อภิญญา ตะวันออก : จากอุณาโลม-จตุรมุขถึงบายน-พนมเปญ

อภิญญา ตะวันออก

อุณาโลม-อารามเขมรแห่งแรกที่ฉันประทับใจในการไปเยือนพนมเปญครั้งอดีต และที่นี่เองที่ฉันได้พบภิกษุชราผู้รอดชีวิตจากสมัยเขมรแดง

การได้กลับไปเห็นภิกษุรูปนี้จำวัดอุณาโลมกระทั่งมรณภาพ (ราวปี พ.ศ.2541)

แต่น่าประหลาดใจ ที่พบว่า ฉันไม่เคยเขียนหัวข้อใดๆ ในทางตรงเกี่ยวกับวัดอุณาโลมมาก่อน แต่ก็มากมายในเรื่องที่เป็นทางอ้อม ไม่ว่ากรณี “ปฏิวัติร่ม” และ “พุทธศาสนาบัณฑิต” ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวกับวัดแห่งนี้ในแง่ตัวบุคคล พลันเรื่องล้นๆ เกี่ยวกับวัดอุณาโลมก็โลดแล่นไปตามวิถีประวัติศาสตร์

นั่นคือความจริงที่เต็มไปด้วยความลึกลับในวัดอุณาโลมแห่งนี้

ทว่ายังมีอีกหลายสิ่งที่เป็นปริศนา ไม่ว่าจะเป็นการที่รูปจำหลัก “พระเจ้าขี้เรือน” (เสด็จกุ่มล้ง) ซึ่งตั้งเยื้องวัดอุณาโลมบริเวณท่าแพสีโสวัตถิ์เก่า นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เหมือนกับที่เมื่อหลายปีก่อน ข่าวทรัพย์สินทองคำบางรายในหอเจดีย์ที่สูญหายไปอย่างมีเงื่อนงำ

ทว่าในที่สุดรายการโจรกรรมเหล่านั้นกลับถูกส่งคืน เช่นเดียวกับคดีที่ไม่ได้รับการเปิดเผยมาจนบัดนี้

 

สําหรับฉัน นั่นก็ยังไม่ลึกลับและเร้าใจเท่ากับที่อ็องรี มาแชล เคยให้ข้อสันนิษฐานว่า วัดอุณาโลมแห่งนี้น่าจะเก่าแก่ร่วมสมัยเมืองพระนครและสร้างขึ้นราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 หรือต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 (2461) โดยไม่จัดไว้ในหมวดศิลปะยุคใด (ancien inconnu)

และเท่ากับประกาศว่า อารามอุณาโลมที่เห็นอยู่นี้มีความเก่าแก่กว่ากรุงพนมเปญเมืองหลวงที่ตั้งรกรากครั้งแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 15 และกลับมาสถาปนาอย่างถาวรในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19

โดยนอกจากนครหลวงพนมเปญจะมาทีหลังอุณาโลมอารามแล้ว ยังเปลี่ยนหน้าตาให้วัดแห่งนี้กลายเป็นวัดพุทธอย่างปัจจุบันอีกด้วย

กระนั้น ทฤษฎีของอ็องรี มาแชล ต่างหากที่มีส่วนทำให้เกิดความเห็นต่างในหมู่นักประวัติศาสตร์ยุคหลัง โดยเฉพาะข้อสันนิษฐานบริเวณใจกลางของวัด ซึ่งมีลักษณะเป็นวิหารสี่ด้านทรงเหลี่ยมจัตุรัสก่อจากหินทราย อันเป็นวัสดุที่พบทั่วไปในวิหารปราสาทนครธม ไม่เท่านั้น ยังพบศิลาแลงขนาดเดียวกันบริเวณกำแพงวัดอีกด้วย

นับเป็นการสันนิษฐานที่นักประวัติศาสตร์ยุคหลัง นอกจากไม่ให้ความสนใจแล้ว ยังมองข้ามข้อเท็จจริงบางด้านที่พบว่า กษัตริย์วรมันสมัยเมืองพระนครแห่งเสียมเรียบเคยย้ายราชธานีเพื่อหนีการคุกคามจากสยาม

