เทศมองไทย : “จินา แฮสเปล” รองผอ.ซีไอเอ กับ “คุกลับ” ในประเทศไทย

ไม่บ่อยครั้งนักที่การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐอเมริกา จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับประเทศไทยโดยตรง แต่ “จินา แฮสเปล” รองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลาง (ซีไอเอ) คนใหม่ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเทศไทย

รายงานข่าวของรอยเตอร์ เอพี และการ์เดียน ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ระบุตรงกันว่า แฮสเปล คือคนที่ “บริหารจัดการ” สถานที่กักกันลึกลับของซีไอเอในไทยในปี 2002 อันเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่แบบเดียวกันนี้ที่มีขึ้นแบบลับๆ ในหลายประเทศทั่วโลก ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน เพื่อใช้เป็นทั้งสถานที่กักกันและ “รีดข้อมูล” จากบรรดาผู้ก่อการร้ายในสังกัดขบวนการอัลเคดา หรือ อัลกออิดะห์ คนสำคัญๆ ด้วยวิธีการที่ถูกเรียกกันอย่างเป็นทางการในตอนนั้นว่า “รูปแบบการสอบปากคำเพิ่มพิเศษ” ที่ถูกระบุในเวลาต่อมาว่า เป็นการ “ทารุณกรรม” ซึ่ง “ผิดกฎหมายอเมริกัน”

เป็นที่เข้าใจกันว่า รูปแบบของการสอบปากคำดังกล่าวอาจผิดกฎหมายอเมริกัน จึงจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงด้วยการไปจัดตั้งอยู่ในต่างแดน รวมทั้งในประเทศไทย

สถานที่กักกันลับของซีไอเอดังกล่าว ถูกเรียกกันติดปากในเวลาต่อมาว่า “คุกลับ” หรือ “แบล็กไซต์”

ลีออน พาเนตตา อดีตผู้อำนวยการซีไอเอ เป็นผู้ออกคำสั่งให้หน่วยงานสืบราชการลับในต่างแดนของสหรัฐอเมริกาหน่วยงานนี้ปิด “คุกลับ” ดังกล่าว และยืนยันว่า การทารุณกรรมผู้ต้องสงสัย ถือเป็นการล่วงละเมิด “ค่านิยมของอเมริกัน” และล่วงละเมิด “รัฐธรรมนูญอเมริกัน”

ข้อมูลของการ์เดียนบ่งบอกเอาไว้ว่า จำเพาะ “คุกลับ” ซีไอเอ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของ จินา แฮสเปล นั้น ทำหน้าที่กักกันและสอบปากคำผู้ต้องสงสัยเป็นสมาชิกอัลเคดารายสำคัญอยู่อย่างน้อย 2 ราย หนึ่งคือ อาบู ซูไบดาห์ อีกหนึ่งคือ อับดุล อัล ราฮีม อัล-นาชิรี

การ์เดียน ระบุเอาไว้ว่า เฉพาะการสอบปากคำ อาบู ซูไบดาห์ นั้น ซีไอเอให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ถึงขนาดมีชื่อรหัสของการสอบปากคำดังกล่าวใช้ชื่อว่า “ปฏิบัติการแคตส์ อาย”

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา รายละเอียดของรายงานลับผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกกันว่า “เคเบิล” จากสถานีซีไอเอกลับไปยังรัฐบาลและสำนักงานใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ถูก “ปลดชั้นความลับ” และเผยแพร่ออกมา

หนึ่งในจำนวนนั้นคือรายละเอียดของปฏิบัติการ “แคตส์ อาย” ในประเทศไทย

มีบางคนลองนับเล่นๆ จากรายงานดังกล่าว พบว่า ในช่วงระยะเวลาเพียงเดือนเดียวที่คุกลับในประเทศไทย ภายใต้การดูแลของแฮสเปล อาบู ซูไบดาห์ ถูกทารุณกรรมด้วยวิธีที่เรียกกันว่า “วอเตอร์บอร์ดดิ้ง” รวมแล้ว 83 ครั้ง ไม่นับการสอบสวนด้วยการกระชากหัวกระแทกกำแพงซ้ำๆ อีกนับครั้งไม่ถ้วน

