สมหมาย ปาริจฉัตต์ : 4 ข้อเสนอการศึกษา ประชาสังคมเชียงใหม่ ตอนที่ 1

สมหมาย ปาริจฉัตต์

“การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่สู่คุณภาพที่หลากหลาย” ข้อความบนจอหน้าเวทีศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ เมื่อเช้าวันที่ 30 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา เชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมงานย้อนนึกถึงข้อความบนจอ เมื่อปีก่อน 7-8 มกราคม 2559 “ร่วมมือ แบ่งปัน สร้างสรรค์การศึกษา รักษ์คุณค่าเชียงใหม่”

พวกเขา ผู้นำภาคประชาสังคม ปราชญ์ชาวบ้านภูมิปัญญาชุมชน ครู ผู้บริหารโรงเรียน อาจารย์มหาวิทยาลัย ศึกษานิเทศก์ พ่อค้า นักธุรกิจ อุตสาหกรรม ผู้นำองค์กรเอกชน ผู้นำท้องถิ่น ฯลฯ มารวมตัวกันอีกครั้งเต็มห้องประชุม เพื่อร่วมกิจกรรมและติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนด้านการศึกษาของภาคประชาสังคม

ในนาม ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา เป็นแกนร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัดเวทีประชุมปฏิรูปก่ารศึกษาเชียงใหม่ เป็นปีที่ 2

 

ปีนี้แนวคิดต่อยอดจาก “รักษ์คุณค่าเชียงใหม่” โดยยืนยันหลักการ “การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่” เป็นทางออกหรือคำตอบของการแก้ปัญหาการศึกษาไทย เหตุเพราะสภาพแวดล้อม ภูมิสังคมของแต่ละท้องถิ่นแตกต่างกัน การจัดการศึกษาแบบเสื้อโหล มาตรฐานเดียวใช้ทั้งประเทศไม่สามารถทำให้การศึกษาบรรลุเป้าหมายที่ควรจะเป็นได้ ตรงกันข้ามกลับเต็มไปด้วยปัญหา ทั้งด้านคุณภาพและโอกาส ความเหลื่อมล้ำ อันเกิดจากการรวมศูนย์อำนาจ สั่งการจากส่วนกลาง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เชียงใหม่เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ คนเมือง คนชายขอบ คนภูเขา คนไร้สัญชาติ พหุวัฒนธรรม ต่างล้วนมีอัตลักษณ์ วิถีชีวิต ความเชื่อ จารีตประเพณีของตัวเอง การจัดการศึกษาจึงควรมีรูปแบบและสาระที่หลากหลาย สอดรับกับวิถีชีวิตจริง

ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาเพื่อการมีงานทำ การศึกษาเพื่อให้ดำรงชีวิตที่มีเสรีภาพ มีความสุขสงบ มีสันติภาพ มั่นคงปลอดภัยซึ่งภาครัฐฝ่ายเดียวไม่สามารถทำให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้

การรวมตัวของภาคีต่างๆ จึงเกิดขึ้นเพื่อให้มีพื้นที่การมีส่วนร่วมกำหนดทิศทาง เนื้อหาสาระ รูปแบบการจัดการศึกษา เป็นที่มาของการจัดเวทีปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ มีกิจกรรมต่างๆ มากมาย เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม นำเสนอความคิด แนวทางปฏิบัติ และเป้าหมายที่ควรจะไปให้ถึง ที่ลึกซึ้งกว่าผลสัมฤทธิ์ คะแนน อันดับความสามารถในการแข่งขัน

แต่มันคือการศึกษาเพื่อชีวิต เพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

 

การเคลื่อนตัวดำเนินมาต่อเนื่อง สะท้อนถึงความก้าวหน้า เหนียวแน่นมั่นคงยังดำรงอยู่ แม้เกิดความเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการศึกษาระดับชาติในรอบปีทีผ่านมา มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยอำนาจมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ ขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค วันที่ 21 มีนาคม 2559

ยุบเลิก อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา และคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา กลับไปสู่การมีคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ฟื้นบทบาทของศึกษาธิการจังหวัด ศึกษาธิการเขต กำลังจัดแถว ลำดับภารกิจให้ลงตัว หลังออกตัวมาได้เกือบปีท่ามกลางเสียงวิจารณ์ ยังย่ำอยู่แต่เรื่องโยกย้าย แต่งตั้ง ผลประโยชน์ของคุณครูและผู้บริหารเป็นหลัก ลงไม่ถึงเด็ก

นักการศึกษาหลายคนกังวลว่าโครงสร้างการจัดการดังกล่าวหากจัดการไม่ดี ยังคงใช้อำนาจเป็นวัฒนธรรมหลักในการทำงาน จะเกิดช่องว่างระหว่างภาครัฐกับภาคประชาสังคม เกิดผลกระทบกับงานที่ผ่านมาในพื้นที่ที่ภาคประชาสังคมตื่นตัวหลายจังหวัด

