เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | สัมผัสรับกระชับช่วง

พระโหยหวนครวญเพลงวังเวงจิต

ให้คนคิดถึงถิ่นถวิลหวัง

ว่าจากเรือนเหมือนนกที่จากรัง

อยู่ข้างหลังก็จะแลชะแง้คอย

สัมผัสในของกลอนบทนี้ ก็คือคำสัมผัสเฉพาะในแต่ละวรรคของทุกวรรคทั้งสี่วรรค

วรรคแรกมีสองที่หรือสองคู่ คือคำ หวน กับ ครวญ คู่หนึ่ง และคำ เพลง กับ เวง อีกคู่หนึ่ง

วรรคสองมีที่เดียวหรือคู่เดียว คือคำ ถิ่น กับ ถวิล เป็นคู่หลังของวรรค

วรรคสามมีที่เดียวเช่นกัน แต่เป็นคู่หน้า คือคำ เรือน กับ เหมือน

วรรคสี่มีที่เดียวหรือคู่หลังคู่เดียว คือคำ แล กับ ชะแง้

ที่ว่านี้เป็นสัมผัสสระ อันถือเป็น “สัมผัสหลัก” เช่นกันกับสัมผัสนอก คือคำสัมผัสนอกวรรคหรือระหว่างวรรคที่กำหนดด้วยสัมผัสสระเป็น “สัมผัสหลัก”

สัมผัสสระเป็นสัมผัสหลัก ที่กำหนดความเป็น “บท” หนึ่งๆ ของความเป็นกวีบทนั้น

สระเดียวกัน รับ-ส่งกัน นั่นแหละคือสัมผัสสระ เช่น อะ กับ อะ อา กับ อา เป็นต้น

ดังกล่าวแล้วว่า สัมผัสนั้นมีหลากหลาย เช่น สัมผัสคำ อันมีทั้งสัมผัสสระ สัมผัสพยัญชนะ แล้วยังมีสัมผัสความและสัมผัสใจอีกด้วย

สัมผัสระเป็นสัมผัสคำที่ถือเป็นสัมผัสหลัก

รองลงมาจากสัมผัสระของสัมผัสคำ ก็คือสัมผัสพยัญชนะ

ตัวอย่างจากกลอนบทต้นขอให้สังเกตวรรคสุดท้ายหรือวรรคที่สี่คือ

อยู่ข้างหลังก็จะแลชะแง้คอย

คำว่า หลัง กับ แล นี่แหละ คือสัมผัสพยัญชนะซึ่งมีลักษณะ “ทอดช่วง” โดยใช้คำท้ายของช่วงหนึ่งคือคำ หลัง ไปทอดรับด้วยคำท้ายช่วงสองคือคำ แล

วรรคกลอนมีสามช่วง มักใช้สัญลักษณ์ดังนี้

000 00 000

กำหนดจำนวนคำโดยประมาณเป็นสามคำ สองคำ สามคำ อาจมีจำนวนคำไม่แน่นอนในต่ละวรรคได้ เช่น วรรคหนึ่งอาจมีหกคำ เจ็ดคำ เก้าคำ จนถึงสิบคำก็ยังได้ แต่ช่วงคำยังคงจังหวะเดิมคือ มีสามช่วง

อันรู้ได้ด้วยการกำหนดจังหวะช่วงคำด้วยสัมผัสนี่เอง

ตัวอย่างวรรค “อยู่ข้างหลังก็จะแลชะแง้คอย” นี้เองมีเก้าคำ อ่านแล้วก็กำหนดช่วงจังหวะได้ด้วยคำหลังกับแลดังกล่าว

สัมผัสพยัญชนะที่ไม่ “ทอดช่วง” หากกระชับช่วงขอให้ดูบทต่อจากบทต้นของกลอนเพลงปี่พระอภัยบทนี้ คือ

