คำ ผกา : ศาสตร์แห่งการขโมย

คำ ผกา

บันดาลใจจากการที่มีผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองท่านหนึ่งออกมาพูดถึงกรณีรองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาขโมยรูปภาพจากโรงแรมในญี่ปุ่น แล้วท่านพูดว่า

“ถ้าเรื่องนี้เกิดที่เมืองไทยคงไม่เป็นเรื่อง”

ประโยคนี้ทำให้เกิดยูเรก้า ตื่นรู้ ตระหนักรู้ และตระหนกรู้ไปพร้อมๆ กัน เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย และจะว่าไปแล้ว มันช่างเป็นประโยคสั้นๆ ที่ทำให้เข้าใจสังคมไทยได้อย่างหมดจดทีเดียว

สำหรับประเทศญี่ปุ่น เหตุที่รองอธิบดีไม่ติดคุก เพราะหลักการทางกฎหมายของญี่ปุ่นเป็นหลักชะลอการฟ้อง คดีเล็กๆ น้อยๆ จึงไม่มีการส่งฟ้องศาล (แต่อาจมีการจัดการอื่นๆ เช่น ส่งบำบัดจิต, บำเพ็ญประโยชน์ ฯลฯ) – ดังที่ได้เขียนอธิบายไปแล้วอย่างพิสดารในคอลัมน์นี้เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว

แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้แปลว่าการขโมย “ไม่ผิด”

ขณะเดียวกัน ประโยคที่บอกว่า “เรื่องแบบนี้หากเกิดที่เมืองไทยคงไม่เป็นปัญหา” – คำว่าไม่เป็นปัญหาในที่นี้ ฉันเองก็ไม่แน่ใจว่าจะแปลว่า “ไม่ผิด”

หรือแปลว่า การขโมยนั้นผิด แต่ถ้าคนที่ขโมยเป็นผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ การขโมยนั้นจะไม่มีความผิด

 

หลักชะลอการฟ้องแบบญี่ปุ่น เป็นหลักกฎหมายสมัยใหม่ ใช้กับพลเมืองทุกคนอย่างเสมอหน้ากัน

แต่หลักการแบบสังคมไทยนั้นตั้งอยู่บนลำดับชั้นต่ำสูงของคนในสังคม – ยิ่งร่ำรวย ยิ่งมีตำแหน่งใหญ่โต ยิ่งจะสามารถทำอะไรก็ได้ตามใจชอบและโดยไม่ต้องแคร์กฎหมาย

ตำนานการขโมยที่ร้านทำเล็บชื่อดังแห่งหนึ่งในเมืองไทย เล่ากันว่า มีของในร้านหายเป็นประจำ จนพนักงานถูกตัดเงินเดือนจนทนกันไม่ไหว และพนักงานก็พอจะรู้ตัวคนขโมยตัวจริงว่าเป็นลูกค้าผู้แสนร่ำรวยคนหนึ่ง แต่ก็จับไม่ได้ไล่ไม่ทันเสียที

อยู่มาวันหนึ่ง พนักงานวางแผนจับลูกค้าคนนั้น พอกหน้า พอกมือ พอกเท้า นัยว่าทำสปาให้เต็มหลักสูตร แต่จริงๆ แล้วล็อกตัวไม่ให้ขยับ จากนั้นพนักงานก็ช่วยกันเป็นพยานการเปิดกระเป๋าลูกค้าดู แล้วก็พบของในร้านที่ถูกขโมยไปอยู่ในกระเป๋าเต็มไปหมด

จึงนำกระเป๋านั้นไปรายงานเจ้านาย

ผลก็คือ เจ้านายบอกว่า “ต้องทำเป็นไม่รู้ เพื่อรักษาหน้าลูกค้า และมูลค่าของที่ขโมยก็ถัวไปกับค่าทำเล็บที่แพงแสนแพงอยู่แล้ว ยอมให้ของถูกขโมยดีกว่าเสียลูกค้า”

ตำนานการจิ๊กของของเหล่าไฮโซ หรือแม้กระทั่งนักปราชญ์ราชบัณฑิตนั้น ได้ยินกันมานักต่อนัก และโดยมากก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

แต่นี่คือตัวอย่างของการขโมยการจิ๊กของแบบตรงไปตรงมา

 

แต่การจิ๊กการขโมยอีกหลายรูปแบบในสังคมไทย ที่คนไทยแสนจะคุ้นชิน และไม่ค่อยเห็นว่านี่คือการขโมย เช่น การเอารถราชการไปใช้ในกิจการส่วนตัวหรือข้าราชการบางคนยึดไปเป็นรถส่วนตัวให้ลูกให้เมีย ให้ญาติพี่น้องใช้ก็มีให้เห็นกันเยอะแยะ

การอยู่บ้านพักข้าราชการไปจนหลังเกษียณโดยไม่ย้ายออก ก็ไม่แน่ใจว่านี่เป็นการขโมย หรือเป็นการใช้สิทธิ์?

