มุกดา สุวรรณชาติ : การทำลายล้างทางการเมืองในนาม “ความยุติธรรม”

มุกดา สุวรรณชาติ

ปล่อยให้นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร อยู่ถึง 5 ปี กำจัดออกจากการเมืองไม่ได้แม้ผ่านมาเกิน 10 ปีแล้ว

ปล่อยให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อยู่ 2 ปีครึ่ง คนยังถามถึงจนทุกวันนี้

นายกฯ สมัคร สุนทรเวช และนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ไม่มีโอกาสสร้างผลงาน ก็โดนกำจัด

แคนดิเดตนายกฯ อย่างธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กลุ่มอำนาจเก่าเห็นนโยบาย ก็อยากกำจัดออกไปจากการเมืองเร็วที่สุด แม้เข้าสภายังไม่ยอม

 

ระดับของการกำจัดทางการเมือง

ระดับหนักสุด…จากฉบับที่แล้วจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสมัยนายกฯ ทักษิณโดนทั้งอำนาจทหารและอำนาจกระบวนการยุติธรรม ไม่เพียงหลุดจากตำแหน่งนายกฯ แต่เมื่อถูกลงโทษทางคดีอาญาก็ไม่สามารถกลับมาประเทศไทยได้ นี่เป็นการกำจัดคู่แข่งทางการเมืองแบบที่แน่นอนซึ่งใช้กันมาในสมัยอดีต นายกฯ แต่ละคนที่ถูกรัฐประหาร มักจะต้องไปลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ

ส่วนนายกฯ ยิ่งลักษณ์แม้มีคะแนนเสียงเกินครึ่งและได้เป็นรัฐบาลก็ถูกถอดถอน หลุดจากตำแหน่งนายกฯ แต่สุดท้ายไม่สามารถเปลี่ยนรัฐบาลได้จึงต้องใช้กำลังทหารทำการรัฐประหาร และฟ้องร้องดำเนินคดีจนต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ

ระดับธรรมดา ให้หลุดจากตำแหน่ง…และตัดกำลัง

จะพบว่าอำนาจของกระบวนการยุติธรรมสามารถเปลี่ยนสถานการณ์การเมืองให้พลิกกลับได้ เช่นกรณีของนายกฯ สมัคร สุนทรเวช กรณีนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และมีการยุบพรรคการเมืองทั้งไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย ที่บังอาจมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เป็นการตัดกำลัง และข่มขวัญ

ทั้งยังสามารถพลิกสถานการณ์จัดตั้งรัฐบาลใหม่

 

5 ปี คสช.มีอำนาจเหนือทุกฝ่าย

เพราะมาตรา 44 และใช้คำสั่ง คสช.เป็นกฎหมายได้

ฝ่ายกระบวนการยุติธรรมก็ยอมรับอำนาจของ คสช.2557

เหมือนที่ยอมรับ คมช.2549

หลังการรัฐประหารอำนาจของคณะรัฐประหารมีมากมายและใช้ได้เร็วกว่าอำนาจกระบวนการยุติธรรม การใช้อำนาจกระบวนการยุติธรรมจึงลดลง และอำนาจนี้ไม่สามารถใช้กับคณะรัฐประหารได้ แต่ยังใช้กับคู่แข่งทางการเมืองของผู้มีอำนาจได้เหมือนเดิม เราจึงเห็นการใช้อำนาจเพื่อเปลี่ยนทางการเมือง หรือเพื่อปกป้อง และรักษาอำนาจ จากปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ผ่านลักษณะการใช้อำนาจ 2 แบบคือ

1. ไม่ให้มีผู้ต่อต้านอำนาจรัฐและโครงสร้างการปกครอง โดย คสช.นำเอง

การรัฐประหารถือว่าไม่ผิด เพราะรัฐธรรมนูญที่บอกว่าผิดถูกฉีกทิ้งไปแล้ว แต่คนที่ต่อต้านคณะรัฐประหารผิด เพราะขัดคำสั่ง คสช. และ รธน.2557