“วอเตอร์บอร์ดดิ้ง” เป็น “เทคนิค” การทรมานขั้นสูง เป็นการจำลองสภาพของคนที่กำลังจะจมน้ำ ขาดอากาศหายใจ เหยื่อจะถูกมัดกับแผ่นกระดาน เอียงห้อยหัวลงจุ่มลงไปในน้ำจนมิด ทำซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อ “รีด” ทุกข้อมูลจากเหยื่อ

ในรายงานยังบอกไว้ด้วยว่า อาบู ซูไบดาห์ ถูกทรมานด้วยการให้อดนอน เมื่อเสร็จกรรมวิธีทารุณกรรมแล้วก็จะถูกเก็บตัวไว้ “ในลังขนาดใหญ่” ไม่ใช่ในห้องขังธรรมดาทั่วไป

ทำอยู่อย่างนี้จนกระทั่ง จินา แฮสเปล ตัดสินใจว่าไม่มีข้อมูลข่าวกรองอะไรที่มีประโยชน์หลงเหลืออยู่ในตัว อาบู ซูไบดาห์ อีกต่อไปแล้ว

หลังเสร็จภารกิจสำคัญในไทย จินา แฮสเปล กลับสำนักงานใหญ่ที่วอชิงตัน ต่อมาในปี 2013 ก็ทำสถิติเป็นหัวหน้าแผนก “ดีโอ” (ไดเร็กทอเรต ออฟ โอเปอเรชั่นส์) หรือ “แผนกปฏิบัติการปกปิดเพื่อการข่าวและปฏิบัติการลับในต่างแดน” ที่เป็นผู้หญิงเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ขององค์กร

ตอนที่มีการแต่งตั้งกันนั้น วอชิงตัน โพสต์ ซึ่งมีแหล่งข่าวที่ไม่ค่อยสบายใจนักกับการแต่งตั้งคนที่เกี่ยวข้องกับคุกลับให้ดำรงตำแหน่งระดับสูง เปิดเผยไว้ว่า แฮสเปลใช้เวลานานไม่น้อยในการล็อบบี้เพื่อให้มีการ “ทำลาย” วิดีโอเทปที่บันทึกการสอบปากคำ อาบู ซูไบดาห์ ในไทยทิ้ง

ซีไอเอทำลายวิดีโอดังกล่าวทิ้งไปเมื่อปี 2005 ทั้งๆ ที่ทีมกฎหมายประจำทำเนียบขาวเตือนว่าอย่าทำ ทำให้เกิดการสอบสวนกรณีดังกล่าวขึ้นมา แต่ลงเอยแล้วไม่มีการตั้งข้อหาใดๆ ทั้งสิ้น

ต้นปีนี้ โดนัลด์ ทรัมป์ เลือกเธอแล้วให้ ไมเคิล ปอมเปโอ ผู้อำนวยการซีไอเอคนใหม่แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการ เป็นคนที่ 2 ในประวัติศาสตร์ซีไอเอ

เรื่องของ จินา แฮสเปล น่าจะจำกัดอยู่จำเพาะต่อสังคมอเมริกันว่าควรหรือไม่ควร ถ้าหาก โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ยืนกรานว่า การทารุณกรรมเพื่อสอบปากคำ “ได้ผล” และ “ยังมีประโยชน์” และยังแสดงท่าทีว่าจะฟื้นฟู “คุกลับ” ซีไอเอขึ้นมาอีกต่างหาก

ฟื้นฟูขึ้นมาที่ไหนหรือไม่ก็ตามใจ อย่าลามมาถึงการฟื้นคุกลับในไทยขึ้นมาอีกก็แล้วกัน!