มองต่าง “นิพพาน” ว่าด้วย อนุปาทิเสสนิพพาน มหา “สีสยาดอ”

หนังสือ “นิพพานกถา” อัน พระคันธาสาราภิวงศ์ แปลและเรียบเรียงจากงานนิพนธ์ของ พระโสภณมหาเถระ (มหาสีสยาดอ) แห่งกรุงย่างกุ้ง ตรวจชำระโดย พระพรหมโมลี (สมศักดิ์ อุปสโม)

อ้างอิง “คัมภีร์อิติวุตตกะ” ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย อนุปาทิเสสนิพพานธาตุนั้นเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ไกลจากกิเลสสิ้นอาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว สิ้นอาสวะแล้ว มีประโยชน์ของตนอันบรรลุแล้ว ตัดเชือกผูกภพได้แล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ

“ภิกษุนั้นย่อมเสวยอารมณ์ทั้งที่พึงใจและไม่พึงใจ ยังเสวยทั้งสุขและทุกข์อยู่ เพราะอินทรีย์ 5 ยังไม่ดับไป อินทรีย์ 5 เหล่านั้นของเธอยังตั้งอยู่ทีเดียว

“ภิกษุทั้งหลาย ความสิ้นไปแห่งราคะ โทสะและโมหะของเธอนี้ได้ชื่อว่า สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ”

พระโสภณมหาเถระ (มหาสีสยาดอ) อุปมาได้อย่างเยี่ยมยอด

นิพพานที่มีขันธ์เหลืออยู่ เป็นความดับกิเลสทั้งหมดโดยสิ้นเชิง แต่ขันธ์ที่ได้รับในภพนี้ยังคงอยู่ด้วยอำนาจของเหตุปัจจัย คือ กรรม จิต อุตุและอาหาร เหมือนก้อนหินที่ขว้างขึ้นไปในอากาศ ถ้าแรงขว้างยังไม่หมดก็ยังคงลอยขึ้นไปอยู่ ต่อเมื่อแรงขว้างหมดแล้วจึงตกลงสู่พื้น

เมื่อเหตุปัจจัยหมดลงแล้วขันธ์ของท่านก็จะดับไปไม่เกิดขึ้นอีกในเวลาดับขันธ์ปรินิพพาน หรือเหมือนตาลยอดด้วนเหลือแต่ตอไม่มีหน่อหรือยอดอ่อนงอกเงยขึ้นอีก

ก่อนจะไปถึง “อนุปาทิเสสนิพพาน” จำเป็นต้องศึกษา ปีเตอร์ เอ. แจ็กสัน ต่อ

เป็น ปีเตอร์ เอ. แจ็กสัน อันนำทัศนะที่เห็นต่างระหว่างท่านพุทธทาสภิกขุกับพุทธศาสนิกอื่นๆ มาประมวลและอธิบาย

ต้องอ่าน

 

ในคำตีความหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาของท่านพุทธทาสนั้นท่านไม่ได้กล่าวว่า “ปรินิพพาน” ในแง่ที่เป็นสถานะทางจิตอย่างหนึ่งสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับความตายแต่อย่างใด

ในทางตรงกันข้าม

ท่านเห็นว่า พระอรหันต์ที่บรรลุ “อนุปาทิเสสนิพพาน” แล้วนั้นไม่ใช่บุคคลที่ตายไปแล้ว แต่เป็นบุคคลที่มีดุลยภาพทางจิตอันมั่นคง ไม่หวั่นไหว เลยพ้นไปแล้วจากปัจจัยต่างๆ ในทางความคิดหรือทางศีลธรรมที่จะมารบกวนภาวะจิตของท่าน

คำตีความนี้มีข้อความสนับสนุนอยู่ใน “ธาตุสูตร” ซึ่งจะยกมาแสดงไว้ต่อจากนี้

ใน “ธาตุสูตร” นิพพานทั้ง 2 ชนิดไม่มีข้อแตกต่างในแง่ที่ชนิด 1 หมายถึงความหมดกิเลสก่อนตาย และอีกชนิด 1 หมายถึงความหมดกิเลสหลังตาย

