ประชา สุวีรานนท์ : ‘Ways of Seeing’ วัฒนธรรมทางสายตา (จบ)

ตอน1

คําว่า Ways ในชื่อหนังและหนังสือเป็นพหูพจน์ ชี้ว่าการมองของเรา ไม่ได้เป็นไปเองตามธรรมชาติ แต่ถูกกำหนดโดยขนบหรือกรอบความเชื่อต่างๆ และที่สำคัญ มีมากมายหลายแบบ

งานศิลปะไม่ได้เป็นของสูง แต่เป็นเพียง “รูปภาพ” ที่หลอกเราว่ามีสถานะเป็นผลผลิตทาง “จิตวิญญาณ” เริ่มด้วยรูป Venus and Mars ของบอตติเซลลีและรูปหญิงเปลือยของทิเทียน ผู้เขียนบอกว่าเกี่ยวกับเซ็กซ์และอำนาจหรือเป็น “รูปโป๊” ของสมัยนั้น

ภาพสีน้ำมันมีความสำคัญในประวัติศาสตร์เพราะครอบครองได้ ซึ่งก็คล้ายสินค้าอื่นๆ เช่น ที่ดินหรือผู้หญิง ที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ ที่สำคัญ “ครอบครองในทางสายตา” ได้ด้วย

แม้แต่ genre ที่ดูเหมือนจะไม่ได้พูดอะไรมาก เช่น landscape ก็มีไว้เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ เขาเอารูป Mr. and Mrs. Andrews ของ Gainsborough มาเป็นตัวอย่าง

นอกจากนั้น เบอร์เกอร์ยังพูดถึง aura ของ วอลเตอร์ เบนจามิน เขาวิเคราะห์ประวัติศาสตร์สังคมของรูปถ่าย และขยายด้านที่เป็นอุดมการณ์ให้เข้ากับสมัยมากขึ้น รูปถ่ายกำลังมีอิทธิพลสูง ทั้งในแง่ที่เป็นศิลปะแบบใหม่ และที่เห็นกันดาษดื่นในสื่อมวลชน เช่น หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และภาพยนตร์

ในช่วงนั้น โฆษณาเป็นอาวุธสำคัญของทุนนิยม มีจุดเด่นคือขายความหรูหราและชอบอ้างออร่าทางศิลปะ จึงถูกชำแหละอย่างถึงกึ๋น และในขณะเดียวกัน ก็แสดงความขัดแย้งเมื่อปรากฏบนสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น การใช้รูปผลิตภัณฑ์เสริมความงามกับรูปผู้ลี้ภัยจากปากีสถานลงคู่กันในนิตยสาร ความขัดแย้งนี้จะเสี้ยมสอนให้คนมึนชาและเกิดสำนึกว่าไม่รับผิดชอบต่ออะไร

การวิจารณ์ Venus and Mars จบลงด้วยคำเตือนว่า :

“อย่าลืมว่าผมและโปรแกรมนี้กำลังดัดแปลงรูปภาพให้เป็นไปตามใจชอบ รูปภาพก็เหมือนถ้อยคำ คุณโต้ตอบกับมันไม่ได้ คุณต้องรับภาพและความหมายที่ถูกผมจัดแจงเอาไว้แล้ว ผมได้แต่หวังว่าคุณคงมองออกและไม่เชื่อไปทั้งหมด”

ในการดัดแปลงหนังทีวีสี่ตอนให้กลายเป็นหนังสือเจ็ดบท ปีเตอร์ บิลัก ดีไซเนอร์ ชื่อดังเคยเขียนอย่างยกย่องว่านี่เป็นตัวอย่างของการดัดแปลงงานจากสื่อหนึ่งไปอีกสื่อหนึ่ง

เขาบอกว่า งานแบบนี้มักจะไม่ประสบความสำเร็จ เช่น รักษาเนื้อหาได้แต่ไร้บริบท แต่เล่มนี้ทำได้เพราะรู้จักใช้ข้อจำกัดของสิ่งพิมพ์ เช่น ถ้าหนังใช้ความเงียบ หนังสือก็จะใช้จังหวะการพลิกหน้ากระดาษ