ดังนั้น จึงปรากฏผู้ที่มีความผิดฐานไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง เช่นนายจาตุรนต์ ฉายแสง นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ทอม ดันดี วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ฯลฯ มีการฟ้องและดำเนินคดี ส่วนใหญ่ก็ถูกปรับและรอลงอาญา คือศาลจะพิพากษาจำคุกประมาณ 6 เดือน ปรับประมาณ 10,000 บาท ยกเว้น จิตรา คชเดช เพราะอยู่ต่างประเทศ

ผู้ต้องหาอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีจำนวนมากคือพวกฝ่าฝืนการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนและทำกิจการต่อต้าน คสช. ตามรายงานของ iLaw มีประมาณ 400 คน

มีทั้งเป็นกลุ่มตั้งแต่ 10-20 คน และคดีที่เป็นคนเดียว จากกิจกรรมในประเภท เช่น ชู 3 นิ้วต่อต้านรัฐประหาร ที่ กทม.และที่เชียงราย ทำกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติที่อุดรฯ สุรินทร์ หนองบัวลำภู แพร่ สกลนคร ทำกิจกรรมรำลึกวันที่ 24 มิถุนายน ชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้ง

ส่วนใหญ่จะมีโทษแค่ปรับ โทษจำคุกก็รอลงอาญา ภายหลังเมื่อคำสั่งห้ามชุมนุมถูกยกเลิกคดีก็ยุติ

อีกกลุ่มประมาณ 100 กว่าคนก็ถูกข้อหาปลุกปั่นยุยงตามมาตรา 116 เช่นคดี นายจาตุรนต์ ฉายแสง แถลงการณ์ต่อผู้สื่อข่าวต่างประเทศ สมบัติ บุญงามอนงค์ Facebook ชักชวนประชาชนต้านรัฐประหาร บางกลุ่มจัดกิจกรรมพลเมืองรุกเดินต่อต้านรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บางคนโพสต์ Facebook วิจารณ์ คสช. บางคนถ่ายรูปถือขันน้ำสีแดงและมีภาพทักษิณ แต่คดีนี้อัยการไม่ฟ้อง บางกลุ่มใส่เสื้อสีดำมีสัญลักษณ์สหพันธรัฐไท

อีกกลุ่มก็เป็นคดีมาตรา 112 มีประมาณ 98 ราย มีจำนวนหนึ่งได้รับการปล่อยตัวหลังฝากขังครบ 84 วัน ที่ถูกจำคุกจะถูกจำคุกประมาณ 2 ปี 6 เดือนถึง 5 ปี ที่จำคุกเกินกว่า 20 ปีมีเพียง 3 ราย

ทั้งนี้ ไม่รวมถึงผู้ที่ถูกลงโทษในคดี 112 ที่เกี่ยวกับการแอบอ้างสถาบันเรียกรับผลประโยชน์อีก 37 ราย เช่น คดีหมอหยอง

การใช้มาตรา 44 ของคณะรัฐประหารมีอำนาจเหนืออำนาจทุกฝ่ายอยู่แล้ว ดังนั้น ไม่ว่าจะโยกย้ายข้าราชการระดับไหนก็ทำได้ทุกอย่าง

ถ้าจะมีพลาดที่เห็นได้ชัดก็คือเรื่องการยึดสัมปทานเหมืองทองคำอัครา เพราะงานนี้การตัดสินความขัดแย้งมิได้ใช้องค์กรในประเทศไทยเป็นผู้ตัดสิน ถ้าแพ้คดีขึ้นมาต้องชดใช้ค่าเสียหายหลายหมื่นล้าน ใครจะเป็นผู้ชดใช้

