานและแนวคิดใกล้เคียงกันอย่างมาก และถึงแม้ผลงานของเขาจะส่งผลอย่างมากต่อการพัฒนาการของงานศิลปะหลายรูปแบบอย่างเช่น Op Art แต่เขาก็ปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะเหล่านั้นโดยสิ้นเชิง

ถึงแม้ในยามมีชีวิต เขาจะถูกมองข้ามไม่ได้รับการยอมรับนับถือในวงการศิลปะ แม้ในประเทศบ้านเกิดของเขาเองก็ตาม

แต่ในภายหลังจากที่เขาเสียชีวิต ผลงานของเขาก็ได้รับความนิยมอย่างสูงจากสาธารณชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงศตวรรษที่ 21

เอสเซอร์ยังได้รับการยกย่องให้เป็นผู้บุกเบิกงานศิลปะแนวไซคีเดลิก (Psychedelic Art) โดยกระแสวัฒนธรรมบุปฝาชนหรือฮิปปี้ในยุค 1960s อีกด้วย

ผลงานของเอสเชอร์ส่งอิทธิพลแก่ศิลปินและนักสร้างสรรค์รุ่นหลังอย่างมหาศาล ถูกเผยแพร่, ลอกเลียนแบบ และทำซ้ำตามสื่อต่างๆ อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นในงานศิลปะ งานออกแบบสาขาต่างๆ หรือในสื่อต่างๆ อย่าง ภาพกราฟิก, การ์ตูน, นิตยสาร, หนังสือ, โปสการ์ด, สแตมป์, โทรทัศน์, อินเตอร์เน็ต, อัลบั้มดนตรี

ถึงแม้ครั้งหนึ่งเอสเชอร์จะเคยปฏิเสธ มิก แจ็กเกอร์ นักร้องนำวง The Rolling Stones ที่ขอภาพวาดของเขาไปใส่บนปกอัลบั้มของวง

แต่ผลงานของเขาก็ไปปรากฏอยู่บนปกอัลบั้มหลากหลาย อาทิ อัลบั้ม L The P (1969) ของวง Scaffold และอัลบั้มแรกของวง Mott the Hoople ในปี 1969)

หรือแม้กระทั่งภาพยนตร์ อาทิ ในภาพยนตร์อย่าง Labyrinth (1986), Lara Croft Tomb Raider : The Cradle of Life (2003), A Nightmare on Elm Street : The Dream Child (1989), The Lord of the Rings : The Fellowship of the Ring (2001) และ The Two Towers (2002), The Matrix (1999) หรือแม้แต่เป็นแรงบันดาลใจให้โปสเตอร์หนังอย่าง The Cabin in the Woods (2011)

Circle Limit III (1959), ภาพพิมพ์แกะไม้แบบเทสเซลเลชันภาพจากhttps://bit.ly/2OKPKfR

รวมถึงหนัง Inception (2010) ที่ปฏิเสธไม่ได้แน่ๆ ว่า ฉากเมืองพับอันลือลั่น สถาปัตยกรรมย้อนแย้งไร้แรงโน้มถ่วง (Paradoxical Architecture) และฉากบันไดพิศวง (Penrose stairs) ในหนังนั้นเป็นลักษณะเฉพาะตัวที่พบเห็นได้ในผลงานของเอสเชอร์ทั้งสิ้น ในสารคดีเบื้องหลังการถ่ายทำภาพยนตร์ ผู้กำกับหนังอย่าง คริสโต เฟอร์ โนแลน ก็เปิดเผยว่าเขาได้แรงบันดาลใจด้านงานสร้างมาจากผลงานของเอสเชอร์ด้วย

ในปี 1969 เอสเชอร์สร้างสรรค์ผลงานชิ้นสุดท้ายอย่าง Snakes ที่แสดงออกถึงความรักอันเปี่ยมล้นต่อสิ่งมีชีวิต, รูปทรงสมมาตร, รูปทรงเชื่อมต่อกันซ้ำๆ และสภาวะอันเป็นอนันต์ ก่อนที่จะย้ายไปอยู่ในบ้านพักคนชราที่เมืองลาเรน ในปี 1970

จนในปี 1972 เอ็ม. ซี. เอสเชอร์ เสียชีวิตที่เมืองฮิลเวอร์ซัม เนเธอร์แลนด์ ด้วยวัย 73 ปี เหลือไว้แต่เพียงผลงานอันน่าพิศวงที่ส่งผ่านแรงบันดาลใจสู่คนรุ่นหลัง