นพมาส แววหงส์ : MANCHESTER BY THE SEA “ริมทะเล”

นพมาส แววหงส์

แมนเชสเตอร์-บาย-เดอะ-ซี ซึ่งเป็นชื่อของหนังดรามาคุณภาพคับแก้วเรื่องนี้ ไม่ใช่เมืองแมนเชสเตอร์ในอังกฤษ แต่เป็นเมืองประมงเล็กๆ ในรัฐแมสซาชูเซตส์ ตั้งอยู่ “ริมทะเล” บนฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ตามชื่อที่เรียกขาน

ผู้คนในเมืองริมทะเลนี้ทำอาชีพประมงเป็นหลัก หรือไม่ก็มีเรือตกปลาเป็นงานอดิเรก เช่นเดียวกับครอบครัวของ โจ แชนด์เลอร์ (ไคล์ แชนด์เลอร์)

น้องชายของโจ ชื่อ ลี แชนด์เลอร์ (เคซีย์ แอฟเฟล็ก) ซึ่งเป็นตัวละครหลักในเรื่อง

เมื่อเปิดเรื่อง ลีกำลังเล่นอยู่กับแพทริก หลานชายวัยแปดขวบ อย่างสนุกสนาน ในเรือที่มีโจเป็นคนขับ ลีหลอกเด็กด้วยเรื่องเกี่ยวกับฝูงฉลามในทะเล ขณะที่แพทริกตอบโต้ว่าฉลามไม่ได้อยู่กันเป็นฝูงสักหน่อย ลีถามหลานชายอย่างล้อๆ ว่าถ้าให้เลือก จะอยากอยู่กับใครมากกว่ากัน ระหว่างพ่อกับอา แพทริกตัวน้อยตอบอย่างเถรตรงไม่มีการเกรงใจกันว่าอยากอยู่กับพ่อ ท่ามกลางเสียงหัวเราะเกรียวกราวสนุกสนาน

หนังตัดไปสู่เวลาแปดปีต่อมา เมื่อลีทำงานเป็นภารโรงและสารพัดช่างประจำอาคารหลายหลัง คอยตรวจเช็กเวลาเกิดน้ำซึมน้ำรั่ว ไฟฟ้าเสีย และความเสียหายเล็กๆ น้อยๆ ที่ผู้เช่าห้องในอาคารต้องการการซ่อมแซม

เราเห็นว่าลีไม่ได้ร่าเริงเหมือนในฉากแรกอีกแล้ว แต่หน้าตาเคร่งเครียด เก็บตัวและฉุนเฉียวง่าย ใครพูดไม่ถูกหูเป็นปึงปังขึ้นมา บ่อยครั้งที่เขาถูกลูกบ้านร้องเรียนเรื่องมารยาท

ลีพักอยู่ในห้องแคบๆ ใต้ดินของอาคาร อยู่อย่างเหงาหงอย ออกไปกินเหล้าตามบาร์ และไม่สนใจกับผู้หญิงที่พยายามให้ท่าเขา ขณะที่หาเรื่องชกต่อยระบายอารมณ์เมื่อเห็นสิ่งผิดตาเพียงน้อยนิด

ในฤดูหนาวหิมะลงหนา ลีกำลังใช้พลั่วโกยหิมะหน้าบ้าน ขณะที่ได้รับโทรศัพท์แจ้งข่าวร้าย ซึ่งเราจะรู้ต่อมาว่าคือการเสียชีวิตของโจพี่ชายเขา

หนังเดินเรื่องสลับไปมาระหว่างอดีตกับปัจจุบัน โดยติดตามลีกลับไปสู่แมนเชสเตอร์บายเดอะซีที่เขาเนรเทศตัวเองจากมา และเสริมแทรกรายละเอียดของอดีตที่ลีไม่มีวันลืมได้ แม้จะไม่มีการบอกด้วยตัวหนังสือ แต่เรื่องราวที่เดินหน้าและย้อนหลังสู่อดีตก็ติดตามได้ไม่ยาก

ลีรับทราบเรื่องความตายของพี่ชายเหมือนเป็นเรื่องปกติ ซึ่งเราได้ทราบจากฉากแฟลชแบ็กว่า พี่ชายเขาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจขั้นร้ายแรง ซึ่งจะสามารถมีชีวิตอยู่ได้เพียงห้าสิบปี

ฉากนี้แนะนำให้เราได้รู้จักกับเอลซี่ (เกรตเชน มอล) ภรรยาของโจและแม่ของแพทริก ซึ่งรับไม่ได้กับข่าวร้ายและไม่สามารถควบคุมอารมณ์อยู่ โดยโกรธไปหมดกับทุกเรื่อง แม้แต่ความพยายามของหมอและคนอื่นๆ ที่จะทำให้เรื่องเศร้าเบาบางลงด้วยการพูดตลก

เราได้รู้จักแม่ของแพทริกในอีกฉากที่ลีกลับบ้านมาเห็นเอลซี่นอนแผ่หมดสติจากความเมามาย บ้านช่องเลอะเทอะเหม็นโฉ่ไปหมด เอลซี่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรังขั้นรุนแรง และหายหน้าไปจากครอบครัวแชนด์เลอร์ ทิ้งลูกชายคนเดียวไว้ในความดูแลของพ่อแต่ผู้เดียว

