ปริศนาโบราณคดี : เสน่ห์ ผู้นำ และอำนาจ เช เกวารา vs ฟิเดล คาสโตร (1)

เพ็ญสุภา สุขคตะ
(FILES) Photo taken in the 60's of then Cuban Prime Minister Fidel Castro (R) during a meeting next to Argentine guerrilla leader Ernesto Che Guevara. AFP PHOTO/CUBA's COUNCIL OF STATE ARCHIVE / AFP PHOTO / CUBA's COUNCIL OF STATE ARCHIVE / -

ข่าวอสัญกรรมของ “ฟิเดล คาสโตร” อดีตผู้นำคิวบา เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2559 นั้น อาจกระตุ้นเตือนให้ใครหลายๆ คน อย่างน้อยก็ดิฉันคนหนึ่งล่ะ ที่ต้องหวนระลึกถึงเพื่อนรักนักปฏิวัติผู้ล่วงลับไปแล้วของฟิเดลอีกคนหนึ่ง

เขาผู้นั้นก็คือ “เช เกวารา”

ด้วยเหตุที่บุรุษสองคนนี้มีทั้งความเหมือนและความต่าง

เห็นคนหนึ่งทีไร มักอดไม่ได้ที่จะต้องคิดถึงอีกคนหนึ่งเสมือนเงาของกันและกันทุกที

โดยเฉพาะในมิติทั้งสามนี้คือ เสน่ห์ ผู้นำ และอำนาจ

Photograph taken on the early 60’s of Commander Raul Castro (R) and Commander Ernesto “Che” Guevara in Havana. / AFP PHOTO / BOHEMIA / HO

ว่าด้วยที่มาของชื่อ

“เช เกวารา” มีชื่อเต็มว่า Ernesto Che Guevara อ่านตามภาษาสเปนได้ว่า “แอร์เนสโต เช เกวารา” (แต่บางสำเนียง เช่น ในคิวบา ออกเสียงตัว V เป็นกึ่ง B จึงกลายเป็น “เกบารา” เช่นเดียวกับชื่อเมืองหลวงของคิวบา Havana คนทั่วไปอ่าน “ฮาวานา” แต่คนคิวบาออกเสียง “ฮาบานา”)

แอร์เนสโต คือชื่อจริงของบิดา, ส่วน เช เป็นชื่อจริงของเขา และ เกวารา เป็นนามสกุล

การวางตำแหน่งของนามทั้งสามนี้ค่อนข้างแปลก เพราะปกติชื่อต้นมักเป็นชื่อจริง ชื่อกลางมักเป็นนามสกุลของฝ่ายแม่ และชื่อหลังสุดเป็นนามสกุลฝ่ายพ่อ

บิดาของเขาชื่อ “แอร์เนสโต ลินซ์ เกวารา” มีเชื้อสายชาวไอริช ที่เข้ามาตั้งรกรากในอเมริกาใต้ มารดามีเชื้อสายสเปนชื่อ “ซีเลีย เดอ ลา เซอร์นา”

“ฟิเดล คาสโตร” มีชื่อเต็มว่า Fidel Alejandro Castro Ruz อ่านแบบภาษาสเปนว่า “ฟิเดล อาเลฆาน (ฮาน) โดร กาสโตร รุซ”

ฟิเดล เป็นชื่อจริง, อาเลฆานโดร เป็นชื่อรองซึ่งมีที่มา, กาสโตร คือนามสกุลฝ่ายบิดา (ภาษาสเปนออกเสียง ค เป็น ก แต่ในบทความนี้จะขอใช้ คาสโตร ตามที่คนไทยนิยม) และ รุซ เป็นนามสกุลฝ่ายมารดา

บิดาชื่อ อานเคล กาสโตร อี อาร์คิซ (Angel Castro y Argiz) และมารดาชื่อ ลีนา รุซ กอนซาเลซ (Lina Ruz Gonzalez)