ท่ามกลางเวทีภาควิชาการ 16 หัวข้อ วันที่ 31 มกราคม 2560 ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา ปรึกษาหารือยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลและสังคม เรียกร้องให้สนับสนุนแนวทางการศึกษาเชิงพื้นที่อย่างจริงจัง

 

ไพรัช ใหม่ชมภู เลขานุการภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา เป็นตัวแทนกล่าวถึง 4 ข้อเสนอ คือ

1. เสนอให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด หรือ “กศจ.” ที่เป็นกลไกปฏิรูปการศึกษาเชิงพื้นที่ที่รัฐบาลตั้งโดย ม.44 ทำงานเชื่อมโยงกับ ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา 99 องค์กร ผ่านแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่/แผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยการต่อยอดและทำให้เห็นผลในเชิงปฏิบัติเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่

2. ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา จะทำให้การปฏิรูปการศึกษาของพื้นที่ สอดคล้องไปกับแผนการศึกษาแห่งชาติ ระยะ 20 ปี ที่กำลังจะประกาศใช้ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ที่ว่าด้วยการพัฒนาประสิทธิภาพของระบบการจัดการศึกษา เห็นผลเป็นรูปธรรม ดังนี้

2.1 สร้างกลไกสนับสนุนการผลิตและพัฒนาครู “พันธุ์เชียงใหม่” โดยเชื่อมโยงกับ โครงการผลิตครูเพื่อท้องถิ่น และครูโครงการอื่นๆ โดยสร้างความร่วมมือกับโรงเรียน ผู้ปกครอง และภาคธุรกิจ

2.2 ลดความเหลื่อมล้ำในระดับก่อนปฐมวัย โดยพัฒนาศูนย์เด็กเล็กที่มีจำนวน 600 ศูนย์ ครอบคลุมเด็กกว่า 20,000 คน ซึ่งกินความถึงเครือข่ายพ่อแม่ร่วมครึ่งแสนคนในจังหวัดเชียงใหม่ให้มีคุณภาพที่เท่าเทียมกัน โดยเชื่อมโยงกับการจัดตั้งกองทุนตามรัฐธรรมนูญ

2.3 จัดตั้งโมเดล “โรงเรียนที่เท่าเทียมกัน” โดยเชื่อมโยงกับนโยบายการแก้ปัญหาโรงเรียนไอซียู และมีพื้นที่ตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมในทุกอำเภอ

2.4 จัดตั้งกองทุนการศึกษาเชียงใหม่ เพื่อทำให้การศึกษาที่อยู่ทั้งในระบบ นอกระบบ การศึกษาทางเลือกและการศึกษาตามอัธยาศัย สอดคล้องกับเป้าหมายการศึกษาตลอดชีวิตของคนเชียงใหม่

3. ขอให้ดำเนินการตามข้อเสนอที่ภาคีเชียงใหม่ฯ ที่มีต่อรัฐบาลในปี 2558 ดังนี้

3.1 จัดตั้งสภาการศึกษาเชียงใหม่

3.2 จัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนตามความขาดแคลน

3.3 จัดระบบประเมินครู สถานศึกษา ให้สอดคล้องกับผลสัมฤทธิ์

3.4 สนับสนุนการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชน

3.5 จัดงบประมาณอาหารกลางวันให้นักเรียนเพียงพอในการศึกษาภาคบังคับ

3.6 พัฒนาโรงเรียนดี มีคุณภาพที่อยู่ห่างไกล

3.7 จัดบุคลากรสายสนับสนุนให้สถานศึกษา

4. เสนอให้รัฐบาลเร่งรัดการกระจายอำนาจและงบประมาณลงในการบริหารจัดการการศึกษาเชิงพื้นที่

ข้อเสนอทั้งหมดจะได้รับการขานรับ สนองตอบอย่างไร ระดับไหน ทั้งในพื้นที่และส่วนกลาง คงต้องติดตามการเคลื่อนตัวกันต่อไป

 

รายละเอียดในเวที กิจกรรม นิทรรศการ สัมมนาวิชาการหลากหลายประเด็น เลือกเข้าร่วมไม่หมด มีหัวข้อน่าสนใจอะไรบ้าง สาระโดยสรุปเป็นอย่างไร ใครสนใจหัวข้อไหนหรืออยากรับรู้ทั้งหมด ติดตามสอบถามทีมงานเลขานุการภาคี องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กันตามสะดวก

ผมมีโอกาสไปร่วมวง เก็บมาเล่าสู่กันฟังได้เฉพาะในห้องที่เข้าสังเกตการณ์ ฟังครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ปัญญาชน เขาพูดกัน คิดว่าน่ามีความหวังหากสานพลังกันจริงๆ ห้องไหน หัวข้ออะไร

ค่อยว่ากันต่อไป