อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : กระแสเสรีนิยมและอำนาจนิยมปัจจุบัน

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ความจริงพฤศจิกายน 2019 มีความสำคัญต่อโลกมากเพราะเป็นวาระครบรอบ 30 ปีแห่งการพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน อันนับเป็นการสิ้นสุดของยุคสงครามเย็น (end of cold war)

เป็นการสิ้นสุดของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่เคยเป็นอุดมการณ์หลักของโลก เป็นอุดมการณ์ทางการเมืองของการปฏิวัติอันยิ่งใหญ่ของโลก

หลายฝ่ายเชื่อว่า การสิ้นสุดของสงครามเย็นย่อมนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงหลายประการโดยประการสำคัญคือ การก่อตัวและหยั่งรากลึกของลัทธิเสรีนิยม (Liberalism) ซึ่งน่าจะเป็นกระแสหลักของอุดมการณ์ทางการเมือง

เป็นลัทธิทางการเมืองที่จะเป็นรากฐานของระบอบการปกครอง เป็นฐานรากของสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลทั้งด้านความคิด วิถีชีวิตและแนวทางในอนาคต

พื้นที่หนึ่งที่นักสังเกตการณ์จำนวนมากเชื่อว่ากระแสเสรีนิยมจะก่อตัวและหยั่งรากลึกคือ ยุโรปกลางและตะวันออก พื้นที่อันเป็นฐานที่มั่นทางอุดมการณ์การเมืองคอมมิวนิสต์มาก่อน

หากทว่าหลังจากกำแพงเบอร์ลินพังทลาย 30 ปีให้หลัง เสรีนิยมและคำสัญญาต่างๆ นานาทั้งแนวคิด รูปแบบทางการปกครอง ความคาดหวัง จินตนาการแบบเสรีนิยมกลับไม่ได้เกิดขึ้นจริงดังที่คาดการณ์กันไว้

 

สิ่งที่เกิดขึ้น

เมื่ออดีตประเทศคอมมิวนิสต์ทำอะไรเหมือนๆ กับประเทศตะวันตกหลังปี 1989 สิ่งนี้ได้นำมาสู่อะไรหลายๆ อย่างที่ส่อไปทางกระแสเสรีนิยมในแง่ของชื่อและการขนานนามหลายๆ อย่างได้แก่ ความเป็นอเมริกัน ความเป็นยุโรป กระบวนการประชาธิปไตย (democratization) เสรีนิยม การขยายตัว (enlargement) บูรณาการ (integration) ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และโลกาภิวัตน์ (globalization) เป็นต้น

ทว่าสิ่งที่สำคัญคือ พัฒนาการอันสำคัญยิ่งโดยการลอกเลียนแบบและการรวมตัวโดยการผสมผสานในช่วงเวลานี้

ปรากฏว่า ประชานิยม (populism) และเสรีนิยมของยุโรปกลางและตะวันออกกลายเป็นหลักการใหม่และเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

กล่าวคือ เป็นทั้งคุณค่า ทัศนคติ สถาบันทางการเมืองและการปฏิบัติต่างๆ ที่กลายเป็นตัวเปรียบเทียบและภาระผูกพัน

แต่ในความเป็นจริง ระบอบการเมืองและการดำเนินการทางการเมืองทั่วยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ระบอบประชาธิปไตยรูปแบบต่างๆ ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็นได้แปรเปลี่ยนไปเป็น “ระบบการปกครองเสียงข้างมากที่มีแนวคิดสมคบคิดกัน” (conspiracy-minded majoritarian regimes)

นั่นคือระบอบการปกครองที่ชนชั้นนำมีความหวาดระแวงต่อฝ่ายต่างๆ ตลอดเวลา

ดังนั้น ในระบอบการปกครองนี้ ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจึงถูกกำจัด

สื่อมวลชนที่ไม่ใช่ของรัฐ ภาคประชาสังคมและศาลที่เป็นอิสระทั้งหมดถูกกำจัดโดยรัฐบาล

พลังที่ไม่ใช่รัฐและศาลที่เป็นอิสระต่างๆ ซึ่งครอบครองพลังอำนาจและมีอธิปไตยของตนถูกกำจัดบทบาทโดยชนชั้นนำ

