เมื่อเวียดนามชราลง ความชราภาพของสังคมเป็นปัญหาใหญ่สำหรับเวียดนาม

กาลเวลาผ่านไป คนย่อมชราลง เมื่อผู้คนชราลง สังคมย่อมสูงอายุตามไปด้วย

สังคมเวียดนามชราภาพลงเร็วมาก เมื่อถึงปี 2017 กว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากร 90 ล้านคนของเวียดนามจะอายุ 60 ปีหรือเกินกว่านั้น

อีกในราว 15-20 ปีสัดส่วนของผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด

ความชราภาพของสังคมเป็นปัญหาใหญ่สำหรับเวียดนาม ที่ได้ชื่อว่าเป็นตลาดแรงงานราคาถูกในห่วงโซ่การผลิตระดับโลก เพราะจำนวนประชากรวัยทำงานลดน้อยลง ผลิตภาพลดน้อยลง ในเวลาเดียวกับที่รัฐบาลจำเป็นต้องคำนึงถึงงบประมาณสำหรับการประกันสุขภาพ, รัฐสวัสดิการ และบำเหน็จบำนาญ ที่พอกพูนเพิ่มมากขึ้นตามสัดส่วนสูงวัยของประชากร

ถึงตอนนี้มีการเสนอ 2 แนวทางเพื่อการแก้ปัญหา

ทางหนึ่งมีการ “ทดลอง” ไปแล้ว อีกทางหนึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐบาล

 

ทางแรกที่มีการทดลองใช้มาตั้งแต่ปี 2015 คือการผ่อนปรนนโยบายเข้มงวดให้มีลูก 2 คนต่อครอบครัว ภายใต้แนวความคิดที่ว่า การยุตินโยบายนี้จะทำให้ประชากรเกิดใหม่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นทันท่วงทีในการยับยั้งสังคมไม่ให้ชราภาพลงมากไปกว่านี้ภายใน 20 ปีข้างหน้า

ปัญหาก็คือ การยุติการคุมกำเนิดประชากร ส่งผลให้ประชากรเกิดใหม่เพิ่มขึ้นในระดับความเร็วที่ไม่สามารถควบคุมได้

เมื่อรัฐบาลผ่อนปรนนโยบายนี้ในปี 2015 เพียงชั่ว 6 เดือนแรกของปี 2016 อัตราการเกิดของ “ลูกคนที่ 3” เพิ่มขึ้นอย่างน่าทึ่งถึง 7.5 เปอร์เซ็นต์

ผลที่เกิดตามมาคือ อัตราการลาหยุดระหว่างคลอดเพิ่มขึ้นสูงมาก, เช่นเดียวกับค่าใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อการศึกษาเด็กวัยปฐมและรายจ่ายเพื่อหลักประกันสุขภาพ

 

อีกแนวทางที่เสนอโดยกระทรวงแรงงานและอยู่ระหว่างการพิจารณา ก็คือการขยายเวลาเกษียณอายุออกไป สำหรับสตรีเป็น 58 ปี สำหรับบุรุษเป็น 62 ปี รัฐสภาเวียดนามกำหนดประเมินเพื่อชี้ขาดเรื่องนี้ในเดือนพฤษภาคม ปี 2017 นี้

การยืดเวลาเกษียณออกไป ส่งผลดีในแง่ที่ทำให้ประชากรวัยทำงานไม่ลดลงมากมายนัก และยังใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ของผู้สูงอายุที่ยังทำงานอยู่ได้มาก ในขณะที่ประหยัดงบฯ บำเหน็จบำนาญลงตามไปด้วย

แต่ในเวลาเดียวกัน การยืดเวลาเกษียณออกไป เท่ากับลดจำนวนตำแหน่งงานสำหรับแรงงานรุ่นใหม่ลง ลดโอกาสการเลื่อนขั้นของแรงงานวัยฉกรรจ์ลง นอกจากนั้น ยังไม่ได้เป็นผลดีนักกับผู้สูงอายุบางส่วน ที่มีตำแหน่งงานอยู่ในแวดวงการทำงานที่ต้องอาศัยความแข็งแรงเป็นสำคัญ

ในกรณีของเวียดนาม สัดส่วนดังกล่าวยิ่งสูงมากเป็นพิเศษ เนื่องจากแรงงานมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ทำงานอยู่ในภาคการผลิตที่ต้องใช้แรง อาทิ ภาคเกษตรกรรม, ภาคการผลิตในโรงงานและภาคการก่อสร้าง ซึ่งผู้ใช้แรงงานที่อายุเกินกว่า 50 ปี มักมีผลิตภาพและประสิทธิภาพลดลง และการทำงานเป็นอันตรายสูงมากขึ้นต่อผู้ใช้แรงงาน

 

ถึงที่สุดแล้ว เวียดนามอาจจำเป็นต้องใช้ 2 แนวทางข้างต้นเป็นแนวทางการแก้ปัญหาเพียง “ชั่วคราว” ก่อนที่จะหันไปหาแนวทางแก้ปัญหาระยะยาวต่อไป ที่ไม่เพียงเป็นแนวทางที่ใช้เวลานานเท่านั้น อาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดและพื้นฐานวัฒนธรรมในสังคมอีกด้วย

ตัวอย่างเช่น การเพิ่มคุณภาพแรงงาน ซึ่งหมายถึงการเพิ่มการศึกษาให้กับแรงงาน ปรับศักยภาพให้สูงขึ้น แต่แน่นอนสังคมต้องเริ่มต้นให้ความสำคัญกับ “อาชีวศึกษา” มากกว่า “ใบปริญญา”

หรือการริเริ่มปรับแนวทางการให้เงินเดือนให้อยู่บนพื้นฐานของ “ผลิตภาพ” ของคนงาน ไม่ใช่การจ่ายเงินเดือนตาม “อาวุโส” ของการทำงาน

แม้แต่กระทั่งการเพิ่ม “คุณภาพเชิงสุขภาวะ” ให้กับผู้สูงอายุ และริเริ่มให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับทักษะและขีดความสามารถทางร่างกายของผู้สูงอายุ เพื่อลดการพึ่งพาบำเหน็จบำนาญหรือพึ่งพาลูกหลานเมื่อสูงวัย

ในเวียดนามผู้สูงอายุ 70 เปอร์เซ็นต์ดำรงชีพอยู่ด้วยเงินออมหรือบำนาญเพียงเล็กน้อย, 80 เปอร์เซ็นต์ใช้ชีวิตอยู่กับลูกหลาน ตามวัฒนธรรมลูกๆ เลี้ยงพ่อแม่ปู่ย่าผู้สูงวัย

ในจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด มีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่จัดว่าอยู่ในสภาวะ “สุขภาพดี”

การแก้ปัญหาสังคมสูงอายุในเวียดนามจึงไม่ได้เป็นเพียงการท้าทายเชิงนโยบายจากรัฐเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องท้าทายเชิงวัฒนธรรมอีกด้วย