บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ / เมื่อนักการเมือง (ไทย) ‘อภิมหารวย’ พูดถึงความเหลื่อมล้ำ-ไม่เท่าเทียม

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

เมื่อนักการเมือง (ไทย) ‘อภิมหารวย’
พูดถึงความเหลื่อมล้ำ-ไม่เท่าเทียม

ปัญหาความเหลื่อมล้ำ รวยกระจุก จนกระจาย เป็นปัญหาอมตะของทั่วโลกที่มักถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงอยู่เสมอ เพราะสถานการณ์ที่เป็นอยู่นั้น คนรวยมากที่สุดของโลกนี้ที่มีจำนวนเพียง 1% กลับครอบครองทรัพย์สินหรือความมั่งคั่งประมาณ 80% ของความมั่งคั่งของคนทั้งโลกรวมกัน
สภาพการณ์ที่ว่านี้แทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีก็ตาม
และที่สำคัญเกิดขึ้นกับทั้งประเทศที่ปกครองด้วยประชาธิปไตยและเผด็จการ
ในสหรัฐอเมริกาเอง ซึ่งครองแชมป์เศรษฐีโลกทุกปีในแง่ของมูลค่าทรัพย์สิน ก็เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ระหว่างคนจนกับคนรวยค่อนข้างมากอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก
สวนทางกับความเป็นประเทศประชาธิปไตยที่เน้นความเท่าเทียม และยังคอยบงการให้ประเทศอื่นเป็นประชาธิปไตย
เมื่อปี 2554 หรือประมาณ 3 ปีหลังเกิดวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ในสหรัฐ ที่ทำให้คนอเมริกันธรรมดาต้องตกงาน หมดเนื้อหมดตัวไปค่อนข้างมากจากฝีมือของพวกวอลล์สตรีต และความล้มเหลวของหน่วยงานรัฐในการกำกับดูแลธรรมาภิบาลของบริษัทการเงินยักษ์ใหญ่
ทำให้คนอเมริกันออกมาเดินขบวนโดยใช้ชื่อว่า Occupy Wall Street (ยึดวอลล์สตรีต) ต่อต้านความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ต่อต้านความโลภของพวกนายทุน และเรียกร้องให้มีการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรมมากขึ้น
พวกเขาสวมเสื้อยืดและถือป้ายบอกว่า “พวกเราคือคน 99%” ซึ่งก็หมายถึงคนอเมริกันธรรมดาทั่วไป ในขณะที่พวก 1% คือพวก “โคตรรวย” ที่อยู่ในวอลล์สตรีต
ผู้ประท้วงปักหลักอยู่ใกล้ตลาดหลักทรัพย์ในมหานครนิวยอร์ก จากนั้นก็แพร่ไปหลายๆ จุดในอเมริกา ก่อนที่ต่อมาจะเกิดกระแส Occupy ไปทั่วโลก
แต่บัดนั้นจนถึงบัดนี้ จะเห็นได้ว่าสัดส่วน คนรวยมากกับคนธรรมดาของทั้งโลกและอเมริกา ยังไม่เปลี่ยนแปลง พวก 1% ก็ยังครอบครองทรัพย์สินส่วนใหญ่เหนือคนทั้งโลกหรือคนทั้งประเทศรวมกัน