และนั่นก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 15 ที่ฝั่งตะวันออกแม่น้ำโขงได้กลายเป็นราชธานีชั่วคราว ทั้งหมด 3 แห่งมาก่อน คือ สรัยสันธอร์ (กำปงจาม) โพธิสัตว์ และพนมเปญซึ่งตั้งริมฝั่งแม่น้ำจตุรมุข

ก่อนที่พระบาทองค์ด้วงโดยอุปถัมภ์จากราชวงศ์สยามจะตั้งราชธานีใหม่ให้ที่กรุงอุดงค์

พนมเปญราวปี พ.ศ.1986 จากราชธานีสั้นๆ กลับมาผงาดอีกครั้ง ในฐานะราชธานีถาวรราวปี พ.ศ.2404

หากว่าการตั้งรกรากชุมชนบริเวณแม่น้ำจตุรมุข ซึ่งมีมาแต่ครั้งปี 1915 แล้ว ก็เป็นไปได้ว่า “อุณาโลมอาราม” น่าจะมีอายุราว 600 กว่าปี ที่แสดงให้เห็นว่าอิทธิพลศิลปะขอมแบบบายนขยายมาจรดภาคตะวันออกของประเทศ ซึ่งคือร่องรอยของการสร้างเป็นพระวิหารพรหม 4 หน้าริมฝั่งจตุรมุขจำนวนหนึ่ง

ทว่าเมื่อหลายร้อยปีผ่านไป อารามวิหารเหล่านั้นได้ถูกภัยธรรมชาติคุกคามจากน้ำท่วมบ่า การกัดเซาะริมตลิ่ง จนเทวสถานเหล่านั้น ปรักพังและสาบสูญ

 

เมื่อจตุรมุขบริเวณกลายเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่หลังปี พ.ศ.2408 อุณาโลมก็ได้รับการฟื้นฟูเป็นลำดับ อีกเขื่อนแม่น้ำจตุรมุขที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นท่าเรือและกันการกัดเซาะสมัยนิคมฝรั่งเศส และรอดพ้นระเบิดของพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 2 ล้วนธำรงให้อารามแห่งนี้เหลือรอดถึงปัจจุบัน

กระนั้น ความโดดเด่นอารามแห่งนี้ กลับอุณาโลม (เดิม) เริ่มถูกบดบังในรูปสถาปัตยกรรมแบบพุทธ อันมาพร้อมกับคติการสร้างกรุงพนมเปญยุคหลัง

แต่อุณาโลมยังกลับมาผงาด เมื่อข้อสันนิษฐานของอ็องรี มาแชล ได้ถูกนำมารื้อฟื้นโดยโอลิวิเยร์ เดอ เบร์น็อง (2544) ผู้ลงมือศึกษาอารามเดิมอย่างจริงจัง กระทั่งพบว่ามีบางอย่างที่ถูกอำพรางตามที่มาแชลให้ไว้จริงๆ

เริ่มจากวิหารปราสาทที่น่าจะเป็นวิหารจตุรมุข (พรหมสี่หน้า) ซึ่งเชื่อว่ายังคงสภาพเดิมในปี พ.ศ.2410 ได้ถูกศิลปะขั้นสูงแขนงใหม่ต่อยอดส่วนนี้ ในปี พ.ศ.2424 แต่บูรณะดังกล่าวมิใช่เกิดครั้งแรกแต่ที่วัดอุณาโลม หากแต่บนแหลมจโรยจังวาซึ่งเยื้องอุณาโลมไปนั้น มีวัดชื่อ “ประจุมสาคร” ที่ได้รับการบูรณะในลักษณะเดียวกัน (บูรโน บูรกีเยร์-จูลิเยตต์ ลาครัวซ์ : Guide arch?ologique du Cambodge : Phnom Penh et les provinces m?ridionales,ไรยุม/2552)

ข้อศึกษาหนึ่งคือ การที่องค์วิหารทรงพีระมิดที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออกนั้น พบว่าไม่มีการเชื่อมต่อกับพื้นที่บริเวณโถงกลางจากส่วนอื่น ทำให้สันนิษฐานว่า หรือนี่จะเป็นหอคอยของการเก็บศพตามลัทธิศาสนาในอดีต (?)

