เมียนมาสู่การเปลี่ยนแปลง : ความรุนแรงทางการเมือง “โรฮิงญา” หรือว่าล้างเผ่าพันธุ์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ความรุนแรงทางการเมือง

ความรุนแรงทางการเมืองในรัฐยะไข่ (Rakhine) ฝั่งตะวันตกของเมียนมาขยายตัวเพิ่มขึ้นหลังวันที่ 9 เดือนตุลาคมปี 2016 มีการโจมตีด้วยหน่วยป้องกันชายแดน มีเจ้าหน้าที่รัฐบาลเมียนมาเสียชีวิต

ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม และสื่อมวลชนเข้าถึงบริเวณนั้นทำไม่ได้ และถูกตัดขาดนานหลายสัปดาห์

ในขณะที่เจ้าหน้าที่ทางการเมียนมาเข้ามาปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายต่อกลุ่มที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นกองกำลังติดอาวุธโรฮิงญา (Rohingya)

อย่างไรก็ตาม การรับผิดชอบต่อการริเริ่มโจมตียังไม่ชัดเจน ประชาชนมากกว่า 100 คนตาย พร้อมด้วยผู้ย้ายถิ่นภายในราว 30,000 คน รวมทั้งประชาชนอีก 160,000 คนซึ่งรอดชีวิตอยู่ในค่ายอพยพที่ตั้งแต่มีการใช้ความรุนแรงก่อนหน้านั้นในปี 2012 และ 2013 ด้วย

หน่วยงาน Human Right Watch ได้แสดงภาพที่มาจากภาพถ่ายดาวเทียมครอบคลุม 1,200 บ้านในหมู่บ้านโรฮิงญาถูกรื้อถอน ในเดือนที่ผ่านมา มีรายงานว่า ทหารรัฐบาลข่มขืนผู้หญิงและเด็กหญิงโรฮิงญา

บังกลาเทศซึ่ง 30 ปีที่ผ่านมาได้อนุญาตให้คนลงทะเบียนอาศัยอยู่และผู้ลี้ภัยโรฮิงญาที่ไม่ได้ลงทะเบียน มีที่พักอยู่บริเวณชายแดนของบังกลาเทศ ต่อมาบังกลาเทศได้ผลักดันให้คนเหล่านี้กลับไปเป็นผู้ลี้ภัยบริเวณชายแดน คนหลายหมื่นคนข้ามชายแดนไปแล้วและยังคงข้ามไปอีกระหว่างชายแดนบังกลาเทศและเมียนมา

 

เหตุการณ์ต่างๆ นี้แสดงถึงการถดถอยลงที่จะมีผลระยะยาวในการสร้างความทุกข์ยากให้กับ “ชนกลุ่มน้อย” ซึ่งพวกเขาทั้งหลายเป็นพวกที่ถูกจับมาลงโทษมากที่สุดในโลก

พวกเขาทั้งหมดเป็น “คนไร้รัฐ” (stateless) ซึ่งรัฐบาลเมียนมาให้ชื่อว่าเป็น Bengalis หรือผู้อพยพผิดกฎหมาย แม้ว่าหลายคนในจำนวนนี้เคยเป็นพลเมืองเมียนมาในอดีตและเคยอาศัยอยู่ในบริเวณนี้มาหลายชั่วอายุคน

คนพวกนี้ได้เป็น “เป้า” ของแรงงานบังคับ (forced labour) และจำกัดอยู่ภายในค่ายผู้ผลัดถิ่นที่ ที่พวกเขาไม่ได้รับอาหารและการดูแลทางการแพทย์อย่างเพียงพอ

มีการปล่อยให้ผู้หญิงท้องและเด็กเสี่ยงภัยอย่างมากต่อความเจ็บปวด ความเจ็บป่วยและความตาย

โรฮิงญาเป็น “เป้า” ต่อข้อกำหนดอันหยาบกร้านทางด้านการแต่งงาน ขนาดของครอบครัวและการเคลื่อนย้าย สถานที่ทางศาสนาของพวกเขาถูกทำลาย และคนเหล่านี้หลบหนีเสี่ยงภัยทางเรือไปประเทศอื่นหลายประเทศ เช่น มาเลเซียหรือประเทศไทยเคยรับพวกนี้ในอดีต