ในเมืองไทยก็มีสภาพเดียวกันคือคนรวยสุดๆ เพียง 1% ครอบครองความมั่งคั่งส่วนใหญ่เอาไว้
ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ เป็นหนึ่งในประเด็นหาเสียงที่สำคัญของพรรคการเมือง เพราะไม่ว่าจะพูดมุมไหนล้วนถูกใจคนส่วนใหญ่ที่มีฐานะธรรมดาไปจนถึงยากจน ฟังแล้วเคลิบเคลิ้มตาม
แต่ที่ผ่านมาก็พิสูจน์ว่านักการเมืองรวยๆ บางคน เข้ามาเพื่อกอบโกย ไม่ได้เป็นไปตามคำสัญญาที่ว่า “ผมรวยแล้ว ผมพอแล้ว”
ส่วนพรรคคนรุ่นใหม่อย่างอนาคตใหม่ ดูเหมือนได้เน้นย้ำประเด็นความเหลื่อมล้ำเป็นพิเศษเช่นกัน โดยเฉพาะตัวหัวหน้าพรรคคือธนาธร ก็ได้กล่าวถึงปัญหารวยกระจุก จนกระจาย การผูกขาดของนายทุน
ล่าสุดที่ฮือฮามากก็คือการจัดกิจกรรม “อยู่ไม่เป็น” ของพรรคนี้ไปเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งพรรคนี้ได้อธิบายความหมายของกิจกรรมนี้ว่าเป็นการต่อต้านความไม่เป็นธรรมต่างๆ ต้องมีความเป็นกบฏ ไม่ใช่อยู่ไปวันๆ ไปตามน้ำ อยู่ในกรอบเดิมๆ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น เกิดความเท่าเทียม
มีการจัดอภิปรายในหัวข้อต่างๆ เช่น “อยู่เป็น โลกไม่เปลี่ยน” โดยพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ / “ประชาชนใต้อำนาจทุน” โดยศิริกัญญา ตันสกุล / “ประชาชนใต้อำนาจปืน” โดยวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส่วนธนาธร หัวหน้าพรรค กล่าวถึงจุดหมายของการตั้งพรรค
ซึ่งก็มีการเอ่ยถึงการทำให้ชีวิตของประชาชนดีขึ้น มีความเท่าเทียมกัน

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ มีทรัพย์สิน 126 ล้านบาท หากมาพูดในหัวข้อ “ประชาชนใต้อำนาจทุน” ก็จะดูย้อนแย้ง เพราะกิจการของครอบครัวของก็ถือว่าเป็นนายทุนใหญ่คนหนึ่ง เนื่องจากที่บ้านประกอบกิจการน้ำมันรำข้าวรายใหญ่อันดับ 3 ของไทย
ดังนั้น หัวข้อนี้จึงถูกมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของศิริกัญญา ซึ่งเธอแจ้งทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.ว่ามี 4.5 ล้านบาท แต่ที่จริงครอบครัวของเธอก็มีอันจะกินมากทีเดียวเพราะมีกิจการรถเมล์
ยิ่งถ้าให้ธนาธรมาพูดหัวข้อ “ประชาชนใต้อำนาจทุน” ก็จะยิ่งดูเข้าเนื้อเข้าไปใหญ่ เพราะว่าทรัพย์สินส่วนตัวของธนาธร (ไม่รวมของตระกูล) ที่แจ้งไปไว้กับ ป.ป.ช.คือ 5 พันกว่าล้านบาท ขณะที่มารดาของธนาธร ถูกจัดให้เป็นอภิมหาเศรษฐีไทยอันดับ 28 มูลค่าทรัพย์สิน 4 หมื่นกว่าล้านบาท
การที่ธนาธรมีทรัพย์สินมากขนาดนี้ เป็นเพราะก่อนหน้านี้ “อยู่เป็น” หรือเปล่า ก็ลองคิดทบทวนดู ไม่ใช่ว่า “อยู่เป็น” จนรวยแล้วตอนนี้มาบอกว่าขอ “อยู่ไม่เป็น” และการ “อยู่เป็น” ก่อนหน้านี้ของธนาธร มีส่วนสร้างความเหลื่อมล้ำหรือไม่
เป็นเรื่องดีที่ธนาธรและคนในพรรคนี้ อยากลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ แต่ต้องไม่ลืมว่าความเหลื่อมล้ำนั้นส่วนหนึ่ง เกิดจากคนรวยขยายการครอบครองทรัพย์สินมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีเงินจะซื้อทรัพย์สินและลงทุนมากกว่าคนอื่น ที่มักพูดกันว่าคนรวยอยู่แล้วยิ่งรวยขึ้น ส่วนคนจนก็ยิ่งจนลง ช่องว่างก็ยิ่งถ่างมากขึ้น
หากธนาธรคิดจะแก้ปัญหานี้ ควรเริ่มต้นจากใคร ถ้าไม่เริ่มจากตัวเอง เพราะดูเหมือนว่า “นายทุน” ที่ธนาธรชี้นิ้วใส่ หมายถึงเจ้าสัวและนายทุนคนอื่นๆ ยกเว้นตัวธนาธรเอง ทั้งที่นับเฉพาะทรัพย์สินส่วนตัวของธนาธรนั้นก็เข้าข่ายคน 1% ของประเทศนี้แล้ว
หากอยากจะกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ นายทุนอย่างธนาธรควรจะลดการถือครองทรัพย์สินเพื่อเป็นตัวอย่างเสียก่อนจึงจะเกิดความน่าเชื่อถือและเห็นถึงความจริงใจ