ในทางกลับกัน ทวารประตูกลับมีลักษณะที่ต่ำกว่าพื้นทั่วไป จึงทำให้พื้นธรณีประตูถูกยกสูงขึ้น และหน้าบันประดับด้วยทับหลังพระพุทธรูปปางไสยาสน์และปิดทับด้วยทองเปลวนั้นน่าจะมาจากการเคลื่อนที่ของเวลาและการบูรณะดังที่เคยพบในปราสาทบางแห่ง เช่นเดียวกับประตูหลอกอีกด้านหนึ่ง ดังเช่นปราสาทวัดนครเมืองกำปงจาม และปราสาทรองอีกแห่งหนึ่งของปราสาทพระขรรค์ ซึ่งน่าจะเกี่ยวกับคำว่า โพธิโลม (pothilom) พระเกศา และโลมา (loma) จุดกลางหน้าผากที่ใช้ประทับเจิมในวรรณะพราหมณ์ อันเป็นที่มาของอารามแห่งนี้

นอกจากนี้ยังพบว่าการบูรณะยุคหลังเฉพาะวิหารทรงพีระมิดที่ก่ออิฐทับซ้อนเป็นรูปทรงเจดีย์ ครอบไว้อย่างเนียบเนียนแล้ว ยังพบอีกว่าการบูรณะดังกล่าว น่าจะรับอิทธิพลศิลปะนครวัดอีกด้วย สังเกตจากทรงปรางค์เจดีย์ที่มีลักษณะแบบเดียวกับวิมานเอกราช

กระนั้น การนำพาให้อุณาโลมอารามกลับไปสู่อัตลักษณ์เก่าที่เกิดจากการบูรณะครั้งล่า ณ บริเวณเจดีย์ตะวันตกและทิศเหนือ เริ่มจากการชำระล้างคราบสีทองบริเวณด้านในของหอปราสาท เหลือไว้แต่ศิลาแลงที่เปลือยเปล่าเป็นก้อนปรุพรุนตามสภาพกาลเวลา

อย่างน่าประทับใจ อุณาโลมในภาคนี้ ในทันทีที่ศิลาแลงถูกขัดล้างสีออกจนหมด พลันความรู้สึกแบบยืนอยู่ในมุมหนึ่งของศิลปะขอมยุคกลางก็กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

 

อุณาโลมจึงเป็นอนุสรณ์ของการเปลี่ยนถ่ายอารยธรรม จากอารยธรรมเมืองพระนครสู่อิทธิพลพุทธศาสนา ที่กลายเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ไปแล้วในปัจจุบัน

เช่นเดียวกับรูปปั้นจำลอง “เสด็จกุ่มล้ง” (พระเจ้าขี้เรื้อน/Roi l?preux) ประดิษฐานบริเวณลาน “เพนียด” เมืองนครธม ซึ่งเทวรูปจำลององค์ซึ่งประทับบริเวณลานดินเยื้องวัดอุณาโลมหรือท่าแพสีโสวัตถิ์เก่า หากย้อนดู พระเจ้าขี้เรื้อนตามหลักฐานที่ยอร์จ เซเดส อ้าง (2456) คือตัวแทนกษัตริย์ที่ได้รับการแต่งตั้งในฐานะ “ผู้พิทักษ์ดินแดน” หรือ “เนียะตาปราบ” ในภาษาเขมร

ไม่แน่ชัดว่า รูปปั้นจำลองหน้าวัดอุณาโลมองค์นี้ จะเป็นองค์เดียวกับ “เนียะตาปราบ” ตามจารึกหรือไม่

แต่ความเป็นมาของอุณาโลมและแม่น้ำจตุรมุขแห่งนี้ยังเชื่อมโยงกับวิหารพรหม 4 หน้า ศิลาแลงฯ และอัตลักษณ์อื่นๆ ซึ่งเกี่ยวกับศิลปะเมืองพระนคร

เช่นเดียวกับแหล่งโบราณสถาน ซึ่งกระจัดกระจายไปตามเขตตะวันออกและตอนล่างของกรุงพนมเปญ จากตอนบนจนจรดตอนล่างของจังหวัดกำโปด

ดูเหมือนเทวสถานสมัยเมืองพระนครยังปรากฏอยู่ทั่วไป ทั้งตามชุมชนท้องถิ่น เนินพนมอันห่างไกล และที่ซึ่งพิธีกรรมแบบพุทธ-พราหมณ์ยังคงดำเนินไป

อย่างสถิตสถาพร-บนครรลองเปลี่ยนแปลงนี้