ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : เกาะแก่งแม่น้ำโขง กับประวัติศาสตร์การปักปันเขตแดนของสยาม

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

สงครามฝิ่น ที่มีใจกลางความขัดแย้ง ทั้งทางด้านผลประโยชน์และศีลธรรม อยู่ในประเทศจีน ปะทุขึ้นครั้งแรกในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2377-2386 (ตรงกับช่วงรัชกาลที่ 3 ของกรุงเทพฯ) ด้วยการที่จีนไม่ยินยอมให้ชาติตะวันตก ที่นำโดยสหราชอาณาจักร คืออังกฤษ นำเอาฝิ่นเข้ามาขายในประเทศเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งมอมเมาประชาชน

ผลความขัดแย้งในครั้งนั้น นำมาซึ่งการปราบปรามอย่างรุนแรงโดยรัฐบาลจีน และนำไปสู่สงครามครั้งสำคัญ ก่อนที่จีนจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในที่สุด

ผลจากความพ่ายแพ้ในสงครามครั้งนี้ทำให้จีน ต้องลงนามในสนธิสัญญาหนานจิง (นานกิง) ซึ่งจีนถือว่าเป็น “ความอัปยศแห่งชาติ”

เพราะทำให้อังกฤษ คู่สงครามโดยตรงกับจีนในการศึกครั้งนี้ ได้รับผลประโยชน์เป็นอันมาก ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์โดยตรงจากค่าปฏิกรณ์สงคราม ค่าชดใช้ฝิ่นจำนวนมหาศาลที่ฝ่ายจีนได้ทำลายลงไป

แต่ถ้าจะมีผลประโยชน์อะไรสำคัญที่สุด ที่ฝ่ายอังกฤษ หรือสหาราชอาณาจักรได้รับจากสงครามในครั้งนั้น สิ่งนั้นก็น่าจะเป็น การที่จีนต้องจำยอมเปิดเมืองท่าชายทะเล 5 แห่ง ให้เป็นเมืองท่าพาณิชย์ อันได้แก่ กวางโจว เซียะเหมิน ฝูโจว หนิงโป และเซี่ยงไฮ้

รวมถึงการยกฮ่องกง และเกาะเล็กเกาะน้อยที่อยู่รายรอบ ให้เป็นเขตเช่าของอังกฤษ

 

การเปิดเมืองท่าสำคัญทั้ง 5 แห่ง และการจำยอมให้อังกฤษได้เช่าเกาะเหล่านี้ไปสำคัญมากนะครับ

เพราะแต่เดิม จีนทำการค้ากับชาติตะวันตก ด้วยระบบการค้าผูกขาดโดยพ่อค้าชาวจีน เฉพาะที่เมืองกวางโจวเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ระบบแบบนี้การค้าเรียกด้วยภาษาจีนกลางว่า “กงหาง” แต่ออกเสียงตามสำเนียงกวางตุ้ง (เมืองกวางโจว หรือกวางเจา ตามลิ้นอย่างไทย เป็นเมืองเอกของมณฑลกวางตุ้ง) ว่า “ก้งหอง”

การบังคับให้จีนยกเลิกระบบการค้าผูกขาด และเปิดเมืองท่าพาณิชย์เพิ่มเติมขึ้นถึง 5 แห่ง ย่อมทำอังกฤษได้รับผลประโยชน์เพิ่มเติมอย่างมหาศาล เพราะมีการลดภาษีลงจาก ร้อยละ 65 เหลือเพียง ร้อยละ 5 เท่านั้น

และยิ่งเมื่อสินค้าสำคัญอย่างหนึ่งในครั้งนั้นก็คือ อะไรที่ไม่มีตลาดระบายให้ระบายสินค้าภายในสหราชอาณาจักรเองอย่างฝิ่นด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้ผลลัพธ์ของสงครามในครั้งนี้ เป็นประโยชน์ต่ออังกฤษเป็นอย่างมาก

แถมซ้ำร้ายในสนธิสัญญาอัปยศสำหรับชาวจีนฉบับนี้ ยังระบุให้ชาวอังกฤษ และคนที่อยู่ภายใต้อาณัติของอังกฤษ ยังได้รับสิทธิสภาพนอกอาณาเขต (Extraterritoriality)

ซึ่งทำให้อังกฤษถูกเรียกด้วยสำเนียงที่ขมขื่นสำหรับชาวจีนว่า “ชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่ง” (most-favoured- nation) เลยทีเดียว

 

