รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ/Toyota โชว์นวัตกรรมอนาคต Tokyo Motor Show 2019

รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ
https://www.facebook.com/ChokCyberAIEntertainment/

Toyota โชว์นวัตกรรมอนาคต
Tokyo Motor Show 2019

ความทันสมัยภายในงานโตเกียว มอเตอร์โชว์ 2019 ครั้งที่ 46 เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา นำความหลากหลายผลิตภัณฑ์และบริการล้ำหน้าความทันสมัยของนวัตกรรมของโตโยต้ากับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก
โดยปีนี้เปิดพื้นที่จัดแสดงนวัตกรรมยานยนต์และหุ่นยนต์ในอนาคต
เน้นยานยนต์และหุ่นยนต์ออกแบบมาเป็นพิเศษ เพื่อให้ความช่วยเหลือกับคนพิการทางร่างกาย รวมถึงผู้สูงอายุ
ภายใต้ธีม OPEN FUTURE สื่อให้เห็นว่างานในปีนี้เป็นยิ่งกว่ามหกรรมรถยนต์และจักรยานยนต์ ยานพาหนะเชิงพาณิชย์ และการจัดแสดงเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์
แต่ยังครอบคลุมถึงนวัตกรรมและพัฒนาการใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมอื่นๆ
โดยปีนี้แบ่งงานออกเป็น 4 โซน คือ


1. Future Expo ที่เป็นการจัดแสดงเทคโนโลยีสุดล้ำจากบริษัทและองค์กรกว่า 60 แห่ง ที่เป็นสมาชิกของสมาพันธ์เศรษฐกิจกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก จัดบนพื้นที่ของเมกาเว็บ (Megaweb) เพื่อให้ผู้ชมงานได้สัมผัสประสบการณ์ของโลกในอนาคตที่นำมาจัดแสดงกว่า 90 สเตชั่น
2. Open Road ทางเดินที่มีความยาว 1.5 ก.ม. เชื่อมโยงระหว่างพื้นที่จัดงานโตเกียวมอเตอร์โชว์ในอาริอาเกะและอาโอมิเข้าด้วยกัน เพื่อให้ผู้ชมงานได้สัมผัสกับโลกอนาคตกับต้นแบบยานยนต์ขนาดเล็กและยานยนต์ส่วนบุคคล สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า และล้อเลื่อนสำหรับเด็ก ตลอดจนยานยนต์ในรูปแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
3. e-Motorsports กิจกรรมที่จัดขึ้นบนเวที Mega Stage เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้สัมผัสกับประสบการณ์ขับขี่ทั้งในรูปแบบของยานยนต์จริงๆ และความตื่นเต้นเร้าใจแบบมอเตอร์สปอร์ตผ่านกิจกรรมอีมอเตอร์สปอร์ตอันหลากหลาย
และ 4. Out of KidZania in TMS2019 โดยร่วมกับคิดซาเนีย (KidZania) เด็กๆ จะได้ลองสวมบทบาทการทำงานในอาชีพต่างๆ ในบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ และผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคม โดยมีโซน City Where Kids Can Work จัดขึ้นในศูนย์จัดนิทรรศการอาโอมิ
เพื่อให้เด็กๆ ได้สัมผัสกับโลกของการดูแลรักษายานยนต์ โรงงานผลิตรถยนต์ การสร้างโมเดลรถยนต์ด้วยดินปั้น การควบคุมจากระยะไกล และสายงานอื่นๆ