การไปเบ่งกินฟรีดื่มฟรีโดยใช้ยศศักดิ์อำนาจเรียกว่าเป็นการปล้นหรือขโมยได้หรือไม่?

ที่น่าตระหนกกว่านั้นคือ ในสังคมไทยเห็นว่าเรื่องแบบนี้เป็นการความเจ๋ง แปลว่าใหญ่จริง มีอำนาจจริง เข้าร้านไหนไม่เคยต้องจ่ายตังค์ ไปซื้อของร้านไหนก็หยิบอะไรก็ได้ เจ้าของร้านเห็นว่าเป็นผู้มีอำนาจก็ต้องบอกว่าขอมอบให้เป็น “ของขวัญ”

คำว่า อำนาจ ในภาษาไทยจึงมาพร้อมกับคำว่าวาสนาเสมอ เพราะมีอำนาจจึงได้ครอบครองทรัพย์สมบัติต้องห้าม หรือทรัพย์สมบัติที่ไม่ได้มาจากน้ำพักน้ำแรงของตนเอง

 

คนไทยออกจะคุ้นชินกับบทสนทนาประเภท

ถาม : “อุ๊ย ที่ดินแถวนี้เป็นที่ป่าสงวนฯ ไม่มีโฉนด ทำไมซื้อขายได้ด้วยหรือ แถมยังแพงกว่าที่มีโฉนดอีก ถ้าซื้อไป อีกหน่อยจะถูกยึดคืนไปเป็นที่ป่าหรือเปล่า”

ตอบ : “เรื่องนั้นหายห่วงได้เลย รู้ไหม เจ้าของที่ดินแถวนี้มีแต่บิ๊กๆ คนใหญ่คนโตทั้งนั้น สบายใจได้ ซื้อไป อีกไม่นานก็กลายเป็นโฉนด หรือถึงไม่เป็น ก็ไม่มีใครมากล้าทำอะไร”

การบุกรุกที่ป่า การไปครอบครองที่ดินที่ออกโฉนดไม่ได้ ไม่ถือเป็นการขโมย มิหนำซ้ำ บิ๊กเนมทั้งหลายที่เป็นผู้มีอำนาจวาสนา ยังเป็นเครื่องการันตีว่า จะไม่มีใครกล้ามาเอาผิด ลงโทษ หรือชี้หน้าตะโกนด่าคุณว่า อ้าว เฮ้ย ที่ป่าสงวนฯ ยังขโมยกันหน้าตาเฉย แต่กลับยกย่องว่า โห ที่ดินเป็นป่าสวยขนาดนี้ ไม่ใหญ่จริง มาสร้างบ้าน สร้างรีสอร์ตแบบนี้ไม่ได้นะเนี่ยะ

เพราะฉะนั้น ในบริบทของวัฒนธรรมไทย การขโมย ไม่ได้ผิดด้วยตัวของมันเอง แต่จะผิด หากคนที่ขโมยนั้นเป็นคนไม่มี “อำนาจวาสนา” ในไวยากรณ์ของไทย

เมื่อเข้าใจเช่นนี้แล้ว จะทำให้เราหายสงสัยว่า การคอร์รัปชั่น อันหมายถึงการขโมยในอีกรูปแบบหนึ่ง และร้ายแรงกว่าการขโมย การจิ๊กของซึ่งๆ หน้า

ลองคิดดูว่า ถ้าเรารังเกียจพฤติกรรมของคนที่เดินไปปลดรูปของโรงแรมเอาใส่กระเป๋าตัวเองกลับบ้านมากๆ เราต้องยิ่งรังเกียจคนที่ขโมยเงินภาษีของเราไปเป็นของส่วนตัวด้วยวิธีการอันพิสดารต่างๆ ตั้งแต่เอารถหลวง น้ำมันหลวงไปใช้ส่วนตัว การขโมยเวลาราชการไปทำมากินอย่างอื่น ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างการโกงกินงบประมาณในทุกขั้นตอนของการทำงาน

งานก่อสร้างราคาจริงหมื่นล้านแต่ต้องใช้งบฯ สามหมื่นล้านเพราะอีกสองหมื่นล้านนั้นเป็นค่า “โกง”