ชนชั้นนำกลับเป็นชนชั้นนำที่มีเป้าหมายไม่ยอมรับและนำไปสู่การต่อต้านแรงกดดันจากรูปแบบการเมืองพหุนิยมแบบตะวันตก (political pluralism) รัฐบาลที่โปร่งใสและอดทนต่อผู้ที่เห็นต่าง ฝ่ายต่อต้านและคนกลุ่มน้อย

แน่นอน ไม่มีปัจจัยเพียงปัจจัยเดียวที่สามารถอธิบายการก่อตัวของระบอบการเมืองที่ต่อต้านอุดมการณ์เสรีนิยมจนเปลี่ยนมาเป็นระบอบอำนาจนิยม (authoritarianism) ซึ่งมีรูปแบบหลายอย่างในแต่ละประเทศในช่วงทศวรรษที่ 2 ของศตวรรษที่ 21

แต่ปัจจัยหนึ่งที่เกิดขึ้นในยุโรปกลางและตะวันออกกลับเป็น การขาดทางเลือก ด้านอุดมการณ์ทางการเมืองและรูปแบบการปกครองมากกว่า

สิ่งนี้นับเป็นตัวถ่วงรั้งที่มาจากระบอบอำนาจนิยมในอดีตที่ไม่เป็นมิตรต่อระบบเสรีนิยม

ซึ่งเป็นคำอธิบายที่ดีที่สุดของกระแสต่อต้านตะวันตกที่ครอบงำสังคมหลังคอมมิวนิสต์ (post-communism society) ทุกวันนี้

อาจกล่าวได้ว่าเป็นความผิดพลาดอย่างมากที่สังคมหลังคอมมิวนิสต์ในยุโรปกลางและตะวันออกไม่มีหนทางการเมืองอื่นๆ สิ่งนี้มีความสำคัญเพราะเท่ากับความผิดพลาดอันนี้ช่วยอำนวยให้แรงผลักดันอันอิสระของความคลั่งไคล้ประชานิยม (populist xenophobia) และกระแสชาติภูมินิยมปฏิกริยา (reactionary nativism) พัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็วและเข้มแข็ง

ทั้งนี้ กระแสและการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมดังกล่าวเริ่มต้นในยุโรปกลางและตะวันออก

และตอนนี้กำลังแพร่กระจายไปทั่วโลกซึ่งได้ไปลบล้างการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกระแสความคิดอื่นๆ ไปเสียหมด

 

เสรีนิยม สิ่งที่เคยเป็นความหวังและเป็นทุกอย่าง

ปีแรกๆ หลังปี 1989 เสรีนิยมเกี่ยวพันทั่วๆ ไปกับแนวความคิดต่างๆ ของโอกาสของแต่ละคน เสรีภาพในการเคลื่อนย้ายและการเดินทาง เป็นแนวความคิดที่ไม่ลงโทษฝ่ายต่อต้าน การเข้าถึงความยุติธรรมและแสดงความรับผิดชอบของรัฐบาลจากแรงต่อต้านสาธารณะ

พอถึงปี 2010 กลายเป็นว่า ระบอบเสรีนิยมของยุโรปกลางและตะวันออกกลับมีมลทินที่ลบไม่ออก

ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมายุโรปกลางและตะวันออกมีการเติบโตของความไม่เท่าเทียมทางสังคม การแพร่กระจายของคอร์รัปชั่นและการกระจายทรัพย์สินสาธารณะไปอยู่ในมือของคนจำนวนน้อย

อีกทั้งวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2008 ได้หล่อเลี้ยงความไม่เชื่อใจอย่างลึกซ้ำของภาคประชาสังคมในยุโรปกลางและตะวันออกต่อผู้นำทางธุรกิจและทุนนิยมกาสิโน (casino capitalism)

ซึ่งได้ทำลายระเบียบทางการเงินโลกลงเกือบหมดและกว้างขวางทั่วโลก

อีกเหตุผลหนึ่งที่เสรีนิยมเกิดของยากและไม่เป็นที่นิยมในยุโรปกลางและตะวันออก แต่เป็นด้านมืดมากกว่า อีกทั้งเป็นเส้นทางของความจดจำร่วมของ “อเสรีนิยม” (illiberalism) ของยุโรปเลยทีเดียว

