รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ /’Roadmap 5 G’ ดันไทยนำ ‘ASEAN’

รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ https://www.facebook.com/ChokCyberAIEntertainment/

‘Roadmap 5 G’

ดันไทยนำ ‘ASEAN’

 

กระแส 5 จี ปลุกลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อจะกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้กระเตื้อง เฟื่องฟู อย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นที่เป็นคู่แข่งกันแบบไม่มีใครยอมใครด้วยการเปิดให้บริการ 5 จี ก่อนเดินหน้าเต็มสูบรับการเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิกในปี 2020 หรือปี 2563 ที่ประเทศญี่ปุ่น

มีการประเมินว่า 5 G จะทำให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจ 1,307 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยภาคพลังงานจะได้ประโยชน์ 19% ภาคการผลิต 18% ภาคสาธารณสุข 12%

หาก 5 G ไม่เกิดขึ้น ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ทั้งภาคอุตสาหกรรมที่ต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนต้องย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่ดีกว่าแน่นอน

โดยประเมินว่า หาก 5 G ไม่เกิดขึ้น ภาคการผลิตจะสูญเสียเม็ดเงินมูลค่า 600,000 ล้านบาท ภาคโลจิสติกส์ 100,000 ล้านบาท ภาคการเกษตร 90,000 ล้านบาท และภาคสาธารณสุขด้วย ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวม 2 ล้านล้านบาทต่อปี

ไทยจะต้องเร่งพัฒนาและสร้างฐานให้แข็งแรงไม่ให้เรามาสู่จุดที่ลำบากและต้องไม่ส่งผลกระทบถึงเยาวชนในอีก 20 ปีข้างหน้า

เนื่องจากความจำเป็นเร่งด่วนในการขับเคลื่อน 5 จีนั้น เพื่อให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันได้ทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงมีการสร้างบรรยากาศในการลงทุนที่ดีให้กับประเทศไทย จากรายงานพบว่า หลายประเทศจะเปิดให้บริการ 5 จี ในพื้นที่เฉพาะพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม

ซึ่งในประเทศไทยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการเฉพาะพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2563

 

เครือมติชนได้จัดงานสัมมนา Roadmap 5 จี ดันไทยนำ ASEAN โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง กำกับดูแลกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธาน ที่ห้องอินฟินิตี้ 1-2 โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ รางน้ำ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2562 มีผู้เข้าร่วมฟังสัมมนากว่า 500 ราย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมรับฟังข้อมูลที่เป็นประโยชน์

โดยมติชนให้ความสนใจการเดินหน้า 5 จีมาตลอดระยะเวลา 3 ปี ด้วยความอยากเห็นการหารือเปลี่ยนแปลงของการเดินหน้า 5 จี ให้เดินหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ สร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจดิจิตอล ในการขับเคลื่อน 5 จี ตามนโยบายรัฐบาล

การสัมมนาครั้งนี้รัฐบาลได้ให้ความเชื่อมั่นถึงเทคโนโลยี 5 จี ยังเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาทางสังคม ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้และสังคม ช่วยให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การศึกษา การแพทย์สาธารณสุข และการยกระดับสวัสดิการทางสังคมได้มากขึ้น

โดย 5 จี จะเป็นส่วนช่วยเชื่อมประสานระหว่างสังคมเมืองกับสังคมชนบทได้อย่างไร้พรมแดน ทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น มีการเข้าถึงทางการแพทย์ การรักษาพยาบาลผ่านทางไกล ซึ่งก็จะเท่ากับเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

รัฐบาลจึงตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีดังกล่าว จึงแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5 จี ระดับชาติขึ้นมา

โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อวางรากฐานต่อยอด และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยี 5 จี ในการมุ่งสู่การพลิกโฉมหน้าประเทศไทยในทุกภาคส่วน และจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ซึ่งขณะที่ กสทช.ได้เร่งจัดสรรคลื่นความถี่ให้ครอบคลุมทั้งย่านต่ำ ย่านกลาง และย่านสูง เพื่อรองรับการใช้งานในบริการที่หลากหลายอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อประชาชน และคาดว่าจะจัดประมูลคลื่นได้ในช่วงต้นปีหน้าอย่างเร่งด่วน

หากช้าไทยจะล้าหลังใน ASEAN

 

จากการเปิดเวทีเพื่อหารือถึงความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กสทช. ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ผู้แทนภาคธุรกิจ และภาคการลงทุน เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์และจุดยืนร่วมเดินหน้าประเทศไทยสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ และเพิ่มโอกาสในการใช้เทคโนโลยี 5 จี สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจดิจิตอล สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ทางเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน

โดยนายฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนา Roadmap 5G ดันไทยนำ ASEAN กล่าวตอนหนึ่งว่า

“เรากำลังอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากและรุนแรง จนกระทั่งมีผู้ประเมินว่าสังคมหรือประเทศไหนที่เดินช้า ไม่ใช่แค่เดินล้าหลัง แต่ตกขอบเวทีโลก ซึ่งหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงคือเรื่องเทคโนโลยี 5 จี ปีหน้าเราจะได้เห็น 5 จี ใช้งานจริงที่โอลิมปิกญี่ปุ่น และในปีหน้าเวียดนามประกาศแล้วว่าเริ่มใช้ 5 จี

ดังนั้น ถ้าไม่อยากตกเวทีโลก กลายเป็นประเทศที่ตามคนอื่นไม่ทัน ทั้งเศรษฐกิจ ชีวิต และวัฒนธรรม มีความจำเป็นต้องถีบตัวเองขึ้นมาอยู่ในแถวหน้าในเรื่อง 5 จี ซึ่งงานสัมมนาครั้งนี้เกิดขึ้นด้วยเจตนาดังกล่าว อยากให้แลกเปลี่ยนการเรียนรู้เพื่อให้สังคมไทยไม่ล้าหลัง ไม่ตกขอบเวทีโลก”

และยังกล่าวอีกว่า

“โครงการใหญ่ 5 จี เกิดขึ้นจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ได้ ทั้งรัฐและเอกชนต้องช่วยกัน ร่วมมือกัน ในฐานะสื่อมวลชน การเผยแพร่ความรู้และการสื่อสารให้สังคมเข้าใจไม่ว่าช่องทางใด ไม่ว่าจะเป็นสื่อกระดาษ สื่อดิจิตอล หรืองานสัมมนาแบบนี้ ถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบอย่างหนึ่ง ในฐานะสมาชิกสังคมไทย เพื่อให้สังคมไทยเจริญก้าวหน้าอย่างทั่วถึงและทัดเทียมกัน โดยหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 5 จี อย่างทัดเทียมและเป็นประโยชน์ให้สังคมและส่วนรวม”

 

การขับเคลื่อนความเชื่อมั่นที่ผลักดัน 5 G ดันไทยนำ ASEAN ทำให้ความหวังของภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และภาคประชาชน เริ่มมีความตื่นตัวมากขึ้น ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่มีพลังในการขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5 จี ทำให้รัฐบาลมีความมั่นใจว่า 5 จี จะเกิดขึ้นในปี 2563 ได้อย่างแน่นอน

โดยในโลกปัจจุบัน ภาคการเงิน การธนาคาร การผลิต การเกษตร โลจิสติกส์ และการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้หลอมรวมไปสู่ยุคของเทคโนโลยีดิจิตอล เนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมมากขึ้น จึงถือว่าเทคโนโลยี 5 จี เป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานครั้งสำคัญของโลกในอนาคต

ซึ่งหากทำได้ เราจะกลายเป็นประเทศที่เดินหน้าเข้าสู่ 5 จี อย่างเต็มตัว ซึ่งจะนำทุกประเทศในภูมิภาคนี้