ตอนหลัง คนพวกนี้ถูกผลักดันให้กลับออกไปสู่ทะเล แล้วตายหรือถูกทำร้ายบาดเจ็บโดยพวกค้ามนุษย์

 

คําถามหนึ่งต่อรัฐบาลเมียนมาและชุมชนนานาชาติคือ อะไรกำลังเกิดขึ้นต่อ “การล้างเผ่าพันธุ์” (genocide) ชาวโรฮิงญา

ขณะนี้มีการยอมรับจากนานาชาติว่า มีการก่ออาชญากรรมให้เกิดการล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นในเมียนมา

ตามข้อผูกพันต่างๆ ด้านกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐบาลเมียนมาและชาติอื่นๆ ควรดำเนินการที่จำเป็นต่างๆ เพื่อหยุดยั้งและป้องกันไม่ให้เกิดหายนะทางด้านมนุษยธรรม

ยังมีการวิเคราะห์อื่นๆ ที่แสดงว่ายังมีความตั้งใจของผู้กระทำผิดเข้าใจดีว่าเป็น “การล้างเผ่าพันธุ์” (ethnic cleansing) ในเมียนมา โดยการแสดงความคิดว่าตั้งใจให้โรฮิงญาเปลี่ยนหรือไล่โรฮิงญาออกไปมากกว่าฆ่าให้พวกเขาตาย

ความแตกต่างของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในที่อื่น เช่น ในยุโรปและในแอฟริกา คือการล้างเผ่าพันธุ์ในเมียนมาไม่มีความแน่ชัดของการหลบหนีจากที่ซุกซ่อน และที่มีความเสี่ยงต่อการตาย หรือถูกข่มเหงอย่างรุนแรงของผู้ค้ามนุษย์หรือโดยเจ้าหน้าที่ด้านการย้ายถิ่นของประเทศอื่นๆ

ที่แตกต่างสำคัญคือ ไม่มีมาตรการตรวจสอบอย่างเป็นระบบต่อการบังคับให้ออกนอกประเทศอย่างเป็นทางการ

ไม่มีการจัดหาพาหนะการเดินทาง

หรือการตกลงอย่างเป็นทางการในการรับคนเหล่านั้นจากประเทศอื่นๆ

 

ความแตกต่างที่เด่นชัดอีกอันหนึ่งของโรฮิงญาคือ มีการบังคับย้ายโดยเข้มงวดและลงโทษเพื่อให้ออกไป มีการลงโทษและการทรมานสมาชิกครอบครัวโรฮิงญาที่อยู่ข้างหลัง และยังจับกุมคุมขังโรฮิงญาที่กลับเข้ามาเมียนมาอีกอย่างผิดกฎหมาย

ความสลับซับซ้อนในการพิสูจน์ การล้างเผ่าพันธุ์ มีมาก

ภาพที่เกิดขึ้นตอนนี้อาจน้อยเกินไปหรืออาจสายจนเกินไป

ในเมียนมายังไม่มีการระบุถึงปัญหาการเมืองภายในและความหายนะทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีข้อมูลเด่นชัดแล้ว ซึ่งได้ส่งผลต่อชาวโรฮิงญาอยู่แล้ว

ปัญหาโรฮิงญาได้สะท้อนความรุนแรงทางการเมืองในเมียนมาที่สลับซับซ้อนด้วยรูปแบบและเนื้อหา

ยังสะท้อนให้เห็นการแบ่งแยกภายในชาติพันธุ์ (interethnic division) ที่ทอดยาว ดำรงอยู่ ยากต่อการแก้ปัญหา สิ่งนี้ลดทอนความสำคัญของพัฒนาการเมืองของกลุ่มประเทศที่เรียกว่าเป็น young democracy ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แต่กลับเพิ่ม “ความเสี่ยง” ทางด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะจากต่างประเทศ ระบบรัฐสภา ความโด่ดเด่นของผู้นำ เสรีภาพของสื่อมวลชน ความตื่นตัวของภาคประชาชน จำนวนของพรรคการเมืองยังไม่เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงในเมียนมาเพื่อนบ้านของไทย

เมียนมาสู่การเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว แต่ไม่มีใครบอกได้ว่า จะเปลี่ยนไปทางไหน