พลโท ดร.พงศกร รอดชมภู : ว่าด้วยความยุติธรรม ต้นธารของความปรองดอง

พลโท ดร. พงศกร รอดชมภู อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

ได้เคยกล่าวถึงวิธีการสร้างความปรองดองไปแล้วอย่างละเอียดสองตอนด้วยกัน จะมีผู้สนใจหรือไม่ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพียงแค่มีหลักฐานถึงแนวทางหนึ่งที่คิดว่าครอบคลุมทุกแง่มุมและมีคำอธิบายอย่างครบถ้วนก็ถือว่าเพียงพอแล้ว

แม้ว่าความปรองดองจะสร้างให้เกิดขึ้นได้มีหลักคิดและวิธีการต่างๆมากมาย แต่หากจะสรุปย่อว่าอะไรคือหัวใจของความปรองดอง ก็จะมีคำตอบเพียงสั้นๆว่า คือความยุติธรรมนั่นเอง เพียงแต่ความยุติธรรมนี้ไม่ได้มีความหมายคับแคบ หากแต่มีความหมายที่กว้างและมีบริบทครอบคลุมทุกมิติของสังคม ไม่ใช่เพียงเรื่องของความขัดแย้งระหว่างกลุ่มใดต่อกลุ่มใดเท่านั้น

ความยุติธรรมดังกล่าวนี้มี ๓ ประการคือ ในกระบวนการยุติธรรมนั้นไม่มีความยุติธรรม หรือรับรองการกระทำที่ผิดกฎหมาย หรือมีความไม่เป็นธรรมในทางเศรษฐกิจและสังคม โดยจะอธิบายเป็นส่วนๆไปดังนี้

ประการแรก เรื่องกระบวนการยุติธรรมไม่มีความยุติธรรม ในภาษาชาวบ้านอาจเป็นเรื่องไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ในภาษาทางการอาจกล่าวได้ว่ากระบวนการยุติธรรมนั้นไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมได้จริง ปกติจะเป็นเรื่องการปกครองด้วยกฎหมายสืบทอดมาจากสมัยศักดินาที่นิยมเรียกกันว่าเป็นการปกครองด้วยกฎหมาย อธิบายอย่างง่ายคือยุคก่อนอุตสาหกรรมและประชาธิปไตยนั้น ผู้ปกครองออกกฎหมายเองตามใจชอบ เช่นการเก็บภาษี การใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือย ไม่มีใครตรวจสอบได้ และไล่จับผู้ที่ไม่เห็นด้วยไปทั่วจนเกิดนิยายเช่นโรบินฮูด จนกระทั่งในอังกฤษเกิดเหล่าบารอนบังคับให้พระเจ้าจอห์นต้องลงนามในกฎบัตรใหญ่ (แมกนาคาตา) ใจความสำคัญนอกจากเรื่องคุ้มครองสิทธิของประชาชนแล้วก็คือ ถ้ากษัตริย์จะทำสงครามหรือขึ้นภาษีต้องถามรัฐสภาหรือพาเลียเมนท์ที่มีตัวแทนของแคว้นต่างๆเสียก่อน เป็นต้น

ครั้นถึงยุคอุตสาหกรรม ประชาธิปไตยเจริญขึ้น ก็เกิดการบัญญัติกฎหมายใหม่โดยให้ประชาชนเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดกำหนดกติกาการอยู่ร่วมกันโดยมีผู้แทนในรัฐสภา มีตัวแทนเอากฎหมายนั้นไปปฏิบัติและมีผู้บังคับใช้คดีความที่มาจากประชาชนนั้นเอง เรียกกฎหมายกันในยุคนี้ว่าเป็นธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นการปกครองโดยกฎหมาย ไม่ใช่ด้วยกฎหมายตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจดุจกาลก่อน

เมื่อเป็นเช่นนี้เงื่อนไขสำคัญของความยุติธรรมคือระบอบประชาธิปไตยที่เป็นแบบสากล กล่าวคือทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการต้องเชื่อมโยงและตอบสนองต่อเจ้าของภาษีอากรคือประชาชนอย่างแท้จริงเสียก่อนจึงจะเกิดขึ้นได้ การบิดเบือนระบอบประชาธิปไตยเพื่อรักษาอำนาจของตนเองด้วยการเขียนกติกาที่ประชาชนไม่ได้เป็นผู้เขียนเองเพื่อปกครองตนเอง หรือประชาธิปไตยแบบไทยๆมาตลอดก็คือต้นเหตุของความไม่ยุติธรรมประการแรก