2. การใช้อำนาจขององค์กรต่างๆ ที่มีผลโดยตรงหรือโดยอ้อมต่อคู่แข่งทางการเมือง

หลังการรัฐประหาร 2557 เราได้เห็นผลกระทบคู่แข่งทางการเมืองสำคัญ 3 รายคือ

2.1 อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แม้หลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ความที่เป็นบุคคลที่มีประชาชนชื่นชม มีคะแนนเสียงดีมาก ถ้าหากทิ้งเอาไว้ก็จะกลายเป็นคู่แข่งที่สำคัญ ขืนปล่อยให้ลงเลือกตั้งได้คะแนนก็จะท่วมท้นเพราะการเลือกตั้งครั้งก่อนขนาดไม่มีคนรู้จัก ใช้เวลาไม่กี่วันก็ทำคะแนนได้มากมาย

ดังนั้น นายกฯ ยิ่งลักษณ์ต้องไม่มีโอกาสลงสมัครรับเลือกตั้งและไม่ควรให้มีโอกาสมาช่วยหาเสียง เป้าหมายการกำจัดนายกฯ ยิ่งลักษณ์ให้ออกจากวงการเมืองจึงจะต้องถูกทำให้สำเร็จก่อนมีการเลือกตั้ง

23 มกราคม 2558 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่ง คสช.แต่งตั้ง ลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายโครงการจำนำข้าว ส่งผลให้ยิ่งลักษณ์ต้องเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี

19 มีนาคม 2558 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรับฟ้องยิ่งลักษณ์คดีจำนำข้าว

โดยกล่าวหาว่าละเลยไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท

29 ธันวาคม 2558 ป.ป.ช.มีมติให้ข้อกล่าวหาต่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, สุเทพ เทือกสุบรรณ, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ. กับพวกสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ตกไป ส่วนกรณีเจ้าหน้าที่ที่กระทำเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีจำเป็น จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ถือเป็นความรับผิดเฉพาะตัว

17 กุมภาพันธ์ 2560 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ยกฟ้องอภิสิทธิ์-สุเทพออกคำสั่ง ศอฉ. สลายชุมนุมปี 2553 ถือว่าไม่ได้กระทำในฐานะส่วนตัว เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ต้องให้ ป.ป.ช.เป็นผู้ชี้มูล

27 กันยายน 2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาลับหลังในคดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว มีคำพิพากษาจำคุก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นเวลา 5 ปี

2.2 กรณียุบพรรคไทยรักษาชาติ

เป็นที่รู้กันอยู่ว่าแยกออกมาจากพรรคเพื่อไทยมีจุดประสงค์ที่จะสร้างคะแนนปาร์ตี้ลิสต์เพื่อให้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวนหนึ่ง เพราะถ้าหากรวมกันอยู่เป็นพรรคใหญ่ เมื่อได้ ส.ส.เขตจำนวนมากก็จะไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เป็นการแก้เกมที่ฝ่ายตรงข้ามร่างกฎเกณฑ์การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่ให้เป็นแบบพิสดารที่เรียกว่าจัดสรรปันส่วนผสมเพื่อให้พรรคเล็กๆ ที่แพ้การเลือกตั้งได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มบ้าง จะได้สามารถดึงมาร่วมรัฐบาล

7 มีนาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดฟังคำวินิจฉัย กรณีพรรคไทยรักษาชาติเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี มีลักษณะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์สั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ และมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิทางการเมืองแก่คณะกรรมการบริหารพรรค 10 ปี และห้ามจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นเวลา 10 ปี และห้ามใช้ชื่อซ้ำ และชื่อย่อเกี่ยวกับพรรคการเมืองนี้เป็นเวลา 10 ปี

การตัดสินครั้งนี้ฝ่ายตรงข้ามคิดว่าเป็นการตัดกำลังคู่แข่งถือว่าตัดแขนข้างหนึ่งของพรรคเพื่อไทยทิ้งก่อนการเลือกตั้งไม่กี่วัน

