จรัญ มะลูลีม : นักศึกษาไทยมุสลิมในอินเดีย

จรัญ มะลูลีม

สถานทูตไทยในอินเดียภายใต้เอกอัครราชทูต ชุตินธร คงศักดิ์ อัครราชทูต ธีรภัทร มงคลนาวิน เลขาฯ เอก กฤชณรงค์ เสรีสวัสดิ์ จากสถานทูตไทยในประเทศอินเดียได้จัดโปรแกรมแนะแนวนักศึกษาไทยมุสลิมในอินเดียที่มาจากทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะนักศึกษาจากสามจังหวัดภาคใต้ของไทย

ทั้งนี้ หนึ่งในภารกิจของสถานทูตไทยในประเทศอินเดียที่มีความสำคัญคือการให้การดูแลคนไทยที่อยู่ในประเทศอินเดีย ซึ่งรวมทั้งนักศึกษาไทยที่ศึกษาอยู่ในประเทศอินเดียทุกคน

เนื่องจากมีนักศึกษาไทยมุสลิมจำนวนมากมาศึกษาต่อในประเทศอินเดียอย่างต่อเนื่องยาวนานอยู่ในสองมหาวิทยาลัยของอินเดีย ได้แก่ 1.มหาวิทยาลัยดารุลอุลูม นัดวาตุล อุลามาอ์ (Darul Uloom Nadwatul Ulama) ซึ่งมีนักศึกษา 61 คน และ 2.มหาวิทยาลัยมุสลิมแห่งเมืองอาลิการ์ (Aligarh Muslsim University) หรืออ่านตามภาษาอุรดูว่าอลิฆัร 144 คน

เป็นนักศึกษาชาวพุทธที่ได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลอินเดีย (ICCR) 1 คน

ทางสถานทูตไทยจึงเห็นความสำคัญของการแนะแนวนักศึกษาจากทั้งสองมหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ เมื่อนักศึกษาจากทั้งสองมหาวิทยาลัยกลับประเทศไทยแล้วจะได้มีช่องทางการทำงานในแขนงต่างๆ ที่นักศึกษาจะได้นำมาดำเนินชีวิตต่อไปในอนาคต

 

ผมเป็นผู้หนึ่งซึ่งสถานทูตที่มีนักศึกษามุสลิมเล่าเรียนอยู่ให้เกียรติเชิญไปเป็นวิทยากรเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและวางแผนสำหรับอนาคตข้างหน้าของนักศึกษามาแล้วหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอียิปต์ ซาอุดีอาระเบีย ปากีสถาน (ทั้งกรุงอิสลามาบัดและการาจี) กาตาร์ จอร์แดน รวมทั้งที่มีโอกาสไปพบนักศึกษาไทยในลิเบีย เยเมน ซูดาน ตุรกี ซีเรีย อิรัก และอิหร่าน ในวาระต่างๆ ของการเดินทางไปประชุมองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) และโอกาสอื่นๆ ที่มีโอกาสได้พบนักศึกษาไทยซึ่งศึกษาอยู่ในหลายประเทศ

ในการเดินทางไปพบปะนักศึกษาครั้งนี้ ทางสถานทูตไทยได้จัดโปรแกรมที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาของนักศึกษาไทยมุสลิมและอนาคตของพวกเขาเป็นอย่างมาก

และจัดโปรแกรมพบปะนักศึกษาทั้งสองแห่งได้อย่างเป็นระบบ

 

ผมเลือกเส้นทางการบินจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยสายการบินไทยสมายล์ เที่ยวบินที่ WE333 มุ่งตรงสู่ท่าอากาศยานเชาดูรี จรัญ ซิงห์ (Chauduri Charan Singh) แห่งเมืองลัคเนาว์ อันเป็นเส้นทางการบินที่ผมมีโอกาสบินตรงจากกรุงเทพฯ มายังเมืองแห่งวัฒนธรรมแห่งนี้เป็นครั้งแรก

โดยในปัจจุบันมีชาวอินเดียเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยปีละนับล้านคน และมีอยู่หลายรัฐของอินเดียที่เริ่มบินตรงสู่ประเทศไทย และจากประเทศไทยสู่อีกหลายรัฐของอินเดีย รวมทั้งรัฐอุตตรประเทศอย่างเมืองลัคเนาว์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐ

สำหรับเมืองลัคเนาว์ (Lucknow) เมืองหลวงของรัฐอุตตรประเทศ (UP) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของอินเดียเป็นรัฐที่มีประชากรมากที่สุดของอินเดีย

