วิรัตน์ แสงทองคำ : บทสรุปปี 2562 ธนาคารไทย ผันแปร และโลดโผน

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจใหญ่ ยังคงทรงอิทธิพลในสังคมไทย ขณะเผชิญแรงกดดันให้ปรับตัวอยู่เสมอ

เรื่องราวการปรับตัวอย่างคึกคักเป็นพิเศษ มองผ่านบริการทางการเงินใหม่ๆ โดยเฉพาะธนาคารใหญ่ๆ ผู้นำบริการรายย่อย แข่งขันกันอย่างดุเดือด พลิกบริหารอย่างหลากหลายออกสู่ตลาด

แทบจะเรียกได้ว่า พอๆ กับสินค้าคอนซูเมอร์ที่เรียกว่า Fast Moving Consumer Goods (FMCG) อ้างอิงกับสถานการณ์กำลังเผชิญอย่างครั่นคร้าม กับสิ่งที่เรียกว่า Disrupt Technology

ในภาพใหญ่ ธนาคารในประเทศไทย ได้สร้างปรากฏการณ์ที่แตกต่างจากธนาคารในประเทศทุนนิยมทรงอิทธิพลทั่วๆ ไป ดูจะเป็นธุรกิจให้ความสำคัญการโฆษณาสินค้า-บริการและภาพพจน์อย่างมากมาย ในรูปแบบที่แตกต่างและโลดโผนอย่างน่าทึ่ง อย่างกรณีหนึ่งซึ่งเพิ่งเกิดขึ้น -KBankxBLACKPINK

ทว่ากรณีใหญ่ซึ่งให้ความสนใจในฐานะดีลใหญ่แห่งปี คือกรณีธนาคารทหารไทย-ธนชาต

“เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงแบบไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย (Non-binding Memorandum of Understanding) ระหว่างธนาคารทหารไทย, ธนาคารธนชาต, ING Groep N.V., บริษัททุนธนชาต และ The Bank of Nova Scotia เพื่อกำหนดกรอบความเข้าใจและหลักการสำหรับการเจรจาร่วมกันต่อไปเกี่ยวกับการเข้าทำธุรกรรมต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการรวมกิจการระหว่างธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาต”

สาระสำคัญสรุปความมาจากถ้อยแถลงต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ของทั้งธนาคารทหารไทยและทุนธนชาต (ในฐานะ Holding company ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารธนชาต)

สื่อและผู้คนในสังคมธุรกิจไทยให้ความสนใจกันอย่างมาก เมื่อต้นปีที่กำลังจะผ่านพ้น ขณะเดียวกันพากันมองข้ามช็อต ถึงการเกิดขึ้นของธนาคารใหญ่แห่งใหม่

“จะมีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท ฐานลูกค้ากว่า 10 ล้านคน และมีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 6 ในอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ไทย” ข้อมูลซึ่งนำเสนอมา (ในขณะนั้น) ว่าไปแล้วก็แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงอันดับ เนื่องจากระบบธนาคารไทยมีลักษณะะพิเศษ ตามโมเดลธนาคารใหญ่ กับธนาคารขนาดเล็ก กรณีนี้เป็นเพียงเพิ่มขนาดกลางขึ้นมาอีกแห่ง

ส่วนผู้เกี่ยวข้องอีกสองฝ่ายซึ่งเป็นธนาคารระดับโลก ในฐานะผู้ถือหุ้นรายสำคัญ 2 ราย ต่างทวีป ของทั้งสองธนาคาร ซึ่งผมให้ความสนใจเป็นพิเศษในดีลนี้มาแต่ต้นได้ให้ข้อมูลให้ภาพเป็นไปอย่างกระชับและชัดเจน

จาก ING Bank N V ธนาคารแห่งเนเธอร์แลนด์ ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารทหารไทย ด้วยสัดส่วน 30% ย้ำว่า ดีลนี้เมื่อจบลง คาดว่า ING จะถือหุ้นมากกว่า 20% และคงเป็นผู้ถือหุ้นสำคัญต่อไป (committed shareholder) ขณะ The Bank of Nova Scotia (BNS) ธนาคารชั้นนำของแคนาดา เข้าถือหุ้นธนาคารธนชาต (ปี 2550) ถึง 49% กล่าวว่า “จะลดการลงทุนในประเทศไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ” และหวังว่า “จะได้ผลตอบแทนที่ดีในการขายหุ้น”

ทั้งนี้ “ธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาตลงนามจะควบรวมกิจการกันให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปี (TMB and Thanachart Bank agree to merge by year-end)” หัวข้อข่าวของ ING (https://www.ing.com)

 

