ประชา สุวีรานนท์ : ‘Ways of Seeing’  วัฒนธรรมทางสายตา (1)

จอห์น เบอร์เกอร์ นักเขียนชาวอังกฤษเสียชีวิตเมื่อวันที่ 2 มกราคมปีนี้ขณะอายุได้เก้าสิบปี

ผลงานของเขามีมากมาย ทั้งตำรา บทวิจารณ์และนิยายหลายเล่ม

แต่ที่เด่นที่สุดคือ Ways of Seeing หนังสารคดีที่สร้างและออกฉายทางโทรทัศน์โดย BBC ในปี พ.ศ.2517 มีสี่ตอน แต่ละตอนยาว 30 นาที

หนังสือที่มาจากบทหนังถูกใช้ในวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ และนับแต่ออกมา หนังชุดนี้ต้องฉายในโรงเรียนศิลปะทุกแห่งและหนังสือเล่มนี้ก็ต้องให้นักเรียนศิลปะอ่านกันทุกคน

Ways of Seeing พยายามพลิกโฉมประวัติศาสตร์ศิลป์และชี้ให้เห็น “อคติ” ต่างๆ ในการมอง

ผู้เขียนซึ่งเป็นพรีเซ็นเตอร์ของหนัง ปรากฏตัวด้วยผมทรงรากไทร

สวมเชิ้ตลายดอกและไม่กลัดกระดุมเม็ดบน

มีฉากหลังเป็นชั้นหนังสือและสัญลักษณ์ของความรู้ต่างๆ เขาพูดกับกล้องหรือผู้ชมโดยตรง ค่อยๆ อธิบายความคิดและทุบทำลายความเชื่อแบบบูชัวส์ทีละน้อย

และไม่ได้โฟกัสที่จิตรกรรมภาพใดภาพหนึ่งเป็นการเฉพาะ

แต่ตั้งคำถามกับขนบของประวัติศาสตร์ศิลปะยุโรปทั้งหมด

และพูดถึงวิธีเข้าใจศิลปะที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน

ก่อนหน้านี้ Civilisation ของ Kenneth Clark ซึ่งทำเป็นหนังของ BBC เช่นกันยังมีอิทธิพลมาก งานของเบอร์เกอร์เป็นการท้าทายกับงานชุดนี้

เขาปฏิเสธบทบาทที่ไฮโซของนักประวัติศาสตร์ศิลป์ ที่เอาแต่ยกย่องศิลปะในแง่ยิ่งใหญ่ ขรึมขลัง และดีงาม ในแง่เทคนิคหรือวิธีใช้สื่อก็ต่างกัน

การวางกล้องใน Civilisation บอกว่าศิลปะเป็นของสูงศักดิ์สิทธิ์ มีไว้บูชาหรือชื่นชม แต่ใน Ways of Seeing ศิลปะเป็นสิ่งที่เราสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้

เบอร์เกอร์บอกว่าการวิจารณ์ยุคก่อนหน้านั้นหยุดอยู่แค่สไตล์และเทคนิค ซึ่งทำให้ศิลปะ “หลุดโลก” จนเกินไป

สำหรับเขา ศิลปะกำลังเคลื่อนย้ายจากวัด วังและแกลเลอรี่

ถูกเทคโนโลยีเอาไปตีกินและเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวัน

ผลที่เกิดขึ้นคือมีบทบาทมากขึ้น ซึ่งอาจจะควบคุมและปลดปล่อย มากขึ้นก็ได้ ทั้งนี้แล้วแต่ผู้ชม

หน้าสุดท้ายซึ่งมีรูปของมาร์กริตต์ ชื่อ On the Threshold of Liberty บอกว่า : “To be continued by the reader…”

พลังของ Ways of Seeing คือให้ความสำคัญกับการมองเห็น

เบอร์เกอร์บอกไว้ตั้งแต่บนปกหน้าเลยว่า มนุษย์เป็นสัตว์ชอบมอง และถูกสอนให้รู้จักมองก่อนอ่าน

เขาพูดถึงอิทธิพลรูปภาพหรือ image และวัฒนธรรมรูปภาพหรือ visual culture ที่กำลังครองโลก

ในช่วงนั้น การสื่อสารด้วยภาพครอบคลุมทั่วโลกแล้ว หากเทียบกับตัวหนังสือ

รูปทวีความสำคัญขึ้นมาก อิทธิพลของสื่อและ visual culture กำลังมาแรง

วาทะของ มาร์แชล แม็กลูฮัน ที่ว่า The Medium is the Massage ก็เป็นที่รู้จักและทุกคนกำลังสนใจเรื่องสื่อมากกว่าสาร

Ways of Seeing แตกต่างจากขนบ เช่น ต่อต้านการแบ่งแยกศิลปะออกเป็นสูงกับต่ำ ซึ่งท้าทายกับงานของคล้าก