ลัคเนาว์ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมเมืองแห่งจรรยา อนุสาวรีย์ และมีบทบาทในการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของอินเดีย

ลัคเนาว์ที่มีประชากร 4.6 ล้านคน เป็นเมืองแห่งสวนอันสวยงาม เมืองแห่งบทกวี ดนตรี

อาหารของลัคเนาว์เป็นอาหารที่เลื่องชื่อในหมู่นักศึกษาที่มีวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์เกี่ยวพันกับเอเชียใต้

นอกจากนี้ เมืองลัคเนาว์ยังเป็นเมืองที่รู้จักกันดีในชื่อของ The City of Nawabs หรือเมืองของคหบดีมุสลิม (Nawabs) รู้จักกันดีในชื่อเมืองทองแห่งตะวันออก (Golden City of The East) เป็นชีราซแห่งอินเดีย (Sheraz-i-Hind) และเป็นคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) ของอินเดีย

ลัคเนาว์เป็นนครหลวงขนาดใหญ่ที่มีเครื่องอำนวยความสะดวกอยู่ในทุกมุมเมือง โรงเรียนที่มีชื่อเสียง โรงพยาบาลหลายแห่งของรัฐบาลและเอกชน สวนหย่อม พิพิธภัณฑ์ โรงงานและการให้การบริการด้านอุตสาหกรรม ห้องทดลองด้านการวิจัย

โดยมีแม่น้ำกุมตี (River Gomti) ไหลผ่านใจกลางของเมือง ทำให้บ้านเรือนที่อยู่รายล้อมแม่น้ำมีชีวิตที่เชื่อมโยงกับอาชีพที่มาจากแม่น้ำหลากหลายอาชีพ

 

สนามบินนานาชาติ เชาดูรี จรัญ ซิงห์ แห่งเมืองลัคเนาว์เชื่อมต่อกับทุกเมืองของอินเดียและอีกหลายๆ เมืองของเอเชีย

เมืองลัคเนาว์อยู่ห่างจากกรุงนิวเดลี 500 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากเมืองอัครา (Agra) อันเป็นที่ตั้งของอนุสรณ์สถานรักบันลือโลกทัชมาฮัล (Taj Mahal) 300 กิโลเมตร

การเชื่อมโยงเมืองลัคเนาว์กับเมืองหลวงแห่งชาติเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว โดยใช้เวลาเดินทางเพียง 50 นาที หรือถ้าเดินทางโดยรถยนต์ก็จะใช้เวลาบนทางด่วนยาวที่สุดในโลกของอินเดีย 5 ชั่วโมง

นักศึกษาไทยมุสลิมที่มาศึกษาที่เมืองลัคเนาว์ส่วนใหญ่จะมุ่งศึกษาศาสตร์ในด้านศาสนา ภาษาอาหรับ รวมทั้งวรรณกรรมอาหรับและภาษาอุรดูเป็นด้านหลัก

แต่ก็มีภาษาอังกฤษให้เรียนรู้ด้วยเช่นกัน โดยหลักสูตรการเรียนใช้เวลาศึกษา 5 ปี ปีที่ 1 เน้นการเรียนภาษา หลักภาษา ทั้งอาหรับ อุรดูและอังกฤษ ปีที่ 3-5 เน้นเนื้อหาจากตำรา

 

ดารุลอุลูม นัดวาตุล อุลามาอ์ เป็นมหาวิทยาลัยที่ศึกษาเกี่ยวกับคัมภีร์อัล-กุรอาน (Al-Quran) คำสอนของท่านศาสดามุฮัมมัดที่เรียกว่าหะดีษ (Tridition of the Prophet Muhammad) จริยศาสตร์ ศาสนบัญญัติ (figh) ฯลฯ

ทั้งนี้ เมื่อจบการศึกษาจากสถานศึกษาแห่งนี้แล้ว นักศึกษาสามารถเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโทในสาขาต่างๆ อย่างน้อยในมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีชื่อเสียงในอินเดียอย่าง Aligarh Muslim University Jawaharlal Nehru และ Jamamilia Islamia เป็นต้น

ดารุลอุลูม นัดวาตุล อุลามาอ์ เป็นแหล่งผลิตปัญญาชนของโลกมุสลิมมาแล้วหลายคน ไม่ว่าจะเป็นเมาลานา อะบู หะซัน อะลี นัดวีย์ เมาลานา สุลัยมาน นัดวีย์และเมาลานา ซัลมาน นัดวีย์ เป็นอาทิ