พ..ศ.2387 หลังจบสงครามฝิ่นครั้งแรกเพียงหนึ่งปี ขุมอารยธรรมที่เต็มไปด้วยทรัพยากรสารพัดอย่างจีน ก็ส่งกลิ่นอันหอมหวนชวนโอชะ ให้บรรดาชาติมหาอำนาจตะวันตก ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา หรือฝรั่งเศส เข้ามาร่วมวงเอ็นจอยแบ่งชิ้นเนื้อก้อนโตนี้ร่วมกับชาติที่มาก่อนอย่างอังกฤษ จนนำมาซึ่งสนธิสัญญาที่จีนจำต้องกลืนก้อนเลือดของตัวเอง ในการลงนามกับชาติมหาอำนาจทั้งสองนั้นด้วย

แต่อังกฤษก็ยังคงไม่พอใจเพียงในผลประโยชน์มหาศาลที่ได้รับจากสนธิสัญญาหนานจิงง่ายๆ แค่นั้นหรอกนะครับ

สงครามฝิ่นครั้งที่ 2 ระเบิดขึ้นในเรือน พ.ศ.2399 เมื่ออังกฤษต้องการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาหนานจิง เพื่อให้ชาติของตนเองได้รับผลประโยชน์มายิ่งขึ้น จนกระทั่งอังกฤษได้รับชัยชนะเหนือจีนอีกครั้งเมื่อ พ.ศ.2403

เหตุการณ์ที่นำไปสู่สงครามฝิ่นครั้งหลังนี้ เกิดขึ้นเพียงปีเดียวหลังจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งระหว่างสยามกับสหราชอาณาจักร โดย เซอร์จอห์น เบาว์ริ่ง ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็น “ข้าหลวงอังกฤษประจำฮ่องกง” จนได้เลื่อนชั้นเป็น “เจ้าเมืองฮ่องกง” ในปีเดียวกันกับที่มีการลงนามในสนธิสัญญากับสยามคือ พ.ศ.2398 ตรงกับสมัยของรัชกาลที่ 4 นั่นเอง

พอจะเห็นภาพกันไหมครับว่า การจัดการต่างๆ เหล่านี้ของอังกฤษ มีความคล้องจองกันอย่างเป็นกระบวนการ มากกว่าที่จะแยกโดดออกจากกัน

อังกฤษซึ่งมีอำนาจบาตรใหญ่ที่สุดในเมืองท่าพาณิชย์ทั้ง 5 แห่งของจีน รวมถึงเกาะฮ่องกง และปริมณฑล จะใส่ใจในรัฐที่ตั้งอยู่ระหว่างทางสัญจรไปมาระหว่างเส้นทางจากโลกตะวันตกไปถึงจีน อย่างภูมิภาคอุษาคเนย์ ที่มีสยามเป็นหนึ่งอยู่ในนั้น ก็ไม่เห็นจะแปลก

 

ในขณะเดียวกัน ชาติมหาอำนาจตะวันตกที่เข้าถึงแหล่งทรัพยากรขนาดมหึมาอย่างจีน ภายหลังอังกฤษอย่างประเทศฝรั่งเศส ก็จึงจำเป็นต้องหาหนทางเข้าถึงจีน ด้วยเส้นทางอื่นที่อังกฤษยังไม่ทันเข้าไปมีอิทธิพล เหมือนอย่างเส้นทางการค้าข้ามสมุทร

และพื้นที่บริเวณที่ฝรั่งเศสหมายตาเอาไว้นั้นก็คือ พื้นที่ทางตอนใต้ของจีน บริเวณมณฑลหยุนหนาน (ยูนนาน) ที่เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติสำคัญของโลก ส่วนเส้นทางเข้าถึงเขตพื้นที่ดังกล่าวที่ฝรั่งเศสวางแผนการเอาไว้แต่แรกนั้นก็คือ “แม่น้ำโขง” ที่ไหลจากต้นน้ำในทิเบต พาดผ่านเข้าในมณฑลหยุนหนาน แล้วไหลออกมาทางลงทะเลที่บริเวณภูมิภาคอุษาคเนย์ของเรานี้เอง

ดังนั้น ฝรั่งเศสจึงทำได้ดำเนินการล่าอาณานิคมในภูมิภาคอุษาคเนย์ โดยเน้นในเขตพื้นที่ที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน คือทางบริเวณภาคตะวันออกของภูมิภาค อันประกอบไปด้วย เวียดนาม กัมพูชา ลาว และบางส่วนที่คาบเกี่ยวกับสยามในระยะเวลานั้น

