ฟังจากปาก “โดม ปกรณ์ ลัม” ฟังเรื่องที่ “ผมไม่จำเป็นต้องแคร์”

“เราก็เป็นคนหนึ่งที่ชอบการถ่ายรูป แต่การถ่ายของเราเป็นแบบมือสมัครเล่นทั่วๆ ไป ถ่ายไปเรื่อย จนวันหนึ่งรู้สึกว่าอยากทำโปรเจ็กต์ดีๆ เพื่อสังคม อย่างที่เราอยากทำ ปีอื่นก็จะทำเรื่องอื่นมาทุกปี ปีนี้เลยมองว่า ทำไมเราไม่เอาเรื่องที่เป็นงานอดิเรกมาทำให้เป็นประโยชน์”

นั่นจึงเป็นที่มาของโครงการ Picture Perfect-พิคเจอร์ เพอร์เฟ็คต์ ที่เขาถ่ายรูปบุคคลที่มีชื่อเสียง อาทิ ตูน บอดี้สแลม, เป๊ก ผลิตโชค, พลอย เฌอมาลย์, อนันดา, ปู พงษ์สิทธิ์, โต้ง Twopee Southside, เจเจ กฤษณภูมิ, ต้าเหนิง กัญญาวีร์ ฯลฯ

จากนั้นก็เปิดให้ผู้สนใจประมูลเพื่อนำรายได้โดยไม่หักค่าใช้จ่ายมอบให้มูลนิธิรามาธิบดี เพื่อผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย

ซึ่งเขาก็ได้มอบเงินจำนวน 1 ล้านบาทไปให้แล้ว ด้วยความภาคภูมิใจ

ในฐานะคนชอบถ่ายรูป โดมบอกด้วยว่า สำหรับเขา การถ่ายภาพคราวนี้ให้ความรู้สึกแตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา และด้วยเหตุนั้นเขาจึงเรียกงานครั้งนี้ว่า Picture Perfect ดังว่า

“พิคเจอร์ เพอร์เฟ็คต์ มันเหมือนคำพ้อง ความหมายเวลาเราเรียนภาษาอังกฤษที่จะมีเทนต์ต่างๆ Present Tense, Past Tense แต่ความหมายจริงๆ ที่ผมเลือกใช้คือหมายถึงรูปหนึ่งรูปสามารถเป็นอะไรได้มากกว่าแค่กระดาษที่ปรินต์ภาพลงไป ในความรู้สึกของผม ภาพถ่ายถ้าเป็นแค่การถ่ายรูป แล้วเอาไปติดบนฝาผนัง มันก็คงไม่ได้มีคุณค่าอะไร ความหมายของรูปนั้นคงไม่ได้เกิดขึ้นมา แต่ครั้งนี้ทุกครั้งที่กดชัตเตอร์ ผมไม่ได้มองเห็นแค่รูปบุคคลที่ผมจะถ่าย แต่กำลังมองเห็นเม็ดเงินที่จะได้จากการประมูล เพื่อส่งต่อให้ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย”

เขายังบอกอีกว่า ตั้งใจจะทำโปรเจ็กต์ดีๆ แบบนี้อย่างน้อยปีละหน “แบบให้เป็นเรื่องเป็นราวในเชิงสังคมด้วยตัวของผมเอง”

นั่นหมายถึงว่าทำเป็นงานใหญ่ประจำปี ไม่นับถึงการที่จะพาแฟนคลับไปทำบุญ แทรกไปพร้อมงานเลี้ยงสังสรรค์ หรือไปร่วมกิจกรรมเพื่อสังคมกับองค์กรหรือเพื่อนดาราคนอื่นๆ

ที่คิดแบบนี้ โดมในวัย 40 ปีบอกว่าน่าจะเป็นผลมาจากการที่แม่พร่ำบอก

“คุณแม่บอกเสมอว่าโดมโชคดีที่มาอยู่ตรงนี้ และโดมก็มีโอกาสที่ดี จึงจะต้องรู้จักที่จะให้สังคม ทุกวันนี้โดมได้อะไรมาเยอะ ที่โดมต้องการทุกๆ อย่าง ฉะนั้น ทำไมเราไม่ทำในสิ่งที่คนอื่นอาจจะทำได้ไม่เท่าเรา การเป็นกระบอกเสียง หรือการกระจายต่างๆ ทำสิ ตรงนี้แม่พูดตั้งแต่โดมยังเด็ก เหมือนเป็นการปลูกฝัง แต่ตอนนั้นเรายังไม่ได้ตกผลึกว่าจะไปทำยังไง จับต้นชนปลายยังไม่ถูก ก็ได้แต่ไปจอยกับพี่ๆ เขา หรือองค์กรที่เขามีอะไรยังไง จะไม่ปฏิเสธเลยถ้าเราว่างในวันนั้น”