แต่มีคำอธิบายว่า “สอุปาทิเสสนิพพาน” เป็นภาวะที่กิเลสตกค้าง คือ อนุสยกิเลสยังอาจทำให้จิตสับสนได้ ซึ่งก็จะทำให้เกิดความยึดติดและความทุกข์ได้อีก ส่วน “อนุปาทิเสสนิพพาน” เป็นภาวะที่จิตไม่หวั่นไหวเพราะอำนาจกิเลสอีกเลย

ดังข้อความว่า

“เมื่อภิกษุยังรับอารมณ์ทั้งที่น่าชอบใจและไม่ชอบใจ ยังรู้สึกถึงความยินดียินร้าย เพราะอายตนะทั้ง 5 ที่เกิดขึ้น โดยธรรมชาติยังไม่เสื่อมและความรู้สึกทั้ง 5 ยังมีอยู่

“ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ความสิ้นไปของราคะ (ความกำหนัด) ความสิ้นไปของโทสะ (ความโกรธ) ความสิ้นไปของโมหะ (ความหลง) ของภิกษุนั้นก็คือภาวะที่เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน

“เมื่อความรู้สึกทั้งหลายที่มีในตัวตนของภิกษุนั้น กล่าวคือ ปัจจัยต่างๆ ที่เกิดจากกิเลสตัณหาเป็นอาทิ ไม่สามารถทำให้เขาเข้าไปพัวพัน (ในวัตถุที่ตั้งแห่งอารมณ์) แต่ดับและสงบเย็นลงแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภาวะนี้เราเรียกว่าอนุปาทิเสสนิพพาน”

 

มีประเด็นอยู่ 2 อย่างเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างท่านพุทธทาสกับทัศนะแบบดั้งเดิมที่ว่า “อนุปาทิเสสนิพพาน” เป็นภาวะหลุดพ้นหลังจากตายแล้ว

ประเด็นแรกซึ่งได้กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้เป็นเรื่องของนิยามเกี่ยวกับฆราวาสจะสามารถบรรลุนิพพานได้หรือไม่

อนันต์ เสนาขันธ์ และคนอื่นๆ ที่ยึดคติดั้งเดิมนั้นให้นิยามของ “นิพพาน” ที่แท้จริงว่าเป็นภาวะหลุดพ้นอันเอกอุดมที่เรียกว่า “ปรินิพพาน” ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงก่อนตาย (สอุปาทิเสสนิพพาน) หรือหลังจากตายไปแล้ว (อนุปาทิเสสนิพพาน)

ท่านพุทธทาสมีทัศนะที่กว้างออกไปจากนี้

ท่านได้นิยามให้ “ตทังคนิพพาน” และ “วิกขัมภนนิพพาน” เป็นภาวะหลุดพ้นที่แท้จริงด้วยเช่นกัน

 

ทั้งหมดนี้ที่ต้องยกมายือยาวไม่ว่าของพุทธทาสภิกขุ ไม่ว่าของศาสนิกในสายเถรวาทอันเคร่งครัด ไม่ว่าบทสรุปและความเห็นของ ปีเตอร์ เอ. แจ็กสัน

เป็นความสืบเนื่องจากประเด็นว่าด้วย “จิตว่าง”

เป็นความเข้าใจอันแตกต่างกันในเรื่องของ “จิตว่าง” นำไปสู่บทสรุปอันแตกต่างกันในเรื่องของ “นิพพาน”

มีความจำเป็นต้องนำเอาประเด็นของ “นิพพาน” มากล่าวต่อ

ทั้งจากมุมมองของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ทั้งจากมุมมองของ ท่านพุทธทาสภิกขุ และมุมมองอันมีพื้นฐานมาจากหลักแห่งเถรวาท

การมอง “มุมต่าง” นำไปสู่ “การเปรียบเทียบ”

ภายในการเปรียบเทียบ ครุ่นคิด ในเชิงสังเคราะห์ วิเคราะห์ นั้นเองที่เพิ่มความรับรู้อันแจ่มชัดมากยิ่งขึ้น