ผ่านมาราวครึ่งปี ความคืบหน้ามาถึงจุดสำคัญ (9 สิงหาคม 2562) “คณะกรรมการเห็นชอบโครงการการรวมกิจการระหว่างธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาต”

สรุปสาระสำคัญจากถ้อยแถลงต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ของทั้งธนาคารทหารไทยและทุนธนชาต ผ่านที่ประชุมกรรมการ นำไปสู่ขั้นตอนทางเทคนิคอย่างระมัดระวัง อย่างซับซ้อนมากมาย ในขั้นต่อๆ ไป โดยเฉพาะการเปิดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นลงมติรับรองอย่างเป็นทางการ

ในที่สุดได้มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ (3 ธันวาคม 2562) ตามถ้อยแถลงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยธนาคารทหารไทย เรื่อง “การได้มาซึ่งหุ้นธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) และการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของธนาคารทหารไทยจำกัด (มหาชน) ให้แก่บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) Scotia Netherland Holding B.V. และผู้ถือหุ้นรายย่อยของธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)”

ว่ากันเฉพาะสาระสำคัญ (ตัดรายละเอียดทางเทคนิคออกไปบ้าง) ธนาคารทหารไทย เข้าซื้อหุ้นธนาคารธนชาต เกือบทั้งหมด

“ได้ดำเนินการเข้าซื้อหุ้นในธนาคารธนชาต 6,062,438,397 หุ้น คิดเป็น 99.96% จากทุนธนชาต และ BNS เป็นที่เรียบร้อยแล้วในราคาประมาณ 167,000 ล้านบาท…ในการนี้ ธนาคารธนชาตจึงมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของธนาคารทหารไทย ทั้งนี้ จะดำเนินการโอนกิจการทั้งหมดของธนาคารธนชาตมายังธนาคารทหารไทยต่อไป ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2564”

ยังไม่จบแค่นั้น ในวันเดียวกันนั้น ธนาคารทหารไทยแถลงในขั้นตอนสำคัญต่ออีกว่า ได้ดำเนินการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนธนาคารทหารไทยให้กับบริษัททุนธนชาต และ BNS (Bank of Nova Scotia) ผู้ถือหุ้นเดิมของธนาคารธนชาตด้วย

“มูลค่าซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของธนาคารทหารไทยที่ทุนธนชาตจะซื้อเป็นจำนวนรวมประมาณ 41,850.00 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนของธนาคารทหารไทย ที่ซื้อทั้งสิ้น 19,375,000,000 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 20.1” ข้อมูลที่มีละเอียดเพิ่มขึ้นจากถ้อนแถลงของทุนธนชาตในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่เดิมของธนาคารธนชาต (แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันเดียวกัน)

ขณะที่ผู้ถือหุ้นธนาคารธนชาตรายสำคัญอีกแห่งหนึ่ง ก็ให้ความสำคัญแหล่งข่าวด้วยเช่นกัน ซึ่งมาไกลจากเมือง TORONTO ประเทศแคนาดา ในประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวเนื่อง “การลดการลงทุนในประเทศไทย” (อ้างจาก Scotiabank closes previously announced transaction to reduce investment in Thailand-December 3, 2019–https://www.scotiabank.com/corporate/en)

โดยสรุปว่าได้ดำเนินการตามแผนการการควบรวมธนาคารทหารไทยกับธนาคารธนชาต โดย Scotiabank (ตามเอกสารของธนาคารทหารไทยเรียก BNS ซึ่งย่อมาจาก Bank of Nova Scotia) โดยได้ลดการถือหุ้น 49% ในธนาคารธนชาต เพื่อได้มาซึ่งเงินจำนวนหนึ่งกับการถือหุ้น 6% ในธนาคารทหารไทย

ดีลข้างต้นสะท้อนภาพใหญ่ สะท้อนความเป็นไประบบธนาคารไทยปัจจุบัน ในบางมิติที่น่าสนใจ

 

ประการแรก-สะท้อนภาพการปรับตัว และการเปลี่ยนแปลงธนาคารภายใต้แรงกดดัน แรงขับเคลื่อนโดยผู้ถือหุ้นและผู้บริหารธนาคารเอง เพื่อตอบสนองสถานการณ์ซึ่งเปลี่ยนแปลง แตกต่างจากยุคธนาคารไทยก่อนปี 2540 การเปลี่ยนแปลง และถูกบังคับให้ปรับตัว มักมาจากแรงกดดันจากทางการ