การทำเรื่องแบบนี้ โดมบอกว่า สำหรับเขาในทางหนึ่งก็เป็นการเติมเต็มความรู้สึกดีๆ ในใจว่า “อย่างน้อยเราก็ได้ทำอะไรบ้างที่เป็นประโยชน์”

เรื่องเป็นประโยชน์ซึ่งในความคิดของเขา “มันเป็นหน้าที่ของทุกคน”

“ผมไม่ได้รู้สึกว่าเป็นหน้าที่ของใครคนหนึ่ง หรือของหน่วยงาน ขององค์กร ถ้าเรามัวแต่มองอย่างนั้น ตายพอดี เพราะเราเป็นคนในสังคม เป็นส่วนหนึ่งในสังคม เราคือฟันเฟืองหนึ่งที่จะขับเคลื่อนสังคม ถ้าเราคิดไม่ดี ทำไม่ดี แล้วมีอย่างเราอีก 10 คน 100 คน 1,000 คน ไม่แย่หรือ”

“แล้วถ้าเราเลือกได้ ว่าจะทำดีหรือไม่ดี ทำไมไม่ทำให้ดีล่ะ คือถ้าส่วนตัวจะทำแย่บ้าง ไม่เป็นไร นั่นเรื่องของตัวเอง แต่ภาพของสังคมต้องช่วยกันสิ เพราะมันหมายถึงบ้านที่เราอยู่ สังคมคือบ้าน คนคือประเทศ สังคมก็คือเรา เราก็คือสังคม สิ่งที่เป็นเลือดเนื้อซึ่งกันและกัน”

ที่พูดนั้น เขาไม่ได้หมายถึงแค่การทำโปรเจ็กต์เพื่อการกุศล หรือทำอะไรเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นเท่านั้น แต่หมายถึง “ทุกเรื่อง ทุกเรื่องครับ”

“ซื้อของ 5 ชิ้น 10 ชิ้น ต้องเอาถุงไหม ดื่มน้ำไม่ต้องใช้หลอดก็ได้มั้ง” คือตัวอย่างที่ยกประกอบ

“มันเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ถ้าช่วยกันทำ ต้องดีแน่” เขาว่า

“ผมเองเมื่อก่อนแปรงฟันเปิดน้ำตลอด เพราะรู้ว่าเราจ่ายค่าน้ำน่ะ ไม่เห็นเป็นไรเลย เผื่อยาสีฟันกระเด็นเข้าตาก็ล้างได้ แต่ไปๆ มาๆ ไม่ใช่นะ น้ำไม่ใช่เงินเรา น้ำเป็นของโลก ของประเทศ ตอนนี้เขื่อนหลักก็เหลือน้ำอยู่ไม่มาก ถ้าแล้งแล้วยังไงล่ะ แล้งแล้วเราก็คือส่วนหนึ่งในนั้นนะ ส่วนไฟ ก็ไม่ใช่แค่ค่าไฟแล้วเหมือนกัน ไฟคือพลังงาน ที่ก็ลิงก์ไปเรื่องอื่นๆ เรื่องเล็กๆ ที่เราคิด กลายเป็นวัฏจักรที่ใหญ่”

น้ำท่วมหนักที่จังหวัดอุบลราชธานีที่ผ่านมา ก็เป็นหนึ่งในผลจากการลิงก์เช่นกัน ผลจากการตัดไม้ทำลายป่า ผลจากการทิ้งขยะ ทำให้ท่ออุดตัน ฯลฯ ซึ่งมันเป็นลูกโซ่ไปหมด-เขาว่า

“ทุกคนต้องคิดได้ และต้องเริ่มทำแล้วครับ มันไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เรื่องของฉันแล้วจะทำไม ผมว่าไม่ใช่”

ด้วยเหตุนี้นอกเหนือจากโปรเจ็กต์พิคเจอร์ เพอร์เฟ็คต์ เขาจึงคิดอยากทำอะไรอีกหลายอย่าง เป็นการทำโดยไม่หวังผล และไม่สนใจเสียงวิจารณ์เรื่องทำดีเอาหน้าแบบที่ดารามักจะเจอ

“เรื่องนี้มันมีอยู่แล้วครับ” บอกพลางหัวเราะเบาๆ

“แต่ผมไม่จำเป็นต้องแคร์คนเหล่านั้น พวกคนที่เขาทำ ผมเชื่อว่าไม่มีใครทำเพื่อเอาหน้า แต่อย่างน้อยถ้าเขาทำเพื่อเอาหน้าอย่างที่ว่า วันนั้นเขาก็ทำ เขาก็ไปช่วยแล้วนะ ดีกว่าพูดให้ร้ายกันแล้วไม่ได้ทำอะไรเลย”

“ผมว่าไม่มีประโยชน์”