วิเคราะห์ : เสียงเตือนวิกฤตโลกร้อนจากนักวิทยาศาสตร์

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

หลังจากรัฐสภาแห่งแคว้นเวลส์ สหราชอาณาจักร ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศในวันที่ 29 เมษายน 2562

ถัดมาอีก 2 วัน คือวันที่ 1 พฤษภาคม รัฐสภาสหราชอาณาจักร ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศ

จึงถือได้ว่าอังกฤษเป็นประเทศแรกของโลกที่ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศ (Climate Emergency)

จากนั้นรัฐสภาประเทศอื่นๆ เช่น ไอร์แลนด์ โปรตุเกส ฝรั่งเศส อาร์เจนตินา ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศเช่นกัน

นับถึงวันนี้ มีรัฐสภา สภาส่วนท้องถิ่น องค์กรภาครัฐรวมถึงศาลสถิตยุติธรรม 1,195 แห่งจาก 25 ประเทศร่วมประกาศ “ภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศ” ครอบคลุมประชากร 454 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นชาวอังกฤษ 53 ล้านคน

ชาวนิวซีแลนด์ราว 74% ของประชากรทั้งประเทศ และอีก 25% ของชาวสวิส อิตาลี อยู่ในเขตประกาศภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศ

ล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ 153 ประเทศ จำนวน 11,258 คน ร่วมลงชื่อในคำแถลงการณ์เตือนให้ชาวโลกตระหนักว่า โลกใบนี้กำลังเผชิญกับภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศ

ส่วนนักวิทยาศาสตร์ไทยที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนด้วยนั้น เท่าที่ตรวจสอบมีเพียงคุณศุภธิดา อ่ำทอง อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่

 

คําแถลงการณ์ของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ เผยแพร่เว็บไซต์ Climate emergency declarations.org ระบุว่า เมื่อ 40 ปีที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์ 50 ชาติ ร่วมหารือกันในที่ประชุมว่าด้วยสภาวะภูมิอากาศโลกเป็นครั้งแรกที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เห็นตรงกันว่า สภาวะภูมิอากาศที่แปรแปลี่ยนมีแนวโน้มอันตราย จำเป็นต้องเตือนชาวโลกและเร่งดำเนินการแก้ไขโดยด่วน

ในปี 2535 ผู้เข้าร่วมประชุมที่นครริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล มองเห็นสัญญาณอันตรายจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศที่เพิ่มระดับอันตรายมากขึ้น และได้ออกคำเตือนเช่นเดียวกัน

จากนั้น ในเวทีว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศที่นครเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2540 รัฐบาลทั่วโลกร่วมทำข้อตกลงว่าด้วยเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เรียกกันว่าพิธีสารเกียวโต มุ่งเน้นไปที่กลุ่มประเทศอุตสาหกรรม

ปรากฏว่า หลายประเทศที่ร่วมเซ็นพิธีสารเกียวโตด้วย ไม่ได้ทำตามข้อตกลง ปล่อยก๊าซพิษมากกว่าเดิม บางประเทศถอนตัวออกไป

 

ปี 2558 นานาชาติร่วมกันเซ็นสัญญาแก้ปัญหาโลกร้อนที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป้าหมายกำหนดชัดขึ้นว่า จะไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสจากช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม และพยายามควบคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นเกิน 1.5 ํc ลดความเสี่ยงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

แต่เวลาผ่านไป 4 ปี ปริมาณความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงว่ากลุ่มประเทศอุตสาหกรรมที่ร่ำรวยไม่มีความตั้งใจแก้ปัญหาโลกร้อน

มิหนำซ้ำประเทศที่ปล่อยก๊าซพิษในอันดับต้นๆ ของโลกคือสหรัฐ ประกาศถอนตัวออกจากข้อตกลงนี้ หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ส่วนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เมินข้อตกลงปารีส เร่งพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลอย่างไม่บันยะบันยัง

กลุ่มนักวิทยาศาสตร์กว่า 1 หมื่นคนทั่วโลกจึงต้องออกมาตอกย้ำคำเตือนอีกครั้ง และเร่งให้ชาวโลกร่วมกันหาทางหลีกเลี่ยงหายนะ เพราะเห็นว่าการเพิ่มปริมาณความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นตัวการสำคัญทำให้เกิดภาวะโลกร้อน จะสร้างความปั่นป่วนให้สังคมและสิ่งแวดล้อม

