ในประเทศ : “กมธ.ป.ป.ช.” ลุย “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” ปฐมบทเช็กบิลกลับ การเมืองระอุ

กลายเป็น 1 ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร ที่เปิดประเด็นร้อนทางการเมืองไม่เว้นแต่ละวัน นับตั้งแต่มีการจัดสรรปันส่วน แบ่งโควต้าเก้าอี้ประธาน กมธ.สามัญ ระหว่างฝ่ายค้านและรัฐบาลทั้ง 35 คณะกันเรียบร้อย

อย่างคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ทั้ง 15 คน ที่มี “บิ๊กตู่ใหญ่” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส นั่งแท่นเป็นประธาน กมธ. ตามโควต้าที่ได้รับจัดสรรจาก 7 พรรคฝ่ายค้าน

เพราะหลังจากเริ่มนับหนึ่งทำงานในฐานะประธาน กมธ.ป.ป.ช. “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์” ได้เดินหน้าตรวจสอบ “2 ป.” อย่าง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มาชี้แจงกรณีการนำคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนก่อนเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และอำนาจการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ให้สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบจะมีผลให้ขัดต่อกฎหมายหรือไม่

แม้ 2 ศรีพี่น้อง ทั้ง “บิ๊กตู่” และ “บิ๊กป้อม” จะงัดแผนส่งตัวแทน รวมทั้งร่างหนังสือชี้แจงไปยัง กมธ.ป.ป.ช. ว่าติดภารกิจทั้งประชุมเตรียมงานสำคัญๆ และตรวจราชการในพื้นที่ต่างจังหวัด แทนการเข้าไปชี้แจงต่อ กมธ.ป.ป.ช.ด้วยตัวเอง

แต่ “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์” ยังไม่ลดละความพยายามในการใช้อำนาจของ กมธ.ป.ป.ช. ตรวจสอบ “2 ป.” ที่นั่งแท่นอยู่ในฝ่ายบริหาร

เพราะล่าสุดหลังจาก “บิ๊กตู่” และ “บิ๊กป้อม” ส่งหนังสือชี้แจงว่าติดภารกิจสำคัญไม่สามารถเข้ามาชี้แจงต่อ กมธ.ป.ป.ช. ครั้งที่ 4 ในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ได้เดินหน้าชนกับขอมติที่ประชุม กมธ.ป.ป.ช. ทำหนังสือเชิญ “บิ๊กตู่” และ”บิ๊กป้อม” ให้มาชี้แจงต่อ กมธ.ป.ป.ช. ในการประชุมวันที่ 27 พฤศจิกายนนี้

 

ประเด็นร้อนในการเดินหน้าตรวจสอบ “2 ป.” ของ กมธ.ป.ป.ช. ยังบานปลายไม่จบ เพราะฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะ ส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้งัดกลยุทธ์ แยกกันเดิน ร่วมกันตี

และเดินเกม “เบี้ยแลกขุน” ด้วยการส่ง 2 ส.ส.ตัวจี๊ด อย่าง “สิระ เจนจาคะ” ส.ส.กทม. และ “เจ๊เอ๋” ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรค พปชร. เข้าไปสลับเปลี่ยนนั่งเป็น 2 กมธ.ป.ป.ช. เพื่อเปิดหน้าชนและคัดค้านการทำหน้าที่ประธาน กมธ.ป.ป.ช.ของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์

โดย “สิระ” ลุยเดินเกมขอเปลี่ยนตัวประธาน กมธ.ป.ป.ช. จาก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ โดยให้เหตุผลว่า ทำหน้าที่ด้วยความเป็นอคติ ตรวจสอบเรื่องการถวายสัตย์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งที่เป็นเรื่องเก่าและศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งเรื่องดังกล่าวมาแล้ว

จึงไม่ควรนำเรื่องดังกล่าวมาตรวจสอบใน กมธ.ป.ป.ช.ให้เสียเวลาการตรวจสอบเรื่องทุจริตอื่นๆ

 

ขณะที่ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค พปชร. อีกหนึ่งมือกฎหมายของพรรค พปชร. งัดข้อกฎหมายส่งเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบว่า พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ.2554 มาตรา 5 มาตรา 8 และมาตรา 13 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 129

โดยผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเอกฉันท์ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดเรื่องดังกล่าว