ปัญหาคือ มารดาของฟิเดลเป็นหญิงรับใช้ในครอบครัวของบิดา ซึ่งแต่งงานกับภรรยาอีกคนหนึ่ง ทำให้ในวัยเยาว์ ฟิเดลอยู่ในสภาพของเด็กที่เป็นบุตรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย มารดาต้องพาเขาออกจาก “บ้านใหญ่” แยกออกไปฝากในสถานเลี้ยงดูเด็กกำพร้าที่ขาดพ่อและแม่

ฟิเดล จึงมีนามในวัยเด็กแค่สั้นๆ ว่า “Fidel Ruz” คือใช้นามสกุลของฝ่ายแม่ และต้องโตมาแบบชาวคาทอลิกที่ไม่มีโอกาสได้เข้าพิธีถือศีลล้างบาป (Baptist) ด้วยเหตุที่เป็นลูกนอกสมรส

Cuban leader Fidel Castro (C) leaves his hotel in Buenos Aires, surrounded by journalists and radio-reporters, 06 May 1959. He ended his visit to Argentina in a huff following a difference with the Argentinean governement. / AFP PHOTO

เขาเติบโตมาท่ามกลางความอับอายเป็นที่เย้ยหยันของเด็กคนอื่นๆ แต่ในที่สุด บิดาของเขาก็ยกเลิกการแต่งงานกับภรรยาคนแรก และหันมายอมรับแม่ของฟิเดลเป็นภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย จะด้วยเหตุผลกลใดก็มิอาจทราบได้ (เช่น ภรรยาหลวงเสียชีวิต หรืออะไรก็สุดจะคาดเดา) เนื่องจากเอกสารหลายเล่มไม่ระบุถึงเหตุการณ์ช่วงนั้น

ทราบแต่ว่า เมื่อฟิเดลอายุ 17 ปี เขาได้รับการเปลี่ยนนามสกุลอย่างเป็นทางการ โดยสามารถใช้คาสโตรจากฝ่ายพ่อนำหน้านามสกุลรุซของฝ่ายแม่ได้ แถมบิดายังตั้งชื่อรองให้เป็นขวัญหรือสิริมงคลอีกหนึ่งชื่อ นั่นคือ Alejandro

คำว่า Alejandro ภาษากลุ่มสเปน-โปรตุเกส ออกเสียงตัว J เป็นกึ่ง ฆ.ระฆัง กึ่ง ฮ.นกฮูก (เช่นเดียวกับชื่อศิลปินดัง Juan Miro อ่าน ฆวน มิโร หรือวรรณกรรมละตินอีกเรื่องที่เรามักอ่าน ดอนฮวน-ดอนฆวน) คำว่า อาเลฆานโดร หรือ อาเลฮานโดร นี้คือคำเดียวกันกับ Alexander นั่นเอง

โดยบิดาของเขาสารภาพต่อลูกชายว่า รู้สึกผิดที่ไม่ได้ให้ฟิเดลผ่านพิธีบั๊บติสต์ตั้งแต่เด็กๆ จึงขอชดเชยปมร้าวลึกนั้น ด้วยการน้อมนำชื่อของ Alexander The Great (ภาษากรีกเขียนว่า Megas Alexandros) หรือพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช กษัตริย์กรีกผู้พิชิตจักรวรรดิอียิปต์และเมโสโปเตเมีย มาตั้งเป็นชื่อรองให้ฟิเดล ทำให้เวลาเขียนชื่ออย่างเป็นทางการ มีความยาวถึง 4 นาม Fidel Alejandro Castro Ruz

ดูเหมือนว่าการได้รับมงคลนามว่า “อเล็กซานเดอร์” ในช่วงวัยรุ่นของฟิเดลนี้เอง น่าจะเป็นแรงขับ หรือแรงบันดาลใจอันใหญ่หลวง ที่ผลักดันให้เขารู้สึกทระนง ก้าวสู่ตำแหน่ง “แม่ทัพใหญ่อย่างภาคภูมิใจ”

Handout picture of Cuban leader Fidel Castro (C) delivering a speech next to Camilo Cienfuegos (R) and Ernesto Che Guevara (L) in 1959 in Havana. On 08 January 2008/ AFP PHOTO / CONSEJO DE ESTADO / HO

มาตุภูมิและอุปนิสัยวัยเยาว์

เช เกวารา เกิดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ.1928 (พ.ศ.2471 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 7) ในเมืองโรซาริโอ ซึ่งเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งของอาร์เจนตินา