“การขยายตัวของประชากรโลก อัตราการบริโภคเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์มวลรวมของแต่ละประเทศที่พุ่งกระฉูด พื้นที่ป่าไม้ลดลง ปริมาณการใช้พลังงานฟอสซิลมีจำนวนมหาศาล ผู้โดยสารใช้บริการการบินเติบโตมาก รวมถึงอัตราส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อคนต่อปีมีมากขึ้น”

ประเทศที่ร่ำรวย ผู้คนใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือยหรูหรา เชื่อมโยงสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะมีอัตราการปล่อยก๊าซพิษต่อคนต่อปีในปริมาณสูง

ปัจจัยเหล่านี้นักวิทยาศาสตร์เรียกว่าเป็น “สัญญาณความปั่นป่วนอลหม่าน” ชี้ให้เห็นว่ายิ่งโลกมั่งคั่งมากขึ้นเท่าไร มีการบริโภคเนื้อสัตว์มากขึ้นเท่าไร และการคมนาคมสะดวกมากขึ้นเท่าไร ปัญหาโลกร้อนก็จะยิ่งแย่ลงมากขึ้นเท่านั้น

 

คําแถลงการณ์ซึ่งมีจำนวน 4 หน้า พร้อมรายชื่อนักวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนแนวทางการประกาศ “ภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศ” ได้จัดทำข้อมูลสำคัญเป็นกราฟง่ายๆ แสดงให้เห็นว่า ชาวโลกดำเนินกิจกรรมอะไรบ้างในรอบ 40 ปีที่ผ่านมาจนทำให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปสู่จุดวิกฤต (ดูในตารางประกอบ)

ในแถลงการณ์ยังเสนอทางออก 6 ข้อ ให้ชาวโลกนำไปเป็นคู่มือปฏิบัติเพื่อหยุดยั้งผลกระทบจากภาวะโลกร้อน

1) ทางออกด้านพลังงาน

ประเทศต่างๆ ควรใช้นโยบายอนุรักษ์แหล่งพลังงานและประหยัดพลังงานในระดับมหภาค ทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เร่งใช้พลังงานทดแทนที่ยั่งยืน ต้องยกเลิกนโยบายอุดหนุนราคาน้ำมันหรือนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล ขณะเดียวกันควรคิดค่าการปล่อยคาร์บอนให้สูงเพื่อให้ธุรกิจต่างๆ หลีกเลี่ยงการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

2) ด้านสารก่อมลพิษ

ต้องทำในทันทีคือลดการใช้และการปล่อยก๊าซมีเทน, สารไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน, รวมทั้งเขม่าควันต่าง ๆ มาตรการนี้จะช่วยลดความรุนแรงของภาวะโลกร้อนในช่วง 20-30 ปีข้างหน้าลงได้ถึง 50%

3) ด้านธรรมชาติ

จะต้องหยุดยั้งการแผ้วถางพื้นที่ป่า หันมาอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศ เช่น ป่าไม้ ทุ่งหญ้า หรือป่าโกงกาง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลก

4) ด้านอาหาร

ชาวโลกควรบริโภคพืชผักให้มากขึ้นและลดผลิตภัณฑ์อาหารจากสัตว์ลง จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซมีเทนและก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ

รวมทั้งลดการแผ้วถางพื้นที่ป่าเพื่อเลี้ยงปศุสัตว์

5) ด้านเศรษฐกิจ

ต้องยกเลิกนโยบายพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล เปลี่ยนแนวนโยบายที่มุ่งแสวงหาแต่ความมั่งคั่งและเพิ่มตัวเลขจีดีพีด้วยการทำลายทรัพยากร มาเป็นนโยบายที่คำนึงถึงความยั่งยืนของระบบนิเวศน์ ปรับปรุงคุณภาพชีวิตและลดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมในสังคม

6) ด้านประชากร

ควรจำกัดจำนวนประชากรโลกให้อยู่ในระดับคงที่และเหมาะสม โดยใช้วิธีการที่มีความยุติธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากในปัจจุบันมีประชากรเกิดใหม่เพิ่มขึ้นถึงกว่า 2 แสนคนต่อวัน

ในบทสรุปของแถลงการณ์ฉบับนี้ เรียกร้องให้รัฐบาลทุกประเทศเร่งประกาศภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศ เพื่อเปลี่ยนผ่านสังคมไปสู่ความยั่งยืน ความเท่าเทียมในทุกๆ ด้านบนโลกใบนี้ซึ่งเป็นบ้านของเราทุกคน