เนื่องจาก “ไพบูลย์” ยกเหตุผลว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ได้ดำเนินการออกหนังสือฉบับดังกล่าว ตามแบบ กมธ. (บค.) 1 เป็นไปตาม พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการฯ มาตรา 6 ที่ได้ตรวจสอบพบว่าขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 129 เนื่องจากได้บัญญัติให้ กมธ.มีอำนาจสอบสวน เป็นการขัดต่อเอกสารหลักฐานความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ มาตรา 129 ที่อธิบายไว้ว่าเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ วางหลักการใหม่ให้คณะกรรมาธิการไม่มีอำนาจสอบสวน แต่ให้มีอำนาจเพียงสอบหาข้อเท็จจริงเท่านั้น

มองข้ามช็อต หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ.2554 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 129 เกมการเมืองใน กมธ.ป.ป.ช.จะพลิกไปเข้าทางฝ่ายรัฐบาลทันที

เพราะ ส.ส.พรรค พปชร.ที่นั่งเป็น กมธ.ป.ป.ช. และฝ่ายกฎหมายของพรรค เตรียมตั้งแท่นรอเอาผิดประธาน กมธ.ป.ป.ช. ในฐานะปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามความผิดในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ที่ใช้อำนาจเกินขอบเขตของ พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะ กมธ.ฯ

กระบอกปืนอาจจะหันกลับไปเข้าทาง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ได้ ตามที่ “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะนักกฎหมายได้เตือนเอาไว้

 

ไม่เพียงแค่นั้น องคาพยพฝ่ายรัฐบาลในสภา ยังมีข้อได้เปรียบและตัวช่วยที่สำคัญอีก เมื่อ “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎรเซ็นคำสั่งประธานสภาเมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา ออกระเบียบสภาผู้แทนราษฎร ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดที่มีความเกี่ยวข้องกันของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) หลายคณะ พ.ศ.2562

ใจความสำคัญที่ต้องขีดเส้นใต้ของระเบียบดังกล่าวคือ เมื่อคณะ กมธ. จะกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ให้ประธาน กมธ.ทุกคณะรายงานต่อประธานสภาทราบภายในวันศุกร์ของทุกสัปดาห์ว่า จะมีการพิจารณาเรื่องใด ประเด็นใด และเชิญผู้ใด หรือหน่วยงานใดเข้าร่วมการพิจารณาในสัปดาห์ถัดไป

รวมทั้งให้คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องยุติการกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องนั้นไว้เป็นการชั่วคราว ในกรณีที่ไม่อาจยุติการดำเนินการดังกล่าวได้ ให้คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจไปพลางก่อนได้ แต่ต้องไม่เกิน 7 วันนับแต่วันที่ประธานสภาแจ้งให้ทราบ

 

การออกระเบียบการทำงานของ กมธ. แม้ ส.ส.ทางฝั่งรัฐบาล และ ส.ส.พรรค ปชป. ออกมาชี้แจงปกป้องนายชวนว่าไม่ได้ออกมาเพื่อแทรกแซงการทำงานของ กมธ.ทุกคณะ เป็นระเบียบที่ถือปฏิบัติมาตั้งแต่ปี 2552 สมัย “ชัย ชิดชอบ” เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร

แต่จังหวะเวลาที่ระเบียบดังกล่าวออกมามีผลบังคับใช้นั้น ดันมาพอเหมาะพอดีกับการเดินหน้าตรวจสอบ “บิ๊กตู่” และ “บิ๊กป้อม” อย่างเข้มข้นของ กมธ.ป.ป.ช. พรรคฝ่ายค้านจึงมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ว่าระเบียบดังกล่าวจะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่สำคัญให้กับ 2 แกนนำรัฐบาล

สุดท้ายแล้วการเดินหน้าลุยของ กมธ.ป.ป.ช.จะสามารถเช็กบิล “บิ๊กตู่” และ “บิ๊กป้อม” ได้หรือไม่ คงจะต้องไปจบกันที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดอีกครั้งว่าอำนาจของ กมธ.ป.ป.ช. ตาม พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ.2554 จะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ปฐมบทแห่งการเช็กบิลกลับทางการเมือง คงจะระอุขึ้นอีกครั้งในเร็วๆ นี้