มองบ้านมองเมือง/ ปริญญา ตรีน้อยใส /มองผู้ว่าฯ กทม.

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส

มองผู้ว่าฯ กทม.

จนบัดนี้ ไม่มีใครรู้ว่า คนกรุงเทพฯ จะมีโอกาสเลือกผู้ว่าฯ เมื่อไหร่ มีแค่ข่าวว่า หลายคนอาสาจะมาเป็นผู้ว่าฯ ทั้งแบบสังกัดพรรคบ้าง ทั้งแบบอิสระบ้าง
แต่จะว่าไป คนกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้สนใจไยดีกับการเลือกผู้ว่าฯ เพราะรู้ดีว่า ผู้ว่าฯ คนไหนก็แก้ปัญหาไม่ได้
ด้วยภาระหลักที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะต้องแก้ไข แม้จะมีแค่ปัญหา จราจร น้ำท่วม สิ่งแวดล้อม และคนจนเมืองเท่านั้น แต่ล้วนเป็นเรื่องหนักๆ ทั้งนั้น ด้วยพื้นที่มากกว่าพันห้าร้อยตารางกิโลเมตร มีประชากรอยู่รวมกันสิบกว่าล้านคน และนักท่องเที่ยวอีกกว่าเท่าตัว
ที่จริงภาระหน้าที่ผู้ว่าการ ผู้ว่าราชการ หรือนายกเทศมนตรี ไม่ว่าเมืองไหน นครไหน มหานครไหน คือการดูแลให้ผู้คนในพื้นที่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
เริ่มตั้งแต่ บ้านอยู่อาศัยและชุมชนโดยรอบ การเดินทางติดต่อและขนส่งสินค้า ระบบสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา บำบัดของเสีย สถานบริการต่างๆ ทั้งสถานศึกษา พยาบาล และที่พักผ่อนหย่อนใจ รวมไปถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะการป้องกันภัยพิบัติต่างๆ
ซึ่งกรุงเทพฯ โชคดีไม่ต้องเจอกับภัยธรรมชาติรุนแรง อย่างพายุหมุน แผ่นดินไหว หรือภูเขาไฟระเบิด
แต่ทว่ากรุงเทพมหานครในปัจจุบัน การสร้างที่อยู่อาศัย ถนนหนทาง ไฟฟ้า ประปา และบริการ รัฐบาลมอบให้กระทรวงทบวงกรมรับผิดชอบเกือบทุกอย่าง ภาระที่เหลือประชาชนหรือภาคเอกชนก็รับไปดูแลกันเอง
ภาระงานของผู้ว่าฯ เลยเหลือไม่กี่เรื่อง แต่เมื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งอยากเอาใจประชาชน จึงพยายามเสนอนโยบายอะไรมากมาย ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ทำอะไรก็ไม่ได้