แต่นับเป็นการประเมินผิดพลาดครั้งใหญ่ เพราะผลก็คือ คะแนนทั้งหมดเมื่อกลับคืนไปให้พรรคเพื่อไทยไม่ได้ เพราะไม่ได้ลงสมัครในเขตนั้นๆ แต่ก็สามารถตีกลับไปให้พรรคใหม่ๆ อย่างเช่น อนาคตใหม่ เสรีรวมไทย หรือพรรคการเมืองอื่นๆ ได้

มีผลให้พรรคอนาคตใหม่มีคะแนนบวกเพิ่ม และไม่ต้องตัดคะแนนกับไทยรักษาชาติ พลิกกลับมาชนะ ส.ส.ได้หลายเขต

2.3 กรณีหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เดิมบุคคลนี้ยังไม่ใช่เป้าหมายหลัก แต่เมื่อแสดงทัศนะทางการเมือง นโยบายทางการเมืองการปกครอง ซึ่งกลุ่มอำนาจเก่ามองว่าจะเป็นภัยแก่ตัวเองเพราะมีลักษณะก้าวหน้ามากเกินไปกว่าที่พวกเขาจะรับได้ แต่ก็ยังไม่กลัวเท่าไร จนกระทั่งผลการเลือกตั้งออกมาพบว่าได้ ส.ส.ถึง 81 คนมาเป็นอันดับ 3 ได้รับความนิยมจากคนหนุ่มสาวมากมายจึงถือว่าเป็นอันตรายที่ต้องกำจัดออกจากวงการเมืองเช่นเดียวกับนายกฯ ยิ่งลักษณ์ อยู่ในระดับถูกจัดหนัก

20 พฤศจิกายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ “ธนาธร” พ้นสมาชิกภาพ ส.ส. ตั้งแต่ 23 พฤษภาคม 2562 จากกรณีถือครองหุ้นสื่อบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด การไม่ให้นายธนาธรทำหน้าที่ ส.ส.จึงเป็นไม้แรกของการสกัดกั้น จากนั้นก็มีการฟ้องร้องต่อศาลอาญา

นี่เป็นเรื่องปกติที่ทำการพรรคฝ่ายตรงข้ามมาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบันมองจากเป้าหมายนี้แล้วพวกเขาหวังกำจัดบทบาทของธนาธรไม่ให้เคลื่อนไหวทางการเมือง

 

ตุลาการภิวัตน์ส่งผลกระทบทางการเมืองอย่างสำคัญ

22 เมษายน 2559 การเสวนาที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ.ปิยบุตรได้เสนอ

ผลกระทบของตุลาการภิวัตน์ ต่อทางการมือง (สรุปย่อๆ 4 รูปแบบ)

ผลกระทบต่อกลุ่มแรกคือ การเข้าไปจัดการนักการเมืองโดยตรง กำจัดนักการเมืองที่ถูกมองเป็นศัตรู เป็นภัยต่อชนชั้นนำจารีตประเพณี ต่อประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กลุ่มนี้คือ การยุบพรรค เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 5 ปี การปลดนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง ยึดทรัพย์สิน ผลคือนักการเมืองเหล่านี้ต้องถูกขับออกไปจากการเมือง ไม่ถาวรก็ชั่วคราวระยะเวลาหนึ่ง แล้วรัฐบาลต้องล้มลง ต้องมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล

กลุ่มที่สอง ส่งผลทำลายความชอบธรรมของรัฐบาล โดยธรรมชาติขององค์กรยุติธรรม เราไม่สามารถตัดสินคดีที่ปลดรัฐบาลล้มรัฐบาลได้อยู่บ่อยๆ ข้อจำกัดมันมี ถ้าทำมากๆ อาจทำให้เสียหายได้ แต่มันก็มีวิธีอยู่คือ มีคำตัดสินออกมาแล้วมันไปบั่นทอนความชอบธรรมของรัฐบาลหรือเปิดช่องให้องค์กรอื่นเล่นงานได้ต่อ

เช่น การตัดสินว่าการย้ายคุณถวิล เปลี่ยนศรี เข้ามาเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายประจำ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลังจากนั้นก็มี ส.ว.กลุ่มหนึ่ง เอาผลนี้ไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้มีการปลดคุณยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่งนายกฯ