ท่ามกลางพรรคการเมืองอำนาจนิยมเป็นแกนนำของยุโรปกลางและตะวันออก ได้แก่ พรรค Civil Alliance (Fidesz) ในฮังการี พรรค Law and Justice party (PiS) ในโปแลนด์ ได้ลดความน่าเชื่อถือของหลักการเสรีนิยมต่างๆ และสถาบันทางการเมืองต่างๆ เพื่ออ้างเป็นข้อบกพร่องเพื่อเข้าไปร่วมคอร์รัปชั่นและการละเมิดอำนาจเพื่อหาความชอบธรรม

“รื้อ” สื่ออิสระและศาลยุติธรรม โดยอ้างการกระทำเพื่อปกป้องชาติจากศัตรูต่างๆ

ความไม่พอใจต่อ “ช่วงเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย” ในช่วงหลายปีของยุคหลังคอมมิวนิสต์ให้ภาพ ผู้ประเมินความเป็นไปของประชาธิปไตยจากต่างประเทศสัมผัสความเป็นจริงในท้องถิ่นน้อยเกินไป

ประสบการณ์เหล่านี้ผสมกับปฏิกิริยาของท้องถิ่นในภูมิภาคนั้นๆ และการดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องของประเพณีนิยม (traditional) ทำให้รูปแบบตะวันตกตายไป

เสรีนิยมแห่งชาติ (National Liberalism) ร่วมกับการขยายตัวของอียู (EU) ได้อนุญาตให้อุดมการณ์ประชานิยมอ้างว่าแตกต่างจากระบบประเพณีนิยมแห่งชาติและอัตลักษณ์แห่งชาติ

นี่คือสปริงดีดสำคัญของพวกกบฏต่อต้านเสรีนิยมในยุโรปกลางและตะวันออก หลังปี 1989

ส่วนที่เป็นปัจจัยเสริมพวกกบฏคือ ยุโรปไม่มีทางเลือกทางการเมืองและเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ ดังนี้ ยุโรปจึงมีพรรคประชานิยมขวาสุด (far-sight populist party)

ในเยอรมนี พรรค Alternative Fur Deutchland (AfD) การถอยหลังราวกับถูกกระตุ้นโดยพวกลัทธิหลังชาตินิยม (post nationalism)

ก่อกำเนิดของฝ่ายต่อต้านเสรีนิยม (anti Liberalism) ต่อต้านโลกาภิวัตน์ (anti Globalism) ต่อต้านคนย้ายถิ่น (anti Immigration) และต่อต้านการเปลี่ยนแปลงในทวีปยุโรป

อดีตประเทศคอมมิวนิสต์ถูกเอารัดเอาเปรียบและปลุกปั่นจากวาทกรรมแกล้งว่าเป็นประชานิยม ซึ่งฝ่ายสนับสนุนของพวกนี้รู้ว่า จะทำอย่างไรในการทำลายศัตรูภายในต่างๆ ของพวกเขาโดยได้รับการสนับสนุนจากมวลชน

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นพรรคการเมืองฝ่ายขวาและขวาจัดต่อต้านคนผิวสี

ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง

ต่อต้านคนย้ายถิ่นมีบทบาทมากในสังคมการเมืองยุโรปทั้งประเทศอดีตคอมมิวนิสต์

ประเทศเสรีนิยมที่หดหายไปอย่างรวดเร็ว

ประเทศต้นแบบประชาธิปไตยในยุโรปเกือบทั้งหมดมีผู้นำที่แสร้งว่าเป็นประชานิยม ส่อไปในทางทุจริตหาเสียงเลือกตั้ง ชูนโยบายการต่อต้านคนย้ายถิ่น จนกระทั่งถึงละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ลดทอนบทบาทสหภาพแรงงาน

ขวาตกขอบกำลังครองเมืองในยุโรป

เอาเข้าจริงๆ ขาวตกขอบกำลังครอบครองอำนาจนำเกือบทั่วโลก