การลดความเหลื่อมล้ำตามหลักการต้องทำในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการกระจายการศึกษาให้ทั่วถึง การกระจายทุน การให้บริการสาธารณสุข การคมนาคมที่ประชาชนเข้าถึงได้ การกระจายการถือครองที่ดิน เป็นต้น แต่อย่าลืมว่าหนึ่งในประเด็นสำคัญที่จะสร้างความเป็นธรรมก็คือคนรวยต้องเสียภาษีเงินได้สูงๆ
นอกจากนี้ ก็อาจมีเรื่องการเก็บภาษีมรดก ภาษีที่ดินเพื่อป้องกันการถือครองที่ดินมากเกินไปของพวกนายทุน ซึ่งเรื่องเหล่านี้รัฐบาลชุดปัจจุบันทำอยู่แล้ว แต่หากพรรคอนาคตใหม่ต้องการปฏิรูปเรื่องนี้อย่างจริงจัง ควรจะเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้เข้มข้นขึ้น
แต่คำถามคือธนาธรและพรรคจะกล้าพอหรือไม่ เพราะทั้งหมดจะไปกระทบกิจการของครอบครัวธนาธรเอง

หากธนาธรรู้สึกผิดที่ถือครองความมั่งคั่งมากเกินไปและอยากลดความเหลื่อมล้ำ หนทางดีที่สุดและเร็วที่สุดโดยไม่ต้องรอเป็นพรรครัฐบาลหรือรอมีตำแหน่งทางการเมือง คือบริจาคทรัพย์สินสัก 4 พันล้านไปใช้ในสาธารณประโยชน์ เช่น ซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้โรงพยาบาลที่ห่างไกล มอบทุนการศึกษาให้ผู้ด้อยโอกาส ซื้อตั๋วรถเมล์ รถไฟ แจกคนจน เป็นต้น
ถ้าทำได้จะเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมและสร้างแรงบันดาลใจหรือแรงกดดันให้เศรษฐี นายทุนคนอื่นๆ รู้สึกอยากเสียสละ คายทรัพย์สินออกมากระจายสู่สังคมส่วนใหญ่บ้าง
หรืออย่างน้อยก็ควรออกมาเป็นแนวหน้าในการเสนอให้เก็บภาษีทรัพย์สินคนรวยเยอะๆ แบบที่กลุ่มเศรษฐีอเมริกันทำ
ดังที่เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2560 เมื่อกลุ่มเศรษฐีอเมริกันที่รวยที่สุด 400 คนทำจดหมายส่งถึงสภาคองเกรส เพื่อขอให้รัฐบาลทรัมป์ยกเลิกการลดภาษีคนรวย แต่ขอให้เก็บภาษีพวกเขามากขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
หลังจากรัฐบาลทรัมป์ได้ปรับโครงสร้างภาษีที่ถูกมองว่าลดภาษีให้คนรวย
แต่สุดท้ายทรัมป์ก็ไม่ได้ยกเลิก
ต่อมาเดือนมิถุนายนปีนี้ กลุ่มเศรษฐีเหล่านี้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงผู้จะลงชิงชัยเลือกตั้งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งครั้งต่อไปที่จะมีขึ้นในปลายปีหน้า เรียกร้องในเรื่องเดียวกัน คือขอให้เพิ่มการเก็บภาษีความมั่งคั่งจากพวกเขา
“ภาษีความมั่งคั่งจะช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน ยกระดับเศรษฐกิจ สร้างโอกาสที่เท่าเทียม เสริมสร้างเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย การเก็บภาษีความมั่งคั่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศของเรา สหรัฐมีหน้าที่รับผิดชอบตามหลักศีลธรรมและเศรษฐกิจ ในการเก็บภาษีความมั่งคั่งจากพวกเราเพิ่มขึ้น”
นี่คือส่วนหนึ่งของจดหมาย