E-DUANG : “ปรองดอง” กับ”ธรรมกาย” คนละเรื่อง เดียวกัน

สถานการณ์ “ปรองดอง” ดำเนินไปภายใต้สถานการณ์การบุกเข้าไปตรวจค้นภายใน”วัดพระธรรมกาย”

เหมือนกับ 2 สถานการณ์นี้เป็น 2 เรื่อง

อย่าง 1 เป็นเรื่องในทาง “การเมือง” สัมพันธ์กับความพยายาม สร้างภูมิทัศน์ใหม่

บนพื้นฐานแห่ง “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”

อย่าง 1 เป็นเรื่องในทางคดีความ เกี่ยวกับการฟอกเงิน เกี่ยวกับการรับของโจร และการบุกรุกป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติ

รวมแล้วมากกว่า 300 คดี

เหมือนกับเป็นเรื่องในทาง “อาชญากรรม” ห่างอย่างยิ่งกับสถานการณ์ “ปรองดอง”

แต่เมื่อพิจารณาอย่างรอบด้านกลับกลายเป็นเรื่องเดียวกัน

เพราะเรื่องของ”ปรองดอง”ก็คือเรื่องในทางความคิด เพราะเรื่องของ “วัดพระธรรมกาย” ก็คือเรื่องในทางความเชื่อ

1 ศาสนา อีก 1 การเมือง

 

ถามว่ามีเหตุปัจจัยอันเป็น “องค์ประกอบ” อะไรทำให้มีความจำ เป็นต้องนำ “มาตรา 44” มาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ

“หมายจับ” และ”หมายค้น”ที่มีอยู่มากมาย ใช้ไม่ได้หรือ

คำตอบจากสถานการณ์เมื่อเดือนมิถุนายน 2559 คำตอบจาก สถานการณ์เมื่อเดือนธันวาคม 2559 ชัด

ชัดว่าไม่ว่า”หมายจับ” ไม่ว่า”หมายค้น” ไม่มีประโยชน์

เหตุผลที่ “ดีเอสไอ” เหตุผลที่ “ตำรวจ”ซึ่งร่วมอยู่ในปฏิบัติ

การทั้ง 2 ครั้งตรงกัน

นั่นก็คือ มิอาจฝ่า”กำแพงมนุษย์”ไปจับกุมตัวได้

เพราะว่ามีคนมิใช่ “เรือนร้อย” มิใช่”เพื่อนพัน” หากแต่เป็น “เรือนหมื่น” กระทั่งหลายหมื่นและไปอยู่ที่ “เรือนแสน”ทำให้กระบวนการเข้าจับกุมล้มเหลว

จึงจำเป็นต้องนำ “มาตรา 44″ มาใช้ จึงจำเป็นต้องขยายวงไปยังกำลังพลจาก”ทหาร”

ถามว่าทำไมจึงเกิด”กำแพงมนุษย์”ขึ้นได้

 

สภาพแห่ง “กำแพงมนุษย์” นั้นเองที่ทำให้กรณี”วัดพระธรรมกาย” มีลักษณะในทาง “การเมือง”

นั่นก็คือ ข้ามพ้นจาก”คดีอาชญากรรม”

นั่นก็คือ ข้ามพ้นจากจุดต่างและขัดแย้งกันในเรื่องความเชื่อทาง “ศาสนา”

เพราะพวกเขายึดมั่นอยู่กับ “ความเคารพ ความศรัทธา”

ความเคารพ ความศรัทธา ที่มีต่อ พระเทพญาณมหามุนี และวัดพระธรรมกายนั้นเอง คือ สิ่งที่นักรัฐศาสตร์เรียกว่าอยู่ในฐานะเป็น HEGEMONY นั่นก็คือ ดำรงอยู่ในสถานะอันเป็น “อำนาจนำ” ในทางความคิดอย่างหนาแน่น และมั่นคง

คำถามก็คือ “มาตรา 44″จะทำให้”อำนาจนำ”พังทลายหรือไม่

คำถามนี้เองทำให้สถานการณ์”ปรองดอง”กับสถานการณ์”วัด พระธรรมกาย”มาอยู่ในพรมแดนเดียวกัน