กลุ่มที่สาม คำตัดสินที่ส่งผลปกป้องแดนอำนาจของตัวเอง รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นหัวใจของพวกเขา พอรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีเสียงข้างมากชูธงจะเข้ามาแก้ เริ่มแก้ปุ๊บก็ถูกขวางทันที ถามว่าทำไมต้องขวาง เพราะถ้าแก้กลับไปเลือกตั้ง ส.ว.ทั้งหมด คนที่จะมีอันเป็นไปคือ องค์กรอิสระทั้งหลายนี่แหละ จะต้องถูกเปลี่ยนหมดแน่นอน เพราะ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งจะเป็นคนเข้ามาเลือก

ดังนั้น จึงปล่อยไม่ได้ การแก้ ส.ว.จึงเป็นเหมือนกล่องดวงใจ เราถึงเห็นการตีความแบบพิสดารว่า การแก้รัฐธรรมนูญโดยเปลี่ยนให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดเป็นการได้มาซึ่งอำนาจโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย หลังจากนั้นมาเป็นชุด แก้มาตรา 190 ก็ไม่ให้แก้ แก้เรื่องยุบพรรคก็ไม่ให้แก้ นี่คือการป้องกันแดนอำนาจของตัวเอง เพราะถ้าเสียส่วนนี้ไป บางองค์กรจะพลิกโฉมทันที (ให้คอยดูการแก้ รธน.2560 ที่กำลังจะเกิดขึ้น ว่าจะทำได้หรือไม่)

กลุ่มที่สี่ คำตัดสินที่ส่งผลให้เกิดสุญญากาศ เช่น ตอนรัฐบาลทักษิณ สมัคร สมชาย ยิ่งลักษณ์ มันจะมีการชุมนุมต่อต้าน จุดประสงค์ของผู้ชุมนุมต่อต้านไม่ได้ต้องการให้ยุบสภา เพราะเขามองว่ายุบแล้วเลือกตั้งใหม่ได้พวกเดิมกลับมา เขาจะบอกปฏิรูปก่อนบ้าง เสนอ ม.7 เสนอนายกฯ พระราชทานบ้าง แต่อยู่ดีๆ เสนอไม่ได้ มันต้องเกิดสุญญากาศก่อน การเป็นรัฐบาลรักษาการก็คือเข้าสู่สภาวะสุญญากาศ และทั้งสองครั้งจบด้วยการรัฐประหาร

นี่คือผลกระทบในทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่เรียกว่า ตุลาการภิวัตน์

ข้อสรุปนี่มีมาประมาณ 3 ปีก่อนเลือกตั้ง และ อ.ปิยบุตรก็คงไม่คิดว่าตนเองจะถูกผลกระทบนี้ด้วย

ขณะนี้เกิดความไม่สมดุลในอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ซึ่งแก้ไม่ได้ เพราะความไม่สมดุลนั้น ไม่ใช่แค่ระบบ แต่สามารถเอียงไปตามตัวบุคคล ตามกลุ่ม

เมื่อมาตรฐานความยุติธรรมยังไม่เกิดขึ้นในสภาพการเมืองที่ติดล็อก รัฐบาลเสียงไม่มาก รัฐธรรมนูญแก้ไม่ได้ เศรษฐกิจมองไม่เห็นทางฟื้น ผู้คนยากลำบากทั้งประเทศ เมื่ออีกฝ่ายคุมทุกอำนาจ การต่อสู้ดิ้นรนของผู้คนก็จะไร้รูปแบบ สะสมแรงกดดันที่ได้รับทุกวัน ใครทนไม่ได้ก็ฆ่าตัวตายไป ที่ยังอดทนได้ก็รอวันปะทุ ซึ่งทุกคนในสังคมต้องรับผลร่วมกัน แต่จะเป็นแบบประเทศใดยังไม่รู้