หรือค่า “ขโมย” อันเกิดขึ้นในทุกขั้นตอนของการทำงาน การใช้ตำแหน่งหน้าที่รับสินบน เรียกค่าใต้โต๊ะ เรียกค่าน้ำร้อนน้ำชา เรียกค่าคุ้มครอง รีดไถต่างๆ นานา – เหล่านี้ เรากลับไม่รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจ มิหนำซ้ำยังให้ความร่วมมือ เขาเรียกให้จ่ายก็จ่าย

แน่นอนเราอาจต้องจ่ายเพราะความกลัว

แต่คำถามของฉันคือ เราเคยยอมรับกันบ้างไหมว่า ที่เราตะโกนปาวๆ ว่า อี๋ ขโมย เกลียดการขโมย น่าอาย แต่ตัวเราเองนั่นแหละที่เป็นหนึ่งในสังคมที่สมยอมอยู่กับโจร สนับสนุนโจร

เผลอๆ ยังยกย่องโจรในหลายกรรมหลายวาระอยู่ได้ทั้งๆ ที่โดนปล้นทุกลมหายใจ

และหลายครั้งก็แปลงร่างเป็นโจรเสียเองเมื่อมีโอกาส

 

หากโลกนี้จะมีคำพังเพยว่า ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ความเป็นไปของสังคมไทยเวลานี้ก็คือ เป็นสังคมโจรใหญ่กินโจรเล็ก

ไม่เพียงแต่โจรใหญ่กินโจรเล็ก การปล้นหรือการขโมยนั้นบางคนทำแล้วไม่ผิด แต่มันผิดสำหรับคนบางคนบางกลุ่มเท่านั้น และมันไม่ใช่แค่ความสองมาตรฐาน แต่รากฐานของวัฒนธรรมไทยเองนั่นแหละ ที่แบ่งคนออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มดีกับกลุ่มคนเลว

สำหรับวัฒนธรรมไทย คนดีและคนเลว ไม่ได้แบ่งออกจากกันด้วยการกระทำ แต่แบ่งด้วยอะไร เราจะพยายามมาหาคำตอบกัน

ทำไมฉันถึงยืนยันว่าคนดีกับคนเลวในวัฒนธรรมไทยไม่ได้แบ่งด้วยการกระทำ

ขอให้ลองคิดดูว่า ระหว่างการคอร์รัปชั่นของข้าราชการกับนักการเมือง คนไทยซีเรียสกับการคอร์รัปชั่นของใครมากกว่ากัน?

การคอร์รัปชั่นในหน่วยงานราชการและโดยข้าราชการเกิดขึ้นทุกๆ วันมาตลอดประวัติศาสตร์ไทย และคนไทยทุกคนรู้ดีแถมยังเคยมีส่วนในการส่งเสริมการคอร์รัปชั่นนั้นก็เยอะ แต่กลับไม่มีใครตีอกชกตัว

เกลียดๆๆๆๆๆ คนโกง เกลียดการคอร์รัปชั่นเท่าที่ทำกับนักการเมือง

นักการเมืองกลุ่มหนึ่งโกง ก็ไม่ถูกเกลียด ไม่ถูกตามจองล้างจองผลาญเท่ากับนักการเมืองอีกกลุ่ม

คุณหมอคนหนึ่งสนับสนุนการโกงจีทีสองร้อยอย่างชัดแจ้งแดงแจ๋ ป่านนี้ก็ยังลอยนวลอยู่ในสังคมในฐานะคนดี

รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโกง ถูกด่าว่าขายชาติขายแผ่นดิน

รัฐบาลอีกแบบหนึ่งเต็มไปด้วยเรื่องอื้อฉาวเรื่องการคอร์รัปชั่น การ “จัดซื้อ” ทรัพย์สินสิ่งของที่ดูไม่มีความจำเป็นต่อประเทศชาติแต่คอมมิสชั่นก็น่าจะสูงมาก ไม่นับโครงการต่างๆ ที่ผุดขึ้นมาใช้เงินเป็นดอกเห็ด แต่ปราศจากการตรวจสอบ

ดัชนีการคอร์รัปชั่นก็อยู่ในอันดับที่แย่ลง กระนั้นสังคมก็บอกว่าเป็นคนดี สถาบันวิจัยอย่างทีดีอาร์ไอ ก็ออกมาพยายามหาคำอธิบายให้

ตรงกันข้าม สมัยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนี่ สถาบันวิจัยต่างๆ พากันออกหนังสือแฉกลโกงของนักการเมืองละเอียดทุกเส้นขน

เพราะฉะนั้น มันชัดเจนว่า ขโมยเหมือนกัน คอร์รัปชั่นเหมือนกัน แต่ถ้า “คนเลว” ทำ คือผิด แต่ถ้า “คนดี” ทำ คือไม่เป็นไร ไม่ผิด ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เป็นเรื่องธรรมดา การรั่วไหลก็มีบ้าง แต่ทุกคนมีความปรารถนาดี เสียสละเพื่อบ้านเมือง

