เทศมองไทย : “คอบร้าโกลด์”วันวาเลนไทน์ สหรัฐส่งทหารระดับสูงที่สุดตั้งแต่รปห.ปี57ร่วมฝึก!

พลเรือเอกแฮร์รี ฮาร์ริส พูดคุยกับผู้สื่อข่าวที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ (Reuters photo)

พักหลังมานี้ มีนักวิเคราะห์ นักสังเกตการณ์ทางการเมือง การต่างประเทศให้ความสนใจ “คอบร้าโกลด์” การฝึกซ้อมปฏิบัติการทางทหารร่วมไทย-สหรัฐอเมริกามากขึ้น

และยิ่งมากขึ้นเป็นพิเศษสำหรับคอบร้าโกลด์ครั้งที่ 36 ที่เปิดฉากอย่างเป็นทางการที่สนามบินอู่ตะเภาในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

เหตุผลไม่ได้เป็นเพราะคอบร้าโกลด์หนนี้เริ่มต้นในวันวาเลนไทน์ “วันแห่งความรัก” หรอกครับ

แต่เป็นเพราะเริ่มมีสัญญาณการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้น

ส่วนจะเป็น “การเปลี่ยนแปลงที่น่ายินดี” หรือไม่ ก็คงขึ้นอยู่กับทัศนะส่วนบุคคลและสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา

พลเรือเอกแฮร์รี บี แฮริส จูเนียร์ (Adm. Harry B. Harris, Jr.) ผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐอเมริกาภาคพื้นแปซิฟิก เข้าเยี่ยมคารวะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ความเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้นก็คือ คอบร้าโกลด์ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในปีนี้ จะมี พล.ร.อ.แฮร์รี บี. แฮร์ริส ผู้บัญชาการกองทัพภาคพื้นแปซิฟิกของสหรัฐอเมริกา เป็นหัวหน้าคณะทหารอเมริกันเดินทางมาเข้าร่วมการฝึกหนนี้

เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ แอนโธนี วูน โช นักวิจัยประจำศูนย์เพื่อความมั่นคงใหม่แห่งอเมริกา (ซีเอ็นเอเอส) สำนักวิชาการอิสระในวอชิงตัน ดี.ซี. ระบุไว้ในข้อเขียนที่เผยแพร่ผ่าน “เดอะ ดิโพลแมต” เมื่อ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ให้ความเห็นว่าเป็น “เวลคัม เชนจ์” เมื่อมองในมิติความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา

นั่นเนื่องเพราะ พล.ร.อ.แฮร์ริส เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดที่เข้าร่วมในการฝึกซ้อมทางทหารประจำปีนี้ นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารขึ้นในประเทศไทยเมื่อ 3 ปีก่อน

คอบร้าโกลด์เริ่มต้นเมื่อปี 1980 เป็นการฝึกร่วมทางทหารระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาก็จริง แต่ยิ่งนับวันยิ่งขยายตัวเพิ่มมากขึ้นจนทุกวันนี้กลายเป็นหนึ่งในการซ้อมรบประจำปีที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีชาติเข้าร่วม (ทั้งการซ้อมรบและสังเกตการณ์) มากถึง 29 ชาติ จำนวนบุคลากรทางทหารที่เดินทางเข้ามามากถึง 13,000 นาย

ในทางหนึ่งนี่จึงเป็นช่องทางในการทำให้เงินสะพัดเข้ามาในประเทศเป็นประจำทุกปี

ในอีกทางหนึ่งที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ คอบร้าโกลด์กลายเป็นช่องทางในการถ่ายทอด “องค์ความรู้” และ “เทคโนโลยี” ทางทหารและความมั่นคงจากสหรัฐอเมริกาให้กับไทย

และในทัศนะของ วูน โช นี่ยังเป็น “โอกาส” ที่เกิดขึ้นทุกปีสำหรับสหรัฐอเมริกา ที่จะปรับปรุงสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับไทยให้ดีขึ้น

