เศรษฐกิจ / ‘ทีวีดิจิตอล’ กระพือข่าว คืนไลเซนส์รอบสอง ออกอาการป่วยแล้ว หรือแค่หยั่งปฏิกิริยา ‘กสทช.’

เศรษฐกิจ

 

‘ทีวีดิจิตอล’ กระพือข่าว

คืนไลเซนส์รอบสอง

ออกอาการป่วยแล้ว

หรือแค่หยั่งปฏิกิริยา ‘กสทช.’

 

รัฐบาลเพิ่งจะจ่ายเงินชดเชยและยุติการออกอากาศไปหมาดๆ สำหรับ ‘7 ช่องทีวีดิจิตอล’ ที่ขอคืนใบอนุญาตประกอบกิจการ ประกอบด้วย 1.บริษัท สปริง 26 จำกัด (ช่อง 26 หรือช่องนาวเดิม) 2.บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด (ช่อง 19 หรือช่องสปริงนิวส์) 3.บริษัท ไบรท์ ทีวี จำกัด (ช่อง 20) 4.บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด (ช่อง 21) 5.บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) (ช่อง 14 หรือช่องเอ็มคอตแฟมิลี่) 6.บริษัท บีอีซี มัลติมีเดีย จำกัด (ช่อง 28 หรือ ช่อง 3 เอสดี) และ 7.บริษัท บีอีซี มัลติมีเดีย จำกัด (ช่อง 13 หรือ ช่อง 3 แฟมิลี่)

ล่าสุด แว่วว่า มีผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลอีกหลายรายที่เจ็บออดๆ แอดๆ จนกระทั่งต้องยกหูถึงนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) ขอโอกาสให้ผู้ประกอบการคืนใบอนุญาตอีกรอบ

“ขณะนี้มีผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลโทร.มาปรึกษาว่า ประกอบกิจการไม่ไหว แม้จะไม่ต้องจ่ายเงินค่าประมูลแล้ว แต่ผลประกอบการยังขาดทุนเรื่อยๆ ทำให้มีผู้ประกอบการหลายรายต้องการยุติการให้บริการ และอยากให้มีการจ่ายเงินชดเชยให้เหมือนกับ 7 ช่องทีวีดิจิตอล ที่แจ้งความประสงค์ขอคืนใบอนุญาตก่อนหน้านี้”

นายฐากรกล่าว

 

พร้อมกันนี้ นายฐากรระบุว่า เรื่องนี้คงต้องดูในข้อกฎหมายว่า จะทำได้หรือไม่ และต้องดูว่าจะสามารถใช้คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 เดิมได้หรือไม่ ซึ่งผู้ประกอบการที่ต้องการขอคืนใบอนุญาตครั้งนี้ อยากได้เงื่อนไขเหมือนผู้ประกอบการในครั้งแรก

ดังนั้น จะเสนอเรื่องดังกล่าวไปให้อนุกรรมการเยียวยาพิจารณาก่อนว่าจะช่วยได้หรือไม่ และช่วยอย่างไร

ประเด็นต้องพิจารณา การคืนใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิตอล ถ้ามองว่ารัฐเสียหายไหม สมมุติว่า ทีวีดิจิตอลมีการคืน 2 ช่อง ก็จะได้คลื่นความถี่คืนกลับมา 2.5 เมกะเฮิร์ตซ์ ซึ่งคลื่นดังกล่าวมีมูลค่าหากนำไปเปิดประมูลในกิจการโทรคมนาคมน่าจะได้เงินกลับมา 4,000-5,000 ล้านบาท และนำเงินดังกล่าวคืนให้กับผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลได้ราว 600-700 ล้านบาท ถ้ามองแบบนี้ถือว่าคุ้มค่า รัฐไม่ได้เสียหายอะไร แต่การช่วยต้องดูถึงความเหมาะสม เพราะก่อนหน้านี้เปิดโอกาสให้คืนใบอนุญาตในรอบแรกไปแล้ว

“ขณะนี้มีทีวีดิจิตอลเหลืออยู่ 15 ช่อง ยังไม่ทราบว่าจะคืนอีกเท่าไร ส่วนตัวผมมองว่า หากมีการขอคืน แนวโน้มที่จะช่วยผู้ประกอบการเหมือนครั้งแรกคงเป็นไปได้ยาก แต่ก็คงดูให้ เพราะถ้าไม่เข้าไปช่วยผู้ประกอบการสามารถหยุดกิจการไปเลย รัฐไม่ต้องคืนเงินแต่ผู้ประกอบการอยากได้เงินคืนก็จะทนดำเนินกิจการต่อไป ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาคาราคาซังไปเรื่อยๆ”

