หน้า 8 : สามัญสำนึก

แล้วปรากฏการณ์ “น้ำลด-ตอผุด” ก็กำเนิดขึ้นอีกครั้ง

เมื่อโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ “ไอลอว์” สุ่มตัวอย่างตรวจสอบข้อมูลการเข้าประชุมของสมาชิก สนช.

พบข้อมูลที่น่าตกตะลึงว่ามีสมาชิก สนช. 7 คนที่ร่วมลงมติในสภาน้อยกว่า 1 ใน 3

ซึ่งหากไม่ยื่น “ใบลา” ก็ถือว่าสิ้นสภาพการเป็น สนช.

สนช. 7 คนนั้นประกอบด้วย 1.พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ อดีตเสนาธิการทหารเรือ 2.นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ 3.นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการกฤษฎีกา

4.นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ 5.พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม 6.พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ 7.พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ

ใน 7 คน มีเอกชน 1 คน ข้าราชการระดับสูง 6 คน

และใน 6 คนนั้น เป็น “ทหาร” 4 คน

ที่สำคัญที่สุด มี พล.อ.ปรีชา น้องชายของ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี

…”สายล่อฟ้า” ทางการเมือง

เชื่อหรือไม่ว่าช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2559 สภามีประชุม 250 ครั้ง

นายดิสทัต มาลงมติ 4 ครั้ง

พล.อ.ปรีชา ลงมติ 5 ครั้ง

ส่วนเดือนเมษายน-มิถุนายน 2559 สภามีการประชุม 203 ครั้ง

พล.อ.ปรีชา และ พล.ร.อ.ณะ มาลงมติแค่ครั้งเดียว

พล.ร.อ.พัลลภ ไม่เคยมาลงมติเลย

รวม 6 เดือน สนช. ประชุม 453 ครั้ง พล.อ.ปรีชา ลงมติ 6 ครั้ง

คิดเป็นร้อยละ 1.3 ของการประชุมทั้งหมด

ถ้าคิดเฉลี่ยต่อเดือน พล.อ.ปรีชา ร่วมลงมติแค่เดือนละ 1 ครั้ง

เงินเดือน สนช. เดือนละ 113,560 บาท

เท่ากับว่าค่ายกมือของ สนช. เมืองไทยแพงที่สุดในโลก

ครั้งละแสนกว่าบาท

ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ สนช. แต่ละคนส่ง “ใบลา” หรือไม่?

แต่อยู่ที่แต่ละคนได้ทำหน้าที่สมกับเงินเดือนที่ได้รับหรือไม่

อย่าลืมว่า สนช. ทุกคนที่เป็นข้าราชการ

ทุกคนรับเงินเดือน 2 ทาง คือ เงินเดือนเดิม และเงินเดือน สนช.

ก่อนหน้านี้มีคนให้ความเห็นว่า สนช. ไม่ควรรับเงินเดือน 2 ทาง

เพราะใครๆ ก็มองออกว่าแต่ละคนงานในตำแหน่งก็รัดตัวอยู่แล้ว ไม่มีเวลามาประชุม สนช. อย่างแน่นอน

แต่ก็ยังมีคนเถียงว่า “ทำได้”

สุดท้ายปรากฏการณ์ “น้ำลด-ตอผุด” ก็เกิดขึ้น

สนช. แต่ละคนจะยื่นใบลาตามระเบียบหรือไม่ ไม่สำคัญ

เพราะสังคม “คนดี” นั้นถือว่า “ตัวอักษร” ตามกฎระเบียบต่างๆ ไม่สำคัญเท่ากับ “สามัญสำนึก” ในใจคน

รู้ว่า “ผิด-ชอบ-ชั่ว-ดี” อยู่ตรงไหน

ทำผิดก็ต้องยอมรับผิด

…แค่นั้นเอง