จะมีความเชี่ยวชาญด้านภาษาอาหรับไม่ต่างไปจากนักศึกษาไทยที่ได้ไปศึกษาในประเทศอียิปต์ ซาอุดีอาระเบีย จอร์แดน เยเมน ซูดาน หรือประเทศมุสลิมอื่นๆ

ด้วยเหตุนี้ในยุคสมัยที่ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งรวมทางการแพทย์ (Medical Hub) นักศึกษาเหล่านี้ก็สามารถกลับมาใช้ภาษาอาหรับได้ในหลายช่องทาง ทั้งเปิดบริษัทของตนเองเพื่อประสานงานระหว่างคนไข้จากโลกมุสลิมกับโรงพยาบาลต่างๆ ที่อยู่ในกรุงเทพฯ

หรือทำหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอดภาษาระหว่างคนไข้กับหมอได้เช่นกัน ซึ่งปัจจุบันเฉพาะสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประเทศเดียวก็มีคนไข้มารักษาในประเทศไทยถึง 1 แสนคนต่อปี

ทั้งนี้ โลกมุสลิมโดยเฉพาะในตะวันออกกลางให้การยอมรับฝีมือของแพทย์ไทยเป็นอย่างดี แม้ว่าจะมีประเทศในอาเซียนให้บริการทางการแพทย์แก่คนต่างชาติอย่างสิงคโปร์

แต่คนไข้จากโลกมุสลิมจะให้การยอมรับแพทย์ไทยในโรงพยาบาลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบำรุงราษฎร์ สมิติเว= รามคำแหง กรุงเทพ พระรามเก้า ปิยเวท ฯลฯ มากกว่า

โดยภาพรวม ครอบครัวของนักศึกษาไทยมุสลิมที่ส่งบุตรหลานมาเรียนที่เมืองลัคเนาว์จะเป็นครอบครัวชั้นกลางในสังคมไทยที่มุ่งหวังความเจริญเติบโตทางวุฒิปัญญาผ่านจริยธรรมและคำสอนทางศาสนา เพื่อการเติบโตเป็นคนดีของสังคม แต่ทั้งนี้ การศึกษาที่ดีย่อมมีองค์ประกอบของการทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยเช่นกัน ผมจึงทำหน้าที่เป็นผู้แนะแนวจากประสบการณ์และการได้เห็นผู้ที่จบการศึกษาแล้วเข้าทำงานและศึกษาต่อ

รุ่นพี่ที่จบจากสถานศึกษาแห่งนี้มีทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย (มหิดล) อิมาม (ผู้ทำหน้าที่นำละหมาด) ค่อฏีบ (ผู้ทำหน้าที่เทศนาหรือคุฏบะฮ์ในวันศุกร์) ผู้ถ่ายทอดภาษาในโรงพยาบาล เจ้าของอพาร์ตเมนต์ในกรณีที่มีกิจการอยู่แล้ว บางคนเป็นผู้สอนภาษาอาหรับ-ฮิบรูให้กับนักการทูต ที่จะเดินทางไปทำหน้าที่ในประเทศอาหรับและประเทศในตะวันออกกลาง

ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งหลังจากจบการศึกษาแล้ว จะไปศึกษาในระดับปริญญาโทสาขาต่างๆ ในมหาวิทยาลัยมุสลิมแห่งอาลิการ์ ซึ่งมีหลากหลายสาขาทั้งทางโลกและทางธรรม

ผมเองในฐานะอาจารย์ที่เรียนจบปริญญาตรีรัฐศาสตร์ แต่ผมก็เลือกวิชาโทภูมิศาสตร์ อิสลามศึกษาและภาษาอาหรับ ผมจึงอธิบายให้นักศึกษาเห็นความสำคัญของภาษา ความหลากหลายของศาสตร์ต่างๆ รวมทั้งการศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรมที่จะทำให้ชีวิตมีดุลยภาพและมีทางเลือกของชีวิตได้มากกว่าการเรียนรู้ด้านหนึ่งด้านใดแต่เพียงด้านเดียว

แม้ว่าการแนะแนวจะเป็นไปในรูปแบบภาพกว้าง แต่หลังจากพบปะพูดคุยอย่างเป็นทางการแล้ว ผมก็มีโอกาสได้คุยเป็นรายบุคคลกับนักศึกษาจำนวนหนึ่ง และยกตัวอย่างการทำงานด้านต่างๆ ที่นักศึกษาจะกลับไปต่อยอดได้ให้พวกเขาฟัง เพื่อเป็นแนวทางการตัดสินใจในอนาคต

แม้ว่าจำนวนหนึ่งตั้งใจจะกลับไปสานต่อธุรกิจของบิดา-มารดาของพวกเขาก็ตาม