แต่ที่สำคัญคือบอกว่า หัวใจของศิลปะไม่ใช่แค่สารของผลงานหรือแค่ประวัติศิลปิน แต่เป็นรูปแบบหรือสื่อของมันเช่นการปรากฏในผืนผ้าใบและย้ายไปติดตั้งในที่ต่างๆ ได้

เมื่อหลุดออกจากการแบ่งแบบเดิม เขาจึงสามารถเอากระบวนการประวัติศาสตร์ศิลป์มาวิเคราะห์รูปอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะศักดิ์สิทธิ์หรือป๊อปแค่ไหน

พูดอีกอย่าง วิเคราะห์จิตรกรรมราวกับเป็นเซลฟี่ และวิเคราะห์เซลฟี่ราวกับเป็นจิตรกรรม

เขาให้ความสำคัญแก่ “สื่อ” หรือมีเดียไม่น้อยไปกว่า “สาร” สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าจิตกรรม อาจจะเป็นรูปโฆษณาทั้งในนิตยสารและโทรทัศน์และรูปข่าวที่อยู่ในสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งตอนนี้ อาจจะหมายถึงรูปในเฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม และอินเตอร์เน็ต รวมทั้งเซลฟี่

  จุดเด่นของ Ways of Seeing คือมีมุมมองแบบ “ซ้าย” หรือเน้นด้านสังคมการเมืองของศิลปะมาก

เช่น ในขณะที่ทุนนิยมทำหน้าที่ขูดรีด หน้าที่ของศิลปะคือกดขี่ หรือล้างสมองให้เราเป็นข้าราษฎร์หรือผู้บริโภคที่ดี ผู้หญิงถูกทำให้เป็นวัตถุทางเพศ และประวัติศาสตร์ศิลป์เป็นเรื่องหลอกลวง รวมทั้งการนำเชิงอุดมการณ์ (cultural hegemony) ซึ่งเป็นหัวข้อที่เคยไหลเวียนอยู่ในโลกฝ่ายซ้ายยุคก่อน

ด้วยมุมมองนี้ เขาวิเคราะห์จิตรกรรมตะวันตกมากมาย

และเริ่มใช้ภาษาเฟมินิสต์เช่น “she” เพื่อระบุเพศและพูดถึงรูปผู้หญิงหลายๆ รูป

อาจจะเช่นเดียวกับนักประวัติศาสตร์ศิลป์รุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แม้จะมีผลงานเป็นภาษาอังกฤษ แต่ที่ดังๆ เช่น Edwin Panofsky หรือ EH Gombrich ต้องเป็นคนที่มีสำเนียงยุโรปตะวันออก ในช่วง 70s จะเป็นนักประวัติศาสตร์ศิลป์ต้องมีสำเนียงกบฏ

ในแง่นี้ คล้ายกับ วอลเตอร์ เบนจามิน ผู้เชื่อว่าจุดมุ่งหมายของศิลปะคือการเมือง และอนาคตอยู่ในสื่อใหม่ๆ อย่างรูปถ่ายและภาพยนตร์

เบอร์เกอร์ยกย่องให้ The Work of Art in the Age of Mechanical Reproduction โดยเฉพาะเรื่อง aura ของงานศิลปะเป็นที่มาของงานชุดนี้

แต่ถ้าเทียบกับงานของนักเขียนเยอรมัน บทหนังของนักเขียนอังกฤษคนนี้เข้าใจง่ายกว่ามาก

ในขณะเดียวกันก็คล้ายกับของ มาร์แชล แม็กลูฮัน ตรงที่เชื่อว่าสื่อมีอิทธิพลมากว่าสารหรือเนื้อหา ซึ่งในยุคนั้น รูปถ่ายและภาพยนตร์อาจจะเป็นสื่อเก่าไปเสียแล้ว ทีวีต่างหากที่ใหม่กว่า สิ่งนี้ทำให้งานของแม็กลูฮันน่าสนใจ

พูดอย่างง่ายๆ เบอร์เกอร์คือ เบนจามิน+แม็กลูฮัน และไม่ได้ซ้ายอย่างไร้เดียงสา เขาพูดถึงสิ่งที่กำลังก่อตัวเป็นกระแสในโลกศิลปะ เช่น อิทธิพลของการโฆษณาและโทรทัศน์ ประเด็นเพศสภาพและเชื้อชาติ รวมทั้งภาพลวงตาเกี่ยวกับเสรีภาพในระบบทุนนิยม

ข้อเสนอที่สำคัญที่สุดคือ จุดมุ่งหมายของศิลปะไม่ใช่สารที่ศิลปินอยากจะส่ง (หรือการโชว์ออฟของศิลปิน) แต่คือสิ่งที่ผู้ชมอ่านหรือตีความ ซึ่งมีได้หลายแบบ