โดยที่ยานยนต์ขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้าเป็นการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการขับเคลื่อนที่ในรูปแบบใหม่ ช่วยให้ชีวิตประจำวันได้รับความสะดวกสบายพร้อมทั้งช่วยเหลือคนพิการให้มีชีวิตที่ดีขึ้น
การขับเคลื่อนอันล้ำสมัยนี้ที่จะเกิดขึ้นระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกโตเกียว 2020 ทั้งวิสัยทัศน์สำหรับการขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้าใช้ระบบขับขี่อัตโนมัติแห่งอนาคต เพื่อเชื่อมต่อผู้คนกับสถานที่ในการแข่งขันที่อยู่รอบๆ ตัว
บูธขนาดยักษ์ของโตโยต้ามอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น เพื่อต้อนรับผู้คนที่เข้าเยี่ยมชมสวนสนุกแห่งการขับเคลื่อน หรือโมบิลิตี้ ธีมพาร์ก ภายในงานจะพบกับการจำลองในโลกอนาคต ด้วยนวัตกรรมยานยนต์และหุ่นยนต์ต้นแบบในโลกอนาคต
การจัดแสดงต่างๆ สะท้อนความมุ่งมั่นของการเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนการเคลื่อนที่ของมนุษย์ ผสมผสานกับการมอบความบันเทิงผ่านการจัดแสดง
เทคโนโลยีล่าสุดของการขับเคลื่อนภาพจำลองต่างๆ สัมผัสการเป็นผู้อยู่อาศัยในโลกอนาคต พร้อมเปิดประสบการณ์ของสังคมแห่งการขับเคลื่อนในอนาคต ยังมีเครื่องดื่มเสิร์ฟโดยหุ่นยนต์ ทดลองขี่ไม้กวาดอัจฉริยะ
พร้อมทั้ง มิไร เจเนอเรชั่นที่ 2 เป็นยนตรกรรมในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีพลังงานเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่เริ่มมีบทบาทมากขึ้น สู่การเป็นคู่แข่งด้านสมรรถนะในตลาดรถยนต์อย่างแท้จริง
อัลตร้า-คอมแพ็กต์ บีอีวี (Ultra-compact BEV) หรือยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ อัลตร้า คอมแพ็กต์ คำตอบของรูปแบบการขับเคลื่อนที่ตอบสนองความต้องการในการเดินทางระยะสั้นของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นสำหรับผู้สูงอายุ การใช้งานในองค์กร หรือในหน่วยงานรัฐบาลระดับท้องถิ่น
ส่วนของ “LQ” (แอลคิว) ยานยนต์ที่โตโยต้าแนะนำในงาน CES เมื่อปี พ.ศ.2560 ในฐานะยานยนต์ต้นแบบ คอนเซ็ปต์-ไอ (TOYOTA Concept-i) พร้อมทำให้ทุกคนเห็นถึงพลังของความสามารถในการขับขี่อัตโนมัติ ระดับ SAE Level 4 ที่ทำงานร่วมกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรถกับผู้ขับขี่ได้
นวัตกรรมหลักอันล้ำหน้านี้ยังใช้กับผลิตภัณฑ์ที่มีขนาดเล็กกว่า รวมทั้งแพลตฟอร์มหุ่นยนต์ที่ออกแบบเพื่อเพิ่มความสามารถของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ และผู้ที่มีข้อจำกัดด้านร่างกาย

มร.อากิโอะ โตโยดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ได้เปิดตัวอี-พาเลตต์ (e-Palette) ซึ่งเป็นรูปแบบการขับเคลื่อนพร้อมบริการต้นแบบ
ทั้งเผยถึงการมุ่งให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์และบริการ ที่ออกแบบเพื่อเพิ่มอิสรภาพในการขับเคลื่อนที่สำหรับทุกคน
การปรับเปลี่ยนดังกล่าวเป็นไปตามพื้นฐานเกี่ยวกับความเข้าใจแนวโน้มในสังคม ด้านทิศทางของเทคโนโลยี 4 ประการ ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายแบบเชื่อมต่อ (connected networks), ระบบอัตโนมัติ (automation), บริการระบบศูนย์กลางเพื่อกระจายข้อมูล (shared services) และระบบพลังงานไฟฟ้า (electrification) ที่เมื่อทำงานร่วมกัน จะสามารถทำให้เกิดความเป็นไปได้ของการขับเคลื่อนที่ในรูปแบบใหม่ๆ เหนือขอบเขตของยนตรกรรมแบบเดิม
เป็นยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ขับเคลื่อนแบบไร้คนขับ สำหรับบรรดานักกีฬาและเจ้าหน้าที่ของงาน ทั้งภายในย่านที่พักของนักกีฬาโอลิมปิกและของนักกีฬาพาราลิมปิก
ทีมพัฒนาการวิจัยระดับโลกของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และระบบการขับขี่อัตโนมัติกล่าวว่า เราตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเสริมความสามารถให้กับมนุษย์ มิใช่เพื่อทำหน้าที่แทนมนุษย์
ทั้งนี้ หุ่นยนต์ที่มีความสามารถในการช่วยเราทำหน้าที่ หรือยานยนต์ที่ช่วยให้ไม่เกิดการชนขณะขับ จะสร้างประโยชน์ให้กับปัจเจกบุคคลและให้กับสังคม เทคโนโลยีที่ช่วยทำให้ผู้สูงอายุยังสามารถอาศัยในบ้านตนเองได้อย่างมีเกียรติ
หรือทำให้เรามีความสุขยิ่งกว่าเคยไปกับการขับเคลื่อนส่วนบุคคล จะก่อให้เกิดคุณประโยชน์ทางด้านอารมณ์ความรู้สึกอย่างใหญ่หลวง
ยิ่งไปกว่านั้น หากมีทั้งสองสิ่งผสานกัน ประโยชน์ที่ได้รับทางด้านอารมณ์และทางกายภาพจะช่วยก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยี ที่จะเติมเต็มการใช้ชีวิตของมนุษย์