แต่ฝรั่งเศสก็คิดผิดนะครับ เพราะเมื่อฝรั่งเศสสามารถผนวกเอาดินแดนที่ก็คือส่วนใหญ่ของประเทศเวียดนาม ลาว และกัมพูชาในปัจจุบันนี้ จนตั้งเป็นรัฐอินโดจีนในอารักขาของฝรั่งเศสได้ พวกเขาก็เริ่มสำรวจลำน้ำโขงกันอย่างจริงจัง

ก่อนที่จะพบว่า แม่น้ำใหญ่สายนี้คงจะเป็นซูเปอร์ไฮเวย์ไปสู่มณฑลหยุนหนาน อย่างที่ฝรั่งเศสหวังใจไว้ในตอนแรกไม่ได้แน่

เพราะแม่น้ำแห่งนี้เต็มไปด้วยพื้นที่บริเวณที่มีเกาะแก่งขวางลำน้ำอยู่เต็มไปหมด

โดยเฉพาะบริเวณที่เรียกว่า “สี่พันดอน” ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศลาวในปัจจุบันนี้

“สี่พันดอน” อาจจะมีความหมายตรงตัวแปลเป็นไทยง่ายๆ ว่า ดินแดนที่มีเกาะแก่ง (ตอน ในที่นี้หมายถึง เกาะ) จำนวนมากมายมหาศาล โดยใช้ตัวเลข 4,000 แทนความหมายว่ามากมาย (ถึงแม้จะมีความพยายามในการอธิบายว่า คำว่า สี่พันดอน หมายถึง ทะเลสีทันดร คือทะเลจักรวาลในปรัมปราคติของศาสนาพุทธก็ตาม

แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า พื้นที่บริเวณดังกล่าวเต็มไปด้วยเกาะแก่งจำนวนมหาศาลจริงๆ)

น้ำตกที่ใหญ่ที่สุดในอุษาคเนย์อย่าง “คอนพะเพ็ง” ก็คือปลายส่วนทางตอนเหนือของสี่พันดอนนี่เอง

 

เมื่อแรกที่พวกฝรั่งเศสสำรวจพบเกาะแก่งในแม่น้ำโขงพวกนี้จึงได้มีความพยายามที่จะ “ระเบิด” พวกมันทิ้งไปให้หมด

ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ ก็คือการพยายามระเบิดแก่งหลี่ผี ซึ่งก็อยู่ไม่ห่างไปจากน้ำตกคอนพะเพ็งนันแหละนะครับ

แต่เมื่อได้ทดลองดูแล้วก็พบว่า เป็นกินแรงเป็นอย่างมาก และถ้าจะระเบิดเกาะแก่งพวกนี้ทิ้งทั้งหมดก็คงจะไม่คุ้มทุนเป็นแน่

สุดท้ายพวกฝรั่งเศสก็เลยคิดแผนการใหม่ขึ้นมาแก้ไข นั่นก็คือการสร้าง “ทางรถไฟ” ขึ้นมาแทน

ทางรถไฟสายที่ว่าก็คือ “ทางรถไฟสายดอนเดด-ดอนคอน” เพื่อขนย้ายสินค้าข้ามระหว่างเกาะแก่งเหล่านี้ ซึ่งก็เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2436 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ของไทย) หรือเมื่อ 124 ปีมาแล้วเลยทีเดียว

ถึงแม้ว่าทางรถไฟสายนี้จะเป็นทางรถไฟสายสั้นๆ คือมีระยะทางเพียง 7 กิโลเมตรเท่านั้น แต่ก็ถือว่าเป็นหลักฐานในการพยายามแก้ปัญหาเรื่องที่มีเกาะแก่งกีดขวางการคมนาคมในแม่น้ำโขงของพวกฝรั่งเศสชิ้นสำคัญ

เพราะใน “ปฏิญญาอังกฤษ-ฝรั่งเศส พ.ศ.2439” (Anglo-French Declaration 1896) ซึ่งเป็นข้อตกลงว่าด้วยการแบ่งสรรปันส่วนดินแดนในภูมิภาคต่างๆ ของโลก ที่อังกฤษและฝรั่งเศส (ตกลงกันเองว่า) จะเข้าไปยึดเป็นดินแดนในอาณานิคมของตัวเอง โดยมีภูมิภาคอุษาคเนย์เป็นตัวอย่างสำคัญนั้น ฝรั่งเศสยังอยากได้แม่น้ำโขงทั้งเส้นอยู่เลยนะครับ