เชื่อว่าเป็นไปแนวโน้มหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นกับระบบธนาคารในประเทศทุนนิยม เช่น ในสหรัฐอเมริกา อย่างที่เคยกล่าวไว้ “จำนวนธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐอเมริกาได้ลดลงจาก 25,000 แห่งในทศวรรษ 1920 เหลือ 14,000 แห่งในทศวรรษ ขณะปัจจุบันเหลือน้อยกว่า 6,000 แห่ง โดยธนาคารใหญ่ 10 อันดับแรก มีสินทรัพย์รวมกันมากกว่า 50% ของทั้งระบบ”

อีกประการหนึ่ง-ภายใต้โครงสร้างใหม่ ธนาคารพาณิชย์ไทยยุคหลังปี 2540 ซึ่งมีธนาคารระดับโลกเข้ามาถือหุ้น เข้ามามีบทบาทมากขึ้น การเปลี่ยนแปลง การปรับตัว ในหลายกรณีเป็นไปตามแผนการและนโยบายซึ่งผันแปรของธนาคารระดับโลกนั้นด้วย

อย่างกรณีธนาคารทหารไทย-ธนาคารธนชาต เชื่อว่าเป็นไปตามนั้น อย่างที่เคยนำเสนอไว้เช่นกัน

ING ย้ำว่า ดีลธนาคารทหารไทย-ธนาคารธนชาต “คงเป็นผู้ถือหุ้นสำคัญต่อไป (committed shareholder)” ในภาพกว้างกว่านั้น ING มองเครือข่ายธุรกิจย่านเอเชียในเชิงบวกเป็น “ตลาดที่เติบโต” (Growth Markets)

ที่น่าสนใจขอเพิ่มเติมซึ่งอาจเชื่อมโยงกันหรือไม่ก็ตาม จากกรณีที่เคยกล่าวไว้ว่า “เพิ่งแต่งตั้งผู้บริหารคนสำคัญเป็นคนไทย (ธเนศ ภู่ตระกูล เป็น CFO and Member Management Board Banking)”

ธเนศ ภู่ตระกูล มีประสบการณ์บริหารธุรกิจเงินมาตั้งแต่ยุคเฟื่องฟูของกลุ่มเอกธนกิจ (ช่วงปี 2534-2541) ก่อนมาเป็นผู้บริหารกิจการหลักทรัพย์ของ ING ซึ่งเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยช่วงวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ (ปี 2541-2546) ที่สำคัญเข้ามามีบทบาทบริหารสำคัญในฐานะ CFO ธนาคารทหารไทยในช่วงที่ ING เข้ามาถือหุ้น (ปี 2549-2551) จากนั้นเขามีบทบาทกว้างขึ้นใน ING ระดับโลก อยู่ประมาณ 7 ปี ก่อนจะได้รับแต่งตั้งเป็น Management Board Banking และ CFO ของ ING Bank N.V.ในต้นปีที่ผ่านมา

ขณะที่ Scotiabank มีมุมมองที่แตกต่าง เป็นไปตามแผนการ “จะลดการลงทุนในประเทศไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ” โดยมุ่งขยายธุรกิจในแคนาดาและอเมริกาใต้เป็นสำคัญ ขณะลดความเสี่ยงในภูมิภาคอื่น ถอนตัวทางธุรกิจมาแล้วมากกว่า 20 ประเทศ (ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา)

โดยเฉพาะในเอเชีย “ได้ลดขนาดลงทุนลง 21%”

 

ผลพวงจากดีลแห่งปีข้างต้น คงมีเป็นปกติของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่น่าสนใจคงอยู่ที่ทุนธนชาต ซึ่งมีภาระในการจัดการบริษัทย่อยของธนาคารธนชาตอีกพอสมควร ยังคงความสัมพันธ์กับ Scotiabank ซึ่งประกาศแผนการว่าจะค่อยๆ ลดบทบาทลงอีกด้วย

(Scotiabank will retain a 49% interest in two TBank subsidiaries. It is expected a sale process for these subsidiaries will commence in early 2020 with a closing expected during 2020 จากข่าว Scotiabank closes previously announced transaction to reduce investment in Thailand อ้างแล้ว)

บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) ซึ่งปรับตัวมาตลอด 6 ทศวรรษ ตั้งแต่ก่อตั้งจากกิจการเล็กๆ ในปี 2502 เข้าตลาดหุ้นตั้งแต่ยุคต้นตลาดหุ้นในปี 2518 ก่อนการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ให้นิยามธุรกิจไว้ว่า “บริษัทแม่ของกลุ่มธุรกิจทางการเงิน”

หลังจากดีลธนาคารทหารไทย-ธนชาตแล้ว เมื่อพิจารณาผลประกอบการ คงดำเนินไปด้วยดี ราคาหุ้นในช่วงที่ผ่านมาดูจะสะท้อนความเป็นไปในเชิงบวก

เป็นบทเรียนธุรกิจไทยอีกกรณีหนึ่งที่น่าติดตาม