ประการที่สอง การรับรองความไม่ยุติธรรมนั้นเอง ความหมายคือในกรณีที่กระบวนการยุติธรรมปกติอำนวยความยุติธรรมได้ แต่วันดี คืนร้าย เกิดไปรับรองการกระทำผิดกฎหมายเสียเองเพื่อเหตุผลทางการเมืองใดๆก็ตาม สิ่งนี้คือการสร้างความอยุติธรรมขึ้นในระบบ ในประวัติศาสตร์ไทย การรัฐประหารที่มีการฟ้องร้องกันคือในสมัยจอมพลสฤษดิ์ฯ ว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายเพราะกฎหมายบัญญัติอยู่ แต่สุดท้ายก็ได้มีการตัดสินว่าสามารถทำการรัฐประหารได้เพราะเป็นรัฎฐาธิปัตย์ แต่หลังจากนั้นก็มีความพยายามนิรโทษกรรมตนเองเพื่อป้องกันไว้มาตลอด เรื่องนี้เท่ากับฝ่ายตุลาการรับรองการกระทำผิดกฎหมายว่ากระทำได้

ยังมีอีกประการหนึ่งที่น่าจะพิจารณาอย่างยิ่งคือเรื่องที่บุคลากรทางฝ่ายตุลาการ เข้าไปเกี่ยวข้องกับฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารทางใดทางหนึ่งต่อเนื่องกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน ซึ่งผิดหลักการแบ่งแยกอำนาจที่เป็นหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเสียเท่าไร ความรู้สึกต้องรักษาระยะห่างหรือศักดิ์ศรีของอำนาจอธิปไตยในฝ่ายตนอาจจะไม่เข้มข้นเท่ากับประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคง มองเตสกิเอร์ ได้เคยกล่าวไว้หลายร้อยปีแล้วว่า หากฝ่ายตุลาการไปร่วมมือหรือไปเขียนกติกาเสียเอง ก็จะเขียนกฎหมายเพื่อเพิ่มอำนาจให้กับฝ่ายตนทำให้กระบวนการยุติธรรมกลายเป็นเผด็จการไป ในอีกทางหนึ่งหากฝ่ายตุลาการไปร่วมมือกับฝ่ายบริหาร ก็จะเกิดความสนิท ชิดเชื้อและอาจเลือกปฏิบัติในการตัดสินคดีความกับฝ่ายบริหารที่แตกต่างกันได้ พูดง่ายๆคือเมื่อเทพีแห่งความยุติธรรมถอดผ้าปิดตาออกแล้วมองว่าจะให้ตาชั่งเอียงไปทางไหนนั้นก็เกิดจากความผูกพันกับอำนาจบริหารนี้นั่นเอง

สิ่งต่างๆเหล่านี้คือเงื่อนไขที่จะทำให้กระบวนการยุติธรรม เกิดความไม่ยุติธรรมขึ้น เนื่องจากความสัมพันธ์ที่ฝ่ายตุลาการไปเกี่ยวข้องกับฝ่ายอื่นๆ อย่างไรก็ตามการแก้ไขความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้ได้ ก็จะมีมาจากการให้ฝ่ายตุลาการมีความเชื่อมโยงกับประชาชนเท่านั้น ส่วนจะเป็นแบบใดขึ้นอยู่กับระบบการปกครองที่จะเลือกสรรกันไป ซึ่งมีให้เลือกทั้งแบบยุโรปที่ใกล้เคียงกับระบบของไทยที่สุด ระบบของกลุ่มแองโกล แซกซอนหรือประเทศในเอเชียที่น่าศึกษาคือญี่ปุ่น ควรที่จะสนใจศึกษาระบบการเมือง การปกครองและการแบ่งแยกอำนาจของประเทศต่างๆเหล่านี้ไว้เพื่อแก้ไขปัญหาให้หมดไปในอนาคต