 

พื้นที่ทางด้านตะวันออกสุดของสยาม (ในสมัยที่ยังปักปันเขตแดนกันไม่เสร็จ ยังไม่มีขวานทองบนแผนที่ และที่จริงแล้วยังไม่มีเขตแดนของสยามทั้งผืน ที่ชาติมหาอำนาจยอมรับเลยด้วยซ้ำ) ที่ปรากฏอยู่ในปฏิญญาฉบับที่ว่า สิ้นสุดลงที่แถบลุ่มน้ำบางปะกงเท่านั้นเอง

นั่นหมายความดินแดนที่ต่อเนื่องจากลุ่มน้ำบางปะกงไปทางทิศตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นปราจีนบุรี สระแก้ว หรือแม้กระทั่งภาคอีสานของประเทศไทยปัจจุบันนี้ทั้งผืน คือดินแดนที่ฝรั่งเศสคิดว่าจะยึดครอง เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของเมกะโปรเจ็กต์ทำเส้นทางเข้าสู่มณฑลหยุนหนานนั่นเอง

และนี่ก็หมายความด้วยเช่นกันว่า ระหว่างปี พ.ศ.2436 ที่เริ่มมีการเปิดใช้ทางรถไฟสายดอนเดด-ดอนคอน จนถึง พ.ศ.2439 ที่ฝรั่งเศสได้ลงนามในปฏิญญาอังกฤษ-ฝรั่งเศส ฉบับนั้น เป็นช่วงทดลองงานดูว่า การใช้รถไฟโดยสาร และลำเลียงสินค้าต่างๆ ในบริเวณลุ่มน้ำโขง

ไม่ว่าผลประกอบการของทางรถไฟสายดังกล่าวจะออกมาดีหรือไม่ก็ตาม สุดท้ายสยาม กับฝรั่งเศส ก็ได้มีการลงนามใน “หนังสือสัญญาระหว่างสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามกับเปรสิเดนต์แห่งรีพับลิกฝรั่งเสศ 23 มีนาคม ร.ศ.125 พ.ศ.2449/2550” (Trait? entre Sa Majest? le Roi de Siam et Monsieur le Pr?sident de la R?publique Fran?ais, fait ? Bangkok, le 23 mars 1907) ซึ่งตรงกับ พ.ศ.2450 หากนับปีกันแบบปัจจุบัน

ซึ่งก็เป็นหนังสือสัญญาฉบับนี้เอง ที่ทำให้สยามได้พื้นที่ภาคอีสานมาเป็นของตนเองตราบจนกระทั่งทุกวันนี้

ซึ่งนี่ก็หมายความด้วยว่า ฝรั่งเศสได้คำนวณแล้วพบว่า ลำน้ำโขงที่กั้นขวางเขตแดนบางส่วนของไทย-ลาวอยู่นั้น ไม่เหมาะสมที่จะถูกใช้เป็นซูเปอร์ไฮเวย์เข้าสู่มณฑลหยุนหนาน ไม่ว่าด้วยจะทางน้ำ หรือทางรถไฟ

ซึ่งพวกฝรั่งเศสก็คิดถูกนะครับ เพราะต่อให้ผ่านสี่พันดอนขึ้นไปได้ ต้องเผชิญกับเกาะแก่งขนาดใหญ่ขวางทางน้ำอยู่อีกมาก อย่างที่ตอนนี้มีข่าวว่า รัฐบาลไทยเห็นด้วยที่จะให้จีนระเบิดเกาะแก่งพวกนั้นทิ้งนี่แหละ

จึงเป็นตลกร้ายเอาการเลยทีเดียว ที่เกาะแก่งต่างๆ ในลำน้ำโขง ซึ่งเคยมีส่วนช่วยให้สยามได้มาซึ่งดินแดนจากการช่วงชิงกับชาติเจ้าอาณานิคมตะวันตกอย่างฝรั่งเศส ที่ต้องการยึดลำน้ำโขงเพื่อเข้าสู่แหล่งทรัพยากรในมณฑลหยุนหนาน กำลังจะถูกระเบิดทิ้งโดยรัฐบาลของประเทศที่เคยชอกช้ำกับเรื่องนี้อย่างจีนเอง

โดยมีรัฐบาลของประเทศที่เคยได้รับผลประโยชน์จากเกาะแก่งเหล่านี้อย่างไทย เป็นลูกขุนพลอยพยัก

ที่มาภาพประกอบ : http://www.posttoday.com/local/scoop/476187