เกิดมาได้ไม่นานพ่อแม่ก็ย้ายครอบครัวไปอยู่ที่กรุงบัวโนสไอเรส แต่เมื่อเชอายุได้ 2 ขวบ เขาเริ่มป่วยเป็นโรคหืด มีอาการเหนื่อยหอบอยู่ตลอดเวลา ทนอยู่ในนครหลวงอีกเพียง 2 ปี

เมื่ออายุ 4 ขวบก็ย้ายไปอยู่ในชนบทที่มีอากาศถ่ายเทอีกหลายเมืองกว่าจะลงตัว นับแต่คอร์โดมา และในที่สุดก็เลือกเมืองแอลตา กราเซีย ซึ่งเป็นเมืองภูเขาที่มีอากาศหนาว พอจะช่วยให้อาการหืดหอบลดน้อยลงบ้าง

จากอุปสรรคด้านสุขภาพในวัยเด็ก ทำให้แม้เมื่อเชมีอายุ 8 ขวบแล้วก็ยังไม่สามารถเข้าเรียนหนังสือเหมือนเด็กทั่วๆ ไปที่ถูกกำหนดเกณฑ์เข้าเรียนด้วยอายุ 7 ขวบ

มารดาได้ขอต่อรองกับโรงเรียนด้วยการขอใช้สิทธิ์สอนหนังสือให้ลูกที่บ้านแทน แล้วค่อยไปสอบเทียบเอา กว่าจะผ่านการเรียนระดับประถมต้นไปได้ ค่อนข้างทุลักทุเลพอสมควร แต่ด้วยความที่มารดาเป็นหญิงแกร่ง นางได้เคี่ยวเข็ญให้น้องชายและน้องสาวของเชช่วยกันคัดลอกวิชาต่างๆ ในชั้นเรียนของเช มาให้เชเรียนรู้ที่บ้าน

ด้วยเหตุนี้ เชจึงเติบโตมาด้วยการมีมารดาเป็นไอดอล มีจิตวิญญาณของนักต่อสู้ เป็นทั้งแม่บ้าน เป็นทั้งครู ผู้ให้กำลังใจ ไม่ทอดทิ้งเขาให้ไร้ซึ่งการศึกษา

ด้วยเหตุนี้เองกระมัง ช่วงที่เชต้องระหกระเหินต่อสู้ในป่า ไม่ว่าที่ใดๆ ก็ตามในมุมโลก ความที่เขาเห็นถึงคุณค่าของการศึกษา เชจึงมักอุทิศตนสอนหนังสือให้กับชาวนาและกรรมกรที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ โดยเขาเขียนบันทึกไว้อย่างดงามว่า

“ชาวนาและกรรมกร จะต้องมีชีวิตที่ดีขึ้น เริ่มจากต้องให้โอกาสเขาได้เรียนหนังสือ”

ช่วงที่เชต้องเก็บตัวอยู่กับโรคหอบที่บ้านในวัยเด็ก เป็นห้วงเวลาที่เขาบ่มเพาะความรักในการอ่านหนังสือ กระทั่งย่างเข้าสู่วัยรุ่น เขาสามารถเอาชนะโรคร้ายได้ ด้วยการหัดเล่นกีฬากับน้องชาย เชเริ่มร่าเริงมากขึ้น แต่ไม่เลิกการทำตัวเป็นหนอนหนังสือ

เพื่อนสนิทที่ทรงอิทธิพลต่อความคิดและรสนิยมของเขาในช่วงไฮสกูล หรือมัธยมปลายมีชื่อว่า “แอลแบร์โต กรานาดอส” ชอบชวนเขาขี่รถจักรยาน หรือส่วนมากเดินเท้าท่องเที่ยวไปตามชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อศึกษาสำรวจร่องรอยอารยธรรมโบราณของชาวอินเดียนแดงที่ยังคงหลงเหลืออยู่ก่อนที่พวกสเปนจะเข้ายึดครองอาร์เจนตินา