เช่น เพื่อบอกว่าภาพของแวนโก๊ะนั้น มองได้หลายแบบ เขาจะเริ่มจากการวางรูป “ทุ่งข้าวโพดและนกที่กำลังบินขึ้นฟ้า” ไว้ตรงส่วนล่างของหน้า บอกว่า “ใช้เวลามองรูปนี้สักนิด แล้วค่อยพลิกหน้า” และเมื่อพลิกไป ผู้อ่านก็จะเจอรูปเดียวกัน แต่บอก (ด้วยลายมือ) ว่า “นี่เป็นรูปที่แวนโก๊ะวาดก่อนจะฆ่าตัวตาย” วิธีง่ายๆ นี้ช่วยอธิบายอิทธิพลของถ้อยคำต่อรูปภาพได้ดี

ทีมทำหนังสือเล่มนี้ ซึ่งมี สเวน บูมเบิร์ก ศิลปิน, ไมเคิล ดิบบ์ คนทำหนัง, ริชาร์ด ฮอลลิส ดีไซเนอร์ และเพื่อนชื่อ คริส ฟอกซ์ มีส่วนสำคัญทุกคน การจะบอกว่าแต่ละคนทำอะไรนั้นยาก เบอร์เกอร์จึงใส่ชื่อทุกคนและแบ่งค่าต้นฉบับเป็นห้าส่วนเท่าๆ กัน

ริชาร์ด ฮอลลิส ใช้ตัวพิมพ์ Univers 65 ซึ่งเป็นตัวหนาทั้งหมด ทั้งนี้ก็เพื่อเน้นเนื้อหาให้สำคัญเท่ารูปภาพ ซึ่งอาจจะก้าวไปถึงขั้นที่อาจจะอธิบายตัวเองได้ แต่ก็ไม่ขัดขวางการอ่าน บางบทมีแต่รูปอย่างเดียว นอกจากนั้น การที่ทุกรูปไม่มีคำบรรยายและเครดิต ทำให้ผู้อ่านไม่มีทางอ่านแบบผ่านๆ วิธีเดียวคือต้องอ่านเนื้อ แล้วจึงพิจารณารูปภาพ

ทุกวันนี้ หนังสือมีอายุกว่า 40 ปีแล้ว แต่ก็ยังขายดี ตัวอย่างบางอันอาจจะล้าสมัย แต่วิธีการใช้ภาพถ่ายแบบนั้นก็ยังคล้ายเดิมและหัวข้อที่เกี่ยวกับเพศสภาพ และเชื้อชาติก็ยังร่วมสมัย ดังนั้น การบอกว่าหนังสือเล่มนี้เป็นมาร์กซิสต์อาจจะคับแคบเกินไป

ในแง่ที่เป็น feminist นอกจากจะใช้คำว่า she บอกเพศของรูปภาพแล้ว ยังมีประโยคแบบ “Men look at women. Women watch themselves being looked at.” ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลป์ในแบบอื่นๆ ตามมา และนับเป็นก้าวแรกๆ ของการศึกษาศิลปะโดยใช้ cultural theory


เมื่อ จอห์น เบอร์เกอร์ สิ้นชีวิตลง มีคนเขียนถึงมากมาย ผลงานที่มีทั้ง บทวิจารณ์ศิลปะและนิยายอีกหลายเล่มทำให้เขาเป็นที่ยกย่องอย่างสูง

โจนาธาน โจนส์ นักวิจารณ์ศิลปะคนหนึ่ง ซึ่งเคยใช้ Ways of Seeing ในสมัยเรียนปริญญาตรี บอกว่า เหตุหนึ่งที่ทำให้ศิลปะกลายเป็นป๊อป คือ ศิลปินรุ่นนั้นได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ เดเมียน เฮิร์ตส์, ดัดกลาส กอร์ดอน และ เจเรมี่ ดิลเลอร์ จะเล่นกับศิลปะและสื่ออย่างรุนแรง และทำให้พวกนี้โด่งดังขึ้นมา

นอกจากนั้น เพื่อชี้ความร่วมสมัยของมัน เขายังได้เอารูปข่าวเด่นในรอบปี เช่น ทรัมป์, การชุมนุมประท้วง, หมีขาว และคาร์ดาเชี่ยน ฯลฯ มาเป็นตัวอย่างและวิเคราะห์ด้วยวิธีเดียวกัน

ทุกวันนี้ ถ้าเป้าหมายคือกระตุ้นให้ดีไซเนอร์และศิลปินตั้งคำถาม หรือพาศิลปะให้ก้าวไปเกินกว่าที่ตาเห็น Ways of Seeing ของ จอห์น เบอร์เกอร์ ก็ยังเป็นหลักไมล์ที่สำคัญ