เมื่อทนายความอ่านพินัยกรรมของโจ ลีก็ได้รู้ว่าพี่ชายมอบหมายให้เขาเป็นผู้ดูแลแพทริก จนกว่าจะบรรลุนิติภาวะในอีกห้าปีข้างหน้า

ลีงุนงงกับข่าวที่ไม่คาดคิดนี้ และตระหนักดีว่าที่พี่ชายไม่ได้ปรึกษาเขาล่วงหน้าก็เพราะโจรู้ว่าเขาจะไม่มีวันยอมรับภาระหน้าที่นี้เป็นอันขาด

และต่อมาเราก็ได้รู้จากภาพเหตุการณ์ร้ายกาจในอดีตว่าทำไมลีจึงไม่ต้องการรับเลี้ยงหลานชาย ทั้งๆ ที่ในฉากเปิดเรื่อง เราได้เห็นความสนิทสนมรักใคร่ของอาหลานคู่นี้ขนาดที่ลีถามหลานว่าอยากได้ใครเป็นที่พึ่งมากกว่ากันระหว่างพ่อกับอา

ระหว่างนั้น การจัดการฝังศพโจก็เป็นปัญหา เนื่องจากพื้นดินในฤดูหนาวแข็งเกินกว่าจะขุดได้ และต้องเก็บศพแช่เย็นไว้รอการฝังในฤดูใบไม้ผลิ

เมื่อลีไม่ยอมรับเป็นผู้ดูแลเขา แพทริกก็คิดจะไปอยู่กับแม่ที่แต่งงานใหม่ และดูท่าจะเลิกเหล้าได้ และกลับเป็นผู้เป็นคนขึ้นมาแล้ว แต่เมื่อเขาไปกินข้าวกับแม่และสามีใหม่เพียงครั้งเดียว เขาก็รู้ว่าที่นั่นไม่พร้อมจะต้อนรับเขา แม่ยังมีปัญหาด้านอารมณ์และเจฟฟรีย์ (แมทธิว บรอดเดอริก) ก็ไม่ต้องการให้เขาติดต่อกับแม่โดยตรง

นอกจากบทหลักของ เคซีย์ แอฟเฟล็ก และบทสมทบของ ลูคัส เฮดเจส ที่เล่นเป็นแพทริก หลานชายวัยสิบหก บทบาทโดดเด่นอีกบทตกเป็นของ มิเชลล์ วิลเลียมส์ ซึ่งเล่นเป็นแรนดี้ อดีตภรรยาของลี และเกิดเรื่องเกิดราวที่ต้องแยกทางกันไปอย่างปวดร้าวที่สุด มิเชลล์ปรากฏตัวอยู่เพียงไม่กี่ฉาก แต่เป็นที่จับตาจากความละเอียดและละเมียดของอารมณ์ในฉากสั้นๆ เพียงฉากเดียว

นี่เป็นหนังดรามาที่เล่าเรื่องชีวิตอันซับซ้อน โดยมีจุดศูนย์รวมอยู่ที่การดูแลลูก (parenting) ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่โดยสายเลือด การรับเลี้ยงดู หรือความผูกพันเฉพาะหน้า แก่นเรื่องหลักยังครอบคลุมไปถึงเรื่องของสำนึกผิดและความพยายามไถ่บาป

ขณะที่เนื้อหาของหนังดูจะหนักอึ้ง แต่หนังก็แทรกมุขต่างๆ ไว้แพรวพราย ทำให้รู้สึกว่าชีวิตนั้นมีมากกว่าเรื่องน่าเศร้า และขึ้นอยู่กับมุมมองของเราเอง

หนังไม่ได้มีตอนจบแบบหนังทั่วไปอย่างที่ใครๆ คาดว่าหนังแบบนี้ก็จะต้องลงเอยแบบนี้แหละ แต่ก็เป็นตอนจบที่สมเหตุสมผลและสมจริง

ยังไม่ถึงเวลาที่ลีจะยกโทษให้ตัวเอง แต่เขาก็มีพัฒนาการไปข้างหน้าอีกขั้นด้วยการเปิดตัวเองให้แก่ความเป็นไปได้ต่างๆ มากขึ้น…คือ “ดีเท่าที่ดีได้” (As good as it gets) เหมือนอย่างชื่อหนังคอเมดี้ที่ แจ็ก นิโคลสัน เล่นเลยเชียว

หนังเรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ถึงหกรางวัล ซึ่งรวมทั้งภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (เคซีย์ แอฟเฟล็ก) นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (ลูคัส เฮดเจส) นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (มิเชลล์ วิลเลียมส์) และบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม

ก่อนสิ้นเดือนนี้เราก็จะได้รู้ผลกันแล้วว่าใครจะออกหัวออกก้อยประการใด แต่ที่แน่ๆ คือหนังเรื่องนี้มีคุณค่าสมควรดู

ซึ่งแฟนหนังทั้งหลายไม่ควรพลาดแน่ๆ


MANCHESTER BY THE SEA

กำกับการแสดง
Kenneth Lonergan

นำแสดง
Casey Affleck
Michelle Williams
Lucas Hedges
Kyle Chandler
Gretchen Mol
Matthew Broderick