สหรัฐอเมริกาตัดงบประมาณช่วยเหลือทางด้านการทหารต่อไทยไปทั้งหมดหลังจากการรัฐประหาร ลดขนาดของคอบร้าโกลด์ลงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด จากการส่งกำลังพลเข้าร่วมที่เคยมากที่สุดถึงร่วมๆ 10,000 นายลดลงมาเหลือเพียง 3,500 นาย โดยหวังจะใช้เป็นแรงกดดันให้ไทยฟื้นฟูประชาธิปไตยในประเทศขึ้นโดยเร็ว

ในมุมมองของ วูน โช การดำเนินการดังกล่าวกลายเป็นปัญหา เนื่องจากในทันทีที่เกิด “ช่องว่าง” ขึ้นไม่ว่าจะในด้านความมั่นคงหรือเศรษฐกิจ “จีน” แทรกตัวเข้ามาแทนที่ “ด้วยความยินดี” และแทนที่ได้ดีไม่น้อยอีกด้วย

ตัวอย่างเช่น การให้งบประมาณช่วยเหลือทางด้านการทหารของจีนต่อไทยเมื่อเร็วๆ นี้ มีมากถึง 1,000 ล้านดอลลาร์!


วูน โช สรุปเอาไว้ว่า ยุทธศาสตร์อเมริกันดังกล่าวนั้นจึง “ไม่ได้ผล” และ “จำเป็นต้องเปลี่ยน” ด้วยเหตุผลสองสามประการด้วยกัน

ประการแรก “การจำกัดตัวเองของสหรัฐอเมริกาเช่นนั้น ก่อประโยชน์ให้เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่สร้างผลเสียให้เกิดขึ้นตามมา เพราะเสี่ยงที่จะทำให้ถูกตีความได้ว่า พันธะผูกพันใดๆ ที่สหรัฐมีต่อพันธมิตรในเอเชียแปซิฟิกนั้นเป็นพันธะแบบมีเงื่อนไข”

ประการถัดมา “กรณีของไทยไม่ได้เป็นเรื่องของการกุศลแบบให้เปล่า (แต่ต่างมีผลประโยชน์ตอบแทน) …หากสหรัฐอเมริกายังคงรีรอต่อไปที่จะปรับสัมพันธ์กับไทย ก็เสี่ยงที่จะทำให้ทางการไทยหันไปพึ่งพาหุ้นส่วนทางเลือกในภูมิภาคมากขึ้น”

สุดท้าย คือการเกิดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับฟิลิปปินส์ขึ้นเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศหลังความสัมพันธ์ที่เคยแนบแน่น หลุดลุ่ยไม่เป็นชิ้นเป็นอัน และส่งผลเสียทั้งทางยุทธศาสตร์และอื่นๆ ใหญ่หลวง ที่สำคัญก็คือยังไม่มีแนวทางชัดเจนใดๆ ในอนาคตอันใกล้ที่จะฟื้นฟูสัมพันธ์ดังกล่าวให้กลับมาเหนียวแน่นมั่นคงเช่นเดิม

นั่นทำให้ความเป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์” ของไทยมีค่า มีความหมายมากขึ้นมากในสายตาสหรัฐอเมริกา

วูน โช บอกว่า ไม่เพียงสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับไทยเท่านั้นที่ควรปรับปรุงให้ดีขึ้น ความผูกพันในเชิงเศรษฐกิจอย่างลึกซึ้งก็ช่วยกระชับความเป็นมิตรให้มากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน

เขาชี้ให้เห็นว่า แม้ในสภาพที่ไม่มีความตกลงการค้าเสรีระหว่างกัน มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐเมื่อปี 2015 ยังรวมแล้วสูงกว่า 37,000 ล้านดอลลาร์ อเมริกันมาลงทุนในไทยรวมแล้วกว่า 11,000 ล้านดอลลาร์

ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญใหญ่หลวงของการเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีตแล้วปรับปรุงสัมพันธ์กับไทยเสียใหม่ในขณะที่ยังมี “โอกาส”

โอกาสที่มีมากพอๆ กันระหว่างแพ้หรือชนะครับ!