อย่าง สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เชื่อมคนทั้งสองฝั่งพระนครและธนบุรีเข้าด้วยกันนั้น น่าจะมีแต่ สะพานพระรามแปด เท่านั้น ที่เป็นผลงานของ กทม.
ส่วนสะพานอื่นๆ เริ่มตั้งแต่ สะพานพุทธฯ มาจากพระราโชบายพัฒนาประเทศของพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
สะพานพระรามหก เป็นเรื่องของกิจการรถไฟเชื่อมหัวเมืองทางใต้ของพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
สะพานพระรามเก้า เป็นส่วนหนึ่งของระบบทางด่วนฯ
ส่วนสะพานอื่นที่มีอยู่หรือกำลังจะสร้าง ล้วนมาจากแผนพัฒนาระบบทางหลวงเชื่อมกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัดของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม
หรือไม่ก็เป็นแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย ส่วนสะพานที่ กทม.คิดจะสร้าง ดูเหมือนว่า จะเจอชาวบ้านคัดค้านทั้งนั้น
ระบบขนส่งมวลชนทั้งลอยฟ้าและใต้ดิน ระบบขนส่งมวลชน รวมทั้งรถประจำทางปรับและไม่ปรับอากาศ รถสองแถว รถเมล์เล็ก รถตู้ รถแท็กซี่ รถตุ๊กตุ๊ก เรือด่วน เรือเมล์ ล้วนขึ้นอยู่กับกระทรวงทบวงกรมต่างๆ
การจัดการจราจรและการควบคุม ก็อยู่ในมือของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานอย่างประปา ไฟฟ้า ที่เป็นอุปสรรคต่อการสัญจร ก็อยู่นอกเหนือการสั่งการ
ถนนหนทาง ถ้าเป็นทางด่วน ก็มีการทางพิเศษฯ ดูแล
ถนนสายหลักๆ อย่าง แจ้งวัฒนะ รัตนาธิเบศร์ รามอินทรา ก็เป็นของกรมทางหลวง
ถนนสายเล็ก ตรอกซอยก็เป็นของหมู่บ้านจัดสรร
กทม.ก็ดูเฉพาะถนนที่เหลือ และทำได้แค่ปรับผิวจราจร ทำสะพานลอย ตีเส้นถนน ติดป้ายบอกทางเท่านั้น

กรณีที่อยู่อาศัย โชคดีที่พื้นฐานสังคมไทย ชาวบ้านเป็นฝ่ายจัดหาด้วยตนเองตลอดมา จึงเหลือเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยเท่านั้น รัฐบาลก็มีนโยบายบ้านเอื้ออาทร ให้การเคหะแห่งชาติรับไปดูแล แต่ก็ยังไม่ทั่วถึง รัฐบาลเลยให้กรมธนารักษ์ไปช่วยอีกแรง
ในขณะที่คน กทม.ส่วนใหญ่รับภาระซื้อหาเช่าที่อยู่อาศัยกันเอง กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ก็ช่วยจัดการ ควบคุม จัดระเบียบให้ยุ่งยาก ลามไปจนถึงวางผังชุมชน และบำบัดของเสีย ยังมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม มลภาวะต่างๆ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจแบ่งผลประโยชน์ช่วยกันดูแลไฟฟ้า ประปา และโทรศัพท์
กทม.เจ้าของพื้นที่ ไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้อง ทำได้แค่รอคนทิ้งขยะและรับจดทะเบียนบ้านเท่านั้น
เอาเป็นว่า ถ้าผู้สมัครทุกคนยังมองปัญหา กทม.แบบเดิมๆ โดยไม่เปลี่ยนมุมมองหรือกระบวนการคิดแล้วละก็ บอกได้เลย เลือกผู้ว่าฯ คนไหนก็ได้ เพราะมีผลเหมือนกัน
คือ แก้ปัญหา กทม.ไม่ได้

การเลือกผู้ว่าฯ ก็แค่ใช้ความรู้สึกส่วนตัวแทนเหตุและผล แบบว่าชอบคนไหน หน้าตาแบบไหนก็ได้ทั้งนั้น
คิดเสียว่า ผู้ว่ากรุงเทพมหานครก็คล้ายกับเจ้าหน้าที่เทศกิจแก่และหอบ
เพราะสูดควันพิษมานานจนปอดทะลุ
ยืนหน้าตู้ควบคุมสัญญาณคอมพิวเตอร์ที่ไม่รู้ทำอะไร ป้อมที่บริจาคโดยมูลนิธิอาบอบนวด ตรงกลางสี่แยก ใต้รางรถไฟลอยฟ้า เหนือสถานีรถไฟใต้ดิน ใกล้โรงเรียนฝรั่ง
วันๆ จึงได้แต่มองรถเก๋งจอดตรงที่ห้ามจอด เพราะต้องรอรับลูก ซื้อหมูปิ้งอาบไอเสียรถยนต์ จากแผงลอย บนทางเท้าเท่านั้นเอง