ถึงยามค่ำย่ำฆ้องจะร้องไห้

ร่ำพิไรรัญจวนหวนละห้อย

โอ้ยามดึกดาวเคลื่อนเดือนก็คล้อย

น้ำค้างย้อยเย็นฉ่ำชื่นอัมพร

สัมผัสพยัญชนะ “กระชับช่วง” มีทั้งสามวรรคเลย คือวรรคสอง-สาม-สี่ เป็นสัมผัสคู่หน้าทั้งหมดด้วยคำ “ไร-รัญ / ดึก-ดาว / ย้อย-เย็น”

พยัญชนะเดียวกันนี้ได้กระชับช่วงกลอนระหว่างช่วงหนึ่งกับสองให้สัมผัสเชื่อมเสียงกันได้ไพเราะเสมอกันกับสัมผัสสระนั่นเทียว

ขอให้สังเกตวรรคสามที่ว่า “โอ้ยามดึกดาวเคลื่อนเดือนก็คล้อย” นั้น ถือเป็นเพชรน้ำเอกแห่งสัมผัสในได้โดยแท้

ถึงพร้อมด้วยสัมผัสพยัญชนะและสระ คือคำ ดึก-ดาว และ เคลื่อน-เดือน กับมีสัมผัส “คำคู่” อีกด้วย คือ “ดาวเคลื่อน” กับ “เดือนก็คล้อย” ให้รู้สึกได้ถึงคำ “ดาวเคลื่อนเดือนคล้อย” ซึ่งไพเราะทั้งเสียงของพยัญชนะและสระ

วิเศษสุดคือวรรคแรกที่ว่า “ถึงยามค่ำย่ำฆ้องจะร้องไห้”

นี้เป็นวรรคสมบูรณ์แบบสุด ได้ทั้งสัมผัสสระและพยัญชนะ กระชับครบทุกช่วงตอนของวรรคคือ

ยามค่ำ-ย่ำฆ้อง นอกจากสระอำของคำ “ค่ำ-ย่ำ” แล้วคู่คำทั้ง ยามค่ำย่ำฆ้อง ยังได้สัมผัสพยัญชนะเป็นคู่คำอย่าง “ดาวเคลื่อน-เดือนคล้อย” อีกด้วย

พิเศษคือ เสียงวรรณยุกต์ของคู่คำทั้งสองคู่นี้ต้องออกเสียงจึงจะรู้สึกได้ถึงเสียงเหลื่อมล้ำต่ำสูงซึ่งไพเราะยิ่งนัก ยิ่งวรรคแรกส่งช่วงหลังด้วยคำ “จะร้องไห้” ด้วยแล้ว เหมือนจะร้องไห้เอาจริงๆ นั่นเลย

นี่แหละ “สัมผัสใจ”

กลับไปดูบทต้น มีตัวอย่างที่เรียก “สัมผัสความ” อยู่สองวรรค คือสองวรรคที่ว่า

ให้คนคิดถึงถิ่นถวิลหวัง

ว่าจากเรือนเหมือนนกที่จากรัง

สัมผัสความในสองวรรคนี้คือคำ “คิดถึงถิ่น” กับ “นกที่จากรัง”

คำ “คิด” เป็นคำท้ายช่วงแรกแล้วไม่มีสัมผัสรับในช่วงสองเลย ไม่มีทั้งคำที่รับสัมผัสสระและพยัญชนะ แต่คำรับความคือ “ถึงถิ่น” ทำให้ต้องอ่านเชื่อมเป็น “คิดถึงถิ่น” ไปได้กระชับช่วงพอดี

“เหมือนนก” ก็เช่นกัน ไม่มีทั้งสระและพยัญชนะมารับช่วง แต่คำ “…ที่จากรัง “นี่เองมาเติมเต็มให้ช่วงจังหวะวรรคกลอนได้กระชับช่วงกันพอดี

กลอนเพลงปี่พระอภัยที่ยกมานี้เป็นตัวอย่างให้ได้ศึกษาเรื่องสัมผัสได้ครบ

แทบทั้งหมด