ถ้าไม่มีพวกคนดีออกมากอบกู้สถานการณ์ เราคงแย่

 

จริงๆ ขอเพียงคนไทยคิดเท่านี้แหละว่า ทำไมการกระทำอย่างเดียวกัน ถ้า “คนดี” ทำ เรารู้สึกว่าเรารับได้ หรือแม้กระทั่งหลอกตัวเองว่า โอ๊ย เป็นไปไม่ได้หรอก เค้าถูกใส่ร้ายแน่ๆ เลย แต่ถ้า “คนเลว” ทำ เราต้องเอาให้ถึงตาย หรือต่อให้มันไม่ได้ทำ เราก็จะเอามันให้ถึงตาย เพราะต่อให้มันไม่ทำวันนี้ มันก็อาจจะทำพรุ่งก็ได้

ทีนี้คำถามคือ เกณฑ์การแยก “คนดี” กับ “คนเลว” ออกจากกันของคนไทยนั้น เขาเอาเกณฑ์อะไรแยก

เท่าที่ฉันดูอย่างหยาบๆ ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ คนไทยมีแนวโน้มจะเชื่อว่า

– คนที่มาจากการเลือกตั้งเป็นคนเลว แต่คนที่ไม่เคยลงเลือกตั้งเป็นคนดี

– คนที่อ้างศาสนาโดยเฉพาะศาสนาพุทธมากๆ เป็นคนดี

– คนที่สมาทานอุดมการณ์ของแม่พลอยสี่แผ่นดินเป็นคนดี

– ทหารเป็นคนดี

– มีชาติกำเนิดเป็นคนดี

ทีนี้เมื่อคนดีขึ้นมามีอำนาจ สิ่งที่ตามมาคือ “วาสนา” เมื่อมีวาสนาเสียแล้ว การจะได้มาซึ่งอะไรด้วยวิธีไหนก็ไม่สำคัญ เพราะมันเป็นข้อยกเว้นของคนมีวาสนา จะร่ำรวยผิดปกติแบบว่าเงินเดือนไม่ถึงแสน ไม่มีอาชีพอื่นเสริม เมียก็ไม่ทำงานอะไร แต่สามารถมีทรัพย์นับหลายร้อยล้าน พันล้านได้พอๆ กับนักธุรกิจ

เพราะฉะนั้น “คนดี” จะทำอะไรก็ได้ จะปล้น จะโกง จะคอร์รัปชั่น จะขโมย จะเบียดบังทรัพย์สินของราชการมาเป็นของตนเอง หรือแม้แต่จะทำลายหลัก “อารยะ” ของโลกสมัยใหม่ออกไปจากประชาชน

คนดีก็คือคนดี และยังเป็นคนดีอยู่วันยังค่ำ

 

จริงๆ แล้วสภาพสังคมไทยคล้ายๆ สังคมในร้านทำเล็บที่ฉันเล่าให้ฟัง

คนที่ไม่ขโมยกลับโดนตัดเงินเดือน – เพราะโดยชาติกำเนิดแล้ว และสถานะทางสังคมแล้ว มันเกิดมาเพื่อจะถูกมองว่าเป็นขโมยหรืออย่างน้อยที่สุดในฐานะทำงานอยู่ในร้านก็ต้องรับผิดชอบการขโมยที่เกิดขึ้นในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง

ต่อมา ถ้าไอ้คนที่ตัดเงินเดือน เกิดจะสู้เพื่อพิสูจน์ความจริงและเพื่อให้ความเป็นธรรม ไปตามจับขโมยตัวจริงมาได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ไอ้ขโมยตัวจริงได้รับการปกป้อง – แหม่ แค่นี้เอง เงินที่เขาเอามาจ่ายให้ร้านเราเยอะกว่านี้อีก ไม่เป็นไรหรอก

สุดท้าย ไอ้คนที่จับขโมยได้ อาจจะซวย ถูกไล่ออก โทษฐานทำให้ลูกค้าผู้มีบุญคุณต้องด่างพร้อย

คุ้นไหม คนโกงไม่โดนจับ แต่คนจับโกง กลับติดคุกอะไรแบบนี้

ดังนั้น หากใครจะมาพูดเรื่องความผิดบาปของการขโมย การลักทรักพย์ ปล้นทรัพย์ในสังคมไทยต้องเข้าใจ “ลายแทง” ทางวัฒนธรรมนี้ด้วย

ต่อไปนี้เวลาเจอคดีเกี่ยวกับขโมย จะได้ถอดรหัสถูกว่า ที่จริงแล้ว โจรตัวจริงน่ะ ใครกันแน่?