 

ส่วน ’15 ช่องทีวีดิจิตอล’ ที่คงเหลืออยู่ นั้น ประกอบด้วย บริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค (ทีเอ็นเอ็น) จำกัด (ช่อง 16), บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสต์ จำกัด (ช่อง 18), บริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์ วิชั่น จำกัด (ช่อง 22), บริษัท ไทยบรอดคาสติ้ง จำกัด (ช่อง 23), บริษัท ทรู ดีทีที จำกัด (ช่อง 24), บริษัท จีเอ็มเอ็ม เอสดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด (ช่อง 25), บริษัท อาร์.เอส เทเลวิชั่น จำกัด (ช่อง 27), บริษัทโมโน บรอดคาซท์ จำกัด (ช่อง 29), บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) (ช่อง 30), บริษัท จีเอ็มเอ็ม เอชดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด (ช่อง 31), บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด (ช่อง 32), บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด (ช่อง 33), บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด (ช่อง 34), บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด (ช่อง 35) และบริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด (ช่อง 36)

และอีก ‘4 ช่องสาธารณะ’ ได้แก่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 (ช่อง 1), สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ช่อง 2), สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (ช่อง 3) และสถานีวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา (ช่อง 10)

 

ด้านคนในวงการ นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ระบุว่า จากที่มีการหารือร่วมกับผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลเป็นประจำทุกเดือน ยังไม่พบว่ามีผู้ประกอบการรายใดที่มีความประสงค์ขอคืนใบอนุญาตประกอบกิจการ

เพียงแต่มีการหารือกันถึงแนวโน้มตลาดของธุรกิจโฆษณา ที่จะทรงตัวหรือหดตัวไปในทิศทางใด รวมถึงแผนการดำเนินธุรกิจในอนาคต

และจากการหารือกันพบว่า ผู้ประกอบการหลายรายมีการปรับกลยุทธ์ให้มีความหลากหลาย เช่น มีการร่วมมือกับแพลตฟอร์มอื่น, การผลิตคอนเทนต์ขายให้กับต่างประเทศ ทั้งในแพลตฟอร์มดิจิตอลหรือสตรีมมิ่ง และหาธุรกิจอื่นที่ไม่เกี่ยวโยงกับธุรกิจมีเดีย เพื่อมาเติมเต็มช่วงโฆษณา ซึ่งเทรนของตลาดมีความร่วมมือกับทีวีดิจิตอลโดยผ่านบริษัทลูกมากขึ้น

“เมื่อเร็วๆ นี้ เพิ่งจะสิ้นสุดการจ่ายเงินชดเชยและยุติการออกอากาศไป สำหรับ 7 ช่องทีวีดิจิตอล ที่ขอคืนใบอนุญาตประกอบกิจการ จึงค่อนข้างยากลำบากในการเปิดให้มีการคืนใบอนุญาตหรือมีมาตรการช่วยเหลือใดๆ ซึ่งส่วนตัวผมคิดว่า หากเป็นไปได้ รัฐบาลและ กสทช. ควรจะมีมาตรการช่วยเหลือในด้านอื่น อาทิ การจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการผลิตคอนเทนต์ในราคาพิเศษ เพื่อให้ต้นทุนของผู้ประกอบการไม่สูงเกินไป มีความเหมาะสมกับราคาในตลาดรวม อีกทั้งมีการเปิดตลาดในต่างประเทศมากขึ้น เพราะเมื่อเทียบกับตลาดในภูมิภาคเอเชีย พบว่า ไทยมีการเปิดตลาดในภูมิภาคเอเชียที่ไม่มากนัก เนื่องจากติดข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ ทั้งนี้ ธุรกิจมีเดีย ธุรกิจบันเทิง มีความสอดรับกันทั่วโลก หากรัฐบาลสามารถทำให้เป็นเอกภาพ อย่างประเทศเกาหลีหรือญี่ปุ่นได้ จะทำให้เกิดเม็ดเงินเข้าสู่ตลาด ช่วยให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลสามารถอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน”

ฝั่ง พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองประธาน กสทช.) เผยว่า เท่าที่ทราบยังไม่มีผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลรายใดเสนอถึง กสทช. ขอให้มีการคืนใบอนุญาตประกอบกิจการ จึงไม่สามารถระบุในรายละเอียดได้

     สุดท้าย ‘ทีวีดิจิตอล’ ช่องใด จะยืนหยัดให้บริการและเป็นความหวังของประชาชน ที่จะได้รับชมสื่อคุณภาพจนสิ้นสุดอายุใบอนุญาตในเดือนพฤษภาคม 2572 ต้องติดตาม