เชเคยตั้งความฝันกับเพื่อนสนิทคนนี้ไว้ว่า อยากเป็นนักประวัติศาสตร์หรือนักโบราณคดี

แต่ชะตาชีวิตหักเหให้แอลแบร์โตได้เรียนวิทยาศาสตร์ สาขาชีวเคมี และเชสามารถสอบเข้าเรียนวิทยาลัยแพทยศาสตร์ได้

การเดินทางไกลอย่างทรหด ด้วยใจที่เปี่ยมท้นมุ่งสืบหารากเหง้าของจิตวิญาณละตินอเมริกา ทำให้เชมีความรักที่จะแรมรอนลัดเลาะไปตามป่าเขาราวไม่มีที่สิ้นสุด

ชีวิตวัยเยาว์ของเชกับเพื่อนที่ชื่อ “แอลแบร์โต กรานาดอส” ในช่วงเวลานั้นนั่นเอง ที่ต่อมาช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้เขากลายเป็น “นักปฏิวัติเดินป่า หัวหน้าสงครามกองโจร” ผู้แข็งแกร่ง

ไร้เงาของเด็กขี้ป่วยเป็นปลิดทิ้งในอีก 15 ปีต่อมา

ฟิเดล คาสโตร อายุมากกว่าเช 2 ปี เกิดเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ.1926 (พ.ศ.2469) ถือกำเนิดในไร่อ้อยที่หมู่บ้านบีราน ใกล้เมืองมายารี ปัจจุบันคือจังหวัดโอลกิง ประเทศคิวบา (ยุคที่ฟิเดลเกิดเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดโอเรียนเต) บิดาเริ่มต้นชีวิตจากกรรมกรในโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาล ด้วยความขยันทำงานหนัก ค่อยๆ ถีบตัวจนกลายเป็นผู้มีอันจะกินในระดับหนึ่ง แต่ด้วยอุปนิสัยเจ้าชู้ จึงมีภรรยาสองคน

ดังที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า ในวัยเด็ก ฟิเดลต้องอยู่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ขาดความอบอุ่น ทำให้เขาไม่ค่อยรักการเรียนเท่าใดนัก แม้จะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ ผิดกับเชที่สามารถเอาชนะโรคหอบหืด กลายเป็นผู้คงแก่เรียน

ฟิเดลเขียนประวัติชีวิตตัวเองว่า เขาชอบเล่นกีฬาและทำอะไรสนุกๆ มากกว่าการก้มหน้าก้มตาเรียนหนังสือ เขาเลือกเรียนนิติศาสตร์ เหตุเพราะต้องการต่อสู้และลบปมเรื่องที่กฎหมายกีดกันการใช้นามสกุลบิดาให้แก่ “ลูกนอกสมรส”

ระหว่างเขากับเช ผู้คนที่ร่วมขบวนปฏิวัติในสงครามกองโจรคิวบาด้วยกัน ทุกคนย่อมรู้ดีว่า

เช เป็นนักคิด นักเขียน พูดน้อย เงียบขรึม เป็นนักวางแผน มักคอยบอกบทอยู่เบื้องหลังฟิเดลว่าควรทำอย่างไร ส่วนฟิเดลนั้น มีลีลาการพูดที่รุกเร้า ปลุกระดมมวลชนเก่ง ชอบจำนรรจา มีลักษณะคล้าย Lobbyist หรือนัก Pro Propaganda

สัปดาห์หน้ามาวิเคราะห์กันต่อไปว่า ไฉนการจากไปของ “ฟิเดล คาสโตร” จึงได้รับการกล่าวขวัญถึงในเชิงลบพอๆ หรืออาจจะมากกว่าเชิงบวก

กล่าวคือ ชีวิตของเขาได้รับการยกย่องพอๆ กับการถูกเย้ยหยัน ช่างแตกต่างไปจากคำสรรเสริญสดุดีแบบไร้ข้อแม้ที่โลกยังคงมีต่อวีรกรรมของชายที่ชื่อ “เช เกวารา” เสียจริง

ทั้งๆ ที่ทั้งสองเคยเป็นสหายร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่ กอดคอกันก้าวข้ามความตายเหมือนแมวเก้าชีวิต ไม่แตกต่างกันเลย