ประการที่สาม ประการสุดท้ายคือความไม่เป็นธรรมหรือเหลื่อมล้ำกันในทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวประชาชนมากที่สุด ทุกคนพอจะรู้ว่าทำอย่างไรจึงจะได้รับความยุติธรรมนั้น ถ้าพูดถึงรากฐานของความไม่ยุติธรรมนี้ ก็คงต้องเป็นการมองถึงความขัดแย้งระหว่างระบบนายทุนเจ้าที่ดินและธุรกิจผูกขาดที่อาศัยกฎหมายและระเบียบของทางราชการเพื่อเอื้อต่อธุรกิจของตนเอง กับประชาชนที่ไม่มีตาเดิน ไม่มีที่ยืน ทุกคนหากไม่เป็นแรงงานราคาถูกให้กับนายทุน ก็ได้รับความทุกข์ยากบนการไร้ที่ทำกินซึ่งเป็นความมั่งคั่งเดียวที่คนปกติจะมีหลักฐานความมั่นคงของชีวิตได้

และการรักษาผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและสังคมเช่นนี้เอง ในหลายแห่งเป็นต้นเหตุของความไม่ยุติธรรมในทั้งสองประการแรกด้วยการพยายามสร้างเครือข่ายและแทรกแซงความเป็นอิสระของกระบวนการยุติธรรม เริ่มตั้งแต่กฎหมายเรื่อยไปจนถึงการตัดสินคดีความที่ต้องตามกันเป็นลำดับ โดยจะรู้หรือไม่รู้ตัวก็ตาม ก็กลายเป็นว่าสร้างความทุกข์ สร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประชาชนมากขึ้นตลอดมา

ในบางข่าวเราพบคนทำผิดที่ยากจนต้องได้รับโทษ แต่ผู้ที่มีชื่อเสียงหรือมีทรัพย์สมบัติกลับหลุดรอดหรือไม่ได้ต้องรับโทษด้วยเหตุต่างๆ ซึ่งไม่ได้เป็นความผิดของใครเป็นการเฉพาะเจาะจง หากแต่เป็นระบบที่ผิดมาทั้งกระบวนการ จำเป็นต้องคิดหาทางออกหรือหาทางแก้ไขกันอย่างจริงจัง เพื่อให้มนุษย์มีความเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นในสายตาของข้าราชการฝ่ายต่างๆ กฎหมาย ระเบียบ รวมไปถึงสถาบันทางสังคมต่างๆ ไม่มียกเว้น ล้วนตกอยู่ในความไม่ยุติธรรมที่ต้องร่วมกันแก้ไขด้วยกันทั้งสิ้น

นอกจากนั้น กฎหมายที่จะทำให้เกิดการกระจายรายได้ หรือมีสวัสดิการให้กับคนที่เสียโอกาสให้เหมาะกับการเป็นมนุษย์ มากกว่าเป็นเพียงเครื่องจักรสร้างความร่ำรวยให้กับผู้ได้เปรียบ และเปิดโอกาสให้ผู้ขยัน ขันแข็งได้รับโอกาสในการตั้งตัว ล้วนเป็นเรื่องสำคัญ

หากสร้างความยุติธรรมที่เป็นหัวใจของความปรองดองได้ สังคมก็จะอยู่กันอย่างสันติสุข ความปรองดองไม่ใช่เรื่องการเอาผู้นำมาร่วมกันใช้อำนาจ ไม่ใช่การกดกลุ่มอื่นให้ต่ำกว่าตนเอง ทุกฝ่ายมีความเกี่ยวข้องการการสร้างความไม่ยุติธรรมกันทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่ทหาร ตำรวจ ข้าราชการทุกฝ่าย เพราะเกี่ยวข้องกับอำนาจและการใช้อำนาจว่าจะมีความเที่ยงตรงหรือไม่

เมื่อหันมาสร้างความยุติธรรม หรือเพียงแสดงว่าจะมีความพยายามสร้างความยุติธรรมได้แล้ว ก็เชื่อว่าทุกคนจะยินดีเข้ามาร่วมมือกันเพื่ออนาคตที่ดีกว่าในวันข้างหน้า รู้จักที่จะรับโทษ รับการอภัยโทษ ยอมรับความจริงที่ทั้งตนเองและฝ่ายอื่นร่วมกันสร้างความวุ่นวายหรือแอบสร้างความวุ่นวายเพื่ออำนาจทางการเมือง เมื่อยอมรับความจริงแล้ว ความปรองดองก็ไม่ใช่เรื่องยาก

แต่หากยังปล่อยต่อไปสุดท้ายการล้างแค้นส่วนตัวจะเกิดขึ้นแพร่หลาย ก็ยากจะหยุดความรุนแรงได้เหมือนสมัยคาวบอยตะวันตกที่ปืนและการยิงแม่นคือความยุติธรรม